ครูบนดอยกับการสอนแบบ Active Learning
ครูปุ๋ย (นางศนิวาร ชมบุญ) สอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ ศิลปะ และประวัติศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนบ้านน้ำหอม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒
ครูปุ๋ยเล่าให้ฟังว่า บริบทของโรงเรียนบ้านน้ำหอม เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒ ตั้งอยู่ที่บ้านทีเนอมู เลขที่ 123 หมู่ 11 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์รายล้อมไปด้วยภูเขา ประชากรทั้งหมดเป็นชาวเผ่าปกาเกอะญอ ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ไร่ข้าวโพด) ด้านการสื่อสารนั้น ส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นปกาเกอะญอ (ภาษากะเหรี่ยง) ในการสื่อสาร ทำให้แม้แต่ตัวผู้ปกครองเองก็ไม่สามารถสอนหนังสือให้แก่บุตรหลานของตนเองได้
สำหรับจุดเริ่มต้นของการเป็นครูนั้น ครูปุ๋ยได้บอกกับผู้เขียนมาว่า เมื่อตอนเป็นเด็ก ครูปุ๋ยประทับใจคุณครูท่านหนึ่งมาก ท่านเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสอนเท่านั้น แต่ท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตในทุกๆ ด้าน ท่านสอนและดูแลเอาใจใส่เด็กๆ ทุกคนเป็นอย่างดี มีครั้งหนึ่งเคยเห็นคุณครูท่านนี้สอนเพื่อนในห้องที่อ่านเขียนไม่ได้เลย จนเพื่อนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ
ครูปุ๋ยยังเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า คุณครูท่านนี้มักจะเรียกเพื่อนคนนี้มาสอนซ่อมเสริมในตอน เย็นหลังเลิกเรียนเป็นประจำในทุกๆ วัน โดยท่านจะมีเทคนิควิธีการเพื่อเสริมแรงบวก ซึ่งจะได้ยินเพื่อนชื่นชมคุณครูท่านนี้ให้ฟังตลอด เด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนรักคุณครูท่านนี้มาก ทำให้ครูปุ๋ยมีความใฝ่ฝันว่า “โตขึ้นฉันจะเป็นครูให้ได้” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการที่จะได้มาเป็นครู
สำหรับความท้าทายของการมาเป็นครูนั้น ครูปุ๋ยบอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้มาสอนโรงเรียนบ้านน้ำหอมแห่งนี้ ความท้าทายที่เจอสิ่งแรกเลย คือ การเดินทาง เพราะไม่คิดว่าเส้นทางแบบนี้จะมีอยู่จริง เส้นทางมีความยากลำบากมาก ต้องขึ้นดอยลงดอยสูง ผิวถนนก็มีความขรุขระ ตอนที่มาบรรจุคือช่วงหน้าฝนพอดี เส้นทางเป็นหลุมเป็นบ่อดินโคลนหนา รถติดหล่มจนแทบจะถอดใจ สิ่งท้าทายที่เจอต่อมา คือ การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียน ทั้งเรื่องการใช้ภาษา การสื่อสาร และการดำเนินชีวิต ซึ่งมีความแตกต่างจากชีวิตที่เราเคยอยู่มา และท้ายสุดของความท้าทาย คือ การที่เราได้ทำให้นักเรียนที่ใช้ภาษากะเหรี่ยงซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร สามารถเปลี่ยนมาใช้ภาษา กลางในการสื่อสารกับผู้อื่นได้ นั่นคือความท้าทายที่ครูปุ๋ยรู้สึกภูมิใจ และมีความสุขมากๆ กับการได้มาเป็นครู
สำหรับครูปุ๋ยแล้ว Moment ที่มีความสุขที่สุดของการได้มาเป็นครู คือ มีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ เวลาเรียน เวลาเล่น และได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ แต่ละคน โดยเฉพาะในด้านของการสื่อสาร การอ่าน และการเขียน ทำให้ครูปุ๋ยรู้สึกว่า ไม่เสียดายเลยที่ได้มาบรรจุที่โรงเรียนบ้านน้ำหอมแห่งนี้ ถึงจะยากลำบากแค่ไหน แต่การที่ครูปุ๋ยได้ให้ความรู้ ได้ให้ความรักกับเด็กๆ ทุกคน ถือเป็นสิ่งที่วิเศษยิ่งนัก และสิ่งที่ได้กลับมาก็ไม่ต่างกัน คือการที่ครูปุ๋ยได้รับความรักจากเด็กๆ ผู้ปกครอง และเพื่อนครูในโรงเรียน จึงทำให้มีพลังและไม่ย่อท้อต่อการทำหน้าที่ครู
สำหรับคาบเรียนที่ดีที่สุดนั้น ครูปุ๋ยก็บอกว่า ทุกคาบเรียนถือเป็นคาบเรียนที่ดีที่สุด เพราะครูปุ๋ยได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด อย่างเต็มความสามารถ แต่ที่พิเศษสุดๆ คือ คาบเรียนที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม ได้สร้างสรรค์ผลงามตามความคิด ตามจินตนาการของตนเอง โดยเฉพาะกระบวนการ STEAM Design Process ที่ได้นำมาสอนเด็กๆ นั้น ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน สามารถนำไปบูรณาการใช้ได้กับทุกวิชา เป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถสร้างเด็กให้เกิดองค์ความรู้ได้จริงโดยครูมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ คอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็กๆ เท่านั้น ซึ่งท่านผู้อำนวยการก็ค่อยกล่าวให้กำลังใจครูทุกคนให้ทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มความสามารถ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ให้เด็กทุกคนได้แสดงออกทางความคิดของตนเองอย่างสร้างสรรค์และไม่ปิดกั้น
ครูปุ๋ยมองว่า Learning Box คือ เครื่องมือการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้และได้ฝึกปฏิบัติจริงด้วยตัวของเค้าเอง มีหลายๆ กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีเนื้อหาที่เข้าใจได้ง่าย รูปภาพ สีสันสวยงาม โดยครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางในการทำกิจกรรม เป็นบทเรียนที่ทำให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดตามจินตนาการได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากที่ได้เรียนมาจากในบทเรียนหลักๆ แล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีอุปกรณ์ใหม่ๆ ในกล่อง Learning Box ที่เด็กๆ ไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนเป็นการเปิดโลกกว้างให้กับเด็กๆ ได้อีกด้วย
ครูปุ๋ยได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ชุดการเรียนรู้ Learning Box ที่ได้รับมานั้น ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาบูรณาการปรับใช้ในรายวิชาเรียนต่างๆ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ แต่ครูปุ๋ยได้ใช้ในวิชาภาษาไทยเป็นหลัก เช่น ให้นักเรียนออกแบบบัตรคำง่าย ๆ จากบทเรียน และทำให้นักเรียนสนุกกับการจดจำคำศัพท์ได้ด้วยตนเอง สื่อและอุปกรณ์ในกล่องช่วยในการจัดการเรียนการสอน ทำให้กิจกรรมไม่น่าเบื่อ ต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียนที่มุ่งเน้นแค่เนื้อหาวิชาในตำราเพียงอย่างเดียว เหมือนได้เปิดโอกาสให้ครูและเด็กๆ ได้ใช้ความคิดตามจินตนาการได้อย่างอิสระ โดยผ่านการเรียนรู้แบบ “เรียนปนเล่น” ที่สำคัญเลยคือ ครูปุ๋ยก็ได้มีการ PLC ร่วมกับเพื่อนครูในโรงเรียน และได้แบ่งปันไอเดียร์ดีๆ ให้ครูท่านอื่นได้นำไปปรับใช้กับชั้นเรียนอื่นๆ ด้วย
หลังจากครูปุ๋ยได้นำชุดการเรียนรู้ Learning Box ไปใช้กับเด็กๆ แล้ว สังเกตได้ว่า เด็กๆ มีพัฒนาการในด้านการอ่าน การเขียน และการบวกเลขที่ดีขึ้นตามลำดับ มีการจดจำพยัญชนะ คำศัพท์ง่ายๆ และตัวเลขต่างๆ ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ได้หยุดเรียนไปนานเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ซึ่ง Learning Box ถือเป็นตัวช่วยสำคัญของครูในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้อย่างแท้จริง
จากสิ่งที่ครูปุ๋ยได้เล่ามาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนได้เห็นแววตาแห่งความมุ่งมั่นได้เห็นความสุขและรอยยิ้มจากการบอกเล่าของครูปุ๋ย ซึ่งเชื่อได้เลยว่านักเรียนทุกคนของครูปุ๋ยก็คงมีความสุขเช่นเดียวกัน
บทความใกล้เคียง
กิจกรรม TSQP Kick Off กลุ่มที่ 2 การนำไปใช้กับผู้เรียน (ครูผู้สอน)
ภาวะความรู้ถดถอย (Learning Loss) ที่ต้องเร่งแก้ไขในมุมมองของ CEO Starfish Education
แชร์ไอเดียการสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ง่ายๆ สไตล์โรงเรียนบ้านปลาดาว
Related Courses
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
STAMPER Learning การเรียนรู้แบบบูรณาการ
STAMPER Learning เป็นการบูรณาการแบบใหม่ ครบจบทั้งขั้นตอนการเรียนรู้ และการประเมินผลสำหรับครู ซึ่งทำได้ง่ายๆ ในกิจกร ...
Micro Learning เรียนคณิตศาสตร์ ม.1-3
คอร์สนี้เป็นการเรียนรู้การเกี่ยวกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-3 โดยแบ่งเป็นบทเรียนที่เหมาะสมกับต่ละรดับชั้น ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...