ทักษะการเป็นผู้บริหารผ่านกระบวนการ Makerspace
นางสาวณัฐชาฎา สุทธิสอาด (ผอ.ดา) ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนวัดบางพลัด (ป.สุวณฺโณ) เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
ท่านผู้อำนวยการได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า จุดเริ่มต้นของการนำ Makerspace ไปใช้ในโรงเรียนนั้น เนื่องจากโรงเรียนวัดบางพลัดได้ใช้นวัตกรรมการพัฒนานักเรียนอยู่แล้ว 1 นวัตกรรม คือโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยใช้ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คุณธรรมความพอเพียง มาพัฒนาครูและนักเรียน ซึ่งมี ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง เป็นที่ปรึกษาโครงการของโรงเรียน โดยพื้นฐานของนักเรียนจะมีความโดดเด่นทางด้านคุณธรรมตามที่ได้รับการพัฒนามา 5 ปี แต่ยังมีทักษะที่จำเป็นด้านสติปัญญาน้อย การจัดการเรียนรู้ของครูเป็นรูปแบบเดิมที่ยังส่งเสริมศักยภาพนักเรียนไม่เพียงพอ ทางโรงเรียนจึงค้นหานวัตกรรมใหม่ๆที่จะมาส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการของนักเรียนเพิ่มขึ้น และถือเป็นความโชคดีที่ ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง ที่ปรึกษาของโรงเรียน ได้แนะนำมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮมให้รู้จัก และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้กระบวนการ STEAM Design Process ในรูปแบบนวัตกรรม Makerspace ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางโรงเรียนจึงได้เกิดความสนใจ และได้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นตัวจุดประกายให้ทางโรงเรียนได้เห็นถึงนวัตกรรมที่ดี สามารถนำมาขับเคลื่อนองค์ความรู้ของครู เพื่อพัฒนานักเรียนได้
ท่านผู้อำนวยการยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากนั้นจึงได้วางแผนการนำนวัตกรรมมาใช้ปฏิบัติในโรงเรียนโดยได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆจากผู้บริหาร และทีมงานของมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกิจกรรม Makerspace Day ที่โรงเรียนวัดบางพลัด เพื่อให้โรงเรียนวัดบางพลัด และโรงเรียนในเขตบางพลัดทั้ง 11 โรงเรียนได้ร่วมกิจกรรมศึกษาวิธีการ และได้ฝึกลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Processจำนวน 5 ขั้นตอน คือ
1.ตั้งคำถาม (Ask)
2.การออกแบบ (Imagine)
3.การวางแผน (Plan)
4.การลงมือปฏิบัติ (Create)
5.การสื่อสาร(Reflect & Resign)
หลังจากที่ครูและเด็กๆ ได้ร่วมกิจกรรมแล้ว ทางโรงเรียนได้เห็นถึงความสอดคล้องของ Makerspace ที่สามารถนำมาปรับใช้กับโครงการโรงเรียนคุณธรรมได้ จึงได้เริ่มใช้กระบวนการ STEAM Design Process ในการจัดการเรียนรู้ และสามารถตอบโจทย์ในการกระตุ้นการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ก็คือ “โรงเรียนได้สร้างเด็กดีและเด็กเก่งไปในคราวเดียวกัน” ดั่งสุภาษิตที่ว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”
ท่านยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรม Makerspace Day แล้วทีมงาน Starfish ยังได้จัดอบรมให้ความรู้ขั้นตอนกิจกรรม Maker และการใช้เครื่องมือ Starfish Class ให้กับครูโรงเรียนในเขตบางพลัดทั้ง 11 โรงเรียน ซึ่งทำให้ ผู้บริหาร และครูเกิดความตระหนักมองเห็นประโยชน์ของกระบวนการ STEAM Design Process จึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างจริงจัง และเริ่มนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ทดลองในการจัดการเรียนรู้หลักสูตรกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เน้นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยให้เด็กได้ลงมือทำจริง ในภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2565 โดยสายชั้นอนุบาล - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ออกแบบ Booklet สายชั้นละ 10 กิจกรรม เพื่อนำ Makerspace ไปปรับใช้ในชั่วโมงชมรมทุกวันศุกร์ 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ หลังจากที่ครูได้ทดลองสอน ก็มีความไม่เข้าใจในกระบวนการบางส่วน ผู้บริหารโรงเรียน และตัวแทนครู จึงได้จัดโครงการศึกษาดูงานการจัดกิจกรรม Makerspace ณ โรงเรียนบ้านปลาดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ครูได้เห็นสภาพจริงของการจัดกิจกรรม และสร้างแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนของครู ทำให้ครูเห็นตัวอย่างที่ดีสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง มีการนิเทศติดตามการดำเนินงานเป็นระยะๆ ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ครูและนักเรียนได้พัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น