ทำอย่างไรให้ลูกมั่นใจในตัวเอง และไม่กลัวความล้มเหลว
ทุกวันนี้สังคมหล่อหลอมให้เราต้องประสบความสำเร็จ จนทำให้เราโฟกัสอยู่กับความก้าวหน้าเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กสมัยนี้จะเครียดจากการที่ต้องเป็นไปตามแบบที่สังคมกำหนด จนเกิดภาวะไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวความล้มเหลว หรือวิตกกังวลจนอาจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ ๆ ได้นั่นเอง
ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการพื้นฐานของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchical Theory of Motivation) ในลำดับที่ 4 ได้พูดถึงความต้องการที่จะได้รับการยกย่องนับถือ ( Esteem needs ) ไว้ว่าความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งที่สามารถปลูกฝังได้ แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงบุคคลที่อยู่รอบตัวด้วย ถ้าเด็ก ๆ ได้รับการปฏิบัติ และการตอบสนองที่ดีพอ ก็จะทำให้พวกเขาเติบโตไปเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งวิธีการเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกจะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาอ่านกันเลย
ขอบคุณภาพจาก freepik
1.เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น ลูกชอบทำอาหาร ก็อาจจะซื้อของเล่น อุปกรณ์ทำอาหาร หนังสือภาพเกี่ยวกับอาหารให้ลูก หรือถ้าลูกชอบเต้น ชอบร้องเพลงก็หมั่นเปิดเพลงในบ้านแล้วชวนลูกเต้นไปด้วย กิจกรรมเหล่านี้เป็นโอกาสที่ลูกจะได้แสดงความสามารถที่มีให้ผู้อื่นเห็นซึ่งช่วยส่งเสริมความกล้าแสดงออกของเด็ก ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
2.ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เช่น เรื่องในชีวิตประจำวัน ที่อาจจะให้เขาเลือกเสื้อผ้าด้วยตัวเอง เลือกสิ่งที่อยากกิน เลือกของที่อยากได้ แต่อย่าลืมถามเหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเขาด้วย เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้ฝึกแสดงความคิดเห็น และแสดงตัวตนของตัวเอง
3.ให้กำลังใจลูกเมื่อทำผิดพลาด แน่นอนว่าชีวิตคนเราไม่ได้ราบรื่นเสมอไป บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ พยายามแค่ไหนก็ยังทำผิดพลาดกันได้ นับประสาอะไรกับเด็ก บางครั้งเขาพยายามมากแต่ก็ยังทำไม่ได้ ตรงนี้อยากให้พ่อแม่ไม่ซ้ำเติมเมื่อลูกทำพลาด แต่ควรพูดให้กำลังใจ และเน้นให้เขาเห็นว่าการทำพลาด หรือการไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด ซึ่งจะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกกดดัน น้อยเนื้อต่ำใจในตัวเอง แต่จะช่วยให้เขารู้สึกไม่กลัวความล้มเหลว เพราะเชื่อว่าคนเราสามารถแก้ปัญหา และเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามี Growth Mindset นั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก freepik
4.กล่าวคำชื่นชมลูก ถ้าลูกทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จตามที่เขาคาดหวัง คุณพ่อ คุณแม่ควรกล่าวชื่นชมความพยายามของลูก เช่น “เก่งมาก” “หนูพยายามได้ดีมาก” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่พ่อแม่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของลูก ไม่ว่าจะเป็นคำพูดอย่าง “ลูกทำได้” “ลูกทำได้ดีแล้ว” “ไม่เป็นไรนะ เก่งแล้ว” จะช่วยสร้างกำลังใจให้ลูกนับถือตัวเองเพิ่มมากขึ้น และคิดบวกต่อตัวเองและผู้อื่นด้วย
5.มอบหมายสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ลูกทำ ความมั่นใจในตัวเองนอกจากจะเกิดจากการได้ฟังคำชื่นชม คำให้กำลังใจจากพ่อแม่แล้ว ยังเกิดจากการที่พ่อแม่ทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไว้ใจให้เขาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วยตัวเอง เช่น การมอบหมายงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขาทำ หรือให้เขาเลี้ยงต้นไม้ด้วยตัวเอง กินข้าวเอง ผูกเชือกรองเท้าเอง ถ้าลูกทำสำเร็จเขาจะรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และอาจทำให้เกิดความคิดที่ว่าจริง ๆ แล้วความเก่งอาจจะไม่ต้องพิสูจน์ด้วยการสอบได้ที่หนึ่ง ชนะการแข่งกีฬาหรือทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เลย แต่การทำเรื่องเล็ก ๆ ให้สำเร็จได้ก็เก่งเหมือนกัน แค่เก่งคนละแบบเท่านั้นเอง สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกใจดีกับตัวเองมากขึ้น รู้สึกมีคุณค่า และมั่นใจในตัวเองได้จริง ๆ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคำชื่นชมจากคนอื่นเสมอไป
6.ไม่เปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น บางครั้งที่พ่อแม่เผลอเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่นแบบไม่รู้ตัว เช่น ลูกบ้านนั้นเป็นแบบนั้นทำไมลูกไม่ทำบ้าง ลูกบ้านนั้นเรียนเก่งทำไมลูกเราถึงไม่เก่ง หารู้ไม่ว่าการพูดแบบนี้บ่อย ๆ จะบั่นทอนจิตใจของเด็กไปเรื่อย ๆ จนทำให้ลูกไม่มั่นใจในตัวเองและคิดว่าทำเท่าไหร่ก็ยังไม่ดีพอ ดังนั้นพ่อแม่ควรจะใส่ใจในข้อนี้ให้มาก ก่อนจะพูดอะไรออกไปควรคิดถึงจิตใจลูกอยู่เสมอ
แต่ที่สุดแล้วคำสอนของคุณพ่อ คุณแม่จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่แสดงความมั่นใจในตัวเองให้ลูกดูก่อน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยประโยคง่าย ๆ เช่น การพูดว่า “วันนี้แม่ทำอาหารอร่อยมาก” “วันนี้แม่ทำงานเสร็จไว” “วันนี้แม่แต่งตัวสวย” อาจจะฟังดูแปลก ๆ หน่อย แต่เชื่อเถอะว่าการที่คุณชมตัวเองให้ลูกฟังบ่อย ๆ ลูกจะซึมซับพฤติกรรมของคุณด้วยการหัดชื่นชมตัวเองในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกมั่นใจในตัวเอง คนเป็นพ่อ เป็นแม่ก็อย่าลืมมั่นใจในตัวเองกันด้วยนะ เพื่อที่ลูกจะได้มีแบบอย่างที่ดีนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.maerakluke.com/topics/11939
https://baby.kapook.com/view179453.html
https://www.sanook.com/women/97131/
https://mgronline.com/qol/detail/9600000004914
http://www.thaischool.in.th/_files_school/62102138/data/62102138_1_20111209-131002.pdf
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...