อย่าปล่อยให้เด็ก ๆ ชินชากับความรุนแรงในสังคม
ทุกวันนี้เรามักจะเห็นข่าวความรุนแรงจากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่น เด็ก ๆ ล้อเลียนกลั่นแกล้งด้วยการทำร้ายร่างกายกัน คุณครูไม่พอใจจนใช้ความรุนแรงกับเด็ก เป็นต้น แต่น่าแปลกที่สังคมเรา กลับให้ความสำคัญกับเรื่องความรุนแรงค่อนข้างน้อย รวมทั้งบางคนกลับมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ อาจเพราะสังคมหล่อหลอมให้เราเคยชินกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เช่น ภาพดาราตลกที่ใช้ถาดฟาดศีรษะอีกคน แล้วสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้ สิ่งนี้เองค่อย ๆ หยั่งรากลึกให้เราชินชาไปกับความรุนแรง
บี.เอฟ.สกินเนอร์ (Burrhus Frederic Skinner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวว่า ผลลัพธ์ของการกระทำ จะทำให้บุคคลหนึ่งแสดงพฤติกรรมเดิมเพิ่มมากขึ้น หรือลดน้อยลงได้ เช่น เมื่อเด็ก ๆ วางรองเท้าให้เป็นระเบียบ แล้วผลลัพธ์ คือ การชมเชย เขาก็จะแสดงพฤติกรรมเดิมมากขึ้น กล่าวคือ เก็บรองเท้าให้เป็นระเบียบอย่างสม่ำเสมอ นั่นเอง โดยคำชมเชยนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
“การเสริมแรง” (Reinforcement) ซึ่งหมายถึง การสร้างแรงจูงใจให้ทำพฤติกรรมนั้นเพิ่มขึ้นอีก โดยการเสริมแรง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcment) คือ การให้สิ่งที่บุคคลนั้นพึงพอใจ มีผลทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมถี่ขึ้น เช่น คำชมเชย หรือการให้รางวัล และการเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) มีวัตถุประสงค์เดียวกับตัวเสริมแรงทางบวก แต่ใช้วิธีการต่างกัน เช่น การบ่น คำตำหนิ หรือใช้เสียงดัง
ในที่นี้จะขอพูดถึงการเสริมแรงทางบวกมาอธิบายเรื่องความรุนแรงในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การกดไลค์ กดแชร์ คอมเมนต์ในเชิงบวก หรือตลกขบขัน ถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้มาก ๆ คลิป หรือสื่อที่มีความรุนแรง จะยิ่งได้รับความนิยม และได้รับความสนใจมากขึ้น นับเป็นการเสริมแรงทางบวก ให้รู้สึกว่าสื่อ หรือคลิปที่มีความรุนแรงเป็นเรื่องที่ดี หรือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งพฤติกรรมนี้อาจสร้างผลกระทบให้กับเด็ก และลูกหลานเราโดยไม่รู้ตัว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำวิธีที่จะทำให้เด็กไม่ชินชากับความรุนแรงมาฝากพ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านกัน
ขอบคุณภาพจาก tirachardz
1. พ่อแม่ไม่ควรเปิดคลิปความรุนแรงให้ลูกเห็น แน่นอนว่าคุณพ่อ คุณแม่ควรระวังอย่างมากในการเล่นโซเชียลมีเดียระหว่างที่อยู่กับลูก ไม่ควรให้ลูกเห็นคลิปที่มีการกระทำรุนแรง หรือถ้าลูกเห็นแล้วควรจะบอกกับเขาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งไม่ดี และไม่ควรเลียนแบบ เพราะอะไร จะทำให้ลูกเรียนรู้ไปเองว่าถ้าทำแบบนั้นเขาจะกลายเป็นเด็กที่ไม่ดี
2. เมื่อลูกทำผิดให้ตักเตือน มากกว่าการทำร้ายร่างกายด้วยการตบตี สุภาษิตไทยสอนว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” แต่หารู้ไม่ว่าการตีอาจไม่เกิดประโยชน์เสมอไป ควรตักเตือนด้วยคำพูดที่ดีและมีเหตุผลจะดีกว่าการทำร้ายทางร่างกาย และวาจา เพราะถ้าลูกทำผิดแล้วถูกทุบตีบ่อย ๆ เข้า เขาก็จะมองพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลให้โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ก้าวร้าว และแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรงได้ในอนาคต
3.สนใจรายการที่เด็กกำลังดูอยู่ ถ้าคุณพ่อ คุณแม่เห็นว่าลูกกำลังดูโทรทัศน์ที่อาจจะมีฉากใช้กำลัง ทำร้ายร่างกายกัน พ่อแม่ควรบอกว่าสิ่งนี้ไม่ดี และบอกให้ลูกทราบว่าเราสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นได้ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง
4.ปฏิเสธเมื่อลูกขอดูรายการที่มีเนื้อหารุนแรง แน่นอนว่าธรรมชาติของเด็กเล็ก ๆ ยิ่งห้ามก็เหมือนจะยิ่งยุ เพราะฉะนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรรับมือด้วยการชวนลูกมานั่งคุยกันว่า รายการนี้ละครเรื่องนี้ ไม่ดีอย่างไร หรือปฏิเสธลูกด้วยคำพูดที่ดี และมีเหตุผลรองรับว่าทำไมถึงไม่ควรดู ถ้าดูแล้วจะทำให้เขาเติบโตไปเป็นคนแบบไหน ความรุนแรงส่งผลต่อสังคมเราอย่างไร การพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล บอกเล่าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งต่อตัวเอง และสังคม จะช่วยให้ลูกเข้าใจและรับฟังมากขึ้นกว่าการแค่บอกว่าดูรายการนี้แล้วไม่ดีอย่างไรเพียงอย่างเดียว
ขอบคุณภาพจาก tirachardz
5.จำกัดเวลาใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องจากทุกวันนี้ถ้าเลื่อนเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ดูจะเห็นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนค่อนข้างเยอะ ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดียของลูกโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ให้เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นโซเชียลมีเดียทั้งวัน แต่ควรหากิจกรรมอื่น ๆ มาทำกับลูกบ้าง เช่น อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เล่นของเล่น ทำอาหาร เพื่อที่ลูกจะได้ไม่จดจ่ออยู่กับโลกออนไลน์มากจนเกินไป
6.พ่อแม่ไม่ควรทะเลาะกัน หรือใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็น พ่อแม่คือตัวอย่างของลูก ดังนั้นเมื่อคุณไม่อยากให้ลูกชินชากับความรุนแรง หรือใช้ความรุนแรงกับคนอื่น ผู้ปกครองก็ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกด้วยการไม่ใช่คำพูดรุนแรงเวลาทะเลาะกัน หรือทำร้ายร่างกายกันให้ลูกเห็น เพราะถ้าลูกเห็นบ่อย ๆ เขาจะคิดว่าทีพ่อแม่ยังทำได้ ทำไมเขาจะทำไม่ได้ จะกลายเป็นความชินชาจนลูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ อาจทำให้เขาไปใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นได้นั่นเอง
7.สอนลูกให้รู้จักความรุนแรงหลายรูปแบบ ความรุนแรงไม่ได้มีแค่การทำร้ายร่างกายเท่านั้น เพราะฉะนั้นคุณพ่อ คุณแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักกับความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น ความรุนแรงด้านวาจา อย่างการด่าทอด้วยคำหยาบคาย คำดูถูกเหยียดหยาม การข่มขู่ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย และเจ็บช้ำน้ำใจได้ หรือความรุนแรงทางเพศ เช่น การข่มขืน การทำอนาจาร เป็นต้น เมื่อรู้แล้วว่ามีความรุนแรงรูปแบบไหนบ้าง เด็ก ๆ จะได้ไม่กดไลค์ กดแชร์โพสต์เหล่านั้นนั่นเอง
พ่อแม่ควรใส่ใจการดูโทรทัศน์ หรือเล่นโซเชียลมีเดียของลูกอยู่เสมอ หากเห็นว่าเขาดูอะไรที่ไม่เหมาะสมควรจะชี้แจงว่าไม่ดีอย่างไร และที่สำคัญเลยคือพ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกด้วย เพื่อที่เขาโตไปจะได้เป็นเด็กที่ไม่ชินชาต่อความรุนแรง เมตตาผู้อื่นอยู่เสมอ และคิดเสมอว่าทุกปัญหามีทางแก้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/06182014-1805
https://mgronline.com/https://www.hoboctn.ru/2016/08/11/b-f-skinner/qol/detail/9600000010407
https://www.thaichildrights.org/articles/violence01/
https://ams.kku.ac.th/aalearn/resource/edoc/tech/3learntheory.pdf
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
พัฒนาการด้านอารมณ์สำคัญอย่างไรกับเด็กปฐมวัย
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของพัฒนาการ สมรรถนะตามวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เน้นการทำกิจกรร ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
เลี้ยงลูกอย่างไรในยุค Thailand 4.0
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ว่าThailand 4.0คืออะไร แนวคิดในการเลี้ยงลูกยุค4.0 เทคนิคการเลี้ยงลูกยุค 4.0 รวมถึงการเรี ...