"ปวดหัวไมเกรน" เด็กๆก็เป็นได้นะ
ใครเคยปวดหัวไมเกรนบ้าง? เราเชื่อว่าหลายคนคุ้นชินกับความทรมานของอาการปวดหัวข้างเดียวนี้กันดีค่ะ ฟังดูเหมือนไมเกรนจะเป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่รู้ไหมว่า อาการ "ปวดหัวไมเกรน" นั้น เด็ก ๆ ก็เป็นได้นะ แล้วจะอันตรายไหม? เกิดจากอะไรวันนี้เรามีคำตอบมาบอกกันค่ะ
ไมเกรนเกิดจากอะไร?
โรคไมเกรนเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กค่ะ หลายคนไม่ทราบว่าโรคนี้พบได้ตั้งแต่ช่วงวัยอนุบาลเลยนะคะ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเกิดจากพันธุกรรม ถ้าสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไมเกรน เด็ก ๆ ก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ด้วย โดยเกิดจากปัจจัยภายนอกที่อาจกระตุ้นทำให้ปวดศีรษะ เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดในสมองที่มากเกินไป เนื่องด้วยสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า “เซโรโตนิน” ทำงานไม่ปกติ โดยสารนี้ทำหน้าที่ควบคุมการหดขยายของหลอดเลือดในสมองนั่นเอง
โรคไมเกรนมีกี่แบบ
โรคไมเกรนแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน และไมเกรนที่มีอาการเตือน อาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสีหรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน มองภาพไม่ชัด
บางคนอาจมีอาการเบลอ มึนหัว สายตาพล่ามัวหรือภาพที่เบลอ มองเห็นแสงเป็นเส้น ๆ เห็นแสงวิบวับ เห็นจุดเล็ก ๆ หรือได้กลิ่นบางอย่างก่อนที่จะมีอาการปวดหัว อาการเหล่านี้เรียกว่า ‘อาการเตือน’ ซึ่งเด็กที่โตพอรู้เรื่องแล้ว เขาจะรู้เวลาปวดล่วงหน้าประมาณ 15 -20 นาที
โรคไมเกรนในเด็กอันตรายไหม?
โรคไมเกรนในเด็กไม่มีอันตรายรุนแรง เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตประจำวันทำให้หงุดหงิดงอแงมากกว่าปกติ อาการไมเกรนในเด็กกับในผู้ใหญ่มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ที่เหมือนกัน คือ ปวดศีรษะ ปวดข้างเดียว บางครั้งปวดย้ายข้างไปมาซ้ายขวา บางครั้งก็ปวดสองข้าง เป็นลักษณะปวดตุบๆ อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ส่วนที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือ ผู้ใหญ่จะบรรยายอาการได้ แต่เด็กไม่สามารถบอกได้ บางคนอาจเล่าได้ว่าปวดหัวตุบ ๆ เหมือนมีคนมาทุบหัว แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเขาปวดหัวแบบไหน บางคนไม่ได้ปวดข้างเดียว บางครั้งก็ปวดทั้งสองข้าง ลูกอาจจะใช้คำว่า “หนูปวดเหมือนหัวใจเต้นอยู่ในสมอง” หรือ “หนูรู้สึกเหมือนมีคนมาทุบตุบ ๆ ที่หัว” เหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าลูกอาจจะเป็นไมเกรนอยู่ค่ะ
สังเกตเมื่อลูกปวดหัวไมเกรน
1. ลูกมักบ่นปวดหัว ทั้งที่ลูกมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและ ไม่มีปัญหาเรื่องสายตา
2. ปวดหัวบริเวณขมับ หรือหน้าผาก แต่ละครั้งนานเกิน 1 ชม.
3. ลูกบอกว่ามองเห็นแสงเป็นเส้น ๆ หรือได้กลิ่นบางอย่าง ก่อนที่จะมีอาการปวดหัว
โรคไมเกรนในเด็กป้องกันได้
อาการไมเกรนนั้นสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงภาวะบางอย่าง อาหารบางชนิดและพฤติกรรมบางอย่างตามนี้
- หลีกเลี่ยงแสงแดด โดยการใส่หมวก ใส่แว่นตา กางร่ม
- หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต ชีส อาหารแปรรูป ไส้กรอก บะหมี่สำเร็จรูป เพราะอาหารเหล่านี้อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ ไมเกรนได้
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การอดนอน นอนดึก การเล่นเกม การใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ การออกกำลังกายที่หนักและหักโหมมากเกินไป
ปวดหัวไมเกรนนั้นสามารถรักษาได้และเลี่ยงได้ เป็นโรคที่ไม่อันตรายแต่ก็ทำให้ลูกทรมานมาก จึงควรให้ลูกพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เมื่อมีอาการปวดศีรษะไม่รุนแรงมากนัก ให้นอนพัก ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นให้ทานยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวด แต่หากลูกมีอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก ไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
Related Courses
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...
แนะนำหลักสูตร well being
คอร์สเรียนนี้จะชวนให้ทุกคน กลับมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กๆ กันนะคะ เพราะทั้งสองเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรง ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...