Starfish Education กับภารกิจที่ไม่ใช่แค่ให้เด็กเข้าถึงการศึกษา แต่ต้องเป็น Meaningful Education
- Meaningful Education หรือการศึกษาที่มีความหมายสำหรับ คุณแพร - ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิ Starfish Education คือการศึกษาที่ต้องมีประโยชน์ นำไปใช้แก้ปัญหาได้ เชื่อมโยงกับโลกความจริง สร้าง impact ได้ กำกับตัวเองได้ ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เด็กต้องได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
- ปัจจุบัน แม้เด็กไทยจะเข้าถึงการศึกษา แต่การศึกษาส่วนใหญ่ในระบบก็ยังคงเป็นการศึกษาปลายปิดที่เด็กไม่มีสิทธิ์ได้เลือกโจทย์ด้วยตัวเอง ค้นคว้าหาคำตอบเอง หรือแม้แต่ได้เรียนสิ่งที่เหมาะกับบริบทสภาพสังคมรอบ ๆ ตัวพวกเขา
- ภารกิจของ Starfish Education ในปีนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงการให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมีโจทย์เพิ่มขึ้นมาว่า การศึกษาที่มีคุณภาพนั้น ต้องเป็นการศึกษาที่พวกเขาได้เลือกด้วยตัวเอง “เด็กควรเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง” คือคำที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงการศึกษา
ทว่าการศึกษาส่วนใหญ่ในห้องเรียน โดยเฉพาะการศึกษาในระบบนั้น เด็กก็ยังคงไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของการศึกษาของตัวเอง เด็กทุกคนต่างต้องเรียนวิชาเดียวกันจากตำราเล่มเดียวกัน และการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ก็มีไว้เพื่อตอบคำถามตามโจทย์ที่ครูให้เพียงเท่านั้นในครอบครัวที่มีทางเลือก เราอาจจะเห็นว่าผู้ปกครองเริ่มแสวงหาการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับลูกโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบ เช่น การศึกษาแบบโฮมสคูล แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่สามารถจะเลือกการเรียนรู้ของตัวเองได้ด้วยข้อจำกัดมากมายในชีวิต
การสร้าง ‘การศึกษาที่มีความหมาย (meaningful education)’ จึงเป็นเป้าหมายของ Starfish Education องค์กรเอกชนที่เริ่มมาจากเงินทุนส่วนตัวของ ดร.ริชาร์ด พี ฮ็อกแลนด์ นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ตั้งใจทำภารกิจช่วยให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
แรกเริ่มจากโรงเรียนอนุบาลเล็ก ๆ ที่มีเด็กเพียง 12 คนในแม่แตง วันนี้ Starfish ภายใต้การนำโดย คุณแพร - ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิฯ ได้สร้างนวัตกรรมทางการเรียนรู้และโครงการดี ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย และขยายไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ มาแล้วกว่า 400 โรงเรียน
ภารกิจของ Starfish ยังคงเป็นการช่วยให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่โจทย์ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ‘การศึกษาที่มีคุณภาพต้องเป็นแบบไหน’ และแล้วก็พวกเขาก็ได้คำตอบว่า การศึกษาที่มีคุณภาพของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และ meaningful education ก็คือการศึกษาที่เด็กมีโอกาสได้เลือกเอง เรียนรู้ตามโจทย์จากชีวิตของตัวเอง ลงมือทำเอง และเป็นเจ้าของการศึกษาด้วยตัวเอง
