ไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องเข้าใจ เปิดภาคเรียนใหม่ มาเป็นครูคนโปรดของนักเรียนกันเถอะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของเด็กๆ ไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ ก็คือ “คุณครู” นั่นเอง แม้ว่าข่าวคราวที่เราได้รับผ่านสื่อทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ของครู อาจไม่ดีนัก แต่เราก็เชื่อว่ายังมีครูอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีอุดมการณ์ และเจตนาที่ดี ในการหล่อหลอมเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพมากที่สุด ในยุคก่อน เราอาจเคยได้ยินสังคมเปรียบครูว่าเป็นเหมือนเรือจ้าง มีหน้าที่พานักเรียนส่งถึงฝั่งให้ได้ใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งในแง่หนึ่งคำกล่าวนี้ อาจทำให้ครูรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าเท่าที่ควร เป็นเพียงเรือจ้าง ที่เมื่อส่งเด็กๆ ขึ้นฝั่งก็ไร้ค่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน้าที่ของครูยุคใหม่มีความหมายมากมายกว่านั้น เพราะถึงแม้โลกจะก้าวไปข้างหน้า เด็กๆ เรียนรู้ได้มากมายจากเครื่องมือดิจิทัล แต่สิ่งที่เทคโนโลยี ไม่อาจทำได้คือการถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองการใช้ชีวิต ที่เด็กๆ จำเป็นต้องได้เรียนรู้จากคนจริงๆ ซึ่งนอกจากพ่อแม่แล้วก็คือครูนั่นเองที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ การเป็นครู จึงไม่ใช่แค่เพียง “สอนสั่ง” แต่ยังต้องเข้าใจความเป็นไปของชีวิต เข้าใจความแตกต่างของเด็กแต่ละคน เข้าใจพัฒนาการตามวัย จึงจะสามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในรูปแบบที่เหมาะสมกับนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนเหล่านั้น
ครูในฝัน ยุคดิจิทัลครองเมือง
เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป บทบาทครูก็จำเป็นต้องพัฒนาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย ต่อไปนี้เป็นบทบาทที่คาดหวังของครูยุคใหม่ ในยุคที่ชุดความรู้มีมากมายและการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา
- เปลี่ยนจากผู้สอนเป็นผู้จัดการเรียนรู้ ในยุคที่ความรู้หาเองได้ บทบาทของครูจึงไม่ควรเป็นเพียงผู้ให้ความรู้ แต่ควรเป็นผู้จัดการเรียนรู้ สร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย นำไปสู่ประสบการณ์จริงที่ความรู้ไม่ได้มาจากในตำรา
- ใช้เครื่องมือดิจิทัล ปรับตัวและก้าวให้ทันโลกด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยการเรียนการสอน
- ปลูกฝังการคิดวิเคราะห์ แทนการตั้งคำถามที่มีคำตอบเพียง 1 เดียว ลองตั้งคำถามที่เด็กๆ ได้คิดวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยไม่ต้องตัดสินว่าถูกหรือผิด อาจยกตัวอย่างสถานการณ์จริงในสังคม มาให้เด็กๆ ได้ฝึกคิดแก้ปัญหา แทนการท่องจำมาตอบ
- เปิดรับความหลากหลาย ก่อนที่จะสอนให้เด็กๆ ยอมรับความหลากหลาย ครูเองต้องเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายในโลกนี้ก่อน เข้าใจว่าความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ทุกคนมีสิทธิ์เลือกแนวทางการใช้ชีวิต ความชอบ ความเชื่อ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน
- ไม่ยึดติดรูปแบบการสอน ครูยุคใหม่จำเป็นต้องเข้าใจว่า เด็กแต่ละคนอาจเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมหรือด้วยวิธีการที่ต่างกัน ครูจึงไม่ควรจำกัดรูปแบบการสอนเพียงแบบเดียว เช่น สอนตามตำราเป๊ะๆ โดยเด็กๆ ไม่ได้ลงมือทำ หรือ สอนผ่านการท่องจำเพียงอย่างเดียว การปรับรูปแบบการสอนให้มีหลากหลายกิจกรรม เช่น อ่านตำรา เล่นเกมเพื่อให้เข้าใจ ทำรายงาน จะช่วยให้เด็กๆ ที่มีความแตกต่างเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น
