พลิกโฉมการเรียนรู้ธรรมดาสู่ Outdoor Education สีสันสำคัญของห้องเรียน Active Learning
สำหรับห้องเรียน Active Learning แล้ว กิจกรรมถือเป็นหนึ่งในหัวใจที่สำคัญที่สุดและหนึ่งในประเภทของกิจกรรมดังกล่าวก็คือกิจกรรมในลักษณะนอกชั้นเรียน หรือที่เราเรียกกันว่า Outdoor Education
คุณประโยชน์ของการเรียนรู้นอกชั้นเรียน หรือ Outdoor Education นั้นมีมากมาย และในบทความนี้ Starfish Labz จะขอพาคุณครูทุกคนมาเรียนรู้ถึงตัวสร้างสีสันของห้องเรียน Active Learning นี้กันค่ะ
Outdoor Education คืออะไร? เหตุใดถึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้แบบ Active Learning ตาม Starfish Labz มาเรียนรู้กันเลยค่ะ
Outdoor Education คืออะไร?
อย่างที่ชื่อของเขาได้บอกไว้อย่างแจ่มแจ้ง Outdoor Education หรือตัวช่วยสำคัญของการเรียนรู้ในห้องเรียน Active Learning นี้ก็คือ การเรียนรู้นอกชั้นเรียน หรือการเรียนรู้ที่ขยายออกไปยังพื้นที่จริงๆ ในโลกภายนอก การเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ที่ตัวหนังสือ การอธิบายของคุณครู หรือการจินตนาการตามของเด็กๆ เฉยๆ แต่เป็นการพาเด็กไปเรียนรู้และชมดูสิ่งต่างๆ ดังกล่าวด้วยตาและตัวของเขาเองจริงๆ
ในระบบการศึกษาของประเทศไทย เรามักคุ้นเคยกับกิจกรรมที่เรียกว่า การทัศนศึกษา (Field Trip) ซึ่งแม้จะถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมของรูปแบบการเรียนรู้นอกชั้นเรียนเหมือนกัน มีความเป็น Active Learning เหมือนกัน แต่สำหรับการเรียนรู้เชิง Active Learning จริงๆ แล้วหรือที่เรียกว่าเป็นหลักสูตรในรูปแบบใหม่ กิจกรรม Outdoor Education จะมีความเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนการสอนในรูปแบบต่อเนื่องมากกว่า กล่าวคือ ไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมประจำปีหรือประจำภาคการศึกษาที่เด็กๆ ได้มีโอกาสออกไปเรียนรู้และเที่ยวเล่นสนุก จัดแค่ 1-2 ครั้ง แต่เป็นกิจกรรมที่สามารถอดแทรกหรือเกิดขึ้นในทุกๆ ชั่วโมงการเรียน ออกแบบให้เกิดขึ้นในชั่วโมงเรียนตามวัตถุประสงค์ของการสอนหรือตามเป้าหมายความรู้ที่คุณครูอยากพัฒนาให้เด็กๆ
กล่าวอย่างง่ายที่สุด Outdoor Education ก็คือการเรียนการสอนในอีกรูปแบบใหม่ที่ชวนคุณครูและเด็กๆ ออกมาจากโลกของตัวหนังสือ ไอเดีย หรือการสอนบรรยายอย่างเดียวในรูปแบบเดิม และชวนกันออกมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้เพิ่มเติมผ่านการเกิดขึ้นของประสบการณ์จริงๆ ภายนอกด้วยนั่นเองค่ะ
Outdoor Education มีคุณค่าแค่ไหน? ทำไมถึงเป็นหัวใจสำคัญของ Active Learning ไปได้
หลักสูตรการเรียนรู้ Active Learning เน้นให้เด็กๆ ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติและเกิดประสบการณ์การเรียนรู้และเข้าใจสิ่งหนึ่งๆ จริงๆ โดยมีคุณครูคอยเป็นผู้ให้คำแนะนำ และหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถช่วยให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพก็คือการเรียนรู้นอกชั้นเรียน หรือ Outdoor Education นั่นเองค่ะ
โดยปกติ ในหลักสูตรการเรียนรู้แบบ Active Learning เราก็มักจะมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ หรือใหญ่ๆ กันอยู่แล้วภายในห้อง แต่สิ่งที่สามารถสร้างสีสันและกระตุ้นการเรียนได้ยิ่งกว่าเดิมก็คือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ออกไปผจญภัยเล็กๆ ภายนอกด้วย ซึ่งการผจญภัยเหล่านี้ อันที่จริงก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นในรูปแบบของ Field Trip ใหญ่ๆ อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงกิจกรรมการเดินทางเล็กๆ ภายในโรงเรียนหรือนอกรั้วโรงเรียนอีกด้วย
ตัวอย่าง Outdoor Education ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรั้วโรงเรียน เช่น การเรียนรู้ตามหลักสูตร Active Learning ของโรงเรียนบ้านปลาดาว จังหวัดเชียงใหม่ที่ในชั่วโมงเรียน จะมีการพาเด็กๆ ออกไปเปิดประสบการณ์ เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างด้วยตัวเองจริงๆ อย่างต่อเนื่องตลอดภาคการศึกษานั่นเองค่ะ
ตัวอย่างกิจกรรม Outdoor Education ของโรงเรียนบ้านปลาดาว จังหวัดเชียงใหม่ - เด็กๆ ชั้นอนุบาล 1 ได้ออกไปศึกษาและสัมผัสการเรียนรู้เกี่ยวกับโคนมและการรีดนมวัวจากประสบการณ์จริงผ่านที่คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้
3 เคล็ดลับสำคัญ ช่วยคุณครูเริ่มสร้างห้องเรียน Outdoor Education
การสร้าง Outdoor Education ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่สำหรับคุณครู Active Learning มือใหม่นั้น แน่นอนว่าอาจต้องมีการทำความเข้าใจหลักการสำคัญๆ กันอยู่บ้าง ถ้าเราอยากเริ่มออกแบบการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมภายนอกด้วย ต้องเริ่มยังไงดีนะ Starfish Labz มีเคล็ดลับมาฝากค่ะ
1.เริ่มจากการดูที่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของวิชา
กิจกรรมควรเป็นแบบไหน บ่อยเท่าไหร่ ถี่แค่ไหน และเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง คำตอบเหล่านี้อยู่ในหัวใจของวิชาหรือสิ่งที่คุณครูอยากสอนเด็กๆ นั่นเองค่ะ
กิจกรรม Outdoor Education ที่มีคุณค่าและเกิดประสิทธิภาพควรเกิดจากการออกแบบและการคิดมาอย่างดีแล้วของคุณครู กิจกรรมแต่ละกิจกรรมควรเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการสอนของคุณครู เมื่อคุณครูทบทวนเป้าหมายของการสอนแล้ว มองเห็นภาพรวมของแต่ละชั่วโมงการเรียน ไอเดียเรื่องกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเวลาและสถานที่ก็จะค่อยๆ ไหลมาเอง เชื่อ Starfish Labz ค่ะ!
