เลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างไรให้มีวินัย? 9 วิธีฝึกวินัยลูกวัยรุ่นอย่างถูกต้อง
ใคร ๆ ก็บอกว่าการเลี้ยงลูกวัยรุ่นนั้นแสนยาก เป็นเรื่องจริงเลยล่ะค่ะ เพราะทั้งพฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยน ไม่เชื่อฟัง มีความคิดเป็นของตนเอง ฯลฯ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ปวดหัวไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องวินัยง่าย ๆ ที่ต้องบ่นกันจนเบื่อทุกวัน วันนี้เรารวมแนวคิดในการปรับวินัยลูกวัยรุ่นมาฝากกันค่ะ จะมีวิธีเลี้ยงลูกวัยรุ่นให้มีวินัยอย่างไรกันบ้าง มาดูกันเลย
1. วินัยที่ดี คือ อิสระใม่ใช่บังคับ
หลายคนงงว่าถ้าปล่อยอิสระ ไม่บังคับแล้วจะมีวินัยได้อย่างไร ต้องเข้าใจก่อนว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการต่อต้าน หลายครั้งวัยรุ่นแสดงความรุนแรงด้วยการเอาคืนในรูปแบบอื่น เช่น ทำตัวแย่ เพราะลึก ๆ มันสะใจที่ได้เห็นพ่อแม่รู้สึกเสียใจในสิ่งนั้น เป็นการต่อสู้ในรูปจิตวิทยา ไม่อยากให้กลับบ้านดึกก็จะกลับดึก อยากให้ตั้งใจเรียนก็ไม่เรียน ซึ่งเขาทำโดยไม่รู้ตัว เป็นการเอาตัวเองให้รอด และตอบโต้ความโกรธในจิตใจด้วยการเอาคืนในรูปแบบที่ฉันทำได้ สรุปคือยิ่งคุณพยายามควบคุมมากเท่าไร ลูกวัยรุ่นก็จะยิ่งต่อต้านมากเท่านั้น
จากประโยคคำสั่งที่ว่า “ต้องทำ” “ห้ามทำ” “ทำ...เดี๋ยวนี้” เปลี่ยนไปเป็นประโยคอ้อม ๆ ที่ให้ความหมายเดียวกัน หลีกเลี่ยงประโยคคำสั่ง เช่น จากประโยค “วันนี้ลูกต้องจัดห้อง รกจะตายอยู่แล้ว” เป็น “จะดีกว่าไหมถ้าลูกจัดห้อง น่าจะหายจากภูมิแพ้นะ เดี๋ยวแม่ช่วย ” หรือ จากประโยค “ต้องทำงานนี้ให้เสร็จวันนี้นะ” เป็น “ถ้างานนี้เสร็จวันนี้ เราจะมีเวลาเหลือไปเที่ยวกันนะ”
2. ฟังลูกบ้าง เปิดให้เขาได้แสดงความคิดเห็น
การที่คุณอยากให้ลูกทำสิ่งใดก็ตาม ควรมีเหตุผลเสมอ แม้บางครั้งคุณไม่รู้ว่าจะอธิบายสิ่งนี้ไปทำไม หรือคิดเอาเองว่าลูกน่าจะรู้อยู่แล้ว เพราะถึงแม้ลูกจะเป็นวัยรุ่น ก็ยังเป็นเด็กที่อ่อนประสบการณ์ เมื่อเขารู้สึกสงสัยในสิ่งที่จะต้องทำ ก็จะต่อต้านทันที
วัยรุ่นนั้นมีระบบความคิดที่โตกว่าเด็ก สามารถคิดเชิงเหตุผล และมีแนวโน้มที่จะยอมรับเหตุผลนั้นได้มากกว่าเด็กอยู่แล้ว เมื่อคุณจะฝึกลูกให้มีวินัย สิ่งนั้นก็ควรมีเหตุผลว่า ทำแล้วเกิดประโยชน์เช่นไร พร้อมทั้งอธิบายให้เขาเข้าใจ เมื่อสร้างกฎ หรือข้อกำหนดต่าง ๆ ในบ้านขึ้นแล้ว ลองพูดคุยกับลูกดูว่าคุณตั้งกฎมากเกินไปไหม หรือน้อยไปหรือเปล่า มีกฎข้อไหนไหมที่น่าจะยกเลิกได้แล้ว หรือควรปรับเปลี่ยนเมื่อลูกแสดงให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบมากขึ้น เด็กวัยรุ่นมักจะเต็มใจทำตามกฎที่เขามีส่วนช่วยคิด
