How to ขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ คุณครู เมื่อซึมเศร้าจู่โจม จนใจรับไม่ไหวแล้ว
การมีสุขภาพจิตที่ดีนั้น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า การมีสุขภาพกายที่แข็งแรง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวัยกำลังเติบโต การมีสุขภาวะกายใจสมบูรณ์นั้น จะช่วยให้กระบวนการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เรื่องสุขภาพกายใจ บางทีก็เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เมื่อวัยรุ่นเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่ยากก็คือ อาการป่วยนั้นไม่ได้แสดงออกชัดเจนเหมือนกับการเจ็บป่วยทางกาย บ่อยครั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง
จึงไม่ทันสังเกตความผิดปกติ กว่าจะรู้ ก็อาจสายเกินไปที่จะให้ความช่วยเหลือ
บทความนี้ Starfish Labz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งตัววัยรุ่นเอง มาสังเกตอาการ อันอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า และมาดูสิว่าหากต้องการขอความช่วยเหลือ วัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้า จะขอความช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง
สัญญาณซึมเศร้าในวัยรุ่น
แม้วัยรุ่นจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลา แต่สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้านั้น มักมีอารมณ์เศร้าที่กินระยะเวลานานต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและ
กิจวัตรประจำวัน สัญญาณอาการซึมเศร้าในวัยรุ่น แต่ละราย อาจแตกต่างกันไป ทำให้ยากที่จะสังเกตเห็น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักมีอาการที่พบบ่อย ดังนี้
ด้านร่างกาย
- รู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง แม้ว่าจะพักผ่อนเพียงพอแล้ว
- กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ
- การทำกิจวัตรประจำวันกลายเป็นเรื่องยาก
- มีความเปลี่ยนแปลงด้าน การกินอาหารและการพักผ่อน เช่น กินมากหรือน้อยเกินไป นอนไม่หลับ
- ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ
ด้านอารมณ์และจิตใจ
- รู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือหงุดหงิดอย่างต่อเนื่อง
- ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ ไม่อยากพูดคุยกับเพื่อน แม้กระทั่งเพื่อนสนิท
- เก็บตัว โดดเดี่ยว
- รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง หรือรู้สึกผิด
- ทำเรื่องเสี่ยง ๆ ที่ปกติไม่เคยทำ
- ทำร้ายตัวเองหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
เมื่อซึมเศร้ารุนแรง จนอยากทำร้ายตัวเอง
ในกรณีที่ภาวะซึมเศร้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด อาจนำไปสู่ความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง หรือถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย โดยทั่วไปความรู้สึกอยากตายในวัยรุ่น มีสาเหตุจากปัญหาด้านจิตใจที่วัยรุ่นไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับความเครียด การถูกปฏิเสธ ความล้มเหลว ถูกเพื่อนแกล้ง หรือกระทั่งปัญหาภายในครอบครัว
วัยรุ่นที่คิดทำร้ายตัวเอง มักมองไม่เห็นทางออกว่าจะแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร และคิดว่าการฆ่าตัวตายคือการแก้ปัญหาอย่างถาวรได้ วัยรุ่นที่มีแนวโน้มทำร้ายตัวเอง มักมี
สัญญาณที่ผู้ปกครองควรจับสังเกตคือ
- พูดหรือเขียนเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เช่น “น่าจะตาย ๆ ไปจะได้จบปัญหา” หรือ “ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว”
- ปลีกตัวจากสังคม
- อารมณ์แปรปรวน
- ใช้ยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น
- รู้สึกอับจนหนทาง สิ้นหวังในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่
- กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไป
- ทำเรื่องเสี่ยง ๆ ที่อาจทำให้ตัวเองบาดเจ็บ
- นำสิ่งของส่วนตัวบริจาคหรือให้คนอื่น โดยไม่มีเหตุผลว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป วิตกกังวลกระสับกระส่ายอย่างรุนแรง เมื่อมีคนพบสัญญาณเตือนดังกล่าวข้างต้น
พ่อแม่ทำอย่างไร หากสงสัยว่าลูกอาจทำร้ายตัวเอง
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำอย่างแรก เมื่อสงสัยว่าลูกอาจคิดทำร้ายตัวเองคือ พูดคุยกับลูกทันที ไม่ต้องเลี่ยงการใช้คำว่า ฆ่าตัวตาย เพราะกลัวว่าจะเป็นการชี้โพรง ให้กระรอก เพราะสำหรับวัยรุ่นที่มีความคิดดังกล่าว ไม่ว่าคนอื่นจะพูดคำนั้นออกมาหรือไม่ ผู้ที่คิดสั้นก็คิดจะทำอยู่ดี การพูดตรง ๆ ถามว่าลูกกำลังรู้สึกอย่างไร และรับฟังอย่างจริงใจ คือการช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรมองว่าปัญหาของลูกเป็นเรื่องเล็กน้อยไร้สาระ ในทางกลับกัน ควรแสดงให้ลูกรู้ว่า เขาเป็นที่รักและมีความสำคัญ พ่อแม่เต็มใจช่วยทุกทาง เพื่อให้ลูกก้าวข้ามความรู้สึกนี้ไปให้ได้
หลังจากพูดคุยแล้ว ขั้นต่อไปควรพาลูกไปพบจิตแพทย์ วัยรุ่นที่อยาก
ฆ่าตัวตาย จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ การรับฟังอย่างจริงใจจากคนในครอบครัวอาจช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่การรักษาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องพบจิตแพทย์เท่านั้น
ในขั้นตอนการพบจิตแพทย์ แพทย์ไม่เพียงพูดคุยกับผู้ป่วยแต่ยังพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อซักประวัติครอบครัว และอาจพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเพื่อประเมินหาทางรักษาด้วย
วัยรุ่นต้องอ่าน เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือ
สำหรับวัยรุ่นที่กำลังรู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้า อยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกัน ก็อยากขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่คนใกล้ตัว แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ลองใช้คำแนะนำต่อไปนี้
1.ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ
แม้ว่าจะฟังดูเป็นเรื่องยากและน่ากลัว แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำตอนนี้ คือการบอกให้ผู้ใหญ่ใกล้ตัว รับรู้ว่าเรากำลังเผชิญปัญหาอะไร ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ หากเรารู้สึกไม่พร้อมที่จะบอกให้พวกท่านรับรู้ เราอาจเลือกบอกครู โค้ช พี่ป้า น้าอา ที่เราไว้ใจและสนิทสนม นอกจากนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเล่าทุกรายละเอียดให้พวกเขาฟัง หากเรารู้สึกไม่สะดวกใจ อาจเริ่มบทสนทนาว่า “ผม/หนู มีเรื่องทุกข์ใจมาก อยากเล่าให้ฟังได้ไหม” หรือ “ผม/หนูกำลังมีปัญหาและคิดว่าน่าจะต้องไปพบจิตแพทย์” เชื่อว่าหากใครได้รับรู้ว่าเรากำลังมีปัญหา พวกเขาย่อมยินดีรับฟังและช่วยเหลือ หากรู้สึกอายที่จะพูดต่อหน้า อาจเริ่มจากการส่งข้อความแทนก็ได้
2.เข้าใจว่าการขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องน่าอาย
ในทางตรงข้ามเราควรภูมิใจ ที่กล้าจะขอความช่วยเหลือ เพราะนั่นหมายความว่าเรากล้าหาญ ที่จะเริ่มแก้ปัญหา และสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ต่างจากการเจ็บป่วยเป็นไข้ เราย่อมไม่อายที่จะขอยาลดไข้ เมื่อจิตใจไม่สบาย การขอความช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องปกติที่ควรทำเช่นกัน
3.ช่วยเหลือตัวเองด้วย
สิ่งหนึ่งที่ดีที่เราทำเพื่อสุขภาพจิตใจของตัวเองได้ คือ การดูแลตัวเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะกินอาหารตรงเวลา พยายามพักผ่อนให้พอ ออกกำลังกาย แม้จะรู้สึกว่าทำได้ยาก หรือไม่มีจิตใจอยากทำ แต่หากลองฝืนทำสักวันอาจพบว่า ผลลัพธ์ที่ได้นั้นดีกว่าที่คิด การดูแลสภาพจิตใจของตัวเอง อาจทำได้โดยการจดบันทึกความรู้สึก การเขียนถือเป็นวิธีเยียวยาจิตใจที่ดีวิธีหนึ่ง แน่นอนว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ เป็นขั้นแรกที่เราควรทำ แต่พร้อมกันนั้นเราก็ควรดูแลตนเองไปด้วย
สุดท้ายแล้ว การเข้าใจว่าการขอความช่วยเหลือเป็นขั้นแรก ของการเอาชนะอุปสรรคและความรู้สึกเชิงลบต่าง ๆ เมื่อกล้าที่จะพูดออกไป เราอาจพบว่า เราไม่ได้เดียวดายอย่างที่คิด มีคนพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง ให้การช่วยเหลือมากมาย และเราไม่จำเป็นต้องผ่านเรื่องยาก ๆ นี้เพียงลำพัง
(ล้อมกรอบข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ)
สายด่วยปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
สายด่วนสุขภาพจิต 1323
ให้บริการโดยนักจิตวิทยา ตลอด 24 ชั่วโมง
Line ID: @147nzgad
FB: 1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
สายด่วน Depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ
บริการให้การปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยทีมสหวิชาชีพจากกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดโรงพยาบาลตำรวจ โทร. 081-932-0000 หรือ inbox เพจ Depress We Care
Lovecare Chatroom
ใช้การพิมพ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่สบายใจได้ผ่านการ Chat ปรึกษา
ทุกเรื่องเครียด กังวล ไม่สบายใจของวัยรุ่น
FB: Lovecare station (ตอบสด 2 ช่วง 10.00-12.00 น. และ 19.00-21.00 น.) นอกเวลาสามารถพิมพ์คำถามไว้ได้
แหล่งอ้างอิง (Sources):
- 6 Ways Teens Can Ask for Mental Health Help?
- Signs and symptoms of depression in kids
- Tween and teen health
- 10 ตัวช่วยที่ปรึกษาของวัยรุ่นเมื่อไม่สบายใจ
Related Courses
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