เตรียมรับมือ ไวรัสยอดฮิต เด็กๆ เป็นบ่อยช่วงหน้าหนาว
หลายปีที่ผ่านมาเราต้องคอยระมัดระวังตัวกับโรคระบาด เมื่อเปลี่ยนฤดูกาลก็ยังต้องดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ฤดูหนาวอย่างนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจำเป็นต้องใส่ใจสุขภาพของเด็กๆ มากยิ่งขึ้น เพราะไวรัสที่มากับฤดูหนาว อาจทำให้เด็กๆ เจ็บป่วยไม่สบาย จนส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันได้
ลองมาดูกันว่าไวรัสยอดฮิตช่วงหน้าหนาวมีอะไรบ้าง เพื่อเตรียมรับมือ และระวังป้องกันได้ทันท่วงที
ไวรัสกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และหลอดลม
จะเรียกว่าเป็นโรคสุดฮิตในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลก็คงไม่ผิดนัก เพราะโรคในกลุ่มหลอดลมฝอยอักเสบ อันได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และ RSV มักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัส ส่งผลให้หลอดลมฝอยอักเสบ บวม เสมหะสะสม ส่งผลให้ปอดทำงานไม่ได้ตามปกติ และไม่สามารถระบายอากาศได้อย่างเหมาะสม
- ไข้หวัด (Common Cold)
สาเหตุ: ร่างกายอ่อนแอ เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
อาการ: มีน้ำมูก คัดจมูก จาม มีไข้ต่ำๆ
การรักษา: ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ก็จะสามารถหายเองได้ภายใน 3-4 วัน
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
สาเหตุ: ได้รับเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) เข้าสู่ร่างกายทำให้ป่วย
อาการ: มีไข้ปานกลางถึงสูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว อ่อนเพลีย บางรายอาจมีน้ำมูก และมีอาการไอร่วมด้วย
การรักษา: พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาป้องกันอาการแทรกซ้อน หรือป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน
- ปอดอักเสบ (Pneumonia)
สาเหตุ: ปอดติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้ไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ บางครั้งเรียกว่าโรคปอดบวม
อาการ: แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีเสมหะ ไอ มีไข้สูง
การรักษา: ควรพบแพทย์เพื่อรับยาตามความเหมาะสม ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยลดเสมหะ
โรค RSV (Respiratory Syncytial Virus)
สาเหตุ: ได้รับเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus ซึ่งมีสองสายพันธ์ุคือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสที่ทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
อาการ: ในผู้ใหญ่มักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่สำหรับเด็กเล็กอาการอาจลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบ มีอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดหวิว หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ
การรักษา: พบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ ในเด็กเล็กหากเสมหะเหนียวมาก อาจพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก
- โรคครูป (Croup)
สาเหตุ: ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza), ไวรัส อาร์ เอส วี (RSV) และ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณกล่องเสียงลงไปจนถึงบริเวณหลอดลมส่วนต้น ส่งผลให้หลอดลมบวม ตีบแคบ
อาการ: ไอเสียงก้อง มีน้ำมูก หายใจเสียงดัง หากอาการรุนแรงอาจหายใจเสียงดัง หน้าอกบุ๋มเมื่อหายใจเข้า
การรักษา: หากอาการไม่รุนแรงแพทย์ให้ยาสเตียรอยด์โดยวิธีรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำ หากอาการปานกลางถึงรุนแรงแพทย์อาจให้พ่นยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) ควบคู่กับการได้รับยาสเตียรอยด์ด้วย
ไวรัสกลุ่มที่ทำให้เกิดตุ่มที่ผิวหนัง
โรคที่เกิดในช่วงหน้าหนาว ซึ่งทำให้เกิดตุ่มแดงบริเวณผิวหนังส่วนใหญ่มักเกิดจากไวรัสสองตัวคือ ไวรัสวาริเซลลา (Varicella) ที่ทำให้เป็นโรคไข้สุกใส และ ไวรัสรูบิโอลา (Rubeola Virus) ที่ทำให้เป็นโรคหัด และหัดเยอรมัน มักเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงต้องดูแลและป้องกันตัวเองมากเป็นพิเศษ
- โรคไข้สุกใส (Chickenpox)
สาเหตุ: เกิดจากไวรัสวาริเซลลา (Varicella) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด
อาการ: มีไข้สูง ปวดหัว มีตุ่มแดงคันบริเวณผิวหนัง อ่อนเพลีย บางรายอาจเบื่ออาหาร
การรักษา: เป็นโรคที่หายเองได้ แพทย์มักให้ยารักษาตามอาการ เช่นให้ยาต้านไวรัสที่ช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น
- โรคหัด (Measles)
สาเหตุ: เชื้อไวรัสรูบีโอรา (Rubeola virus) มักพบในเด็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากกว่าผู้ใหญ่ ติดต่อได้จากการไอ จาม น้ำลายของผู้ป่วย มีระยะฟักตัวประมาณ 10-14 วัน
อาการ: มีไข้ ไอมาก ตาแดง น้ำตาไหล มีตุ่มเล็กๆ สีแดงคล้ำขึ้นตามผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองหลังใบหูบวม
การรักษา: รักษาตามอาการ เพราะไม่ใช่โรคร้ายแรงและป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
- หัดเยอรมัน (Rubella)
สาเหตุ: เกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน Rubella Virus ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสละอองของสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย
อาการ: อาการของโรคมีได้หลากหลาย เช่น มีไข้ ตาแดง เจ็บคอ มีน้ำมูกคัดจมูก อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นที่ใบหน้าและลำตัว บางรายอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต
การรักษา: รักษาตามอาการ หากอยู่ในพื้นที่มีการระบาด และมีไข้ออกผื่น ควรรีบพบแพทย์ทันที
ไวรัสโรต้าและไวรัสโนโร
ไวรัสที่พบได้ในฤดูหนาว ยังมีกลุ่มที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและการขับถ่าย อย่างโรต้าไวรัส และโนโรไวรัสอีกด้วย
- ลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rota virus)
สาเหตุ: ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกายผ่านการปนเปื้อนในน้ำดื่ม อาหารหรือนำสิ่งของเข้าปาก
อาการ: ท้องร่วงอย่างรุนแรง และถ่ายเป็นน้ำบ่อย มีไข้ บางรายอาจอาเจียนบ่อย 7-8 ครั้งต่อวัน หรือท้องเสียได้มากกว่า 20 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง
การรักษา: ดูแลรักษาตามอาการ ให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทน ในรายที่รุนแรงต้องระวังภาวะช๊อกจากการขาดน้ำ หากเริ่มมีอาการจึงควรรีบพบแพทย์
- ท้องร่วงจากไวรัสโนโร (Noro virus)
สาเหตุ: ร่างกายได้รับเชื้อโนโรไวรัส ปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่ม หรือแม้แต่การสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยแล้วหยิบอาหารเข้าปากก็สามารถได้รับเชื้อได้
อาการ: อาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังไวรัสเข้าสู่ร่างกาย อาการท้องเสียมักจะดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการป่วย
การรักษา: รักษาตามอาการ ควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากการขาดน้ำ คือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
ถึงแม้ประเทศไทยอาจไม่หนาวเท่ากับหลาย ๆ ประเทศ แต่อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมเตือนให้เด็กๆ พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และเรียนรู้วิธีรับมือกับโรคเด็กในฤดูหนาวกันคอร์สเรียนนี้ เพื่อเตรียมตัวต่อสู้กับไวรัสร้ายที่มาพร้อมกับลมหนาวนะคะ
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...