3. ให้ลูกมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
“ความรับผิดชอบ” เป็นหนึ่งในวินัยที่ฝึกได้อย่างยั่งยืน การให้โอกาสลูกวัยรุ่นได้ฝึกความรับผิดชอบโดยมอบหมายงานบางอย่างให้ เช่น สัตว์เลี้ยง ปลูกต้นไม้ ดูแลรถ การให้ลูกมีสิ่งที่รับผิดชอบ เป็นการฝึกวินัยทางอ้อมระยะยาว เขาจะเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระเบียบ คิดเป็นขั้นเป็นตอน เพราะการฝึกวินัยนั้นไม่ได้สร้างได้ง่าย ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มระดับความรับผิดชอบให้มากขึ้น
4. วางแผนสร้างวินัยเป็นระยะ
เริ่มจากการทำงานบ้านก็ได้ค่ะ เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้ และเห็นผลไวที่สุด เช่นผลัดเวรกันทำความสะอาดครัว วันนี้เป็นวันที่ลูกต้องซักผ้า ล้างจาน ทำสวน ตัดหญ้า ล้างรถ แต่ละงานก็ผลัดเปลี่ยนกันไป โดยคุณก็ต้องทำร่วมไปด้วยในระยะแรก ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกผลักภาระความรับผิดชอบมาให้
5. ฝึกให้ลูกรู้จักระบายความเครียดและอารมณ์เชิงลบอย่างถูกทาง
การมีวินัยมาก ๆ บางทีก็ทำให้เด็กอาจรู้สึกเครียด ๆ สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกได้ก็คือพยายามนำให้เขารู้จักระบายความเครียด, ความเศร้า, หรือความผิดหวังออกมาอย่างถูกทาง อันหมายถึง ระบายออกมาตามวิถีทางที่เขาอาจจะถนัด, สนใจ, หรือชอบ เช่น การฟังเพลง, การเล่นดนตรี, การเขียนบันทึก, การระบายสี เป็นต้น
6. ตั้งกฎเกณฑ์ตามพื้นฐานหรือลักษณะนิสัยของลูก
การตั้งกฎเกณฑ์ใด ๆ ขึ้นมาในการฝึกวินัยลูกควรสอดคล้องกับพื้นฐานหรือลักษณะนิสัยของลูก เช่น หาก ลูกเป็นเด็กที่มีพลังงานสูง การห้ามให้เขาลุกเดิน หรือต้องนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ย่อมยากและน่าเหน็ดเหนื่อย ควรปรับเป็นอนุญาตให้เดินได้เฉพาะในบริเวณใด หรือหาสิ่งใดให้เขาทำในขณะที่เด็กจะต้องรอคอย เป็นต้น
7. พูดคุยกับลูกตรง ๆ ในเรื่องเพศ สารเสพติด ฯลฯ
วัยรุ่นไม่ใช่วัยที่พ่อแม่จะสามารถปิดบังเรื่องเพศ, สารเสพติด, หรือเรื่องปัญหาความเสี่ยงอื่น ๆ ที่พ่อแม่อาจจะเคยทำได้ในสมัยที่เขายังเป็นเด็กอีกแล้ว การปิดบัง, การพยายามเลี่ยงบทสนทนา, หรือการยิ่งพยายามห้ามเขายิ่งจะมีแต่ทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัด, หงุดหงิด, และมีแนวโน้มที่จะทำสิ่งดังกล่าวโดยที่ไม่บอกพ่อแม่มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ในยุคใหม่นี้ต้องกล้าที่จะเลี้ยงลูกอย่างเปิดอก พูดคุยกับลูกตรง ๆ ให้ความรู้ลูกอย่างถูกต้องในสิ่งที่สุ่มเสี่ยง โดยสำหรับวิธีพูดกับลูกวัยรุ่น ควรเอ่ยกับเขาอย่างใจเย็น, เข้าอกเข้าใจ, และนุ่มนวล อธิบายให้เขาฟังก่อนถึงเหตุผลของการพูดคุยและความสำคัญในการพูดคุย พยายามพูดคุยกับเขาเหมือนอย่างเพื่อนที่หวังดีและห่วงใยที่อยากจะแลกเปลี่ยนและนำเสนอบางสิ่ง และถ้าหากเขามีสิ่งใดที่อยากแย้ง พ่อแม่ก็พร้อมที่จะเปิดรับฟัง ถกถาม และแลกเปลี่ยนกัน
