“FutureEd Fest 2023” งานเฉลิมฉลองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ได้มีการเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่กับงานแถลงข่าว FutureED Fest งานเฉลิมฉลองระดับประเทศที่จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักนวัตกรรมการศึกษา โดยภายในงานได้มีกิจกรรม 2 กิจกรรมที่สำคัญคือ กิจกรรม EdVision 2023: มองไปข้างหน้า กับการศึกษาในอนาคต" โดย Advisory Board ผู้ริเริ่ม FutureEd Fest โดยรศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานสภาคณบดีครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยและคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education ดร. พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คุณคริษ อรรคราช รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา ส.ส.ท. คุณกนกวลี วิริยประไพกิจ ผู้แทนจาก TEP (Thailand Education Partnership)
และกิจกรรม InspireEd Ideas: ไอเดียเพื่อการเรียนรู้สู่การสร้างอนาคต" โดยเด็กหญิงสุวรรณภา แย้มประเสริฐ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม นางสาวจาริณี บัวคำ ครูโรงเรียนวัดวิมุตยาราม นางสาวณัฐชาฎา สุทธิสะอาด ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนวัดบางพลัดจากวงเสวนาทั้ง 2 กิจกรรมนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการศึกษาในอนาคตและบทบาทที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้มีความหมายเพื่ออนาคตที่สดใสของผู้เรียนต่อไปได้
อยากเห็นภาพการศึกษาในอนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างไร ?
รศ.ดร.ประวิตกล่าวว่า “ปัจจุบันการศึกษาเปลี่ยน เพราะโลกเปลี่ยน เราเจอ 2 วิกฤตใหญ่ๆ ของโลกที่ผ่านมา คือ เราใช้เทคโนโลยีในการสอนมากยิ่งขึ้น หรือเรียกว่าเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (Technology Disruption) อีกเรื่องคือ การเจอวิกฤตโควิดอย่างหนักหน่วง สองเรื่องนี้ทำให้เราอยู่กรอบเดิมไม่ได้ เราจึงต้องเปลี่ยน ดังนั้นงาน FutureEd Fest จะเป็นงานที่ทำให้เราเห็นภาพนวัตกรรม เห็นไอเดียใหม่ๆ ที่คุณครูจะนำไปใช้กับเด็กเพื่อให้จัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นภาพงานที่อยากเห็น คือ การแชร์ไอเดียกัน การเอานวัตกรรมใหม่ๆ มาโชว์กันเพื่อที่จะขยายวงออกไปให้มากขึ้น”
รศ.ดร.ศิริเดชกล่าวว่า “เชื่อว่าการศึกษาต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน และยิ่งใหญ่จากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างที่เราทราบกันดีว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นพื้นฐานของชีวิต และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของทุกเรื่อง ทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลายได้ล้มหายตายจากไป และธุรกิจใหม่ๆ อยู่ได้เพราะปรับตัว การศึกษาก็เช่นเดียวกัน รูปแบบเก่าๆ ในไม่ช้าก็จะต้องหมดไป เพราะฉะนั้นการศึกษาภายใต้พื้นฐานของเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ภายใต้ครูที่เป็นผู้นำการเรียนรู้ (Learning Leader) เราต้องรีบ และผมเชื่อว่างาน FutureEd Fest คือการชี้ทิศทางอนาคตข้างหน้าเพื่อให้ครูและนักการศึกษาได้เตรียมตัวทัน ว่าเราจะรับมือกับสิ่งนี้เพื่อการอยู่รอดและความยั่งยืนทางการศึกษาให้กับมนุษยชาติได้อย่างไร”
ดร.นรรธพรกล่าวว่า “จากประสบการณ์ทำงาน พบคำถามตลอดว่าการศึกษาทำไปเพื่ออะไร และพบคำตอบว่าการศึกษาที่เราอยากให้คือ การศึกษาที่มีความหมาย เพราะเรามักได้ยินคำถามว่า “เรียนไปทำไม” ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่บางทีเราตั้งใจว่าอยากให้เด็กเรียนรู้เยอะๆ เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า “สิ่งที่เราให้เด็กเรียนรู้ มันมีความหมายต่อเขาหรือเปล่า” และคำว่า “ความหมาย”ในปัจจุบันอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ดังนั้นคำว่าการศึกษาในอนาคต ไม่จำเป็นต้องเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เราต้องใช้เทคโนโลยีอย่างมีความหมาย แต่ทักษะต่างๆ พวก Soft Skill ที่จะต้องเติมเต็มชีวิตให้กับเด็กๆ เพื่อที่จะสร้าง Hard Skill ให้เด็กทำงานได้ เพราะบางทีเราไปเน้นว่างาน Edtech มันจะต้อง Hitech มาก บางทีเราอาจจะลืมไปว่า ยังไม่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ เรื่อง Edtech อาจเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นในงานนี้จึงอยากจะคุยเรื่องความหวังในการใช้ลิ่งล้ำสมัยควบคู่ไปกับ Soft Skill ทักษะทางสังคมและอารมณ์ เพื่อที่จะมอบการศึกษาให้ทุกคนหาความหมายว่า “การศึกษาที่มีความหมาย” ของตัวเองมันเป็นอย่างไร ได้มาแชร์ ร่วมแบ่งปันว่าการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตของตัวเองนั้นมีอะไรในงานบ้าง”
ดร.พิทักษ์กล่าวว่า“อย่างที่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี นำมาสู่การจัดการศึกษาที่เหมือนเดิมไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตของการศึกษาจะมี 4 ป. ป.ที่ 1 คือ เป้าหมายของการจัดการศึกษาอย่างไรให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความหมาย และสามารถที่จะเตรียมตัวเองเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่ยังไม่มาถึง แต่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร เพื่อเตรียมให้พร้อมทั้งโลกอาชีพและโลกอนาคต ป.ที่ 2 คือ เปิดกว้างให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เข้ามากำหนดเป้าหมายร่วมในการจัดการศึกษา และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ป.ที่ 3 คือ ปลุกพลังของคนที่จัดการศึกษา เพราะฉะนั้นงาน FutureEd Fest เป็นเวทีที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เห็นสิ่งดีๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลง และนำไปใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ จากพื้นที่เล็กๆ มาสู่พื้นที่ใหญ่ๆ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ป.ที่ 4 คือ ปลดล็อกสิ่งที่เป็นอุปสรรคปัญหาต่างๆ สู่การขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง”
คุณกนกวลีกล่าวว่า“อยากเห็นการศึกษาของประเทศไทยดำเนินไปด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การเรียนรู้ของเด็กกับสถาบันครอบครัว และนำไปสู่การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ทุกคนเกิดความรับผิดชอบต่อตัวเอง สังคมและโลก และจะไม่ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย โดยมีระบบสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต อีกส่วนคือ อยากเห็นภาครัฐที่มีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน”
●บทบาทของก.ค.ศ. คิดว่าอะไรเป็นกลไกสำคัญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาครูในยุคนี้ ?
รศ.ดร.ประวิตกล่าวว่า “เราพยามตอบโจทย์ใหญ่ๆ 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก เราพยายามเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนของครู แนวคิดคือ Back to School ทำให้คุณครูมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ผอ.เอาใจใส่โรงเรียนมากขึ้น เรื่องที่สอง เราเปลี่ยนระบบการประเมินครู จากเดิมที่ครูต้องส่งเอกสารมากมาย ของใหม่คือการประเมินที่ผ่านระบบออนไลน์ และไม่ต้องเสียเวลาที่จะต้องมาทำเอกสาร ล่าสุดมีครูมาบอกว่า มีครูที่ผ่านการประเมินใช้เวลาเพียง 29 วัน เรื่องที่สามคือความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องอัตรากำลัง และการกระจายทรัพยากร รวมทั้งผู้บริหารที่จะต้องให้โรงเรียนมีความพร้อมมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ก.ค.ศ. นำเทคโลโยีมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงแต่สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกคือ เราอย่าไปท้อกับมัน อย่าไปคิดว่าการศึกษาไทยไม่ถึงไหน แต่จริงๆ มันมีกระบวนการที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงได้ และงาน FutureEd Fest ก็เป็นอีกงานที่ทำให้พวกเรามีโอกาสได้มาแชร์กัน จริงๆ มันคือการส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
●สิ่งที่ผู้อำนวยการ และคุณครูจะได้รับประโยชน์จากงานมีอะไร ?
รศ.ดร.ประวิตกล่าวว่า “ไอเดีย คือสิ่งสำคัญ จะนำไปสู่การคิดต่าง คิดนอกกรอบ และนำไปสู่นวัตกรรมที่ใช้ในการทำงานได้”
●สำหรับนักศึกษาครูจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรสำหรับการเป็นครูในอนาคต ?
รศ.ดร.ศิริเดชกล่าวว่า “เราต้องเตรียมครูให้อยู่ได้ใน 2 โลก อยู่ในโลกใบเก่าที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เช่น โลกของผู้ใหญ่ที่ต้องการระเบียบแบบแผน ความมีวินัย และโลกใบใหม่ของผู้เรียนที่เขาจะได้เลือกในสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่สนใจ สิ่งที่ความหมายต่อชีวิตของเขา เช่น การไม่ชอบถูกบังคับ เพราะฉะนั้นครูจะเป็นตัวเชื่อมตรงกลางที่ทำยังไงให้โลก 2 ใบนี้ไปด้วยกันได้ เป็นภาวะและความท้าทายของการเป็นครูยุคใหม่”
●นักศึกษาครูที่มาร่วมงานนี้ เขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ?
รศ.ดร.ศิริเดชกล่าวว่า “งานนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เชื่อม 2 โลกนี้เข้าด้วยกัน ภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร และข้อจำกัดอีกหลายๆ เรื่อง แต่นักเรียนและครูของเรา สามารถสร้างสรรค์ Solution ทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้และใช้งานได้จริงๆ และทำให้นักศึกษาครูที่จะเป็นครูในวันหน้าจะไม่พูดถึงข้อจำกัด ถึงความยากลำบาก ความขาดแคลนอะไรอีกแล้ว ทุกคนสามารถหาคำตอบของตัวเองได้ และเป็น solution ที่ดีที่สุดของตัวเองด้วย และนี่คือโลกใบใหม่ที่ครูจะก้าวเข้าไปถึง”
●อะไรคือ Key สำคัญที่จะทำให้การศึกษาเดินหน้าไปสู่อนาคตที่เราตั้งใจไว้ได้ ?
ดร.นรรธพรกล่าวว่า “คนมองว่าปัญหาการศึกษาเยอะ แต่ Starfish พยายามที่มองอีกแบบว่า ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง การสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ มักจะเกิดขึ้นด้วยความยากลำบาก การสร้างนวัตกรรม หรือการคิดไม่เหมือนคนอื่น พอเราเป็นคนริเริ่มเราอาจจะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด แต่การที่เราคิดไม่เหมือนคนอื่น กลับเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเปิดชุมชน และสร้างชุมชนนวัตกร หรือเป็น Change Maker คือคนที่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก เปิดพื้นที่ให้มารู้จักกัน ว่าในท่ามกลางโรงเรียนที่ทรัพยากรขาดแคลน เรื่องที่ดูเหมือนว่าการเน้นเรื่องทักษะต่างๆ ในโรงเรียนชายขอบ เขาสามารถทำสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องหลักที่เราอยากจะให้คนอื่นได้เห็นว่า เรื่องเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเงินเป็นตัวตั้ง แต่ตัวตั้งจริงๆ คือ ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง และเราเชื่อว่าคนที่มาในงานอยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ได้มาโชว์ แชร์ จะได้ไม่เหงา ทุกคนน่าจะได้เห็นในงานนี้”
●Maker Education ในประเทศไทยของเราเป็นอย่างไรบ้าง ?
ดร.นรรธพรกล่าวว่า “เริ่มแรกอาจจะถูกจำกัดในโรงเรียนที่มีความพร้อมเท่านั้น แต่พอนำไปจัดที่บ้านปลาดาว เราจึงเริ่มเห็นว่าสาระของมันไม่ใช่เรื่องทรัพยากรและอุปกรณ์ต่างๆ แต่มันคือแนวคิด ซึ่งจริงๆ มันคือกระบวนการ STEAM Design Process มาจาก Design Thinking พอนำไปใช้ในหลายๆ ที่ เราเห็นถึงความแตกต่าง เพราะเขาคิดได้เกินไปกว่าเรา เช่น เอา Maker ไปบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องคุณธรรม หรือเกษตรกรรมซึ่งไปไกลมาก เพราะฉะนั้น เราจึงชวนเพื่อนต่างชาติมาดูเหมือนกัน เขาก็อยากเรียนรู้กับเราว่า Makerspace ในบริบทของโรงเรียนไทยที่เป็นโรงเรียนทั่วๆ ไป หน้าตาเป็นอย่างไร เราได้สร้างบทใหม่เรื่อง Makerspace และทำให้นักการศึกษาคนอื่นในต่างประเทศได้เรียนรู้ด้วย”
●จะมีการจับมือกัน ขับเคลื่อนงานเทศกาลอย่างนี้ต่อไปได้อย่างไรอีกบ้าง ?
