ชมอย่างไรให้ลูกเกิดการเรียนรู้
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงอยากจะเลี้ยงดูให้ลูกของตนเองเป็นเด็กที่ดี มีพฤติกรรมเหมาะสม แต่ก็ไม่รู้ว่าควรที่จะสอนลูกอย่างไรดี วันนี้เราขอชวนทุกคนมารู้จักกับอีกหนึ่งวิธีการทางบวกที่จะช่วยเสริมแรงให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีอย่าง “การชม” ซึ่งเป็นวิธีที่เสมือนการให้รางวัลลูกที่สามารถทำได้ง่าย และไม่แทบไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย แต่ได้ผลอย่างยิ่ง ว่าแล้วเรามาดูหลักการในการชมที่ดีกันดีกว่า
ขอบคุณภาพจาก kazuend
1. ชมทันที เมื่อคุณเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมที่ดี หากเป็นไปได้การที่ชมลูกทันทีจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เขาเกิดความเข้าใจ และเรียนรู้ว่าพฤติกรรมที่ตนเพิ่งทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ดี ในทางตรงกันข้ามหากผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งแล้วคุณเพิ่งมาชมที่หลัง พวกเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมคุณเพิ่งมาชมเขา รวมถึงอาจจะลืมไปแล้วว่าเคยทำสิ่งนั้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมนั้นซ้ำได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการชมทันที
2. ชมทุกครั้ง หากเป็นไปได้ คุณควรที่จะชมลูกทุกครั้งที่เห็นพฤติกรรมที่ดี เช่น เวลาที่เห็นลูกแบ่งของเล่นให้น้อง ก็ควรจะชมเขาทุกครั้ง ไม่ใช่ชมบ้าง ไม่ชมบ้าง เพราะมันอาจจะทำให้เขามองว่าคุณไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันขนาดนั้น จนไม่เกิดการเรียนรู้ว่าตนควรที่จะทำพฤติกรรมนี้
3. ชมอย่างเจาะจง การชมอย่างกว้าง ๆ เช่น ลูกเก่งมาก อาจจะทำให้เด็กไม่เข้าใจ และไม่เกิดการเรียนรู้จากคำชมว่าพฤติกรรมใดเป็นสิ่งที่เรากำลังชมอยู่ ดังนั้นเวลาชมเราจึงควรที่จะชมอย่างเจาะจงลงไปอีกเพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าเรากำลังพูดชมอะไรอยู่ เช่น วันนี้หนูกินอาหารแล้วเก็บจานด้วย เก่งมากเลยนะลูกแม่
4. ชมที่ทำ ไม่ใช่ชมที่ไม่ทำ แทนที่จะเลือกชมที่ลูกไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้เลือกชมที่เขาทำพฤติกรรมที่ดีแทน เช่น แทนที่จะพูดว่า “ขอบคุณนะคะ ที่วันนี้หนูไม่แย่งของเล่นน้องมาเล่น” เป็น “ขอบคุณนะคะ ที่วันนี้หนูแบ่งของเล่นให้น้องเล่นด้วย แม่ภูมิใจในตัวหนูมากเลยนะ” เนื่องจากการชมที่ลูกไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกับพฤติกรรมที่เขาเคยทำนั้น อาจจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองถูกตำหนิถึงพฤติกรรมเดิมซ้ำไปซ้ำมามากกว่าที่จะรับรู้ถึงการชม ซึ่งสามารถทำให้ประสิทธิภาพของการชมลดน้อยลงได้
5. ชมอย่างมีขอบเขต ในการชมลูกนั้นควรระวังให้เป็นชมลูกอย่างที่ขอบเขต และอยู่บนความเป็นจริง ไม่ให้มากจนเกินไปจนกลายเป็นอวยลูกจนเกินไป หรือเป็นการไปสปอยล์ลูก เช่น หากลูกเล่นกีฬาชนะ แทนที่จะชมว่า “ลูกแม่วิ่งเก่งที่สุดเลยนะ เป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดเท่าที่แม่เคยเห็นมาเลย” มาเป็นชมว่า “เมื่อกี้ลูกทำได้ดีมากเลยนะ แม่ภูมิใจในตัวลูกมากเลยนะ”
6. ชมที่พฤติกรรม ความตั้งใจ และความพยายาม ในการชมลูกนั้นเราควรที่จะเน้นชมที่พฤติกรรม หรือความตั้งใจของลูกมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้มา เช่น หากลูกสอบผ่าน แทนที่จะชมว่า “ลูกเก่งมากเลยที่สอบผ่าน” ให้ชมว่า “พ่อเห็นลูกอ่านหนังสือมาหลายวันแล้ว พ่อชื่นชมมากเลยนะที่ลูกตั้งใจขนาดนี้ ทั้งหมดมันเป็นเพราะความตั้งใจของลูก พ่อดีใจกับลูกด้วยนะที่สอบผ่าน”
ขอบคุณรูปจาก Dragon Pan
การชมที่ตัวพฤติกรรมเหล่านี้เองจะส่งเสริมให้ลูกของคุณให้คุณค่ากับพฤติกรรม หรือความพยายามของตนเองมากกว่ายึดติดกับผลลัพธ์ ที่นอกจากจะเป็นการเสริมแรงให้ลูกเกิดการเรียนรู้อยากทำพฤติกรรมแบบเดิมซ้ำแล้วนั้น ยังส่งเสริมให้พวกเขามี growth mindset และ รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถ (self-efficacy) ซึ่งจะทำให้ในอนาคตพวกเขากล้าลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจว่าพวกเขามีความสามารถมากพอที่จะทำมันได้ในที่สุด ในทางตรงกันข้าม หากเน้นชมถึงตัวผลลัพธ์ ผลที่ได้อาจจะทำให้ลูกเกิดความกังวล ไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะกลัวว่าตนเองจะไม่ได้ผลตามที่หวัง เพราะไม่มั่นใจในตนเองและยึดติดกับผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว
6. ชมอย่างตั้งใจ อีกสิ่งที่สำคัญคือเราต้องแสดงความจริงใจ และชมลูกอย่างตั้งใจ มากกว่าที่จะแสดงท่าทีเหมือนชมเขาเพียงผ่าน ๆ เท่านั้น เพื่อให้เขารับรู้ว่าเราชื่นชมในตัวเขามากจริง ๆ ดั่งคำที่ได้พูดชมไป ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพของการชมจนทำให้เขาอยากทำพฤติกรรมที่ดีซ้ำ ๆ แล้วนั้น การแสดงออกถึงการชื่นชมยังสามารถช่วยเสริมให้ลูกของคุณเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) อีกด้วย
และเนื่องจากแต่ละคนนั้นมีลักษณะนิสัย บุคคลิกภาพที่แตกต่างกันไป จึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูกของคุณประกอบไปด้วยว่าคำชมแบบไหนที่เหมาะกับลูกของคุณเพื่อให้การชมนั้นยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น สำหรับเด็กโต ในข้อที่ 1 ชมทันที หากเป็นพฤติกรรมที่เขาเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนของเขา การเดินเขาไปชมเขาทันทีต่อหน้าเพื่อน อาจจะทำให้เขารู้สึกอึดอัดได้ เราสามารถเปลี่ยนเป็นชมทันทีหลังจากที่ได้มีเวลาส่วนตัวกับเขาแทน เพื่อยังให้เขาจำได้ และเข้าใจอยู่ว่าเราชมเพราะอะไร และไม่ได้ทำให้เขารู้สึกอึดอัดกับคำชมของเรา
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.verywellfamily.com/positive-reinforcement-child-behavior-1094889
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...