2.กิจกรรมที่ใช่ ถ้าไอเดียไม่เกิด ก็ต้องหาแรงบันดาลใจกันสักหน่อย
เมื่อดูภาพรวมโอกาสในการสอดแทรกกิจกรรมแล้วแต่ไอเดียก็ยังไม่มา ไม่รู้ว่าจะเลือกกิจกรรมแบบไหนดี ไม่เคยมีกิจกรรมแบบภายนอกมาก่อน ไม่ต้องกังวลไปค่ะเพราะไอเดีย แรงบันดาลใจอยู่แค่เอื้อม
ปัจจุบัน การเรียนรู้แบบ Outdoor Education ได้ขยายไปแล้วหลายประเทศ ทั่วโลกมากมาย ถ้าเราคิดว่าไอเดียกิจกรรมเรายังไม่ดี หรือคิดไม่ออกเลย ขอแนะนำว่าให้ลองค้นหาไอเดียเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์ จากเพื่อนร่วมงาน หรือจากคนอื่นๆ ที่อาจจะเคยมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว
อย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างกิจกรรมที่ใช่ น่าสนุก และดึงดูดความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กๆ บางที ยิ่งเราสามารถมองหากิจกรรมที่นอกกรอบได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้เกิดประสบการณ์การเรียนใหม่ๆ ที่น่าสนุกทั้งสำหรับคุณครูและเด็กๆ มากเท่านั้น
3.เปิดโอกาสให้เด็กๆ เสนอกิจกรรมที่อยากทำ
อาจใช้ไม่ได้กับทุกกิจกรรมและทุกชั่วโมงการเรียน แต่อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ Starfish Labz อยากนำเสนอและเชื่อว่าคุณครูสามารถหยิบจับมาใช้ได้อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อภาคการศึกษาก็คือการลองเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการคิดว่าถ้าเขาอยากศึกษาเกี่ยวกับสิ่งนี้ๆ โดยตรง เขาอยากไปที่ไหน หรืออยากทำอะไร เพื่อช่วยให้เขาเรียนรู้สิ่งดังกล่าว
การเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการคิดกิจกรรม ช่วยกระตุ้นความสนใจและในขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning อย่างดีเลยทีเดียว เด็กๆ ได้เป็นผู้นำการเรียนรู้ของตัวเอง (Self-Directed) โดยมีคุณครูคอยอยู่ข้างๆ คอยแลกเปลี่ยนและให้คำแนะนำ
ฟังดูน่าสนุกมากเลยใช่ไหมละคะ และนี่ก็คือ Outdoor Education การเรียนรู้แบบ Active Learning ในรูปแบบใหม่ที่วันนี้ Starfish Labz นำมาฝากคุณครูทุกคนกันค่ะ แม้ ว่าการสอนแบบ Active Learning จะมีความยากในเรื่องของการเสาะหากิจกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้กับเด็กๆ อยู่บ้าง แต่ด้วยการเรียนรู้ของคุณครูเองๆ และความตั้งใจที่จะเปลี่ยนห้องเรียนในรูปแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นห้องเรียนที่สดใส มีชีวิตชีวาขึ้นมา Starfish Labz เชื่อว่าคุณครูสามารถทำได้ และสามารถเป็นหนึ่งในพลังที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยแน่นอน
อ้างอิง:
● โรงเรียนบ้านปลาดาว จังหวัดเชียงใหม่ Starfish Country Home School
บทความใกล้เคียง
การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social Emotional Learning)
Starfish Education กับภารกิจที่ไม่ใช่แค่ให้เด็กเข้าถึงการศึกษา แต่ต้องเป็น Meaningful Education
ครูบนดอยกับการสอนแบบ Active Learning
Related Courses
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
การพัฒนาทักษะในอนาคตด้วย Makerspace
ในคอร์สนี้ จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมผู้เรียน เพื่อพัฒนาให้เกิดทักษะที่จำเป็นในอนาคต ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ Ma ...
การพัฒนาทักษะการอ่าน
หนังสือเปรียบเสมือนคลัง ที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ต่างๆ มากมาย การพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจึงมีความสำคัญเป็น ...