รู้จักโรควัณโรคในวัยรุ่น สัญญาณและการดูแล
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีการประมาณการอุบัติการณ์ของโรควัณโรคในประชากรสูงติดอันดับ 1 ใน 30 ของโลก ซึ่งวัยมัธยมศึกษา มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายโรคได้สูง เพราะมีการรวมตัวกันในโรงเรียน ทั้งนี้ วัณโรคสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้หลายอวัยวะในร่างกาย เช่น วัณโรคสมอง วัณโรคต่อมน้ำเหลือง แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ วัณโรคปอด ที่พบได้ประมาณ 80% ของวัณโรคทั้งหมด ในฤดูที่ฝุ่น PM2.5 ก่อปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ อาการภูมิแพ้ หรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่กำเริบขึ้นมา อาจทำให้แยกความแตกต่างระหว่างอาการที่เกิดจากฝุ่นพิษ และ อาการของวัณโรคปอดทำได้ยาก บทความนี้ StarfishLabz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรคปอดในวัยรุ่น เพื่อรู้เท่าทันและรักษาและป้องกันการแพร่เชื้อได้ทันท่วงที
รู้จักโรควัณโรค
วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อ เกิดจากการติดเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โรคนี้เกิดได้กับทุกอวัยวะ แต่พบบ่อยที่สุดคือ วัณโรคปอด เพราะเชื้อติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรกของร่างกาย และแพร่เชื้อจากคนสู่คนทางอากาศ การหายใจ ไอ จาม รวมถึงการอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคจะติดเชื้อ ทั้งนี้ พบว่ามีเพียง 30% หลังสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือเรียกว่าเป็นการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง โดย 10% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง ครึ่งหนึ่งจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 2 ปี ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะแสดงอาการหลัง 2 ปีไปแล้วหรืออาจนานถึงหลายสิบปีกว่าจะแสดงอาการ ซึ่งการที่วัณโรคแฝงแสดงอาการช้านี่เองจึงอาจแพร่เชื้อได้ง่าย หากไม่ได้ตรวจร่างกายเป็นประจำกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นก็อาจแพร่เชื้อไปมากแล้ว แม้จะเป็นโรคอันตราย แต่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม วัณโรคสามารถหายขาดได้
วัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงวัณโรคหรือเปล่า?
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าวัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อกันผ่านอาการ การหายใจ ไอจาม และการอยู่ร่วมกับผู้ป่วย เพราะฉะนั้นคนทุกวัยล้วนมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อที่ทำให้เป็นวัณโรคได้ สำหรับวัยรุ่น หากอยู่ในช่วงร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบที่อ่านหนังสือดึกๆ เรียนหนัก ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ กินอาหารไม่มีประโยชน์ เช่นของมัน ของทอด น้ำอัดลม ขนมหวาน จนทำให้ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ ก็เพิ่มความเสี่ยงจะได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ การทำกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก เช่น เพื่อนๆ ในโรงเรียน ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ได้รับเชื้อมากขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อวัณโรค ไม่ได้มีแค่วัยรุ่นเท่านั้น แต่ใครก็ตามที่ภูมิต้านทานไม่ดี สุขภาพอ่อนแอ น้ำหนักน้อยหรือมากเกินไป ผู้ที่เป็นโรคปอดอยู่แล้ว หรือผู้ที่ทำงานสัมผัสกับมลภาวะในอากาศ เช่น เหมืองแร่ หรืออยู่ในเมืองที่มีมลภาวะเป็นพิษ ล้วนเสี่ยงเป็นวัณโรคทั้งสิ้น
สัญญาณอาการป่วยวัณโรคปอด
อาการที่ถือเป็นสัญญาณของวัณโรคปอด ที่พบได้บ่อยก็คือ อาการไอเรื้อรัง ต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากอาการไอเพราะภูมิแพ้หรือเป็นไข้หวัด ที่จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอาการต่างๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของวัณโรคปอด ได้แก่
- ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ นานกว่า 2 สัปดาห์
- ไอ มีเสมหะปนเลือด
