เลี้ยงอย่างไร ให้ไม่ตีกับลูก ?
ในช่วงลูกอายุ 10 ปีแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับตัวในการเลี้ยงลูกที่เป็นสมาชิกคนใหม่ของบ้าน แน่นอนว่า การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกบ้านจะต้องมีการตีกับลูกบ้าง แต่คำว่าตีกับลูกไม่ใช่การฟาด แต่คือการทะเลาะเบาะแว้ง ขึ้นเสียงกับลูก ยกตัวอย่างปัญหาเบื้องต้นที่พบบ่อย เช่น ลูกไม่เชื่อฟัง ร้องอาละวาด ไม่อาบน้ำแปรงฟัน เป็นต้น ซึ่งเด็กแต่ละช่วงวัยมีปัญหาแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ในฐานะคุณพ่อคุณแม่ ที่มีหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกเพื่อให้ลูกเติบโตไปอย่างเต็มศักยภาพ จะต้องทำอย่างไรบ้าง
วันนี้หมอจะอธิบายพื้นฐานของการเลี้ยงลูกอย่างไร ให้ไม่ตีกับลูก ดังต่อไปนี้
1.จงเชื่อให้สนิทใจว่า “โลกนี้ ไม่มีเด็กที่ไม่ดี”
เด็กดื้อ คือ เด็กปกติ เพราะเด็กดื้อจะเป็นโอกาสให้เด็กได้พัฒนาเพราะคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างบุคลิก คุณลักษณะ และตัวตนของลูกขึ้นมาได้
2.การเลี้ยงลูกเชิงบวก (Positive Parenting) และเป็นพ่อแม่ที่ดี
การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่ฝึกฝน และสามารถทำความเข้าใจกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกได้ โดยเริ่มจาก
- เข้าใจว่าพฤติกรรมใดของลูกที่เป็นตัวกระตุ้นให้อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่เกิดขึ้น ให้เราเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะทำให้ลูกมีพฤติกรรมเหล่านั้น เช่น หากรู้ว่าการไปห้างตอนเย็นที่รถติด ลูกจะหิว และโวยวายจนเกิดการทะเลาะกัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะเตรียมของว่างไว้ให้ลูกทานรองท้องก่อน
- เข้าใจในสถานการณ์เฉพาะที่เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ โดยการเอาสิ่งของที่เป็นตัวกระตุ้นลูกออกไป เช่น หากลูกชอบขว้างแจกัน ให้เอาแจกันนั้นออกจากสายตาของลูก
- วางเงื่อนไข และให้ทางเลือกกับลูก เพราะเมื่อลูกได้เลือกเอง เขาจะมี Self-Control ควบคุมตัวเองได้ ซึ่งมีเราเป็นคนเซ็ตไว้ให้เขาเลือก โดยที่เราไม่ได้บังคับ และเมื่อเขาได้เลือกเขาก็จะมีความมั่นใจในตัวเอง และจะสามารถทำตามเงื่อนไขที่เลือกได้ง่ายขึ้น
- จับถูกมากกว่าจับผิด โดยการชื่นชมลูกเมื่อเขาทำดี ให้ชมในสิ่งที่เป็นพฤติกรรมที่ดี ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ดี มีวิธีการอยู่ 2 วิธี คือ 1. ให้คุณพ่อคุณแม่เพิกเฉย 2. ทำโทษด้วยการสร้างเงื่อนไข และไม่ใช้วิธีการรุนแรง เช่น ถ้าลูกดูมือถือไม่เลิก จะต้องเตือนก่อนว่า แบบนี้พ่อไม่โอเคแล้วนะ เราอาจจะพักการเล่นมือถือ 2-3 วัน หากลูกไม่เลิกเล่น
- ใจดี แต่เด็ดขาด (Firm but Kind) เช่น หากลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนโต๊ะอาหาร ให้คุณพ่อคุณแม่สื่อสารออกไปตรง ๆ ว่า เวลากินก็ต้องกิน ถ้าไม่กินลูกอาจจะต้องทนหิวมื้อถัดไป และถ้าหากลูกไม่กินจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่จะต้องใจแข็ง เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกเข้าใจว่าเรื่องไหนที่ควรจริงจัง
- ใช้การสื่อสารแบบ I message มากกว่า You Message เช่น หากลูกตีเรา เราจะบอกกับลูกว่า ไม่ตีนะ พ่อเจ็บ แทนที่จะบอก ทำไมเป็นคนที่ตีคนอื่นแบบนี้
- มีการพูดคุยกันอย่างลึกซึ้ง (In-depth Conversation) เช่น ถ้าลูกเริ่มพูดเรื่องแฟน คุณพ่อคุณแม่อาจจะถามถึงเรื่องเพศต่อได้ ถามเรื่องความคิดเห็นในมุมมองต่าง ๆ เพื่อที่จะเข้าใจในสิ่งที่เขาคิด และเริ่มแลกเปลี่ยน หรือแนะนำตามประสบการณ์ของเรา
- เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่รับฟังลูก เวลาลูกแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจฟังก่อน ไม่รีบตัดสินเขา เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เราแสดงความคิดเห็นเชิงลบ ลูกจะปิดใจกับเราทันที
- มี Quality time ร่วมกัน คือ การใช้เวลาร่วมกันให้มากที่สุด เช่น อยู่ด้วยกันแบบตัวต่อตัว มีเวลาเล่น เวลาคุย มีเวลาร่วมกันทั้งครอบครัว มีเวลาที่ทุกคนพร้อมหน้ากัน หรือมีการเล่นกิจกรรมแบบ Active ร่วมกัน เช่น เล่นกีฬา และเป็นโอกาสที่คุณพ่อคุณแม่จะได้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกอีกบทบาทหนึ่งด้วย
- ไม่ใช้การปะทะ หรือใช้ความรุนแรงทั้งคำพูด และการกระทำ
- เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นให้คิดอยู่เสมอว่าลูกกำลังมองเราอยู่
3. การเตรียมการ คาดเดา และกิจวัตร
กิจวัตร เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงลูก เพราะเป็นการสร้างวินัยให้กับลูก ลูกจะสามารถเรียงลำดับก่อน และหลังได้ว่าเขาจะต้องทำอะไร โดยการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกสิ่งที่เราจะต้องทำร่วมกันในแต่ละวันให้ชัดเจน และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือชวนทำไปด้วยกันเช่น คุณแม่บอกลูกว่าหลังจากแม่ตากผ้าเสร็จ แม่จะต้องไปทำกับข้าวต่อนะ หรือไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไปไหน ให้บอกลูกก่อนเสมอ เป็นการสร้าง “ความสม่ำเสมอ” และลูกก็จะคาดเดาได้ว่าช่วงเวลานี้ แม่กำลังทำอะไรอยู่ และเขาก็จะต้องทำ เป็นการฝึกให้ลูกมี Self (ตัวตน) มีความมั่นใจ และพร้อมเข้าสู่วัยเรียนมากยิ่งขึ้น
4. สติ (Self-Awareness)
พื้นฐานของการทะเลาะกัน คือ การที่สติแตก หรือสติขาด แต่ความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจเรื่องของ ‘สมอง’ และการทำงานของสมอง เพื่อที่จะฝึกฝน และทำความเข้าใจกับตัวเองมากขึ้น
สมองแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ สมองส่วนหน้า และสมองส่วนอารมณ์ สมองส่วนหน้า คือ สมองส่วนคิด มีหน้าที่ในการวางแผน ตัดสินใจ คิดวิเคราะห์ แยกแยะเหตุผล และการควมคุมตัวเองต่อปัจจัยภายนอกได้ สมองส่วนอารมณ์ คือ จะเอาอารมณ์เป็นหลัก เป็นสมองส่วนที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ มีหน้าที่ช่วยให้คนรอดชีวิตมาได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สมองส่วนหน้าคุมไม่อยู่ก็จะเกิดอารมณ์ และเกิดความรุนแรง ซึ่งเมื่อสมองส่วนนี้เจอกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง หรือเร้าอารมณ์มาก สมองส่วนนี้จะทำหน้าที่ตามหลัก 4 F คือ 1. Fight สู้ ปะทะ 2. Flight หนี ไม่เผชิญหน้า 3. Freeze ช็อค ทำอะไรไม่ถูก 4. Freak สติแตก
ดังนั้น เวลาลูกกรี๊ดขึ้นมากลางห้าง เราจะทำอย่างไร ภายใต้ 4 F นี้? สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำคือ ฝึกสมองส่วนหน้า ใช้สมองส่วนคิดควบคุมอารมณ์ให้อยู่ คือ การที่เรามีสติ และเมื่อมีสติเราจะสามารถวิเคราะห์ลูกที่กรี๊ดอยู่ตรงหน้าได้ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะต้องเริ่มปรับพฤติกรรมอย่างไร
5. การดูแลตัวเอง (Self-Care)
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุขมากขึ้น คือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องกลับมาดูแลกายและใจของตัวเองด้วย ดังนี้
- ดูแลตัวเอง และบำรุงสมองด้วยการพักผ่อน ออกกำลังกาย กินอาหารดี ๆ รู้จักผ่อนคลายตัวเองบ้าง
- รู้จักบริหารสมอง คิดบวก และพยายามมองหาโอกาสในการพัฒนาลูก เช่น ตอนลูกดื้อ อย่าไปคิดว่าลูกดื้อคือ ปัญหา แต่เป็นโอกาสในการพัฒนาลูก
- หาเวลาให้ตัวเองบ้าง ห่างจากลูกบ้าง โดยอาจจะให้คุณพ่อ หรือญาติ ๆ สลับกันเลี้ยงบ้าง หากทำการดูแลตัวเองดัง 3 ข้อนี้ สมองจะกลับมาฟื้นฟูตัวเอง และจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีพลังในการเลี้ยงลูกมากขึ้น
6. การรัก และเคารพตนเอง (Self-Compassion)
ให้คุณพ่อคุณแม่ให้กำลังใจตัวเองเสมอ และเป็นพ่อแม่ในแบบของตัวเอง เพราะการเลี้ยงลูกไม่มีถูก และผิด แต่ปรับใช้กับบริบทของบ้าน อย่าให้ความรู้สึกผิดที่เคยทำพลาดกับลูก ฉุดรั้งเราต่อการเป็นพ่อแม่ที่ดีในวันพรุ่งนี้ ให้โฟกัสที่เหตุของปัญหาแทนที่จะกล่าวโทษตัวเอง และเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยที่ไม่คิดวนซ้ำ แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ครั้งหน้าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น”
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ต้องอาศัยเวลา กำลังใจและพลังของทุกคนในครอบครัว ไม่ใช่ใครคนนึงจะต้องปรับ แต่จะต้องช่วยกันปรับทั้ง 3 อย่าง ก็คือ 1. ปรับที่ลูก 2. ปรับที่พ่อแม่ 3. ปรับที่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการทะเลาะกัน
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...