เรื่องราวการเดินทาง 18 ปีของ Starfish จากวันที่มีเพียงโรงเรียนอนุบาลเล็ก ๆ ในแม่แตง สู่การเป็นองค์กรผู้ผลิตนวัตกรรมทางการศึกษามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Makerspace, Starfish Labz, Starfish Academy และ Starfish Class จะเป็นอย่างไร อ่านได้ในบทสนทนาของ Mappa กับ คุณแพร - ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ต่อจากนี้
“ในคืนที่ดาวมันสวย หนูก็ได้นอนมองดูดาว”
ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน ดร.ริชาร์ด พี ฮ็อกแลนด์ นักธุรกิจและนักเคมีชาวอเมริกันได้ก่อตั้งมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมขึ้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจุดประสงค์ของมูลนิธิก็คือการมอบการศึกษาที่เท่าเทียมให้กับเด็กชนเผ่า ทว่าในตอนนั้นมูลนิธิยังเป็นเพียงโรงเรียนอนุบาลเล็ก ๆ ที่มีเพียงผู้จัดการมูลนิธิ ครูสามคน และเด็กอีกเพียงไม่กี่คนเท่านั้นในปี 2007 หญิงสาวคนหนึ่งเพิ่งเรียนปริญญาโทจบในสาขาการศึกษาปฐมวัยจากอังกฤษ ก่อนที่จะกลับมาสร้างครอบครัวที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดเพราะเชื่อว่าเชียงใหม่คือเมืองที่เป็นมิตรกับครอบครัว เพราะมีความสนใจด้านธุรกิจการศึกษาปฐมวัย เธอจึงตั้งใจว่าจะเปิดโรงเรียนอนุบาล แต่ด้วยอายุที่ยังน้อย เธอจึงตัดสินใจที่จะหาประสบการณ์ก่อนที่จะเปิดโรงเรียนของตัวเองเพราะการตัดสินใจที่จะหาประสบการณ์ก่อนนี่เองที่ทำให้ คุณแพร - ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสตาร์ฟิช เดินทางขึ้นแม่แตงเพื่อไปทำความรู้จักกับ ดร.ริชาร์ด และมูลนิธิแห่งนี้เป็นครั้งแรกจากวันนั้นจนวันนี้ เป็นเวลา 16 ปีแล้วที่ คุณแพร และสตาร์ฟิช ยังคงมุ่งมั่นที่จะมอบการศึกษาที่มีความหมายให้กับเด็ก ๆ ทุกคน
ทำไมคุณแพรถึงสนใจการศึกษาปฐมวัย
ชอบเด็กค่ะ รู้สึกว่าอยู่กับเขาแล้วมันมีพลังบวก อยู่ด้วยแล้วสดชื่น แล้วมุมมองตอนนั้นคือธุรกิจการศึกษามันเป็นธุรกิจที่ดี และได้พัฒนาคน แต่ตอนนั้นธุรกิจนี้มันไม่เป็นที่นิยมเท่าทุกวันนี้ แพรเพิ่งมารู้ตอนหลังว่าเขาบอกว่าคนที่เรียนการศึกษาปฐมวัยคือคนที่ไม่รู้จะเรียนอะไรหรือเรียนอย่างอื่นไม่ได้แล้ว แต่เรารู้สึกว่า จริงเหรอ เพราะตอนเราคลอดลูกใหม่ ๆ เราก็ปรึกษาคุณหมอตลอดจนถึง 2-3 ขวบ พอเข้าโรงเรียนแล้ว จะเป็นใครก็ได้เหรอที่จะมาดูแลลูกเรา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราฟูมฟักมาอย่างดี คนที่รับต่อก็ต้องเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ใครก็ได้ แพรเลยรู้สึกว่าการศึกษาปฐมวัยมันเป็นสิ่งสำคัญ มันสร้างบุคลิก สร้างทุกอย่าง
คุณแพรรู้จักมูลนิธิ Starfish ได้อย่างไร