นักเรียนมีความสุขกับการเรียนโดยใช้นวัตกรรมนี้ เริ่มมีทักษะด้านการจัดการ การแก้ปัญหา การวางแผน การออกแบบเป็นรูปธรรมชัดเจน ผู้บริหาร และครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผ่านกระบวนการ PLC และมีการทดลองรอบที่ 2 ในการนำกิจกรรม Makerspace มาใช้ทุกรายวิชา ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในขั้นกิจกรรมการเรียนการสอน เพิ่มกิจกรรมการนิเทศ ติดตามให้กำลังใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยมีคณะกรรมการระดับเขตเข้านิเทศภายในโรงเรียนทั้ง 11 โรงเรียน ประกอบด้วยหัวหน้าฝ่ายการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ทีมงาน Starfish ผู้อำนวยการสถานศึกษา 11 โรงเรียน เป็นคณะกรรมการ ผลการนิเทศมองเห็นภาพการพัฒนานวัตกรรมในแต่ละโรงเรียนมีความโดดเด่นแตกต่างกัน บนความหลากหลายที่มีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมกันจัดนิทรรศการผลงาน Makerspace รวมกัน ณ โรงเรียนวัดบางพลัด จากที่ได้พูดคุยกันนั้น ท่านผู้อำนวยการได้บอกกับเรามาอีกว่า หลังจากที่ได้นำกระบวนการ STEAM Design Process มาใช้ เห็นการเปลี่ยนแปลงเด่นๆ 4 ด้านด้วยกัน คือ
1.ด้านนักเรียน ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเด็กมีความสุขในการเรียนรู้ สนุกกับการได้ทำชิ้นงาน มีวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นนักจัดการองค์ความรู้ของตัวเอง สามารถวางแผนวิธีการต่างๆ คิดวิเคราะห์และเป็นนักทดลอง สามารถแก้ปัญหา ทำซ้ำ เมื่อทำได้ไม่ดีก็มีการปรับปรุงแก้ไข ที่สำคัญคือได้เห็นเด็กมีความภาคภูมิใจในชิ้นงานที่ได้ลงมือทำเอง ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้มีสิทธิ์เลือกว่าอยากทำงานเดี่ยวหรืออยากทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อน เด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ มีวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถบอกขั้นตอนการทำชิ้นงานได้
2.ด้านครู “ถ้าครูเปลี่ยนแปลง เด็กก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง” ครูต้องได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และสามารถจัดการเรียนรู้ได้ตามบริบทของโรงเรียน ทำให้ได้เห็นภาพครูพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและยอมรับกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งหลังจากได้นำกระบวนการ STEAM Design Process ไปใช้ ได้รับเสียงสะท้อนจากครูว่า “ครูเหนื่อยน้อยลง” เด็กจะเป็นคนสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ครูเป็นเพียงผู้ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เท่านั้น สำหรับกลุ่มเด็กที่ยังไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร ครูมีวิธีการกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตาม
ความถนัดของตนเอง ที่สำคัญครูต้องเป็นนวัตกรด้วยสามารถพัฒนาตนเองไปพร้อมนักเรียน ครูต้องมีคุณธรรมในการให้โอกาสเด็ก ต้องไม่ยัดเยียดความรู้ให้เด็ก รู้จักฟังและให้เด็กได้ฝึกเป็นผู้นำ
ด้านที่ 3 ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงคือ ด้านผู้อำนวยการ นั่นเอง จากที่ท่านเล่ามานั้น ผู้เขียนสังเกตได้ว่า ท่านเป็นนักพัฒนาอย่างแท้จริง โดยได้ส่งเสริมให้ครูใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประเมินผู้เรียนตามสภาพจริงโดยใช้ Starfish Class เท่านั้นยังไม่พอ ท่านยังได้จัดตั้งห้อง Maker จำนวน 6 ห้อง เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัดหรือความสนใจของตัวเอง ท่านยังพร้อมสนับสนุนสื่อและอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเด็กๆ อีกด้วย
และด้านที่ 4 ที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงคือ ผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งโรงเรียนได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองในด้านการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ลูกหลานมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เด็กมีความสุขกับการมาโรงเรียน และผู้ปกครองพร้อมให้ความร่วมมือกับโรงเรียนทุกครั้งเมื่อมีโอกาส
ผู้เขียนได้สอบถามท่านผู้อำนวยการเพิ่มเติมว่า แล้วเมื่อเจอปัญหาในการนำเอา Makerspace ไปใช้ ทางโรงเรียนมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า ปัญหาแรกเลยคือ ครูมีความกังวลใจกับการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยที่ผู้อำนวยการเป็นนักพัฒนา จึงให้กำลังใจครูและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กๆ ร่วมกันไปพร้อมกับครู มีการใช้กระบวนการ PLC ด้วยกันอยู่เสมอ ท่านได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับครู และร่วมกันปรับปรุงแก้ไขแผนการสอนโดยใช้ STEAM Design Process หลังจากครูได้ไปปรับแผนแล้วก็ให้นำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ และกลับมา PLC ร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการนิเทศภายในของโรงเรียนไปด้วย
