แนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set)
“ในโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทักษะที่มีวันนี้ยังคงสอดคล้องกับวันพรุ่งนี้หรือไม่”
โลกยุคหลังโควิด 19 ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนไปฉับพลัน ไม่ว่าจะมองไปทางไหนทุกคนต่างก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การทำงาน กระทบลงมาจนถึงระดับการศึกษา ที่ถึงแม้จะดูเป็นสังคมเล็ก ๆ แค่ภายในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่เพราะการศึกษาคือจุดเริ่มต้นของรากฐานแห่งชีวิต จึงกลายเป็นจุดสำคัญที่สุดที่ต้องเริ่มต้นรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้คำถามข้างต้นเกิดขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากสถานการณ์โควิด 19 คือ ความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของเยาวชนไทย เพราะเยาวชนไทยมีหลายทักษะที่ขาดหายไป นอกจากนี้ยังมีต้นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสัมคมและโลกในด้านต่าง ๆ เช่น โลกาภิวัตน์ ความขัดแย้ง ภาวะโลกร้อน รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี AI เป็นฉนวนนำพาความเหลื่อมล้ำ ทำให้เยาวชนไทยต้องเจอกับความท้าทายในขณะที่ยังมีทักษะที่ไม่เพียงพอ วันนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงแนวทางการศึกษา เพื่อให้เยาวชนไทยได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นครอบคลุมทุกด้านจนสามารถเอาชนะความท้าทายทุกอย่างได้
บทความนี้จึงเป็นการสรุปจากงานวิจัยหัวข้อ แนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ด้วยความตระหนักถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของเด็กและเยาวชนไทย จึงจัดทำขึ้นเพื่อให้นักการศึกษาและบุคลากรด้านการศึกษานำแนวทางจากงานวิจัยฉบับนี้ไปต่อยอดปรับใช้กับหลักสูตรการศึกษาต่อไป
ทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) มีอะไรบ้าง
เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยเอาชนะทุกความท้าทายที่เกิดขึ้นมาแล้ว และที่กำลังจะเกิดในอนาคต รวมถึงเพื่อให้พวกเขามีโอกาสที่สูงขึ้นเมื่อต้องแข่งขันเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทักษะที่จำเป็นจึงต้องรวบรวมไว้ทั้งหมด 4 ชุดทักษะ ได้แก่
1) ทักษะด้านอาชีพหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง (Hard Skills)
2) ทักษะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานและสมรรถนะที่ไม่ใช่ความรู้หรือทักษะทางเทคนิคเฉพาะทาง (Soft Skills หรือ Non-Technical Skills)
3) ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills)
4) ทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง (Meta-Skills)
โดยครอบคลุมทั้งทักษะพื้นฐาน (Basic Skills) และทักษะขั้นสูง (Advanced Skills) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มชุดทักษะ คือ
1) ชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basic Skills Set) ซึ่งเป็นทักษะที่คนไทยทุกคนควรมี
2) ชุดทักษะขั้นสูง (Advanced Skills Set) ซึ่งความเข้มข้นของแต่ละทักษะจะแตกต่างกันในแต่ละอาชีพ/วิชาชีพ
1) ชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basic Skills Set) ประกอบด้วย 7 ทักษะ ได้แก่
(1) ความฉลาดรู้ (Literacy) หมายถึงความสามารถในการอ่าน เขียน และการเข้าใจโลกในทุก ๆ ด้าน
(2) การคำนวณ (Numeracy) เป็นทักษะการประยุกต์ใช้ตัวเลขเพื่อการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันและการทำงาน
(3) ความฉลาดรู้ทางการเรียนรู้ (Learning Literacy) หมายถึงความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สามารถเรียนรู้และปรับตัวในสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้ดี รวมถึงทำให้มองโลกได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย
(4) ความฉลาดรู้ทางสังคม-วัฒนธรรม (Socio-Cultural Literacy) เป็นทักษะที่จะช่วยให้เข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมด้วยได้
(5) ความฉลาดรู้ด้านจริยธรรม (Ethical Literacy) เป็นทักษะที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยมารยาทที่ถูกต้อง