ช่วงที่คลอดลูกใหม่ ๆ มีแผนจะเปิดโรงเรียนอนุบาลเอง แต่ก็รู้สึกว่าจริง ๆ เราก็ไปลองทำของคนอื่นดูก่อนก็ได้ ลองหาประสบการณ์เพราะตอนนั้นก็อายุยังน้อย ก็เลยไปเจอมูลนิธินี้ รู้สึกว่าน่าสนใจดี ตัวแพรเองในตอนนั้นก็ไม่ได้มีพื้นฐานทำงานมูลนิธิเลย ก่อนหน้านั้นเรียนการศึกษาปฐมวัยมา ก่อนหน้านั้นอีกก็เรียนธุรกิจ เราสนใจธุรกิจการศึกษาเพราะที่บ้านก็เป็นนักธุรกิจ ก็จับพลัดจับผลูไปเจอ ดร.ริชาร์ด ไปนั่งคุยกับเขานานมากและรู้สึกว่าเขามีไอเดียที่น่าสนใจ และเราก็อยากจะรู้ว่าเขาจะทำอะไร เพราะเด็กที่เขารับเป็นเด็กชนเผ่าหมดเลยและเรียนฟรี เราคุยกับเขาครั้งแรกเราประทับใจที่เขาพูดถึงเด็กลีซู ม้ง อาข่า เขารู้ว่าเด็กแต่ละครอบครัวต่างกันยังไง บ้านต่างกันยังไง วัฒนธรรมต่างกันยังไง ขนาดเราเป็นคนไทย คนเชียงใหม่ เรายังไม่รู้เลย เราเหมือนเรียนจากเขา ตอนนั้นเขาทำโรงเรียน และมีสถานสงเคราะห์เด็กที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ แพรไปทำงานกับเขาโดยไปเป็นผู้จัดการมูลนิธิ เราอยากเรียนรู้เรื่องเด็ก แต่เราไปในโหมดนักการศึกษามากกว่า ส่วนเรื่องงานสังคมสงเคราะห์เราก็ไปเรียนมาใหม่
อะไรทำให้คุณแพรประทับใจในตัว ดร.ริชาร์ด
แพรรู้สึกว่าเขาเป็นคนจริงจัง มีความตั้งใจที่ดี แล้วเขาก็เป็นคนสมถะมาก ไม่ใช้เงินกับตัวเองแต่ใช้เงินกับโปรแกรม มันหายากนะคนแบบนี้ที่จะจริงใจในการให้แล้วไม่คิดถึงตัวเองเลย แล้วเขาไม่เคยวางตัวเองว่าเขาเป็นบอส แพรคุยกับเขาได้ทุกเรื่อง แล้วแพรก็รู้สึกอยากช่วยเขา ตอนแกเริ่ม แกเริ่มเป็นมอนเตสซอรี แล้วก็จ้างครูอเมริกันมาเมืองไทย แล้วครูก็ให้ซื้อของมอนเตสซอรีแบบใหญ่โต แต่กลับทิ้งอยู่ในห้อง ไม่มีใครใช้ แถมครูก็กลับประเทศไปแล้ว เพราะเขาก็อยู่ไม่ได้ ก็กลายเป็นว่ามีฝรั่งที่ตั้งใจดี พร้อมอุปกรณ์เยอะมากในห้อง มีครูสามคน เด็ก 12 คน เราเห็นเราก็รู้สึกว่ามันมีศักยภาพเยอะมาก
จากที่ตั้งใจจะทำธุรกิจการศึกษา คุณแพรก็ผันมาทำงานมูลนิธิ ถือว่าเปลี่ยนเส้นทางไปเยอะเหมือนกัน
เปลี่ยน แล้วก็เปลี่ยนตัวเองด้วยเพราะเราไม่เคยอยู่ในโลกนี้มาก่อน อย่างเมื่อก่อน พอวันเด็ก เราเห็นว่าการขึ้นไปบนดอย ไปบริจาคของเป็นการให้ แต่มันเป็นการให้แบบสงเคราะห์ ให้เพราะสงสาร หรือให้เพราะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น พอมาอยู่ในมูลนิธิ เราได้ไปสัมผัสการให้ที่มันลึกกว่านั้น เราเข้าไปดูว่าเขาลำบากยังไง ครอบครัวมีความซับซ้อนแบบไหน เด็กอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน ที่เด็กคนนึงทำได้ คนนึงทำไม่ได้ เพราะภาระที่เขาต้องแบก กว่าจะมาถึงในห้องเรียนมันหนักเกินรับไหวพอไปอยู่มูลนิธิ ดร.ริชาร์ดเองก็ไปเยี่ยมบ้านเด็กตลอด เรามีนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งแพรเองที่ไม่ได้จบสังคมสงเคราะห์มา ก็เรียนรู้กระบวนการสังคมสงเคราะห์ตอนนั้น ขณะเดียวกันมันก็เปิดโลกเรา คืออย่างการศึกษาในประเทศเรา ถ้าเราอยู่ในสถานะที่เราเลือกได้ เราจะไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เลย เราไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์แบบนี้ มันเหมือนโลกคู่ขนานที่เราไม่เคยเห็น พอเราไปเห็นคนที่เรารู้สึกว่าเขาแทบไม่ต้องคิดเลยว่าจะเขาจะเลือกได้หรือไม่ได้ เพราะมันไม่มีโหมดที่เลือกได้ ชีวิตเป็นแบบนี้ก็ต้องอยู่แบบนี้ มันก็ทำให้นิสัยของเราในการมองอะไร หรือพฤติกรรมของเราก็เปลี่ยนเหมือนกัน
คุณแพรบอกว่าการทำงานมูลนิธิทำให้ได้เจอโลกที่หลากหลายกว่าประสบการณ์ที่เคยมี เล่าได้ไหมว่าได้เจอใครหรือเด็กคนไหนที่ทำให้คุณแพรทำงานนี้ต่อมาได้อีกเกือบ 20 ปี
