ทำอย่างไรให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง
บางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องการทดสอบมาร์ชเมลโล่ (the marshmallow test) ของคุณ Walter Mischel โดยการวางมาร์ชเมลโล่หนึ่งชิ้นไว้ตรงหน้าเด็ก ๆ แล้วบอกพวกเขาว่า สามารถกินมาร์ชเมลโล่ชิ้นนี้ได้เลย หรือรอกินมาร์ชเมลโล่สองชิ้นเมื่อผู้ทำการทดลองกลับมา ซึ่งพบว่าเด็กกลุ่มที่รอและไม่กินขนมชิ้นแรก มีผลการประเมินตอนโตทั้งด้านสุขภาพ คะแนนสอบ การใช้สารเสพติด ระดับสติปัญญา ไปจนถึงชีวิตการแต่งงานนั้นออกมาดีกว่าเด็ก ๆ กลุ่มที่กินมาร์ชเมลโล่ชิ้นแรกทันทีหรืออดทนรอได้ไม่นาน ดังนั้น ความอดทนรอคอย (Delayed Gratification) จึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของแต่ละคนด้วย
ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/30gsZFC
ความอดทนรอคอยนี้ ต้องอาศัยทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่เรียกว่า การควบคุมตัวเอง (self-control) ซึ่งเป็นความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เมื่อเผชิญกับสิ่งที่ล่อตาล่อใจหรือแรงกระตุ้นบางอย่าง โดยสามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะวัยก่อนเข้าเรียน (Preschoolers) คืออายุประมาณ 3-5 ปี เพราะเป็นช่วงเตรียมพร้อมก่อนจะออกไปสู่สังคมภายนอก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำเทคนิคต่อไปนี้ ไปปรับใช้กับการสอนลูกให้มีทักษะการควบคุมตัวเอง (self-control) ได้
1.ไม่นำสิ่งล่อตาล่อใจมาวางไว้ใกล้ ๆ เด็ก เพราะเด็ก ๆ ยังไม่ได้ผ่านการเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองได้มากเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเลยน่าจะดีกว่า เช่น การไม่วางขนมหวานไว้ใกล้มือเด็ก ๆ แต่ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็อาจจะใช้วิธีการสอนให้พยามอยู่ห่างจากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น เวลาทำการบ้านให้วางมือถือห่างจากตัวหรือปิดเสียงแจ้งเตือนไปก่อนจะได้ไม่วอกแวกบ่อย ๆ
2.ใช้รางวัลให้เป็นประโยชน์ โดยใช้หลักการเดียวกับการทดสอบมาร์ชเมลโล่ที่มีเงื่อนไขว่าถ้าเด็ก ๆ รอเขาจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะอธิบายให้เขาเห็นภาพ หรือบอกเงื่อนไขว่าถ้าเด็ก ๆ รอแล้วจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการไม่รออย่างไร และถ้าเด็ก ๆ ทำตามเงื่อนไขก็ต้องไม่ผิดสัญญากับเขา ไม่อย่างนั้นอาจจะได้ผลตรงกันข้าม เพราะเขาจะรู้สึกว่าการอดทนรอคอยของเขานั้นไม่สำคัญและไม่ได้คุ้มค่ากับผลที่ได้รับ
ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/3n1zVQK
3.เปลี่ยนจากความรู้สึกว่า ‘ต้องทำ’ เป็น ‘อยากทำ’ เพราะเด็กบางคนอาจจะไม่ได้ขาดทักษะการควบคุมตัวเอง (self-control) เสมอไป แต่ขาดแรงจูงใจในเรื่องนั้น ๆ เช่น เด็กชาย A ไม่สามารถทำการบ้านให้เสร็จก่อนออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ ซึ่งบางทีการบ้านวิชาที่เด็กชาย A ทำอาจจะเป็นวิชาที่เขาไม่ชอบหรือเรียนไม่เข้าใจในโรงเรียน โดยไม่ได้เป็นแบบนี้กับทุกวิชา เราเลยต้องทั้งสังเกตและถามเหตุผลของลูกก่อน ถ้าเขาทำไม่ได้อาจจะช่วยสอนการบ้านหรือหาทางแก้ปัญหาอื่น ๆ อย่างการหาสื่อการสอนวิชานี้ที่เข้าใจง่ายและเหมาะสำหรับเด็กมาให้ลูกเรียนรู้ เช่น วีดิโอ การ์ตูน เกม ของเล่น หนังสือภาพ ฯลฯ
4.สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ปกติเวลาลูกร้องไห้งอแง หรือทำลายข้าวของ เราอาจจะใช้วิธีบอกให้หยุดทำ หรือขู่ให้เด็ก ๆ กลัว ซึ่งอาจจะได้ผลในระยะสั้น แต่สิ่งที่จะช่วยให้เด็ก ๆ หยุดพฤติกรรมในระยะยาวได้คือ การเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง และการเข้าอกเข้าใจ (empathy) ผู้อื่นว่าการกระทำของเขาส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าผู้ใหญ่ไม่แสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจเด็ก ๆ ก่อน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเริ่มได้ง่าย ๆ จากการถามถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก ๆ พร้อมทั้งชวนคิดถึงสาเหตุของอารมณ์เหล่านั้นว่ามาจากไหน โดยไม่รีบตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่เน้นให้เขากล้าพูดอย่างเปิดใจ เพื่อให้เข้าใจ และรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองมากยิ่งขึ้น
5.ชวนเล่นเกมฝึกทักษะการควบคุมตัวเอง ช่วงวันหยุดหรือเวลาว่างก็สามารถปลูกฝังทักษะการควบคุมตัวเองผ่านเกมสนุก ๆ ให้ลูกได้เรียนรู้ได้แบบเนียน ๆ อย่างเด็กที่ชอบเต้นและขยับร่างกาย ก็สามารถใช้ ‘เกมเต้นแล้วหยุด’ ได้โดยเปิดเพลงให้เด็ก ๆ เต้น พร้อมกติกาว่าต้องหยุดเต้นทันทีที่เพลงหยุด แล้วกลับมาเต้นใหม่เมื่อได้ยินเสียงเพลงอีกครั้ง หรืออาจจะเพิ่มกติกาให้เต้นเร็วในเพลงช้า เต้นช้าในเพลงเร็วก็ช่วยฝึกให้เขารู้จักควบคุมร่างกายและทำตามกฎกติกามากยิ่งขึ้น (ติดตามเกมอื่นๆ ได้ใน https://aboutmom.co/features/self-control-games/15141/ ) หรือเด็กยุคใหม่ที่ถนัดเล่นเกมในมือถือหรือไอแพด ก็มีเกมทำอาหารอย่าง ‘family style : co-op kitchen’ ที่ต้องเล่นเป็นทีม โดยเด็ก ๆ จะได้ฝึกความอดทนและการควบคุมตัวเอง ผ่านการรอสมาชิกในทีมส่งต่อวัตถุดิบมาให้ เรียกได้ว่าเป็นเกมที่เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่เล่นดี สนุกได้ทั้งครอบครัวเลยทีเดียว (ติดตามเกม Multiplayer สำหรับครอบครัวเพิ่มเติมได้ใน https://blog.startdee.com/เกม-multiplayer )
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.parentingscience.com/teaching-self-control.html
https://www.facebook.com/PsychologyChula/posts/1007269599387453:0
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...