โรคที่มากับหน้าฝน ที่เด็กๆ ต้องระวัง
ช่วงนี้เรียกได้ว่าจะไปไหนมาไหนก็ต้องพกร่มกันติดตัวเลยนะคะ เพราะเข้าสู่ฤดูฝนกันอย่างเต็มตัวกันแล้ว แต่สิ่งที่น่ากลัวที่จะมาพร้อมกับหน้าฝนก็ไม่ใช่อะไรที่ไหน มันก็คือโรคภัยต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เรียกได้ว่าโดยฝนนิดเดียวก็อาจจะป่วยหนักเอาได้ง่ายๆ เลยค่ะ
วันนี้ทางผู้เขียนเลยรวบรวมโรคที่มาพร้อมหน้าฝน ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเฝ้าระวังกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
เรามาแบ่งกันเป็นกลุ่มโรคกันก่อน ซึ่งได้แก่
กลุ่มที่ 1 : กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร
กลุ่มโรคนี้เรามักจะพบโรคได้แก่ โรคอุจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ กลุ่มโรคพวกนี้มักจะเกิดจากสาเหตุจากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือกินอาหารสุกๆ ดิบๆ
กลุ่มที่ 2 : กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง
กลุ่มโรคนี้เรามักจะพบโรคบ่อยๆ ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือไข้ฉี่หนู
กลุ่มที่ 3 : กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
กลุ่มนี้ก็ตามชื่อกลุ่มโรคเลยค่ะ ที่พบบ่อยๆ ก็ได้แก่โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม
กลุ่มที่ 4 : กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง
แน่นอนว่าโรคที่เกิดจากยุงได้แก่ โรคไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี ( Japanese Encephalitis ) โรคมาลาเลีย
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง
กลุ่มนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตานั่นเองค่ะ
แต่ในฤดูฝนนี้ก็มีโรคยอดฮิตที่เด็กๆ มักจะเป็น ที่เกิดจากการเล่นน้ำฝน การเดินลุยน้ำ หรือการกระโดดในแหล่งน้ำขัง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โรคที่แฝงมากับฤดูฝนได้แก่
1.โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
โรคนี้เรียกว่าคุณพ่อคุณแม่คงทราบดีกันอยู่แล้วนะคะว่า มันมักจะมากับหน้าฝน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการของมันคล้ายๆ กับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เด็กๆ จะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจจะมีอาการปวดกระดูกด้วย ไข้จะสูงได้ถึงประมาณ 2-7 วัน หลังจากไข้ลด อาจจะมีอาการเลือดออกผิดปกติและช็อคได้ หากเด็กๆ มีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่ายหรือซึม มือเท้าเย็น หน้ามืด เป็นลมง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบนำเด็กๆ ส่งโรงพยาบาลทันทีนะคะ
2.โรคมาลาเรีย (Malaria)
สำหรับโรคนี้จะมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค โดยหากเด็กติดเชื้อจะมีอาการแรกเริ่มเลยก็คือ เป็นหวัดประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะอยู่ในช่วงจับไข้เป็นช่วงๆ อย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะหนาวสั่น ระยะร้อน และระยะเหงื่อ แต่หากเด็กๆ เป็นแบบรุนแรงก็จะทำให้ไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และมาลาเรียขึ้นสมองได้นั่นเอง
3.โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
โรคที่พบบ่อยๆ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคบิดและโรคไทฟอยด์ เกิดจากการติดเชื้อจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปะปนอยู่ ทำให้เด็กมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ การรักษาความสะอาดเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
4.โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
สำหรับโรคฉี่หนูนี้ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีหนูเป็นพาหะนำโรค สำหรับโรคนี้เชื้ออาศัยอยู่ในดินที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำท่วมขังและเข้าสู่คนทางผิวหนัง อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อน เช่น ไตวาย มีอาการทางสมองและระบบประสาทจนอาจเสียชีวิตได้
5.โรคมือเท้าปาก (Hand foot mouth disease)
คุณพ่อคุณแม่อาจจะได้ยินกับบ่อยๆ สำหรับโรคนี้ และมักจะติดต่อกันที่โรงเรียนได้ด้วยสำหรับเด็กๆ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มักจะพบมากในช่วงหน้าฝนเลยทีเดียว ติดต่อกันได้ทางไอ จาม น้ำลายหรืออุจจาระ การสัมผัสของเล่น อาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการของโรคคือ มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น มีแผลร้อนในหลายแผลในปาก มักหายได้เอง ในขณะมีอาการ เด็กบางรายอาจกินอาหารและน้ำไม่ค่อยได้เนื่องจากเจ็บปาก ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังมากเลยนะคะ
6.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง (Conjunctivitis หรือ Pink eye)
สำหรับโรคนี้เด็กๆ จะสามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ เลยค่ะ เด็กๆ สามารถติดโรคได้จากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง อย่างเช่น การไอ การจาม หายใจ หรือการใช้ของร่วมกัน โรคนี้หากเด็กๆ เป็นเขามักจะแสดงอาการอย่างเช่น เคืองตา เจ็บตา น้ำตาไหล บางรายอาจจะมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตและเจ็บและทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้
อ้างอิงจาก : www.synphaet.co.th/children-ramintra/โรคที่ต้องระวังฤดูฝน/ , www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/children-rainy-season
Related Courses
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...
ออกกำลังกายอย่างไรดีต่อสุขภาพ
การเรียนรู้เรื่องการออกกำลังกายอย่างไรดีต่อสุขภาพจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เริ่มต้นออกกำลังอย่างไรให้ถูกต้อง ประเภทการออกกำลังกา ...
เจลล้างมือมีความจำเป็นอย่างไร
การเรียนรู้ 7 ขั้นตอนล้างมือด้วยสบู่เมื่อเด็กๆอยู่ที่บ้าน ความจำเป็นที่ต้องใช้เจลล้างมือ ขั้นตอนการผลิตเจลล้างมือแบบง่ายๆ และประ ...
แนะนำหลักสูตร well being
คอร์สเรียนนี้จะชวนให้ทุกคน กลับมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กๆ กันนะคะ เพราะทั้งสองเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรง ...