Disrespectful ไม่เคารพผู้ใหญ่ ปัญหาแห่งยุคสมัยที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเผชิญ
“เลิกเล่นโทรศัพท์แล้วไปทำการบ้านได้แล้วนะลูก” คุณแม่ส่งเสียงบอก เมื่อลูกสาวได้ยินคำพูดของแม่ ก็กระแทกโทรศัพท์ลงบนโซฟา กรอกตามองบน ก่อนลุกเดินหนีไปอย่างไม่พอใจ
“ทำรายงานที่คุณครูสั่งเสร็จหรือยังนะ” แม่เอ่ยถามลูกชายขณะที่กำลังกินอาหารเย็น
“โห! ทำไมแม่ต้องมาคอยเช็คด้วยว่าผมทำเสร็จหรือยัง ไม่ไว้ใจผมเลยหรือไง” ลูกชายตอบอย่างหัวเสีย
เหตุการณ์ประมาณนี้เคยเกิดขึ้นในครอบครัวของคุณบ้างหรือเปล่าค่ะ พ่อแม่ผู้ปกครองที่เคยเจอสถานการณ์คล้าย ๆ กันนี้ คงรู้สึกว่าเด็กยุคใหม่ช่างก้าวร้าว ไม่น่ารักเอาเสียเลย ทำให้บางทีเราก็อาจดุลูกอย่างรุนแรงในการทำพฤติกรรมเช่นนั้น ซึ่งอาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ว่าแล้วลองมาทำความเข้าใจพฤติกรรมของเด็กยุคใหม่กันสักหน่อยดีกว่าค่ะว่า อาการก้าวร้าว และดูเหมือนว่าไม่เคารพผู้ใหญ่เกิดจากอะไรกันแน่
พัฒนาการตามวัย ไม่ใช่ไม่เคารพ
ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีพฤติกรรมดังกล่าวค่ะ แต่หากเด็กในปกครองของคุณแสดงพฤติกรรมที่ดูเหมือนไม่เคารพผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่สูงวัยกว่า นั่นอาจเป็นเพราะพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะวัยเด็กตอนปลายไปจนถึงวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงเรียนรู้เรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ต่าง ๆ เป็นช่วงสร้างตัวตน (Self) มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง หลายครั้งจึงเริ่มมีความคิดเห็นขัดแย้งกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งผู้ใหญ่ควรเข้าใจว่าพัฒนาการด้านการเป็นตัวของตัวเองนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของลูกด้วย
นอกจากนี้ เด็กวัยรุ่นยังอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เนื่องจากสมองที่กำลังเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลง ผนวกกับฮอร์โมนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในวัยนี้ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและทัศนคติของเด็กๆ ได้เช่นกัน วัยรุ่นจึงเริ่มมีความคิดซับซ้อน และลึกซึ้งมากขึ้น พวกเขาอาจมีความคิดและความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น จากที่เคยเห็นว่าพ่อแม่เป็นคนดูแลปกป้องคุ้มครอง เมื่อถึงตอนนี้ พวกเขากลับรู้สึกว่าพ่อแม่ดูแลและปกป้องเขา ‘มากเกินไป’ ดังนั้น ความอบอุ่นใจที่เคยรู้สึกเมื่อมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ในวัยเด็ก อาจมีความอึดอัดใจเข้ามาแทนที่ แต่ด้วยความที่พวกเขาเพิ่งรู้จักกับความรู้สึกแบบนี้เป็นครั้งแรก ผนวกกับอารมณ์หุนหันพลันแล่นของวัยฮอร์โมน จึงอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาได้
ช่วยลูกปรับ รับมือพฤติกรรม
ถึงแม้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าว และดูเหมือนว่าไม่เคารพผู้ใหญ่นั้นส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพัฒนาการ และฮอร์โมนตามวัย แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ควรละเลยค่ะ ในทางกลับกัน คุณควรช่วยเด็ก ๆ รับมือกับอารมณ์เชิงลบ และแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เหมาะสม ด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ตั้งกฎให้ชัด ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเรื่องการแสดงออก และการสื่อสารภายในครอบครัว เช่น เมื่อแม่เรียก ลูกต้องละสายตาจากหน้าจอ และเงยหน้าสบตาพูดคุยกัน หรือ บอกลูกว่าครอบครัวของเราจะสื่อสารอย่างให้เกียรติกันและกัน เมื่อตั้งกฎแล้ว ทุกคนภายในบ้าน ก็ควรรักษากฎด้วยเช่นกัน หากลูกต้องการพูดคุยกับคุณ ขณะที่คุณกำลังกดโทรศัพท์ คุณก็ควรละสายตาจากหน้าจอ และสบตาตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูดด้วย