- มีไข้ต่ำๆ ช่วงบ่ายหรือค่ำ เหงื่อออกตอนกลางคืน
- เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยวัณโรคปอดบางรายอาจมีอาการแค่บางอาการ หรือไม่มีอาการเลย แต่เมื่อเอ็กซเรย์ปอดออกมา พบว่าเป็นวัณโรคปอด
ทำอย่างไรเมื่อเป็นวัณโรคปอด
สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอดคือ แยกตัวเองออกจากคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งแพทย์จะให้ยารักษาและป้องกันการแพร่เชื้อ ระหว่างนี้ ผู้ป่วยควร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อไอหรือจาม ควรไอจามใส่กระดาษทิชชู่แล้วห่อทิ้งให้เรียบร้อย แยกจาน ชาม ช้อนส้อม เพราะโรคติดต่อทางน้ำลาย รวมทั้งแยกล้างจานชาม แก้วน้ำ ช้อนส้อมของตัวเอง หลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว โดยทั่วไปแพทย์จะอนุญาตให้ใช้ชีวิตตามปกติได้ แม้จะยังต้องกินยาอย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือนก็ตาม แต่ความสามารถในการแพร่เชื้อจะลดลงมากหลังได้รับยา 2 สัปดาห์ เมื่อวัยรุ่น เป็นวัณโรค อาจกระทบชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเรียนและการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ พ่อแม่ ควรเป็นที่ปรึกษาทั้งทางกายและทางใจ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ หากได้รับยาและทำตามคำแนะนำแพทย์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ควรสอนให้เด็กๆ ทำความเข้าใจว่าวัณโรค เป็นโรคติดต่อท้องถิ่น เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสุขอนามัยไม่ดี สกปรก ไม่สะอาด แต่เป็นเพราะร่างกายอ่อนแอ จึงได้รับเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศต่างหาก เพื่อสร้างความเข้าใจ ป้องกันไม่ให้เด็กๆ บูลลี่หรือรังเกียจเพื่อนที่รักษาตัวจนหายจากวัณโรค
ห่างไกลวัณโรค ดูแลปอดให้แข็งแรง
แม้วัณโรคจะติดต่อทางอากาศที่เราหายใจ แต่หากร่างกายแข็งแรง ภูมิต้านทานดี ก็จะเป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคได้ระดับหนึ่ง พ่อแม่ผู้ปกครอง ชวนเด็กๆ ดูแลสุขภาพ เพื่อปอดที่แข็งแรงห่างไกลวัณโรคได้ ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูง อาจเปลี่ยนเป็นออกกำลังกายภายในบ้านแทน
- กินอาหารมีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่เสริมภูมิต้านทาน วิตามินซีสูง และกินอาหารให้สมดุลครบทุกหมู่โภชนาการ
- ใช้เครื่องฟอกอากาศ อากาศทุกวันนี้เต็มไปด้วยมลพิษ หากเป็นไปได้ควรมีเครื่องฟอกอากาศที่บ้าน และหากมีเครื่องฟอกอากาศในรถ หรือในห้องเรียนด้วยก็ยิ่งดี
- สวมหน้ากากอนามัย หากต้องอยู่ในสถานที่แออัด ผู้คนมากมาย เช่น บนรถโดยสารสาธารณะ ขึ้นลิฟต์ ในคอนเสิร์ตหรือการแสดงที่คนอยู่รวมกันในสถานที่ที่อากาศไม่ค่อยถ่ายเท การสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันโรคติดต่อที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลายๆ โรคได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ วัยรุ่นมักชอบนอนดึกๆ หากเป็นไปได้ ควรกำหนดเวลานอนให้เพียงพอ อย่างน้อยคืนละ 8 ชั่วโมง ในวันที่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน ควรเข้านอนเร็วขึ้น เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเรียนรู้และทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วย
หลายคนอาจมองว่า วัณโรค เป็นโรคที่น่ากลัวและน่ารังเกียจ แต่หากเข้าใจโรคนี้อย่างแท้จริงแล้ว ก็จะรู้ว่าวัณโรค เป็นเพียงโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ได้ และเมื่อเป็นแล้วก็รักษาหายขาดได้ 100%
สุดท้ายแล้ว ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เพียงจะช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ แต่ยังช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ เมื่อทุกคนเข้าใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้ห่างไกลวัณโรคอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การดูแลสุขภาพใจเด็กประถมศึกษา
ในคอร์สนี้เป็นการดูแลสุขภาพใจของเด็ก เพราะการมีสุขภาพใจที่ดีนั้นส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้อารมณ์ดี สามารถจัดการภาวะอาร ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...