ดร.พิทักษ์กล่าวว่า “พื้นที่นวัตกรรมมีการเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าตัวเองเป็นแกะดำ เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้ คือ Sandbox ลองดู ล้มเหลวแล้วเริ่มต้นทำใหม่ ในปีถัดไป โรงเรียนก็คงจะเฝ้ารอว่าในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่เนี่ย ที่จะต้องขยายผลได้ เช่น โรงเรียนที่ทำอยู่ เห็นผลแล้ว แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ก็สามารถนำเสนอได้ เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นเวทีที่ทุกโรงเรียนเฝ้ารอที่จะเข้ามาร่วมได้อย่างดี”
●TEP จะนำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในงานไปต่อยอดในเชิงนโยบายอะไรได้บ้าง ?
คุณกนกวลีกล่าวว่า “TEP คือการรวมตัวของคนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นการขับเคลื่อนเพื่อการศึกษาไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการขับเคลื่อนก็ทำผ่านพื้นที่นวัตกรรมที่อ.พิทักษ์ดูแล เป็นลักษณะที่เป็น Bottom Up เพราะฉะนั้นเราจึงได้นำข้อมูลเหล่านี้ มาถอดบทเรียนเป็นนโยบาย Policy Innovation และหวังให้เกิดการผลักดันจาก Top down ด้วย ซึ่งงานนี้จะสามารถต่อยอดให้เชิงนโยบายผ่านการถอดบทเรียนเป็นทีมวิจัย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ และนโยบายได้”
● ความแตกต่างของ FutureEd Fest แตกต่างจากงานเทศกาลการศึกษาอื่นอย่างไร ?
ดร.นรรธพรกล่าวว่า“สิ่งที่แตกต่างคือ ทำยังไงให้การศึกษาเป็นงานที่คนอยากมา และสนุก จะทำยังไงให้สิ่งที่เราพูดกันในเชิงวิชาการ ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องของพ่อแม่ ครู และเด็กๆ ที่เขาจะกำกับการศึกษาของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่เด็กๆ จะกำกับการศึกษาของตัวเองได้ เขาต้องมีพื้นที่ที่เข้ามาแล้วเขาเข้าใจ สนุก และเป็นเจ้าของที่นี่ได้ เพราะฉะนั้นงานนี้เราอยากทำพื้นที่ให้เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นในงานจะมีการแบ่งกิจกรรมไว้หลายส่วน เช่น KEYNOTE คือการเชิญผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ แต่ไม่ได้ออกแนววิชาการมากๆ สามารถทำเนื้อหาให้เราเข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับทักษะอนาคตต่างๆ PANAL DISCUSSION มีกลุ่มคนที่มานั่งคุยกัน มี Influencer ต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ เด็กๆ แขกจากต่างประเทศที่เข้ามาแชร์ซึ่งกันและกัน WORKSHOP จะจัดช่วงหลังเที่ยงเป็นต้นไป ซึ่งเน้นเรื่องทักษะอนาคต การเตรียมความพร้อมเรื่อง Edtech นวัตกรรม PITCHING มีกลุ่มโรงเรียน และนักเรียนมีหลายทีม มองว่าโรงเรียนจากพื้นที่นวัตกรรม เขาสามารถสร้างนวัตกรรมและนำมาเสนอไอเดียซึ่งกันและกัน AWARDS เราตั้งใจที่จะจัดงานแบบนี้ทุกปี จะเป็น AWARDS ที่นักนวัตกรรมการศึกษาอยากได้ เพราะเป็นรางวัลที่สร้างการศึกษาที่มีความหมาย และเรามีน้ำหนักและของรางวัลอยู่ EXHIBITION หลายองค์กรจะมีการนำนวัตกรรมที่ทำแล้วมานำโชว์กัน และเราจะมี White Paper เกี่ยวกับ Maker Education เป็นฉบับบุคคลทั่วไปที่ทุกคนอ่านได้ เข้าใจง่าย อยากให้งานนี้มีความสนุก มีส่วนร่วมเพราะเน้นเรื่องของการเฉลิมฉลอง แต่หลังบ้านที่ทำ ก็ทำอยู่ในพื้นฐานที่เราทำงานกับโรงเรียน และวิจัยที่ได้เก็บมาจากโรงเรียนต่างๆ ควบคู่กันไป แต่งานนี้ต้องสนุก และได้เรียนรู้แน่นอน”
●เชิญชวนมาร่วมงาน FutureEd Fest 2023
รศ.ดร.ประวิตเชิญชวน “งานนี้จะไม่ใช่งานประชุมวิชาการอย่างเคร่งขรึม แต่ทุกคนมีของมาโชว์ มีไอเดียมาแชร์ มี Give & Take ทั้งให้และรับ และทุกคนได้ไอเดียใหม่ๆ กลับไปใช้จัดการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ไม่มีผิดหวัง”
รศ.ดร.ศิริเดชเชิญชวน“เชิญชวนนิสิต นักศึกษาครู จนถึงครูระดับใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ลองมาดูงานนี้ เพราะงานนี้เป็น Learning and Innovation Playground เป็นสนามเด็กเล่นของนวัตกรรมและการเรียนรู้ ท่านจะได้เห็นภาพอีกภาพหนึ่งของการเรียนรู้และนวัตกรรม โดยที่ไม่ต้องอาศัยวิชาการขั้นสูง หรือเทคโนโลยีสูงๆ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ และนำปรับไปสร้างสรรค์กันต่อได้”
ดร.นรรธพรเชิญชวน“เป็นงานที่ทุกคนมาแล้วสนุก สนุกแล้วได้อะไรกลับไปด้วย เรามองว่าการศึกษามันต้องสนุกนะ ถ้าไม่สนุกมันจะไม่มีใครอยากเรียน เพราะฉะนั้นงานนี้จะสร้างแรงบันดาลใจ ใครที่ไฟแรงๆ มาก็จะยิ่งสนุกมาก หรือใครที่คิดว่าไฟเริ่มจะหมด ให้มาเติมไฟที่งาน FutureEd Fest ทั้งครู นักศึกษาครู พ่อแม่ และอยากให้ช่วยกันสร้าง”
ดร.พิทักษ์เชิญชวน“อยากเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โรงเรียน 1,000 กว่าโรงเรียนใน 20 พื้นที่นวัตกรรม ได้แรงบันดาลใจเพื่อคิดค้นและต่อยอดนวัตกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และอยากจะเชิญชวนอีก 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศด้วยว่า เวทีแบบนี้จะเป็นเวทีที่เราได้โชว์ ช็อป แชร์ และอาจจะมีโอกาสได้ชิมอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะนำไปสร้างประโยชน์ให้กับเด็กๆ ที่เรามุ่งหวังให้เป็นอนาคตที่เข้มแข็งของประเทศ”
คุณกนกวลีเชิญชวน “เชิญชวนทุกท่านมางาน FutureEd Fest มาร่วมสร้างอนาคตที่สดใสไปด้วยกัน”
ต่อมาเข้าสู่ กิจกรรม InspireEd Ideas: ไอเดียเพื่อการเรียนรู้สู่การสร้างอนาคต" โดยมีองค์ความรู้ที่แลกเปลี่ยนในงานเสวนาต่อไปนี้
●ในมุมมองของผอ.มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกหลังจากที่ได้นำกระบวนการเรียนรู้ไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนภายในโรงเรียนแบบไหนบ้าง ?