ตอนนั้นเราทำมูลนิธิแล้วเราก็มีสถานสงเคราะห์ด้วย เป็นเด็กที่เขาไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ อาจจะเพราะไม่มีใครดูแล หรือมีเรื่องยาเสพติด ทำร้ายร่างกาย ครอบครัวเขามันจะมีความซับซ้อนมาก บางทีคุณแม่ก็อาจจะมีแฟนหลายคน คุณพ่อมีแฟนหลายคน มันดูยุ่งไปหมด แต่ไม่มีใครอยู่กับเขาเลย หรือเรื่องยาเสพติดที่พ่อแม่โดนจับอยู่ในคุกก็มีตอนนั้นเราให้ทุนการศึกษา แล้วให้เด็กเขียนจดหมายมา มีเด็กเขียนมาเยอะแต่ที่แพรอ่านแล้วรู้สึกสะกิดใจ เขาเขียนบรรยายว่าบ้านเขาเป็นยังไง แล้วเขาก็บอกว่า ที่บ้านเขาตอนนี้หลังคามันไม่มี มันพัง “แต่ก็ยังดีนะคะ ในคืนที่ดาวมันสวยหนูก็ได้นอนมองดูดาว” มันทำให้เรารู้สึกว่าในความยากลำบากของเขา เขายังหาสิ่งดีได้ ซึ่งแพรคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเราไม่สามารถจะไปสัญญากับเด็กทุกคนได้ว่าเราจะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นแต่เราพยายามบอกเด็กได้ว่า ในชีวิตของเขาในแต่ละวัน เขาต้องพยายามหาสิ่งที่เขารู้สึก grateful ในทุกวัน อาจจะเป็น วันนี้ต้นไม้สวยจัง มันต้องหาอะไรแบบนี้ให้กับตัวเอง ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าทั้งชีวิตของเขา เขาจะจมอยู่กับคำว่าเขาไม่มี เขาไม่พร้อม เขาไม่ได้
เวลาแพรพูดแพรก็ตระหนักตัวเองนะว่าเราไม่มีประสบการณ์เหมือนเขา แต่ว่าเราพยายามให้เขามองแบบอื่น ซึ่งถ้าเด็กที่เราสัมผัสตั้งแต่เล็ก ๆ เขาจะสามารถมองเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ อย่างเด็กที่อยู่กับเราไปสักพัก พอเขากลับบ้านไป เขาเห็นผู้ปกครองใช้ยาเสพติด เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เขาก็มาถามเราว่าหนูควรจะทำยังไงคะ เรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราให้เขา เขาแยกแยะได้แล้วว่ามันคืออะไร เมื่อเขาอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เขารู้ว่าสิ่งที่เขาเห็นมันไม่ดี แต่ขณะเดียวกันนั่นก็พ่อแม่ แล้วเขาควรจะทำยังไง เขาก็สามารถตัดสินใจได้ด้วยทักษะที่เราให้เขา
ช่วงแรก ๆ เรารับไม่ได้ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะไปนั่งร้องไห้ให้เขาเห็น เรารู้ว่าเขาไม่ได้ต้องการความสงสาร นี่เป็นสิ่งที่เราต้องจัดการตัวเองให้ได้ แพรก็พูดกับเด็กและผู้ปกครองตลอดว่า Starfish เราไม่ได้ทำเพราะสงสาร แต่เราอยากทำให้พัฒนา เพราะฉะนั้น มันก็เป็นการขับเคลื่อนเล็ก ๆ ที่เราพยายามทำมาว่าการสงเคราะห์มันไม่ยั่งยืนหรอก สิ่งที่เราจะให้ได้ดีที่สุดคือเราต้องให้เวลา ให้ความสามารถของเรา ให้สมองของเรา ที่จะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้
หลายโครงการ หลากการเรียนรู้ สู่การสร้างระบบนิเวศการศึกษา
“จริง ๆ เราทำ Problem-Based Learning มาตั้งแต่ตอนที่แพรเริ่มมาทำงานที่สตาร์ฟิช แพรเอา Problem-Based Learning เข้ามาเพราะเราเชื่อว่า Constructivism มันเหมาะกับเด็กเรา บริบทของเด็กในโรงเรียนของเราต่างจากเด็กที่อื่น เพราะฉะนั้นเราก็มีนวัตกรรมของเราอยู่แล้ว”
จากวันที่ยังเป็นเพียงโรงเรียนอนุบาลที่มีครูสามคนและเด็กอีก 12 คน ในวันนี้โรงเรียนบ้านปลาดาวให้การศึกษาทั้งในระดับอนุบาลและประถม และไม่ได้มีเพียงเด็ก ๆ ชาติพันธุ์มาเรียนเท่านั้น แต่ยังมีเด็กจากชุมชนท้องถิ่นที่อยู่บริเวณแม่แตงมาร่วมเรียนด้วย
คุณแพรจึงเชื่อว่า Problem-Based Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันมาเป็นฐานในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์การเรียนรู้นั้นในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ และ Constructivism ซึ่งคือกระบวนการการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับสังคมนั้นคือการกระบวนการเรียนรู้ที่ “มีความหมาย” ต่อเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านปลาดาว และกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ก็ได้กลายเป็นฐานให้สตาร์ฟิชมีนวัตกรรมการเรียนรู้ออกมาอีกมากมายเพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น Makerspace, Starfish Academy, Starfish Labz หรือ Starfish Class ที่มีเครือข่ายกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยมีภารกิจคือการสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ทักษะที่จะเป็นในศตวรรษที่ 21 และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สตาร์ฟิชมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เราปิดสถานสงเคราะห์ไปแล้ว นี่ก็เป็นบทเรียนที่เราเรียนรู้ในการเลิกทำโครงการลักษณะสงเคราะห์ เพราะพอเราลองวิเคราะห์ดูแล้ว ตอนนี้ในต่างประเทศก็มีวิจัยออกมาว่าการที่เด็กเติบโตมาในสถานสงเคราะห์หรือที่ที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัว จะสร้างความเสียหายให้กับเด็กมากที่สุด ที่ที่ดีที่สุดของเด็กคือที่ที่ได้อยู่กับครอบครัวหรือที่เสมือนครอบครัว นั่นหมายถึงว่าถ้าครอบครัวดูแลไม่ได้ มีญาติที่ดูแลได้ไหมแล้วเราสนับสนุนเขา เราทำงานอยู่สามปี ในการเตรียมความพร้อม ทั้งเด็กและครอบครัว ให้เขาได้กลับไปอยู่ด้วยกัน โดยมูลนิธิทำงานสนับสนุนครอบครัวและชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อม แต่ถ้ามองในมุมของการทำงานเพื่อ impact เราก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จนะ เราทำงานพัฒนาเราไม่ควรจะทำงานเหมือนเดิมไปตลอด ถ้าเรายังทำงานไปตลอดเหมือนตอนที่เราเริ่มเมื่อ 10ปีที่แล้ว เราควรจะพิจารณาตัวเองว่าเราทำงานไม่มีพัฒนาการ เราทำงานไม่ประสบความสำเร็จ โจทย์มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ค่ะ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือวิสัยทัศน์ของเรา ถ้าเราต้องการทำให้ชีวิตของเด็กดีขึ้น มันมีหลายวิธีมาก มันมีหลายเครื่องมือมาก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโครงการนี้เท่านั้น
Starfish ก็มีการเดินทางของตัวเอง ในวันนี้ เรามีโรงเรียนที่เป็นแกนหลักของเราเพราะเราทำการศึกษา เราเคยถามตัวเองว่าเราต้องมีโรงเรียนบ้านปลาดาวไหม บ้านปลาดาวมีเด็ก 200 กว่าคน แน่นอนว่าหนึ่ง คือเรามีไปเพื่อบริการชุมชน สอง คือเราช่วยเด็กที่เขามาเรียนกับเรา แต่ขณะเดียวกันโรงเรียนบ้านปลาดาวก็เป็นเหมือนโรงเรียนสาธิตของเรา ถ้าเราจะขยายนวัตกรรมเราไปทั่วประเทศ แต่เราพูดแต่ปากว่าทำได้ โดยไม่มีประสบการณ์ มันก็ไม่ได้ โรงเรียนบ้านปลาดาวเลยเป็นต้นแบบของเรา คำว่า ต้นแบบก็คือต้นแบบทั้งความสำเร็จและไม่สำเร็จ เพราะเราไม่ควรแบ่งปันเรื่องที่เราสำเร็จอย่างเดียว เพราะบางทีคนอื่นไม่จำเป็นต้องมาเดินตามทางนี้ก็ได้ เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น การเรียนรู้จากความไม่สำเร็จก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่งเราก็สะดวกใจที่จะแชร์เพราะเราไม่ได้มีอะไรปิดบัง และเราไม่ต้องรู้สึกว่าถ้าเราแชร์ตรงนี้ไปแล้วคนจะมองเราไม่ดี เขาจะไม่ให้ทุนเรา เพราะทุกวันนี้เราแสวงหา impact และเราต้องเรียนรู้ตรงนี้
อยากให้คุณแพรช่วยเล่าเรื่อง Makerspace ให้ฟังได้ไหม
ประมาณปี 2014 แพรคุยกับดร.ริชาร์ดว่าอยากจะลองไปทำอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง เพราะตั้งแต่แพรเรียนจบมาแพรก็อยู่กับ Starfish มาตลอด แพรเลยอยากเรียนรู้เพิ่มเติม แพรเลยลาออกจากงานประจำที่ Starfish แล้วก็ไปทำงานที่ Apple ที่ไทยกับสิงคโปร์ ในสายการศึกษา พอไปทำมันก็เปิดโลกจริง ๆ เพราะมันได้ไปเห็นอะไรที่เราไม่เคยเห็น เช่น วิธีการทำงาน การเอาเทคโนโลยีของ Apple ไปใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอน มันเลยทำให้แพรเข้าไปรู้จักกับ Makerspace อย่างลึกซึ้ง ใน Makerspace มันก็มีเทคโนโลยีอยู่ในนั้น ก็ได้ไปให้คำปรึกษากับโรงเรียนที่เขาจัดตั้ง Makerspace แล้วแพรชอบไอเดียมันมาก เหมือนมันเป็นที่ที่เด็กเขามีทรัพยากร มีคนที่เขารู้ว่าจะสนับสนุนเขา มีเวลาที่เขาจะทำอะไรก็ได้ เรารู้สึกว่ามันสนุกมากเลย พอเด็กเขาได้เริ่มทำอะไรเองเขาก็เหมือนเป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้นและได้ทักษะเยอะมากในนั้น แพรเลยคิดว่าจะทำยังไงให้มันมี Makerspace ในโรงเรียนบ้านปลาดาว แพรก็คุยถึงไอเดียให้ ดร.ริชาร์ดฟังว่าแพรอยากจะทำอะไรที่เด็กเขาได้ทักษะ อยากเน้นเรื่องนวัตกรรมให้มากกว่านี้ ภาพในหัวแพร impact ของ Starfish ต้องขยายไปมากกว่านี้ แล้วแพรคิดว่า Makerspace มันเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะจริง ๆ เราทำ Problem-Based Learning (PBL) มาตั้งแต่แรก เราก็มีนวัตกรรมของเราอยู่แล้ว แต่เราไม่มี Makerspace มันเลยกลายเป็นคำเล็กกว่า PBL เมื่อก่อนที่เป็น PBL โรงเรียนต้องเปลี่ยนตารางสอน โรงเรียนทั่วไปเลยทำยากมากเพราะมันต้องบูรณาการหมดเลย แต่พอเป็น Makerspace ตารางสอนก็ยังเหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิม แค่เอาอันนี้เข้าไป แล้วพอเป็นคำเล็กโรงเรียนก็เริ่มกินได้ เขาก็จะลองทำและขยายไปได้พอเด็กได้เข้ามาในพื้นที่ Makerspace เราบอกเลยว่าเด็กเขาเลือกเรียนอะไรก็ได้ และถ้ามองในมุมของครู เขาก็หนักใจเหมือนกันเพราะเขาต้องทำตามตัวชี้วัด แต่ถ้าเขาสามารถเปิดโอกาสให้เด็กเขาได้เลือก ได้ทำอะไรตามความสนใจ เขาก็อยากทำนะ Makerspace มันเลยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดเด็กก็เข้า Makerspace สามครั้งต่อสัปดาห์ โรงเรียนจะปรับช่วงคาบว่าง ๆ ให้เด็กได้เลือกเรียน ครูหลายคนจากที่ไม่เคยรู้เลยว่าเด็กเขาเก่งในทักษะการคิด ทำอาหาร หรือทักษะช่าง ก็จะเริ่มเห็นตัวตนของเด็กในช่วงเวลาเล็ก ๆ นั้น
