การเพิ่มพูนความฉลาดรู้ของนักเรียน โดยใช้บทเรียนจากการเข้าร่วมโครงการ PISA
ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ PISA หรือ Programme for International Students Assessment ที่ดำเนินการโดย OECD หรือ The Organization for Economic Co-operation Development มาตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการประเมินในปี พ.ศ. 2543
PISA ประเมินคุณภาพของการจัดศึกษาในหลายด้าน แต่ที่สำคัญคือ การประมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งกำลังจะจบการศึกษาภาคบังคับ บนพื้นฐานความเชื่อว่า ผู้ที่มีความฉลาดรู้ดังกล่าวสูง จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงตามไปด้วย ทั้งด้านการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม PISA ดำเนินการประเมินทุก ๆ 3 ปี ครั้งที่จะประเมินในเดือนสิงหาคม 2568 จะเป็นครั้งที่ 9 หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นประเมินทุก ๆ 4 ปี การประเมินครั้งที่ 10 จะประเมินในปี พศ. 2572
การประเมินแต่ละครั้งมีจุดเน้นที่ต่างกัน การประเมินครั้งแรกในปี ๒๕๔๓ เน้นการประเมินด้านการอ่าน ครั้งที่สองในปี ๒๕๔๖ เน้นด้านคณิตศาสตร์ ครั้งที่สามในปี ๒๕๔๙ เน้นด้านวิทยาศาสตร์ หมุนเวียนกันไป ด้านที่เน้นจะมีข้อสอบร้อยละ ๖๐ ที่เหลืออีกสองด้าน แต่ละด้านจะมีข้อสอบร้อยละ ๒๐ (รูปที่ ๑) การประเมินครั้งที่ ๙ ที่จะประเมินในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๘ จะเน้นด้านวิทยาศาสตร์ และจะเพิ่มการประเมินที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมลงไปด้วย และการประเมินครั้งที่ 9 นักเรียนจะต้องทำข้อสอบบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านระบบ internet หรือ internet based test
การประเมินครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2565 มี 81 ประเทศและเขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประเมิน ในจำนวนนี้นี้มีนักเรียนอายุ 15 ปี รวมทั้งสิ้นประมาณ 29 ล้านคน PISA สุ่มมาประเมินเพียง 690,000 คน สำหรับประเทศไทย ในปีนั้นมีนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 700,000 คน กระจายอยู่ใน 12,303 โรงเรียน PISA สุ่มมาประเมินเพียง 8,425 คน จาก 279 โรงเรียน (รูปที่๒)
ผลการประเมิน พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD มาก ต่ำกว่าเกือบ ๑๐๐ คะแนน และครั้งที่ ๘ ที่ประเมินในปี พ.ศ. 2565 นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำสุดเมื่อเทียบกับการประเมิน 7 ครั้งที่ผ่านมา (รูปที่๓-๕)
นอกจากรายงานผลเป็นคะแนนแล้ว PISA ยังรายงานผลเป็นระดับคะแนนด้วย ได้แก่ระดับ ๖, ระดับ ๕, ระดับ ๔, ระดับ ๓, ระดับ ๒, ระดับ ๑, ระดับ ๑a, ระดับ ๑b, และ ระดับ ๑c ซึ่ง PISA ได้ให้ความหมายไว้ว่า นักเรียนที่ได้ระดับคะแนนความฉลาดรู้ด้านใดต่ำกว่าระดับ ๒ แสดงว่านักเรียนคนนั้นยังมีความฉลาดรู้ด้านนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้ เพื่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ผลการประเมินครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ พบว่านักเรียนไทยถึงร้อยละ ๖๘, ๕๓ และ ๖๕ มีความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้วยการอ่านต่ำว่าระดับ 2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป (รูปที่ ๖)
ผลการสอบ PISA ของไทยที่ต่ำต่อเนื่องมาโดยตลอด มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศมาก นานาชาติมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำ หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าศักยภาพของคนไทยต่ำ ซึ่งคุณภาพของการศึกษาหรือศักยภาพของคนเป็นปัจจัยหนี่งที่ใช้ประกอบการพิจารณาความน่าลงทุน รวมถึงการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
วัตุประสงค์สำคัญของการประเมินของ PISA คือต้องการให้แต่ละประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินทราบว่า นักเรียนอายุ 15 ปี ของตนเอง ที่กำลังจะจบการศึกษาภาคบังคับ มีความฉลาดรู้ดังกล่าวดีด้อยเพียงใด และเพื่อให้แต่ละประเทศและเขตเศรษฐกิจนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมการประเมินของ PISA ไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงระบบการศึกษาของตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายประเทศที่ได้นำองค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของตนเองแล้ว สำรับประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการ PISA มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เพิ่งได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA มาใช้ในการพัฒนาการศึกษาของตนเองอย่างจริงจังในปีการศึกษา 2567 นี้เอง
แม้คำว่า ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีปรากฎในเอกสารหลักสูตรไทย แต่เมื่ออ่านเอกสารหลักสูตรของไทยโดยละเอียดแล้ว จะพบว่า หลักสูตรไทยก็เน้นการพัฒนาความฉลาดรู้ทั้ง ๓ ด้านดังกล่าวให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนด้วยเช่นกัน แต่เขียนคนละรูปแบบ
การที่นักเรียนไทยมีผลการสอบ PISA ต่ำ แสดงว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในภาพรวมของประเทศยังไม่สามารถพัฒนานักเรียนให้มีความฉลาดรู้ทั้ง ๓ ด้าน บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรได้ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม
คณะกรรมการ PISA แห่งชาติซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน จึงมีมติให้ ในปีการศึกษา ๒๕๖๗ มีการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ๒ และ ๓ ทุกคน ทุกสังกัด ประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน เพื่อพัฒนานักเรียนดังกล่าวให้มีความฉลาดรู้ทั้ง ๓ ด้านดังกล่าวสูงขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร หากการจัดกิจกรรม PISA ในปีการศึกษา ๒๕๖๗ ได้ผลดี ก็จะมีการขยายการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ลงไปสู่ระดับชั้น ป. ๔-๖ และ ม. ๑-๓ ในปีการศึกษาต่อ ๆ ไป
เพื่อเป็นพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และ ๓ ทุกคนทุกสังกัดดังกล่าว สพฐ. และ สสวท. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ จึงได้ร่วมกันพัฒนาเอกสารชุดพัฒนาความฉลาดรู้ขึ้น ๑๗ เล่ม เป็นชุดพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ๕ เล่ม ด้านคณิตศาสตร์ ๖ เล่ม และด้านวิทยาศาสตร์ ๖ เล่ม เอกสารเล่ม ๑ เป็นคู่มือการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ เอกสารเล่ม ๒ เป็นแนวทางการสอนทั่วไป เอกสารเล่ม ๓ เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ เอกสารเล่ม ๔ เป็นแบบฝึกเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ เอกสารเล่ม ๕ เป็นเฉลยหรือแนวคำตอบของแบบฝึกเล่ม ๔ ส่วนเอกสารเล่ม ๖ เป็นแบบฝึกเพิ่มเติม ซึ่งมีเฉพาะด้านคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์
ทั้งนี้คาดหวังว่า ในปีการศึกษา ๒๕๖๗ ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์ จะนำกิจกรรมในเล่ม ๓ และแบบฝึกในเล่ม ๔ ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนสอนและฝึกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และ ๓ ให้มากที่สุด รวมถึงการจัดให้นักเรียนได้ฝึกทำแบบฝึกหรือข้อสอบบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ (Computer Based Test) ทั้งรูปแบบ online และ offline ด้วย
คณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ได้กำหนดนโยบายให้ทุกสังกัดจัดอบรมครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารหารศึกษา ทั้งแบบ online และ onsite เพื่อให้โรงเรียนและครูสามารถนำเอกสารชุดพัฒนาความฉลาดรู้ทั้ง ๑๗ เล่ม ไปใช้จัดการเรียนการสอนและฝึกนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3ทุกคน โดยให้แต่ละสังกัดรายงานความก้าวหน้าให้คณะกรรมการ PISA แห่งชาติทราบทุกเดือน
นอกจากนั้นคณะกรรมการ PISA แห่งชาติยังมีนโยบายให้ทุกสังกัดพัฒนาครูให้สามารถสร้างข้อสอบ แนว PISA ได้ และส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนใช้ข้อสอบแนว PISA จำนวนหนึ่งในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งการสอบกลางภาค การสอบปลายภาค และการสอบอื่น ๆ ทั้ง Formative และ Summative Evaluation
การจะพัฒนาความฉลาดรู้ให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน จำเป็นต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม วิธีการหนึ่งคือ ครูหาบทอ่านหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมาให้นักเรียนได้ศึกษาวิเคราะห์ แล้วตั้งคำถามให้นักเรียนจับใจความ แปลความ ตีความ ขยายความ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ และประเมินสาระ ข้อมูล และข้อสนเทศ ในบทอ่านหรือในสถานการณ์ที่อ่านนั้นบ่อย ๆ วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวทางนี้ สพฐ. และ สสวท. ได้จัดทำรายละเอียดให้แล้วในเอกสารชุดพัฒนาความฉลาดรู้เล่ม ๓ ของชุดพัฒนาตวามฉลาดรู้ทั้งสามด้าน ครูสามารถศึกษาและนำไปใช้หรือปรับใช้ได้เลย
จากการดำเนินการตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ทำให้เชื่อได้ว่าในปีการศึกษา ๒๕๖๗ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และ ๓ ทุกคน ทุกสังกัด จะได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ อย่างดีและมีประสิทธิภาพ
เมื่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และ ๓ ในปีการศึกษา ๒๕๖๗ เลื่อนไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓ และ ๔ และ ชั้น ปวช. ปีที่ ๑ ในปีการศึกษา ๒๕๖๘ นักเรียนเหล่านี้จะมีโอกาสถูกสุ่มเข้าสอบ PISA ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๘ ซึ่งโดยทั่วไป ณ เดือนสิงหาคม 2568 นักเรียนอายุ ๑๕ ปี ประมาณร้อยละ ๘๐ จะเรียนอยู่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๔ และ ปวช. ปีที่ ๑ และประมาณร้อยละ ๑๘ จะเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่เรียนอยู่ในระดับชั้นอื่นมีน้อยมาก
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ และ ชั้น ปวช.ปีที่ ๑ จะมีเวลาเตรียมความพร้อมของตนเองเพื่อสอบ PISA ภายใต้การกำกับและชี้แนะของครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ ปวช.ปีที่ 1 อีกประมาณ ๓ เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือน สิงหาคม ๒๕๖๘ แต่ผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ยังไม่เคยรับทราบและได้รับการพัฒนาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ทั้งสามด้านมาก่อน
การดำเนินงานขั้นต่อไป จึงจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงครูวิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ของทุกโรงเรียนทุกสังกัด เพื่อให้ครูดังกล่าวสามารถกำกับและชี้แนะนักเรียน รวมถึงสามารถนำเอกสารชุดพัฒนาความฉลาดรู้ทั้ง ๑๗ เล่ม ไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแผนจะจัดอบรมแบบ online ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มีนาคม ๒๕๖๘
ในขณะเดียวกัน สสวท. และ ศูนย์ PISA ของ สพฐ. จะได้ร่วมกันพัฒนาแบบฝึกเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก ๙ ชุด ด้านการอ่าน ๓ ชุด คณิตศาสตร์ ๓ ชุด และวิทยาศาสตร์ ๓ ชุด ใช้เวลาฝึกชุดละประมาณ ๑ ชั่วโมง ส่งให้คุณครูทุกโรงเรียนนำไปพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และ ๔ และ ปวช. ปีที่ ๑ ของตนเอง
ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวกับการสอบ PISA คือ นักเรียนไม่ตั้งใจทำข้อสอบ จึงมีความจำเป็นต้องมีการประชุมชี้แจงผู้บริหารสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายทั้งหมด โดยจะจัดแบบ online ให้เสร็จสิ้นก่อนเดือน เมษายน ๒๕๖๘ เพื่อชี้แจงผู้บริหารสถานศึกษาว่า เป็นภาระและหน้าที่ของผู้บริหารศึกษาที่จะต้องทำให้ครูและนักเรียนทุกคนเห็นความสำคัญของการสอบ PISA ส่งเสริมให้กำลังใจนักเรียน กระตุ้นและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนเตรียมความพร้อมด้วยตนเอง แก้ปัญหากรณีที่โรงเรียนมีเครื่องคอบพิวเตอร์และระบบต่างๆ ไม่พร้อม ไม่พอเพียงที่จะให้นักเรียนฝึกสอบบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ท้ายสุดหากนักเรียนได้รับสุ่มเข้าสอบ PISA ก็หาวิธีการส่งเสริมจูงใจให้นักเรียนทุกคนตั้งใจทำข้อสอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อตนเอง และเพื่อประเทศชาติ
รูปที่ ๑
รูปที่ ๒
รูปที่ ๓
รูปที่ ๔
รูปที่ ๕
รูปที่ ๖
Related Courses
สพป. เชียงใหม่ เขต 5
สำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต 5 404 หมู่ 10 ฮอด-วังลุง ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 50240
สพป. สมุทรสาคร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร 2/3 หมู่ 8 ถ.เศรษฐกิจ1 ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 74000
สพป. เชียงใหม่ เขต 4
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 เลขที่ 134 หมู่ 8 ถนน เชียงใหม่-ฮอด ตำบลสันกลางอำเภอสันป่าตอง จังห ...
สพป. เชียงใหม่ เขต 6
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 6 190 หมู่ 15 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 50160