- สงบสติอารมณ์ หากลูกตอบสนองคุณด้วยท่าทีก้าวร้าว ตอบคำถามด้วยการใส่อารมณ์ สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือ สงบสติอารมณ์ สูดหายใจลึก ๆ ควบคุมความโกรธ และสื่อสารกับลูกด้วยท่าทีสงบแต่มั่นคง หรือที่เรียกว่า Kind but Firm อย่าปล่อยให้ตัวเองเกรี้ยวกราดจนกลายเป็นปะทะอารมณ์กับลูก เพราะไม่เกิดผลดีกับใครเลย
- ปัญหาคือพฤติกรรม อย่าโทษตัวบุคคล เมื่อคุณต้องคุยกับลูกถึงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักต่าง ๆ ควรระบุให้ชัดเจนว่าคุณไม่ชอบพฤติกรรมที่ลูกทำ ไม่ใช่คุณไม่ชอบลูก หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่เป็นการตีตราเด็ก ๆ เช่น “ลูกเป็นเด็กที่หยาบคายมาก” หรือ “ในทางกลับกันควรบอกว่า “แม่ไม่ชอบที่ลูกทำปึงปังเมื่อแม่พูดด้วยดี ๆ” ระบุพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ชัดเจน และบอกว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับพฤติกรรมนั้น ก่อนจะแนะนำว่าครั้งต่อไปลูกควรทำอย่างไร
- ปล่อยผ่านบ้างก็ได้ เด็ก ๆ ก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หากพ่อแม่ผู้ปกครองคอยตามจิกทุกพฤติกรรม ก็อาจจะยิ่งทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านมากขึ้น บางเรื่องที่เล็กน้อย เช่น เมื่อคุณบอกให้ลูกล้างจาน ลูกก็ทำให้แต่กรอกตามองบนเล็กน้อย หรือ เมื่อคุณจะเตือนอะไรแล้วลูกรีบตัดบทว่า “รู้แล้วๆๆๆ” หากไม่ใช่พฤติกรรมคอขาดบาดตายอาจปล่อยผ่าน ๆ บ้างก็ได้ค่ะ
- ถามซ้ำเตือนสติ บางครั้งพฤติกรรมหรือคำพูดที่เด็ก ๆ แสดงออกมา อาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจใช้วิธีถามซ้ำเพื่อเตือนสติให้เด็ก ๆ ได้คิดทบทวน เช่น “เมื่อกี้ลูกพูดกับแม่แรงมากเลยนะ ลูกไม่ได้หมายความอย่างนั้นใช่ไหม” เด็ก ๆ อาจอ้ำอึ้งเพราะคาดไม่ถึงว่าคุณจะตอบสนองเช่นนี้ ลึก ๆ พวกเขาอาจรู้สึกเสียใจที่พูดแรง บางคนอาจขอโทษทันที บางคนอาจเฉไฉเปลี่ยนเรื่อง ไม่ว่าเด็ก ๆ จะตอบสนองอย่างไร สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือให้คำแนะนำอย่างสงบ และให้อภัยค่ะ
- เถียง สอน ประชด อย่าทำ หากลูกแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักใส่คุณ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรทำเด็ดขาดคือเปิดฉากเถียงกับลูก หรือพูดประชดเหน็บแนม และแม้ว่าคุณจะมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า แต่เวลานี้ก็อาจไม่เหมาะนักที่จะสอนลูกด้วยการเทศนายาว ๆ หากรู้สึกว่าพฤติกรรมของลูกจำเป็นต้องได้รับการแนะนำจริง ๆ ควรบอกลูกว่า แม่อยากคุยกับลูก แล้วหาเวลานั่งลงพูดคุยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
- เป็นตัวอย่างที่ดี พูดคุย และปฏิบัติกับลูกอย่างที่คุณอยากให้ลูกปฏิบัติต่อคุณ สิ่งนี้สำคัญที่สุดที่จะทำให้การปรับพฤติกรรมเด็ก ๆ ประสบผลสำเร็จค่ะ
ไม่เคารพผู้ใหญ่ แบบไหนต้องกังวล
พฤติกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะพัฒนาการตามวัย แต่หากลองปรับพฤติกรรมตามวิธีที่แนะนำข้างต้นแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ หนำซ้ำยังดูเหมือนว่าพฤติกรรมของลูกจะก้าวร้าว และต่อต้านมากกว่าเดิม นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าต้นตอของปัญหาอาจไม่ใช่เรื่องพฤติกรรมตามวัยทั่วไป สัญญาณที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
- พฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด ไม่เคารพผู้ใหญ่ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เก็บตัวจากครอบครัวและเพื่อน ๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เคยทำ หรือขาดเรียนบ่อย ๆ
- มีอาการทำร้ายข้าวของ ทำร้ายร่างกายตนเองหรือคนอื่น ๆ
หากรู้สึกว่าลูกมีพฤติกรรมที่น่ากังวลควรชวนลูกนั่งคุยอย่างจริงจัง ถามไถ่เรื่องราวในชีวิตของลูก และเปิดใจรับฟัง อย่าด่วนตัดสิน หากไม่ได้ผล ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...