นอกจาก Makerspace แล้ว Starfish Academy, Starfish Labz และ Starfish Class คือนวัตกรรมแบบไหนและมีที่มาที่ไปแบบไหน
Starfish Academy เกิดจากตอนที่เราต้องปิดสถานสงเคราะห์ เรามีเจ้าหน้าที่เยอะมาก เราเลยรู้สึกว่าเราต้องมีอีกโครงการขึ้นมาแล้วถ้าใครสนใจเขาก็สามารถย้ายมาอยู่โครงการนี้ได้ Starfish Academy เลยเป็นโครงการที่เราทำเรื่องการพัฒนาครู โดยที่เราก็ใช้นวัตกรรมของเราเป็นหลัก มี Makerspace มี Problem-Based Learning มีโปรแกรมอ่านออกเขียนได้ที่เราเรียกว่า 3R Starfish Academy ก็เหมือนเป็นโค้ชที่ไปทำงานกับโรงเรียน ซึ่งแต่ก่อนก็เคยเป็นครูของเราหรือครูในโครงการสถานสงเคราะห์เด็ก ทุกคนก็เปลี่ยนแปลงตัวเองมาทำงานนี้ เป็นเหมือนคนที่ทำเรื่องของหลักสูตร เรื่องของนวัตกรรม
ส่วน Starfish Labz ตอนแรกตั้งใจจะทำให้เป็นแค่ online platform กับครูที่ทำงานด้วย เช่น เวลาเราไป workshop กับใครแล้วอยากมีศูนย์กลางให้เขาได้เข้าไปแลกเปลี่ยนหรือไปเรียนรู้ก่อน เรารู้สึกว่ามันจำเป็นที่เราจะต้องมี platform ที่เป็นมิตรมาก ๆ ครูสามารถเข้ามาเรียนได้ง่าย ๆ แล้วก็คิดว่าจริง ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นครูในโครงการก็ได้ ใครก็เรียนได้ เราก็เลยเปิดกว้างให้ทุกคน แล้วตอนนี้ก็เหมือนเป็นชุมชนและมีความเป็นสื่ออยู่ข้างในด้วย เพราะเราให้เครื่องมือ ให้ข่าว ให้สื่อ มันก็โตขึ้น
ตอนนี้เรามีผู้ใช้งานประมาณเกือบสามแสน 70% เป็นครู เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่ครูเข้ามาได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่ากดดันเพราะเราไม่ได้เป็นต้นสังกัดและไม่ได้บังคับให้เขามา แล้วก็มีผู้ปกครองส่วนนึง และกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้ตั้งใจให้มาแต่มา คือ เด็กนักเรียน ตอนนี้เราเลยเอาเขาเป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย เลยพยายามทำอะไรที่เหมาะกับเขา แต่เนื้อหาบางอันมันไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเด็กเรียนก็ได้ มันเป็นทักษะทั่วไปที่ทุกคนก็ต้องเรียนรู้
Starfish Class ก็คือเครื่องมือประเมิน แพรรู้ว่ามันจะต้องทำให้มันมีระบบนิเวศแบบนี้ ไม่งั้นมันไม่ไปด้วยกัน เช่น ในห้องเรียนเราทำการเรียนการสอนแบบ PBL แบบ Makerspace มันเป็น Constructivism แพรไม่เชื่อเรื่องการสอบแบบสอบได้สอบตก เพราะฉะนั้นเราจะเก็บด้วยการประเมินระหว่างเรียน เราก็ต้องทำเครื่องมือการประเมินทักษะหรือพฤติกรรมที่เด็กมี เพราะสอนแบบนี้มันยากอยู่แล้ว การต้องมาเก็บข้อมูลแบบนี้ก็ต้องยากอีก เลยคิดว่าถ้ามีเครื่องมือให้ครูมันจะง่ายขึ้น
การเรียนรู้ที่มีความหมายคือการเรียนรู้ที่เราได้เลือกเอง