เปิดเรียนใหม่ จะไปเป็น “ครูคนโปรด”
ใครๆ ก็อาจเป็นครูคนโปรดได้ หากตามใจนักเรียน หรือปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำทุกอย่างตามใจ แล้วยังปล่อยเกรดแบบสุดๆ แต่ความจริงแล้ว การเป็นครูคนโปรด ไม่ควรเกิดจากการพยายามเป็น แต่ควรมาจากความประพฤติที่เหมาะสม โดยมีเจตนาเพื่อให้นักเรียนได้รับสิ่งที่ดีที่สุดต่างหาก
การเป็นครูคนโปรดจึงน่าจะเรียกว่าเป็นผลพลอยได้มาจากการเป็นครูที่ดีของนักเรียน ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้นได้ เรามีคำแนะนำมาฝาก
- เป็นครูที่แสดงความคาดหวังชัดเจน อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ วิชานี้ในภาคเรียนนี้จะเรียนอะไรบ้าง การวัดผล การสอบเป็นวิธีใด สิ่งเหล่านี้ครูควรแจ้งให้นักเรียนทราบตั้งแต่วันแรกของ การเรียน การให้ข้อมูลที่ชัดเจนทำให้เด็กๆ สามารถวางแผนได้ว่าการเรียนรู้และประพฤติตนได้อย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญคือ ความสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแผนไปมา
- เป็นครูที่คิดบวกและมีความสุข บางครั้งครูก็จดจ่ออยู่กับการจัดการห้องเรียนให้เรียบร้อย หรือแผนการสอนที่สมบูรณ์แบบ แต่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับตัวเอง ครูก็ไม่ต่างจากพ่อแม่ ที่ล้วนเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่ต้องการเวลาผ่อนคลาย หากรู้สึกภาระงานหนักหนา ลองหาเวลาพัก สูดลมหายใจ เพราะครูที่มีความสุขเท่านั้น ที่จะสร้างบรรยากาศความสุขในห้องเรียนได้
- เป็นครูที่ห่วงใย หาเวลาทำความรู้จัก พูดคุยกับนักเรียนแต่ละคน ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่หาเวลาพูดคุยกับนักเรียนแต่ละคนเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือสำหรับนักเรียนที่ไม่อยากแชร์ความรู้สึกในกลุ่ม อาจเปิดโอกาสให้พวกเขาได้คุยตัวต่อตัว อาจหาเวลาในคาบการอ่าน เรียกนักเรียนมาคุยคนละ 10 นาที ครั้งละ 3 คน ถามถึงสิ่งที่นักเรียนกังวล ปัญหาการเรียน ชีวิตในโรงเรียน ฯลฯ ทำวนไปจนครบทั้งห้อง คุณอาจพบว่ามีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับนักเรียนที่คุณไม่เคยรู้ การพูดคุยนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจ และครูอาจช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่เด็กๆ ได้
- เป็นครูที่ให้ในสิ่งที่นักเรียนต้องการ เด็กๆ ต้องการความสนุกสนาน เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนก็ควรเป็นเรื่องสนุก คุณครูไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาเต้น หรือแต่งหน้าแต่งตัว หากสิ่งเหล่านั้นไม่เหมาะกับตัวเอง ความสนุกเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น เปลี่ยนสถานที่ไปเรียนกลางแจ้ง เรียนในห้องสมุด ยกเนื้อหาในนิยายออนไลน์ที่เด็กๆ ชอบมาเป็นกรณีศึกษา ให้เด็กๆ แสดงบทบาทสมมติที่เกี่ยวกับบทเรียน เพียงแค่เติมความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในแผนการสอน การเรียนรู้ก็เป็นเรื่องสนุกได้
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ใครจะบอกว่าครูเป็นเรือจ้าง แต่สำหรับ “ครูคนโปรด” แม้ว่าการเดินทางร่วมกันจะสิ้นสุดลงเมื่อส่งนักเรียนขึ้นฝั่ง แต่ความทรงจำจากการเดินทางครั้งนี้จะมีความหมายและอาจมีอิทธิพลต่อความคิด ตัวตนของเด็กคนหนึ่ง นำไปสู่การส่งต่อสิ่งดีๆ สู่โลกใบนี้ เป็นการเดินทางที่จารึกอยู่ในใจนักเรียนตลอดไป
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
สร้าง Self-Esteem เสริมคุณค่าให้กับนักเรียนอย่างไร
Self-Esteem หรือ การเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการ ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...