8. ลดการเน้นความสมบูรณ์แบบ เพิ่มการใส่ใจกับความพยายาม
ความสมบูรณ์แบบอาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่วิเศษหรือเป็นพรสวรรค์ แต่ในความจริงแล้ว ความสมบูรณ์แบบคือความเครียดและความหดหู่อย่างแท้จริง เด็กที่เน้นการทำทุกสิ่งอย่างสมบูรณ์แบบมีแนวโน้มที่จะโฟกัสกับ “ผลลัพธ์” มากกว่ากระบวนการหรือช่วงเวลาในขณะที่เขากำลังทำ ส่งผลให้หลาย ๆ ครั้ง เขาหลงลืมที่จะเอ็นจอยกับช่วงเวลาในแต่ละนาทีที่ผ่านพ้นรอบตัว และเฝ้ารอแต่เมื่อไหร่ที่เขาจะ “สำเร็จ” การเน้นแต่ความสมบูรณ์แบบยังมักทำให้เด็กกดดันตัวเองมากเกินไปและกลายเป็นคนที่ยอมรับคำติชมหรือความล้มเหลวไม่ได้ การฝึกให้ลูก โดยเฉพาะลูกในวัยรุ่น ให้หันมาเน้นและใส่ใจกับความพยายามหรือ “ในระหว่างทาง” ของเขามากกว่าจึงถือเป็นกลวิธีการเลี้ยงลูกวัยรุ่นที่เหมาะสมกว่า
9. อย่าลืมเป็นตัวอย่างที่ดี
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เป็นเรื่องจริงสำหรับหลายครอบครัวค่ะ ท้ายที่สุดแล้วหากคุณยังเป็นคนที่ไร้ระเบียบวินัย จะฝึกลูกให้ได้ผลนั้นคงยาก อย่าลืมว่าคุณคือต้นแบบที่ใกล้ชิดที่สุดของลูก เพราะฉะนั้น ฝืนตัวเองสักนิดหากคุณไม่ใช่คนมีวินัยอยู่แล้ว คิดซะว่าเป็นการฝึกไปพร้อม ๆ ลูกก็ได้ค่ะ
การฝึกวินัยเป็นเรื่องที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายค่ะ หลายบ้านคิดว่าลูกโตเป็นวัยรุ่นแล้วน่าจะฝึกวินัยอะไรไม่ได้อีกเหมือนเด็ก ๆ แต่จริง ๆ แล้ววินัยที่ดีเริ่มได้ทุกวัยค่ะ แต่วิธีการฝึกนั้นจะต้องแตกต่างกันออกไป วัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่อารมณ์มักจะนำการกระทำ การฝึกจึงใช้คำสั่งแบบห้วน ๆ ไม่ได้อีกต่อไป แต่ก็เป็นวัยที่เข้าใจเรื่องซับซ้อนได้มากขึ้น จึงสามารถรับผิดชอบงานได้อย่างหลากหลาย
และทั้งหมดนี้ก็เป็น 9 เคล็ดลับการเลี้ยงลูกวัยรุ่นให้มีวินัยที่วันนี้ Starfish Labz นำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านกัน หวังว่าจะเป็น 9 เคล็ดลับที่จะตอบโจท์หลาย ๆ ครอบครัวได้ไม่มากก็น้อยนะคะ
อ้างอิง:
www.thairath.co.th/lifestyle/woman/momandkid/1076624
www.thaihealth.or.th/Content/44974-9%20วิธีเลี้ยงลูกวัยรุ่นให้ได้ดี.html
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...