ผอ.ณัฐชาฎากล่าวว่า “เราอยากให้ลูกหลานเรามีความรู้ เป็นเด็กดีและมีความสุข เพราะฉะนั้นการเรียนไม่ต้องยุ่งยาก เพราะคุณครูห่วงว่าเด็กๆ จะไม่มีความรู้ เลยให้ความรู้มากมาย เพราะฉะนั้นกรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบาย เรียนดี เรียนฟรี มีคุณภาพ ตอนแรกเรามองว่าคำว่านวัตกรรมต้องใช้เทคโนโลยี ใช้สื่อมากมาย โรงเรียนอย่างเราเอื้อมไม่ถึง เราจึงรู้สึกขอบคุณผู้ใหญ่ต่างๆที่มองเห็นเรา และถามว่าในฐานะครู เราอยากเห็นลูกๆ ของเราเป็นอย่างไร อยากเห็นนักเรียนเติบโตอย่างสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย สังคม อารมณ์และสติปัญญา และโจทย์ของเราคือเราจะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันพัฒนาด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สู่สากล แต่เราจะต้องประสานชุมชนและเครือข่าย เพื่อให้ความร่วมมือ เพราะเราเดินคนเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งเป้าหมายโรงเรียนของเราว่า หนึ่ง เราต้องสร้างลูกที่ดีให้กับพ่อแม่ของเราให้ได้ สอง สร้างนักเรียนที่ดีให้กับห้องเรียน สร้างนักเรียน หรือครูดีให้กับโรงเรียน สี่ คือสร้างโรงเรียนดีๆ ให้กับชุมชน และห้าร่วมกันสร้างคนดีให้กับบ้านเมือง นอกจากนี้ โรงเรียนทั้ง 11 โรงเรียนเขตบางพลัดได้ทำ Makerspace ไปพร้อมกันตามบริบทของเรา เราทำมา 11 เดือนและค้นพบภาพอนาคตของเรา สิ่งแรกที่เห็น คือ นักเรียนของเราได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ของตนเอง กลายเป็นนวัตกร เด็กสามารถมีสมรรถนะทั้ง 5 ขั้นแรก สื่อสารเป็น บอกขั้นตอนว่าทำยังไง ขั้นสอง คิดวิเคราะห์ได้ สาม เป็นคนที่แก้ปัญหา ใช้เศษวัสดุ สี่ มีทักษะชีวิต คิด วิเคราะห์เป็น ออกแบบเป็น วางแผนเป็น ห้า คือเขาสามารถใช้เทคโนโลยีได้”
●ในมุมมองของครู นวัตกรรมการศึกษาที่ใช้ไปส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการสอนยังไงบ้าง ?
ครูจาริณีกล่าวว่า “เมื่อก่อนครูจะถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนอย่างเดียว แต่พอได้รับองค์ความรู้จาก Starfish Education กระบวนการ STEAM Desing Process เป็นการดึงศักยภาพของครูขึ้นมา เพื่อให้เด็กนักเรียนจุดประกายความคิด ให้เด็กสามารถคิดอะไรก็ได้ ในขั้นจินตนาการสามารถคิดอะไร แต่ครูก็จะไม่บอกเขาว่า มันไม่ใช่ ครูจะเป็นเพียงคนกระตุ้นความคิดให้แก่นักเรียน ไม่ไปปิดกั้นความคิดของเขา และในกระบวนการนักเรียนยังได้รู้จักคิด มีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เมื่อนักเรียนทำงานจนเสร็จแล้ว และได้ทดลองใช้ และเขาได้คิดว่าจะปรับไปแก้ไขตรงไหน บกพร่องยังไง เด็กจะมีการความภาคภูมิใจที่ได้ทำ และต่อยอดได้ด้วย นักเรียนเรียนรู้ได้ดี และมีความสุขกับการเรียน เช่น โรงเรียนจะบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้และชมรมด้วย เด็กสามารถเลือกชมรมที่หลากหลาย เช่น การแต่งหน้า หรือการเป็นอาชีพเชฟ เป็นต้น นอกการการศึกษาภาคปกติแล้ว และยังมีการศึกษาภาคพิเศษ โดยการเอากระบวนการไปใช้กับเด็กพิเศษ เด็กสมาธิสั้น เด็กพิเศษสามารถคิดได้ คิดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา โดยที่ครูไม่ปิดกั้น มันเลยเปิดโอกาสและเปิดโลกของเขา เด็กพิเศษเลยสามารถแสดงความสามารถของเขาผ่านผลงานได้”
●ได้แรงบันดาลใจจากอะไรสำหรับผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้ (นักเรียน) ?
น้องสุวรรณภากล่าวว่า “ชื่อนวัตกรรมคือ บอร์ดเกมสนามฟุตบอลจำลอง ส่วนแรงบันดาลใจที่สร้างขึ้นมา คือการคิดว่าเราจะทำยังไงให้น้องๆ บางคนที่อยากเล่นฟุตบอล แต่น้องเล็กยังไม่สามารถเล่นจริงได้ แต่เราจำลองให้น้องได้รู้จักกติกา เจอปัญหาคือกาวบางจุดที่ติดยาก และการตัดกระดาษที่ไม่เท่านั้น เราใช้ไม้บรรทัดเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์ และกาวใช้หลายแบบมากขึ้น ผลออกมาคือ โอเคกว่าตอนแรก และคงจะต้องทำใช้ในหลายๆ แบบ ลองเปลี่ยนจากลังเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ไม้ ซึ่งน้องๆ ได้ลองเล่นแล้ว และสนุกดี นอกจากอันนี้แล้ว อยากทำเป็นกีฬาชนิดอื่นๆ ได้ด้วย ครูก็มีส่วนแนะนำได้ เช่น คณิตศาสตร์แนะนำเรื่องการวัด และครูการงานที่แนะนำชนิดของกาว”
●การเรียนสมัยนี้และสมัยก่อนแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
น้องสุวรรณภากล่าวว่า “สมัยก่อน ก็จะจดอย่างเดียว แต่ตอนนี้ใช้ความคิดได้อย่างหลากหลาย ไม่ได้ถูกปิดกั้น ชอบการเรียนแบบนี้มากกว่า”
●อยากเห็นการศึกษาไทยในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง ?
