ลูก "ฝันร้าย" อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก
เสียงลูกร้องจ้า และตื่นกลางดึกบ่อยๆ บางครั้งถึงขั้นสะดุ้งตัวโยน บางรายก็ถึงกับฉี่รดที่นอนกันเลย นั่นอาจจะเป็นสัญญาณว่าลูกโดนเจ้า “ฝันร้าย” เล่นงานซะแล้ว เรามาดูกันดีกว่าว่าความฝันเกิดจากอะไร และเราจะรับมือกับฝันร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกของเราได้อย่างไร
ลูกฝันร้าย เพราะอะไร
การฝันร้ายในเด็กเล็กนั้น อาจจะเกิดจากความเหนื่อยล้ามากๆ หรือเกิดจากสถานการณ์, เหตุการณ์, สิ่งแวดล้อมที่เด็กๆ ได้รับก่อนเข้านอนหรือได้รับในแต่ละวัน เช่น หากเด็กได้ชมภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ หรือแม้แต่คลิป Youtube ที่มีภาพหรือเสียงที่น่ากลัว หรือมีความรุนแรง พอถึงเวลานอนตอนกลางคืนเด็กๆ ก็มักจะฝันร้าย
ดังนั้นไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีชมภาพที่น่ากลัว มีความรุนแรง ควรให้ลูกได้ชมเรื่องราวที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ให้ความรู้ สร้างเสริมปัญญาจากในสื่อต่างๆ ที่น่ากลัวคือ Youtube บางช่องหรือบางรายการก็มีเนื้อหาที่น่ากลัวสำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง จึงต้องคอยดูรายการที่ลูกดูไปด้วย หรือไม่ก็ควรตั้งค่าให้แสดงเฉพาะเนื้อหาสำหรับเด็กเท่านั้น
รวมถึงไม่ควรขู่หรือหลอกให้เด็กกลัว โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้านอน อาจจัดกิจกรรมให้มีการผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น เล่านิทาน สวดมนต์ หรือ เปิดเพลงเบาๆ ก่อนเข้านอน
รู้ได้อย่างไรว่าลูกฝันร้าย
ในเด็กเล็ก 1-2 ขวบจะเริ่มมีอาการฝันร้าย คือการสะดุ้งตื่นกลางดึกและร้องไห้ แต่ในเด็กเล็กอาจจะยังไม่รู้ว่านั่นคือฝันร้าย แค่รับรู้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ดี กว่าเด็กจะเริ่มรู้และแยกแยะความจริง และความฝันได้ ก็เมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ นั่นคือเมื่อเขาสามารถสื่อสารถึงเรื่องราวที่ฝันได้นั่นเอง
เมื่อลูกฝันร้ายควรทำอย่างไร?
ถ้าเด็กอายุยังน้อยจะตื่นขึ้นมาร้องไห้จนกว่าพ่อแม่จะมาปลอบโยน เด็กที่อายุ 2-5 ปี ที่แยกห้องนอนกับแม่แล้วจะวิ่งมาหาพ่อแม่และขอนอนด้วย แต่หากโตกว่านี้ก็จะรู้ว่าเป็นเพียงฝันร้ายเขาก็จะนอนหลับต่อได้เอง เมื่อลูกเข้าหา หรือเมื่อเราสังเกตว่าลูกฝันร้าย ควรกอดลูกเอาไว้และพูดกับลูกช้าๆ เมื่อลูกสงบลงแล้วก็พูดกับลูกด้วยความอ่อนโยนอีกครั้ง บอกให้รู้ว่า แม่อยู่เป็นเพื่อนแล้ว ไม่ต้องกลัว ให้เขาสงบแล้วหลับต่อเอง ทั้งนี้อาจไม่จำเป็นต้องเปิดไฟ หรือพาไปล้างหน้า เพราะอาจทำให้ลูกตื่นจนกลับไปนอนหลับยาก
เมื่อฝันร้ายไม่ได้อยู่แค่ในฝัน แต่ยังทำร้ายสุขภาพ
ฝันร้ายทำร้ายสุขภาพลูกได้มากกว่าที่คิด เพราะเด็กเล็กนั้นช่วงการนอนหลับไม่เพียงเป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ยังเป็นช่วงที่เซลล์ต่างๆกำเนิดใหม่อีกด้วย ทั้งเซลล์สมองและเซลล์ร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีผลต่อการเรียน การพักผ่อนไม่พอเพียงในตอนกลางคืน อาจทำให้เด็กขาดสมาธิในการเรียน หรือเรียนไม่รู้เรื่อง หรืออาจจะง่วงขณะเรียน บางคนอาจจะเครียด และเก็บไปคิดมากได้
ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์วิก ระบุว่า การฝันร้าย ฝันผวา หรือมีอาการกรีดร้อง ขยับแขนขาระหว่างนอนหลับยาว ทำให้เด็กมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะมีปัญหาภายในจิตใจ โดยเด็กวัย 12 ปี ที่มีอาการฝันร้ายมีความเสี่ยงสูงจะมีปัญหามากกว่าปกติถึง 3.5 เท่า ขณะที่เด็กที่มีอาการฝันผวามีโอกาสป่วยทางใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า
วิธีลดฝันร้ายให้กลายเป็นดี
- เข้านอนอย่างเป็นเวลา
ถ้าเป็นเด็กเล็กควรเข้านอนแต่หัวค่ำ ให้ฝึกเป็นนิสัย และที่ห้องนอนของลูกอาจจะมีตุ๊กตาตัวโปรดเป็นเพื่อนที่เค้าชอบ ไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาเค้าก็ได้ เพื่อให้เด็กๆมีจิตใจสงบลดอาการฝันร้ายได้
- กิจกรรมก่อนเข้านอน
ควรที่จะเป็นกิจกรรมที่เบาๆ ไม่ควรมีการเล่นกีฬาหนักๆ หรือการดูทีวี ดูหนัง ที่มีฉากน่ากลัวหรือสยองขวัญ งดเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน หรือ การทานอาหารที่หนักมากเกินไป จะผลต่อระบบย่อยอาหารทำให้หลับยากและเสี่ยงต่อฝันร้าย
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...