สื่อลามกออนไลน์ อยู่ใกล้ลูกกว่าที่คิด
ความเสี่ยงหนึ่งที่พ่อแม่อาจคาดไม่ถึง เมื่ออนุญาตให้ลูกใช้สื่อออนไลน์ คือ การที่ลูกอาจเห็นเนื้อหา รูปภาพ หรือกระทั่งคลิปวิดีโอ ที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะสื่อลามกต่าง ๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมเหล่านี้ อยู่ใกล้กับลูกหลานของเราอย่างน่าตกใจ
ลูกอาจเคยเห็น ในสิ่งที่พ่อแม่ไม่รู้
เมื่อสิบกว่าปีก่อน เราอาจห่วงวัยรุ่นที่ใช้อินเทอร์เน็ตว่าอาจเข้าถึงwebโป๊ และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ได้ง่าย แต่มาในยุคนี้ ที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือแทบจะตลอดเวลา พ่อแม่อาจไม่เคยเอะใจว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมเหล่านี้อยู่ใกล้กับลูกหลานของเราเพียงแค่ปลายนิ้ว
ข้อมูลสำรวจออนไลน์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน ของศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็ก และเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เมื่อปี 2562 มีเด็กที่เคยพบเห็นสื่อลามกออนไลน์ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มากถึงร้อยละ 74 นั่นหมายความว่า ในเยาวชน 100 คนที่ใช้อินเทอร์เน็ต มีถึง 74 คนที่เคยเห็นสื่อลามกออนไลน์ โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่รู้
ซึ่งหากเด็ก ๆ มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา แยกแยะได้ว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่ มีพ่อแม่ผู้ปกครองที่พูดคุยปรึกษาได้ การเข้าถึงสื่อลามกออนไลน์อาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล ในทางกลับกัน หากเด็ก ๆ ขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่มีผู้ใหญ่ที่ให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม การเข้าถึงสื่อลามกก็อาจส่งผลต่อความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของเด็กในเชิงลบได้
ด้านมืดของ Social Media
Social Media หรือสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter หรือ Tiktok อาจดูเหมือนเป็นแพลตฟอร์มใส ๆ ไว้โพสต์รูป เช็คอิน โพสต์คลิปวิดีโอ อัพเดตข่าวสาร แสดงความคิดเห็น ฯลฯ แต่เคยคิดไหมคะว่าสังคมออนไลน์ ก็คือโลกเสมือนของสังคมจริง ๆ ที่มีทั้งเรื่องราวดี ๆ และเรื่องราวที่เป็นพิษต่อความคิด และจิตใจ แต่สังคมออนไลน์ หรือ Social Media อาจน่ากลัวกว่าสังคมจริง ๆ ตรงที่ว่า ผู้ใช้จะเป็นใคร ทำอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีใครรู้ แม้กระทั่งพ่อแม่ ก็อาจไม่รู้เลยว่าลูกพบเห็น และมีตัวตนอย่างไรในสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ Social Media ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เรา “บังเอิญ” เห็นเนื้อหาลามกโดยไม่ตั้งใจได้บ่อยครั้ง หากใครใช้ Facebook และอยู่ในกลุ่มสาธารณะ เช่น กลุ่มเสื้อผ้าเด็กมือสอง วันดีคืนดีอาจมีแจ้งเตือนว่ากลุ่มนี้กำลัง live สด เมื่อกดเข้าไปดู กลับกลายเป็นมีคนไม่ประสงค์ดีแชร์คลิปลามกอนาจาร จนต้องกดรีพอร์ตรัว ๆ หรือใครที่มีบัญชี Twitter อาจเคยเห็น Hashtag แปลก ๆ ติดเทรนด์ เมื่อกดเข้าไปอ่าน ก็พบว่าเป็นเนื้อหาทางเพศ ที่บางครั้งก็มีรูปภาพ และคลิปที่ไม่ได้เซ็นเซอร์
