ช่วยวัยรุ่นพัฒนาทักษะการสื่อสารก้าวข้ามทุกความขัดแย้ง
บางครั้งเคยรู้สึกไหมว่า ไม่รู้จะบอกความต้องการของตัวเองออกมาอย่างไร ยิ่งหากต้องอธิบายความรู้สึกเป็นคำพูด ก็ยิ่งทำได้ยากหรือรู้สึกว่าคำพูดของเราทำให้คนอื่นเข้าใจผิดบ่อยครั้ง หรือคุยกับเพื่อนอยู่ดีๆ ก็กลายเป็นการโต้เถียงหรือไม่อีกฝ่ายก็ทำท่าเหมือนไม่ตั้งใจฟังการขาดทักษะทางการสื่อสาร เป็นสาเหตุของปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิตที่หลายคนคาดไม่ถึง บ่อยครั้ง คนเรามักโทษสถานการณ์ โทษฝ่ายตรงข้าม หรือปัจจัยอื่นๆ ว่าเป็นต้นตอของปัญหา แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว ก็อาจพบว่าต้นตอของปัญหาจริงๆ นั้นอาจมาจากวิธีที่เราสื่อสารกันต่างหากตั้งแต่เล็กจนโต พ่อแม่พร่ำสอนให้เด็กๆ ฝึกพูด ให้เรียนรู้ภาษาที่สอง ซึ่งแน่นอน ว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ แต่ในทางกลับกันขณะที่เราสอนให้เด็กๆ ฝึกพูดจนคล่อง พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจลืมตระหนักไปว่าการพูดนั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของทักษะการสื่อสาร บทความนี้ StarfishLabz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของทักษะการ สื่อสารที่ทุกคนควรมี เพื่อสามารถก้าวข้ามทุกความขัดแย้งที่อาจพบเจอในอนาคต
แค่พูดได้ ไม่ใช่สื่อสารเป็น ในโลกที่เต็มไปด้วยเสียงพูดคุยจ้อกแจ้กจอแจของผู้คนนั้น จะมีสักกี่คนที่สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะมีสักกี่คนที่ตระหนักว่า คำพูดและการสื่อสารเป็น “เครื่องมือ” ที่ช่วยให้มนุษย์ฝ่าฟันสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตไปได้อย่างราบรื่น หากรู้จักใช้อย่างถูกวิธี
ทักษะการสื่อสารที่ดีช่วยให้เราเข้าใจผู้คนและสถานการณ์ได้ดีขึ้น การสื่อสารที่ดี ไม่ใช่แค่พูดอะไร แต่ต้องรวมถึงพูดอย่างไร และมีทักษะในการฟังที่ดีด้วย นอกจากนี้การรู้จักเลือกใช้โทนเสียง สีหน้าท่าทาง อวัจนภาษา ก็ถือเป็นทักษะการสื่อสารที่ต้องฝึกฝนควบคู่กันไปเช่นกัน สำหรับวัยรุ่นที่กำลังสร้างตัวตน และทำความเข้าใจโลกใบใหญ่ในมุมมองที่กว้างขึ้น ทักษะการสื่อสารจะช่วยให้พวกเขา หลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ลดความสับสน และช่วยปรับความสัมพันธ์ของพวกเขากับเพื่อนๆ พ่อแม่และครอบครัวอีกด้วย
วัยรุ่นพัฒนาทักษะการสื่อสารได้อย่างไร ข้อมูลจาก The University of North Carolina’s Healthy Relationships Initiative แนะนำทักษะการสื่อสารสำหรับวัยรุ่น เพื่อให้สามารถสื่อสารได้ตรงประเด็น แต่ไม่เป็นการก้าวร้าวไว้ 5 วิธี ดังนี้
- ฝึกการสื่อสารเพื่อเข้าใจ: รับรู้ว่าการสื่อสารที่ดีไม่ได้หมายถึงการเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่เป็นการพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของคู่สนทนา เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างโดยไม่ตัดสิน
- ฝึกการฟัง: การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่เพียงพูดเก่ง แต่ต้องฟังอย่างตั้งใจด้วย บ่อยครั้งคนเราฟังเพื่อที่จะโต้ตอบ ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นลองฝึกฟังและพยายามเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย โดยไม่ใช้อคติหรือใส่ความคิดของเราไปในการฟังนั้น
- ฝึกประนีประนอม: เรียนรู้ที่จะพบกันครึ่งทางโดยใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่จะทำร้ายหรือเอาชนะกัน
- เคารพความคิดและความรู้สึกของกันและกัน: การให้ความเคารพในการสนทนากับผู้อื่น แสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารประสบความสำเร็จง่ายขึ้น
- ซื่อตรงแต่ไม่ก้าวร้าว: คนเราสามารถสื่อสารอย่างซื่อตรงโดยไม่ทำร้ายความรู้สึก หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกด้อยค่าได้ ด้วยการเลือกใช้คำ โทนเสียง สีหน้าท่าทางที่ให้เกียรติและเคารพความแตกต่าง เช่น หากเพื่อนชวนไปเรียนปั้นดินด้วยกัน แต่เราไม่ชอบสัมผัสดินเละๆ เพราะรู้สึกเลอะเทอะ แทนที่จะบอกว่า “ไม่ไปหรอก ดินเละเลอะเทอะ” ลองเปลี่ยนเป็น “ขอบคุณที่ชวน แต่เราไม่ชอบปั้นดิน ไม่ชอบเลอะเทอะ เธอไปเรียนให้สนุกนะ” 2 ประโยคนี้ความหมายแทบจะไม่ต่าง แต่ความรู้สึกของผู้ฟังย่อมแตกต่างกัน สำหรับการสื่อสารในสถานการณ์ยากๆ หรือท่ามกลางความขัดแย้ง ทักษะการสื่อสารจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด และทำร้ายความรู้สึกคู่สนทนาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- อธิบายให้ชัดเจนตรงประเด็นว่าเราต้องการอะไร
- ใช้ I Statement ขึ้นต้นประโยคด้วยคำแทนตัวเอง ฉัน, เรา, ผม ฯลฯ เพื่อลดความรุนแรงในการสื่อสาร เช่น แทนการบอกว่า “เธอไม่เคยชวนฉันไปเที่ยวเลย” เปลี่ยนเป็น “ฉันอยากให้เธอชวนไปเที่ยวด้วย” เป็นต้น
- จดจ่อที่วิธีแก้ปัญหา ไม่ใช่การกล่าวโทษ เช่น แทนการบอกว่า “เธอทำน้ำหกเต็มไปหมด” เปลี่ยนเป็น “เช็ดน้ำที่หกด้วยนะ”
- อย่าขอโทษพร่ำเพรื่อ: หากทำผิดจริง เราควรยอมรับผิดและกล่าวคำขอโทษ การรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราไม่ผิด ก็ไม่จำเป็นต้องขอโทษ หรือหากทำผิดจริง ขอโทษแล้ว ก็ควรจบ อย่าขอโทษพร่ำเพรื่อเพราะจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อตัวเราเองและคนรอบข้างด้วย
พ่อแม่ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้ลูกได้อย่างไร การสอนทักษะการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพให้กับวัยรุ่น เพื่อให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีและรู้สึกมั่นใจในทุกด้านของชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่อาจต้องใช้ความอดทน ทุ่มเทเวลาอย่างสม่ำเสมอ คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยให้การฝึกทักษะการสื่อสารให้วัยรุ่นง่ายขึ้น
- เข้าใจว่าลูกกำลังเรียนรู้ นั่นหมายความว่าพวกเขาอาจทำผิดพลาด ซึ่งไม่เป็นไร เพราะทุกครั้งที่ผิดพลาดคือบทเรียนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่าเดิม
- ลูกอาจท้าทายทักษะใหม่กับคุณ หากสอนทักษะการสื่อสาร เจรจาต่อรองกับลูก อย่าแปลกใจหากลูกนำทักษะเหล่านั้นมาท้าทายคุณเสียเอง เพราะวัยรุ่นจำเป็นต้องลองวิชา เพื่อที่จะเข้าใจว่าการสื่อสารแบบไหนได้ผล แบบไหนไม่ได้ผล พ่อแม่ควรเตรียมพร้อมและอย่าถือเป็นเรื่องจริงจังหากรู้สึกว่าลูกท้าทาย นั่นเป็นเพราะพวกเขาไว้ใจคุณ
- เป็นตัวอย่างที่ดี ฟังดูอาจจะเชยและซ้ำซากจำเจ แต่การเป็นพ่อแม่นั้น นอกจากเป็นตัวอย่างให้ลูกๆ ได้เฝ้ามองและทำตาม หากต้องการให้พวกเขามีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ พ่อแม่อาจต้องเริ่มจากตัวเองเป็นอันดับแรก
สุดท้ายแล้ว ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะเป็นพื้นฐานสำคัญในชีวิต ลดความเข้าใจผิด แก้ไขข้อขัดแย้ง และสร้างความไว้วางใจระหว่างคนรอบตัว ซึ่งพ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยวัยรุ่นพัฒนาทักษะนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาไปตลอดชีวิต
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
บทความใกล้เคียง
16 วิชาเอาตัวรอดที่ควรสอนเด็กๆ ตั้งสติระวังเหตุร้ายในทุกสถานการณ์
How to ขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ คุณครู เมื่อซึมเศร้าจู่โจม จนใจรับไม่ไหวแล้ว
ทำความรู้จัก Duolingo แอปพลิเคชันฝึกภาษาระดับโลก ตัวช่วยสำคัญของคุณครู-ผู้ปกครอง
Related Courses
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