ท่านยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาเด็กๆ ได้เรียนรู้แบบเดิม คือเรียนรู้แต่ทฤษฎีไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เห็นการเรียนเป็นเรื่องยากลำบาก สังเกตได้เลยว่า หลังจากครูใช้นวัตกรรมนี้ นักเรียนจึงใช้เวลาค่อนข้างมากในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเด็กนักเรียนได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติบ่อยๆ ได้สร้างชิ้นงานที่เขาได้ทำเอง ถึงแม้อาจไม่ประสบผลสำเร็จในครั้งแรก แต่คุณครูก็ได้เสริมแรงและให้กำลังใจพร้อมกระตุ้นให้เด็กได้ลงมือแก้ไขจนกว่าจะได้ชิ้นงานที่เด็กพอใจ ทำให้นักเรียนมีความพยายามทำงานให้สำเร็จและสร้างสรรค์มากขึ้น โรงเรียนเปิดโอกาสสร้างเวทีให้เด็กได้แสดงผลงานตามมุมห้องเรียน ห้องพิเศษ และได้แสดงผลงานในนิทรรศการต่างๆ ทำให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถของตนเอง ส่งเสริมให้เด็กมีการต่อยอดชิ้นงานตามจินตนาการได้อย่างสร้างสรรค์
ผู้เขียนได้สอบถามท่านผู้อำนวยการเพิ่มเติมว่า นอกจากที่เราใช้ Makerspace ในโรงเรียนแล้ว มีการขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งท่านได้บอกกับเราว่า ถ้าภายในโรงเรียนของเรานั้น มีการกระตุ้นโดยการให้ส่งชิ้นงานของแต่ละชั้นเรียนเข้ามาใน LINE กลุ่ม เพื่อที่คุณครูจะได้ชื่นชมผลงานของเด็กพร้อมกัน มีการ PLC ด้วยกันทุกสัปดาห์และมีการนิเทศภายในอยู่เสมอ และมีการขยายผลสู่ภายนอกโรงเรียน โดยได้เชิญคุณครูต่างโรงเรียนเข้ามานิเทศและสังเกตการสอนของครูโรงเรียนวัดบางพลัด รับการเยี่ยมชมจากครูต่างโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตบางพลัด และจากต่างสำนักงานเขตมาศึกษาแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับใช้ตามบริบทของโรงเรียนตนเองด้วย
สำหรับสิ่งที่ประทับใจในความช่วยเหลือที่ได้รับจาก Starfish คือ การเป็นเครือข่ายการพัฒนาเยาวชนด้วยกัน การให้การสนับสนุนอย่างกัลยาณมิตร การให้องค์ความรู้และกำลังใจในการทำงาน การอนุญาตให้ใช้ข้อมูลผ่านเทคโนโลยีต่างๆ การแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง การเป็นโค้ช และพี่เลี้ยงดูแล เช่นการที่โค้ชได้สาธิตให้ดูทำให้คุณครูที่เข้าร่วม Workshop ได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม หรือการมาเยี่ยมชม นิเทศติดตามช่วยกระตุ้นการทำงาน การช่วยแก้ปัญหาต่างๆช่วยให้ครูจัดกิจกรรมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การอบรมให้ความรู้ในเรื่อง“การพัฒนาหลักสูตรสมรรถนะ สู่การพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” ช่วยให้ครูมีความเข้าใจในการบูรณาการกิจกรรม Makerspace กับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
นอกจากนั้นก็ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนผ่านออนไลน์กับทีมโค้ช ในการพูดคุย PLC กันอยู่เสมอ มีคำถามหรือปัญหาอะไรก็สามารถประสานได้ตลอดเวลา มีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ Starfish Labz ที่เป็นแหล่งฝึกทักษะการเป็นโค้ชให้กับครู และได้ส่งเสริมให้ครูไปศึกษาเรื่องที่อยากเรียนหรืออยากรู้มากที่สุดใน Starfish Labz แล้วนำมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันในวง PLC กับเพื่อนครูในโรงเรียน
หลังจากที่ได้พูดคุยกับท่านผู้อำนวยการแล้ว ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นและพยายามที่จะส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถพัฒนาทักษะของเด็กได้จริง ได้เห็นถึงแววตาแห่งความสุขในการพัฒนาผู้เรียนตามบริบทของโรงเรียน ครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้การเรียนรู้นั้นประสบผลสำเร็จและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนวัดบางพลัดที่ได้วางไว้
Related Courses
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การพัฒนาทักษะในอนาคตด้วย Makerspace
ในคอร์สนี้ จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมผู้เรียน เพื่อพัฒนาให้เกิดทักษะที่จำเป็นในอนาคต ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ Ma ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
เรียนรู้ศิลปะดิจิทัล Google Art & Culture Metaverse
Google Arts & Culture แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลงานศิลปะและวัฒนธรรมจากพิพิธภัณฑ์และสถา ...
เรียนรู้ศิลปะดิจิทัล Google Art & Culture Metaverse
ต้องใช้ 100 เหรียญ