(6) ความฉลาดรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) หมายถึงการทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายทั้งในแง่ดีและไม่ดี
(7) ความฉลาดรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) เป็นทักษะที่จะช่วยให้จัดการและวางแผนการเงินในชีวิตได้
2) ชุดทักษะขั้นสูง (Advanced Skills Set) ประกอบด้วย 19 ทักษะ ได้แก่
(1) การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติและกรอบความคิดแบบเติบโต (Active Learning and Growth-Mindset)
(2) การสื่อสาร (Communication)
(3) การเจรจาต่อรอง (Negotiation)
(4) การคิดยืดหยุ่น (Cognitive Flexibility)
(5) ความฉลาดรู้ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT and Digital Literacy)
(6) ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills)
(7) ทักษะการเป็นผู้นำและสร้างแรงบันดาลใจ (Leadership and Social Influence)
(8) ทักษะในการให้น้ำหนักเหตุผล และการระดมความคิด (Reasoning and Ideation)
(9) ความตระหนักและบริหารจัดการตนเอง (Self-Awareness and Self-Management)
(10) การออกแบบเทคโนโลยีและกำกับติดตาม (Technology Design and Monitoring)
(11) การคิดวิเคราะห์และคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical and Analytical Thinking)
(12) การคิดริเริ่มและนวัตกรรม (Creativity and Innovation)
(13) การแก้ปัญหาที่ชับช้อน (Complex Problem-Solving)
(14) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence: EQ)
(15) การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)
(16) การคิดริเริ่ม (Initiative)
(17) การคิดอย่างเป็นระบบ (Systems Thinking)
(18) การตัดสินใจและความพร้อมรับผลการตัดสินใจ (Judgement & Decision-Making)
(19) การเปิดรับต่อความเปลี่ยนแปลง การควบคุมอารมณ์ และการฟื้นฟูในภาวะวิกฤต (Resilience/Stress-Tolerance) และทักษะเพื่อการเอาชีวิตรอด (Survival Skills)
ทักษะสุดท้ายนี้เป็นทักษะที่ควรมีมากที่สุดในยุคปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นทุกคนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา โดยต้องรู้จักวิธีการฟื้นฟูทั้งชีวิตและจิตใจให้กลับมาได้โดยเร็ว อีกทั้งควรใช้ทักษะการเอาชีวิตรอดให้เป็นประโยชน์ได้ทุกเมื่อ
บทสรุป
ผู้ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยบ่มเพาะความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนไทยจนทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นได้ คือ ครูผู้สอนและสถาบันการศึกษา โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันวางแผนและนำแนวทางเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งครูผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้กับหลักสูตรผ่านการเรียนการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด การมอบหมายงานให้ทำร่วมกัน หรือการประยุกต์ใช้เกมกับบทเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้การพัฒนาทักษะที่จำเป็นนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย
ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม >>
บทความใกล้เคียง
โอกาสทางการศึกษาคืออะไร? ทำความเข้าใจเพื่อการร่วมกันแก้ไขอย่างถูกจุด
5 คอร์สการพัฒนาตนเองในอาชีพสุดปังจาก Starfish Labz
“FutureEd Fest 2023” งานเฉลิมฉลองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Related Courses
5 เทคนิคเลคเชอร์ ให้จำได้ ทบทวนบทเรียนแบบง่ายๆ
อยากเกรด A ต้องทำยังไง? คอร์สนี้มีคำตอบกับ 5 เคล็ดลับ! สุดเจ๋ง ที่จะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ยาวนาน ทบทวนสนุก สมองปลอดโปร่ง ...
สพป. เชียงใหม่ เขต 4
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 เลขที่ 134 หมู่ 8 ถนน เชียงใหม่-ฮอด ตำบลสันกลางอำเภอสันป่าตอง จังห ...
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
โรงเรียนปลาดาว เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสำคัญทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต ผ่าน ...
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
เกมจิตวิทยาค้นหาตัวตน
อยากรู้ตัวเองมากขึ้นไหม? มาเล่นเกมค้นหาตัวตนกัน! คอร์สออนไลน์สนุกๆ ที่จะพาคุณไปเจอตัวเองที่แท้จริง" ค้นพบความถนัด ศักยภ ...