อย่าให้ภาพที่คุณถ่าย ทำร้ายลูก
สิทธิของเด็กในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้ง เพราะบางทีเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้ปกครอง อาจถูกละเลยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆจนเรามองข้ามไปว่าเด็กก็เป็นมนุษย์คนนึงที่พึงได้รับสิทธิ์ในการปกป้องจากการละเมิดสิทธิ และในวันนี้เราจะแสดงให้เห็นถึงสิทธิที่เด็กควรมี ให้ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ก่อนอื่นเลย เราจะยกตัวอย่างการกระทำที่สังคมปัจจุบันส่วนมากมักมองข้าม นั่นก็คือการที่คนใกล้ตัวของเด็กๆ ไม่วาจะเป็น ผู้ปกครอง ญาติ เพื่อน โพสต์รูปภาพ ถ่ายคลิป หรือแชร์สื่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่ส่วนมากก็มักจะเป็นความเคยชินที่คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ก็ตลกดี แค่สร้างความบันเทิงให้กับเพื่อนๆในโซเชียลมีเดีย แต่จริงๆแล้วนี่ต่างหากที่เป็นดาบสองคมที่อาจทำร้ายเด็กๆได้
ทำร้ายอย่างไร?
จริงๆแล้วการกระทำเหล่านี้ไม่ต่างจากการเอาเด็กมาประจาน เช่น คลิปล้อเลียนเด็กที่พูดไม่ชัด ภาพเด็กเปลือยกาย และอีกหลายๆสื่อที่มีการละเมิดเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีบุคคลไม่หวังดีเข้ามาหาผลประโยชน์ได้
พอถึงตรงนี้ให้คิดไว้ก่อนว่าเด็กได้รับสิทธิและการคุ้มครองทางกฏหมายเหมือนกันกับทุกคนตั้งแต่แรกเกิด อย่างน้อยก็การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และการกระทำที่ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย
แบบไหนที่ไม่เหมาะสมและอาจเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก?
“ภาพถ่ายร่วมกับเด็กคนอื่นโดยไม่ได้รับการยินยอม” เพราะจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเด็กคนอื่นที่อยู่ในภาพ แม้กระทั่งภาพที่ติดหน้าของเด็กก็ถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว
“ภาพถ่ายโรงเรียนของเด็ก หรือระบุตำแหน่งให้พื้นที่สาธารณะทราบตลอดเวลา” เพราะอาจจะมีมิจฉาชีพหรือบุคคลไม่หวังดีกำลังแอบดูความคืบหน้าของเด็ก ที่สำคัญ อย่าแชร์โลเคชั่นเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงเด็กอาจกำลังตกอยู่ในอันตรายได้โดยที่ไม่รู้ตัว
“ภาพถ่ายเด็กตอนอาบน้ำ” อาจจะเป็นภาพช่างดูน่ารักน่าชัง แต่อาจจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือคนโรคจิตบางคนคิดไม่ดีกับเด็ก
“ภาพถ่ายที่เด็กไม่อยากให้แชร์” หากเด็ก ๆ นั้นพอจำความได้ และไม่ต้องการให้ลง การนำสื่อนั้นไปเผยแพร่ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็ก อาจทำให้รู้สึกอับอายและเสียใจได้
“ภาพถ่ายที่ดูแล้วทำให้รู้สึกว่าเด็กๆ ไม่ปลอดภัย” เช่น ภาพถ่ายที่ให้ลูกนั่งตักในขณะที่พ่อหรือแม่กำลังขับรถอยู่ สะท้อนว่าพ่อแม่กำลังประมาทและไม่พร้อมที่จะดูแลลูก อาจเกิดการถูกตำหนิ และสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อครอบครัวได้
แล้วทำไมเรามักมองข้าม?
จริงๆแล้วมีกฎหมายใช้ในการคุ้มครองเด็ก มี 3 ฉบับ คือ
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว มาตรา 76 ซึ่งมีบทบัญญัติ ห้ามถ่ายหรือบันทึกภาพเด็กกระทำผิด
รวมถึงพระราชบัญญัติคุ้ครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีเนื้อหาเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยผู้อื่นจะไม่สามารถเก็บ ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนได้ โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563
ซึ่งจะทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อนเก็บ ไปใช้ และเผยแพร่ ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ และข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงระบุตัวเจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้ และรวมถึง
"ภาพถ่ายบุคคลที่เห็นหน้าชัดเจนด้วย"
หากผู้ใดนำข้อมูลดังกล่าวออกเผยแพร่โดยเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาต เจ้าของข้อมูลมีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีได้ โดยมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา การฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้มีทั้งโทษจำคุก, ปรับ และจ่ายค่าเสียหาย โดยโทษสูงสุดคือ จำคุก 1 ปี, ปรับ 3 ล้านบาท และจ่ายค่าเสียหายสองเท่า แต่การบังคับใช้ดังกล่าวยังไม่ทั่วถึง และประชาชนยังขาดความตระหนัก ยังเห็นว่ามันเป็นเรื่องสนุกขำขัน แต่ถ้ามองในมุมลึก มันคือการใช้เด็กเป็นเครื่องมือมาสร้างความบันเทิงให้กับผู้ใหญ่นั่นเอง
วิธีแชร์อย่างถูกวิธีและไม่ละเมิดสิทธิ
- อาจจะถามความคิดเห็น แสดงความเข้าใจกับเด็กก่อนที่จะลงรูป/คลิป เพราะบางทีที่เห็นว่ามันดูน่าตลก แต่กับเด็กนั้นอาจจะไม่ตลกและรู้สึกอับอายได้
- อย่าแสดงความเคลื่อนไหวของเด็กอยู่ตลอดเวลาเพราะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและผู้ไม่หวังดีสามารถเข้าถึงตัวเด็กได้โดยตรง
- ผู้ปกครองควรวางโทรศัพท์ทุกครั้งที่เด็กร้องไห้ ไม่ใช่คอยถ่ายคลิปตลอดเวลาที่เด็กร้องไห้ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับจิตใจของลูกน้อยกว่าการอัดภาพ และอาจสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจให้กับลูก ๆ ได้
- ลดสื่อประเภทที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะการทำซ้ำจะสร้างความเคยชินให้กับสังคมและเกิดปัญหาได้
สุดท้ายนี้อยากให้ผู้ปกครองหันมาใส่ใจเด็กให้มากขึ้น ให้พึงคิดเสมอว่าเด็กก็ควรมีสิทธิเหมือนที่เราได้รับ อันไหนที่เราไม่ชอบ เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบเช่นกัน แล้วอย่าลืมบอกต่อคนใกล้ตัวถึงการกระทำต่างๆที่อาจสร้างความอันตรายหรืออับอายให้แก่เด็กด้วย
Related Courses
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
ฝึกกระบวนการคิด ในห้องเรียนยุคใหม่
การสร้างการเรียนรู้สำหรับครูและผู้ปกครองในการพัฒนากระบวนการคิดให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กในระหว่างอยู่ที่โรงเรียนและบ้านเพื่อเพิ่มป ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...