ประชาธิปไตยเริ่มต้นได้จากในครอบครัว
หากเราอยากให้สังคมเต็มไปด้วยความเท่าเทียม และปลูกฝังให้เด็ก ๆ เป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย “สถาบันครอบครัว” นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ และเป็นสังคมแรกที่พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ วันนี้เราเลยนำวิธีเตรียมพร้อม และทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยที่เริ่มต้นได้จากในครอบครัวมาฝากพ่อแม่ผู้ปกครองกัน ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
ขอบคุณภาพจาก pch.vector
- สนับสนุนให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการดูหนัง เล่นเกม เลือกสถานที่ที่จะไปเที่ยวในวันหยุด หรือเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การตั้งกฎ หรือข้อตกลงร่วมกันภายในบ้าน เพื่อให้เขารู้สึกว่าเสียงของเขาก็มีความหมาย เพราะได้มีส่วนร่วมในการแสดงออก รวมทั้งได้ฝึกการเจรจาต่อรอง การให้เหตุผล และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- ชวนคุยเรื่องความยุติธรรมในชีวิตประจำวัน โดยอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่พบเจอในโรงเรียน เช่น การแซงคิวในโรงอาหาร การแบ่งหน้าที่กันทำงานบ้านระหว่างพี่กับน้อง แล้วลองถามลูกว่ารู้สึก หรือคิดเห็นอย่างไร เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ การกระทำนี้ส่งผลกระทบต่อใครบ้างและควรทำอย่างไรเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ยุติธรรมขึ้น โดยผลัดกันแชร์ระหว่างเด็ก ๆ และผู้ปกครอง เพื่อให้เขาได้เห็นคุณค่าของความยุติธรรม ได้มุมมองของผู้ใหญ่ และได้ลองฝึกคิดด้วยตัวเองไปพร้อม ๆ กัน
- ควรให้ลูกได้รับรู้ข่าวสารจากหลายช่องทาง และสนับสนุนให้ตัดสินใจจากการพิจารณาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง เพราะหนึ่งในสิ่งสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือเสรีภาพของสื่อ เช่นเดียวกับในบ้านที่ไม่ควรปิดกั้น หรือจำกัดการรับข้อมูลข่าวสารของเด็ก ๆ แต่ควรเปิดกว้าง และสนับสนุนให้พวกเขาหาข้อมูลจากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร อินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจเชื่อหรือทำบางอย่าง
ขอบคุณภาพจาก brgfx
- ส่งเสริมให้ลูกกล้าตั้งคำถาม และแสดงความคิดเห็นเมื่อไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะตอนที่เผชิญกับความไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรม แต่ก็ต้องสอนลูกว่าการถาม หรือแสดงความคิดเห็นควรอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และรู้จักกาลเทศะ เช่น ไม่พูดแทรกขึ้นมาทันทีที่ไม่เห็นด้วย ไม่กล่าวโจมตีไปที่ตัวบุคคล หรือไม่พาดพิงให้คนอื่นเกิดความเสียหาย เป็นต้น
- ชี้แนะได้ แต่ไม่ชี้นำ เมื่อคิดเห็นไม่ตรงกัน ควรกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ไม่ควรบังคับขู่เข็ญ หรือสั่งให้ลูกเชื่อ และทำตามด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือมีอำนาจเหนือกว่า เพราะสุดท้ายการตัดสินใจนั้นจะกลายเป็นการยอมตาม มากกว่าการยอมรับ และแม้ว่าผู้ใหญ่จะอาบน้ำร้อนมาก่อน แต่บางทีเงื่อนไขเรื่องเวลา และสถานการณ์ที่พบเจออาจจะแตกต่างกัน ดังนั้น ควรใช้วิธีการอธิบายเหตุผลของตนเอง และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน โดยให้ความคิดเห็นของเราเป็นการชี้แนะ แทนที่จะเป็นการชี้นำหรือบังคับ
- สอนให้ลูกรู้จักยอมรับความแตกต่าง และเคารพสิทธิของผู้อื่น โดยเริ่มต้นจากพ่อแม่เองที่ให้ความรักโดยไม่มีเงื่อนไข และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น หากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ตัวเขาเองหรือคนอื่นเดือดร้อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับลูก รวมทั้งปกป้องสิทธิของลูกในวันที่เขายังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ เช่น เมื่อเด็ก ๆ ถูกแตะต้องตัว กอดหรือหอม โดยไม่เต็มใจ พ่อแม่ก็ควรปกป้องสิทธิทางร่างกายของลูก เพื่อให้เขารู้ว่าหากไม่เต็มใจก็สามารถปฏิเสธได้เพราะเป็นสิทธิทางร่างกายของตนเอง ซึ่งการเป็นตัวอย่างของพ่อแม่นี้จะทำให้เขาค่อย ๆ เรียนรู้ทั้งการักษาสิทธิของตัวเองและการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
- พาลูกไปเลือกตั้งด้วย หรือพูดคุยถึงการเลือกตั้งหากมีโอกาส เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นภาพการออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง และทำหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งเล่าให้เด็ก ๆ ฟังว่าทำไมจึงเลือกพรรคนี้ หรือนักการเมืองคนนี้ โดยไม่ได้เป็นการชี้นำ แต่บอกเล่าในเชิงให้ความรู้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจกระบวนการเลือกตั้ง และเห็นความสำคัญของการใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตนเอง
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีการไหน จุดร่วมของทุกแนวทางข้างต้น ก็คือการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สนับสนุนให้เด็ก ๆ เป็นทั้งผู้ฟังที่ดี และเป็นผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืนของตนเองโดยที่ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น เพราะหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือการยึดหลักเสียงข้างมาก แต่ยังคงเคารพ และไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...