หากคุณเริ่มกังวลว่า Social Media อาจทำให้ลูกพบเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ลองศึกษาเรื่องการตั้งค่าความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของแต่ละ application ซึ่งอาจช่วยกันได้ระดับหนึ่งค่ะ
- Twitter ให้ลูกล๊อคอินเข้าบัญชีทวิตเตอร์ผ่าน twitter.com เลือก Settings and Privacy แล้วเลือกในข้อที่เราต้องการจำกัดการใช้งานของลูก เช่น จำกัดให้แค่คนที่อนุญาตเห็นทวิต หรือส่งข้อความถึงลูกได้ สำหรับข้อที่บอกว่า Display media that may contain sensitive content ให้ปล่อยว่าง เพราะหากเลือกจะหมายถึงการอนุญาตให้แสดงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมค่ะ
- TikTok มี family safety mode ให้ผู้ปกครองเปิดบัญชีผู้ใช้ของตัวเอง เข้าไปที่ setting and privacy เลือก family paring ระบบจะโชว์ QR Code ให้ใช้โทรศัพท์ของลูกสแกน เพื่อจับคู่กัน หลังจากนั้น ผู้ปกครองเข้าไปตั้งค่าที่ digital wellbeing เพื่อจำกัดการใช้งานลูกของลูกได้
- ติดตั้ง App ควบคุมการใช้งานของลูก เช่น Norton Family Parental Control ป้องกันการเข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ติดตามการใช้โปรแกรมแชทต่างๆ ของลูก app Google Family link จำกัดเวลาการใช้งาน ดูว่าลูกใช้เวลากับแต่ละ app นานแค่ไหน อนุญาต หรือบล๊อกการติดตั้ง app ที่ไม่เหมาะสมของลูกได้
ปกป้องความสดใส อย่าเห็นอะไรก่อนวัยอันควร
การเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมก่อนวัยอันควร อาจส่งผลถึงทัศนคติของเด็ก ๆ ที่มีต่อเรื่องความสัมพันธ์ และเรื่องเพศ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปกป้องดูแลบุตรหลานได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้ค่ะ
- ใส่ใจอยู่เสมอว่าลูกใช้อินเทอร์เน็ตและ Social Media เพื่ออะไรบ้าง ควรรู้ว่าลูกดู ฟังและเล่นอะไร หากมีโอกาสควรชวนลูกพูดคุยถึงเนื้อหาไม่เหมาะสมที่ลูกอาจบังเอิญเห็น เปิดโอกาสให้ลูกได้ถาม และฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ
- กำหนดเวลา และข้อบังคับการใช้หน้าจอให้เด็ก ๆ ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง
- ติดตั้งซอฟแวร์ web filter และ application ที่ควบคุมการใช้งานออนไลน์ของลูก
- พูดคุยกับลูกเรื่องการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเพศในสื่อต่าง ๆ ทั้งเรื่องความหลากหลายทางเพศ บทบาททางเพศ การแสดงความรัก ความสัมพันธ์ และเพศสัมพันธ์ สอนให้ลูกหัดตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน รวมทั้งย้ำให้ลูกมั่นใจว่า คุณพร้อมที่จะรับฟังและให้คำปรึกษาในทุกเรื่อง
- เป็นตัวอย่างที่ดีในการเห็นคุณค่าในตนเอง ดูแลความสัมพันธ์ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน
สุดท้ายแล้ว เราไม่อาจปกป้องลูกจากโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา แต่เราสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกได้ ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะเป็นเกราะป้องกันลูกจากภัยสังคมรอบตัว ไม่ว่าเด็ก ๆ จะพบเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอย่างไร แต่สายสัมพันธ์อันดี และความรู้สึกว่าพ่อแม่มีอยู่จริง เป็นที่พึงพิงให้พวกเขาได้ ก็จะดึงรั้งเด็ก ๆ ไว้ให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมและเติบโตอย่างมั่นคงปลอดภัยได้
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...