ผอ.ณัฐชาฎากล่าวว่า “เห็นการสนับสนุนความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มาช่วนสถานศึกษาอย่างจริงจัง โดยไม่บีบบังคับ ขอให้โรงเรียนได้เดินตามบริบทของตัวเอง แต่ขอให้สนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ เพื่อที่จะให้เกิดผลกับนักเรียนอย่างสูงสุด”
ครูจาริณีกล่าวว่า “อยากให้ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาต่อไปให้เกิดความยั่งยืน และอยากให้มีเวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มาแสดงออกผลงานของเขา และความภาคภูมิใจที่จะตามมา เพื่อเป็นการจุดประกาย จุดพลังตัวเขาเพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเองต่อไป สามารถที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของประเทศต่อไปได้”
●ห้องเรียนในฝันของหนูเป็นอย่างไร และอยากฝากอะไรถึงผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบ้าง ?
น้องสุวรรณภากล่าวว่า “ห้องเรียนที่หนูและเพื่อนๆ ได้ใช้ความคิดของตัวเอง ไม่ได้อยู่ในกรอบ และไม่ได้ทำซ้ำแต่สิ่งเดิมๆ เราสามารถใช้ความคิด จินตนาการสร้างสรรค์ของเราได้ อยากเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่เยอะๆ ให้ได้คิดและทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ”บรรยากาศภายในงานแถลงข่าวเต็มไปด้วยความสนุก และได้รับความรู้จากการแลกเปลี่ยน แชร์ไอเดียความคิดจากวงเสนาทั้ง 2 วงอย่างมากมาย นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่จะมาร่วมงานในวันที่ 7-8 ตุลาคม ได้พานักเรียนที่สร้างนวัตกรรมมาร่วมแสดงในงานแถลงข่าวอีกด้วย เช่น นวัตกรรมชุดไอรอนแมน และนวัตกรรมบอร์ดเกมสนามฟุตบอลจำลอง ซึ่งเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่จะนำมาร่วมแสดงในวันที่ 7-8 ตุลาคมเท่านั้น
ถ้านักเรียน คุณครู ผู้อำนวยการ นักการศึกษาครูท่านใดสนใจรายละเอียดของงาน FutureEd Fest สามารถติดตามข่าวสารที่ https://www.futureedfest.com/ และอย่าลืมลงทะเบียนเพื่อเข้ามาร่วมกิจกรรมในวันที่ 7-8 ตุลาคม 2566 ได้ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพมหานคร ได้นะคะ พวกเรารออยู่
Related Courses
How to วิธีการหาทุนสำหรับมือใหม่
ทุกคนมีความฝัน แต่หลายคนกลับไปไม่ถึงฝันเพราะต้นทุนชีวิตน้อย การมองหาทุนการศึกษาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีส่วนช่วยสนับสนุนก ...
STAMPER Learning การเรียนรู้แบบบูรณาการ
STAMPER Learning เป็นการบูรณาการแบบใหม่ ครบจบทั้งขั้นตอนการเรียนรู้ และการประเมินผลสำหรับครู ซึ่งทำได้ง่ายๆ ในกิจกร ...
โอริกามิ สื่อการพับกระดาษญี่ปุ่น
การเรียนรู้เรื่องโอริกามิ การพับกระดาษแบบญี่ปุ่นจะได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมา ความหมาย เทคนิคการพับกระดาษ และแนวกา ...
Micro Learning เรียนคณิตศาสตร์ ม.1-3
คอร์สนี้เป็นการเรียนรู้การเกี่ยวกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-3 โดยแบ่งเป็นบทเรียนที่เหมาะสมกับต่ละรดับชั้น ...