“เราทำงานกันมา 10 กว่าปีแล้ว มันเลยถึงจุดที่เราถามตัวเองว่าทุกวันนี้เราทำเรื่องการศึกษาไปเพื่ออะไร” คุณแพรเล่าถึงการเดินทาง 18 ปีของ Starfish ที่เริ่มต้นจากการช่วยให้เด็กทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงการศึกษา แต่ในวันนี้ คำตอบของคำถามที่ว่า ‘เราทำเรื่องการศึกษาไปเพื่ออะไร’ นั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย จากการช่วยให้เด็ก ‘เข้าถึง’ การศึกษาที่มีคุณภาพ Starfish ตั้งคำถามต่อไปว่า แล้ว ‘คุณภาพ’ ที่ว่าวัดจากใคร เพื่อที่จะพบคำตอบว่า การศึกษาที่มีคุณภาพและมีความหมายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน หากแต่เป็นการศึกษาที่เหมาะสมกับคนคนนั้น การศึกษาที่เขาได้เลือก และเป็นการเรียนรู้ที่เขาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
Meaningful Education ในนิยามของ Starfish คืออะไร
คอนเซ็ปต์ของ meaningful education มี 5 หัวข้อด้วยกัน เราใช้คำว่า UPRISE ซึ่งเป็นตัวย่อของแต่ละอัน
อันแรกคือตัว U มาจาก useful คือมันต้องมีประโยชน์ เพราะแพรได้ยินบ่อยมากว่าไม่รู้เรียนไปทำไม เรียนไปแล้วมันไม่มีประโยชน์ ก็เลยมองว่าการศึกษาที่มีความหมายมันต้องมีประโยชน์ เพราะถ้ามันไม่มีประโยชน์เราก็ไม่อยากทำ แต่คำว่ามีประโยชน์ในที่นี้ สำหรับแต่ละคนมันอาจไม่เหมือนกัน มันมีความเฉพาะบุคคลสูงมาก
อันที่สองคือตัว P - problem solving ถ้าเราตั้งใจเรียนแล้ว มันต้องช่วยเราแก้ปัญหาได้ ทั้งปัญหาชีวิต ปัญหาประจำวัน ปัญหาการทำงาน ปัญหาการเรียน การศึกษาที่ดีมันต้องไม่สร้างปัญหาให้เรา มันต้องช่วยเราแก้ปัญหา แต่ถ้าเราลองมองทุกวันนี้การศึกษามันกลายเป็นปัญหาสำหรับเด็กหลายคน เพราะมันอาจจะไม่เหมาะกับเขา เขาไม่มีสิทธิ์เลือก เขาเรียนไปแล้วไม่ได้ใช้
อันที่สามคือตัว R - real world คือเรียนแล้วมันต้องเรียนรู้จากของจริงไม่ใช่โลกสมมติ สมัยก่อนเราเรียนแบบโลกสมมติได้ แต่สมัยนี้เด็กรู้อยู่แล้วว่าโลกข้างนอกเป็นยังไง เหมือนมันกลับกันว่าทุกวันนี้ครูสอนโลกสมมติ แล้วเด็กใช้ชีวิตแล้วเรียนรู้แล้วในโลกจริง ถ้าเราเชื่อในสาย PBL เราก็จะรู้ว่าการให้เด็กเรียนสิ่งที่มันเชื่อมกับโลกจริงสำคัญมาก ไม่งั้นพอเดินออกจากห้องไปมันก็จบ มันไม่ได้มีความหมายอะไร ตัวอย่างที่ครูให้หรือเหตุการณ์สมมติที่ครูให้มันก็ไม่เกิดขึ้นจริงในชีวิตเขา
I ก็คือ impact มันเป็นหัวใจหลักของ Starfish เราสนใจเรื่อง impact ในฐานะองค์กร และตอนนี้เด็กเจนใหม่ ๆ เขาจะสนใจเรื่องความยั่งยืน ว่าเขามี impact อะไรในโลกนี้บ้าง ถ้าเล็กกว่านั้นมันก็คือผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของเขาหรือการกระทำของเขา ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ เราถามเขาว่าหนูอยากทำอะไรก่อนระหว่างทานข้าวกับอาบน้ำ ทั้งสองทางเลือกมันมีผลที่ตามมา แล้วเขาต้องยอมรับผลกระทบนั้นให้ได้ เคยมีคนศึกษาว่า ตอนเราไปซื้อของ เราสร้าง impact อะไรให้โลกนี้บ้าง คาร์บอนฟรุตปรินท์เป็นยังไง เลือกหยิบนมอะไร ที่มาของนมนี้คืออะไร ถ้าเราจะให้การศึกษากับคนรุ่นถัดไป เราต้องให้เขาเห็นว่าผลกระทบที่เขามีคืออะไร และเขาเองสามารถสร้างผลกระทบทางบวกให้กับคนอื่นได้ยังไง บางครั้งคำว่าผลกระทบทางบวกมันฟังดูยิ่งใหญ่ แต่บางทีแค่สิ่งเล็ก ๆ อย่างวันนี้เขาเดินไปเขายิ้มให้คนสักคนหนึ่ง มันก็อาจจะสร้างผลกระทบให้คนที่เขายิ้มให้ก็ได้
S - self-directed คือการกำกับตัวเอง จริง ๆ มันก็ต่อเนื่องกัน เพราะการศึกษาที่มีความหมายสำหรับฉัน ฉันก็ต้องเป็นคนกำกับ เป็นเจ้าของมัน meaningful education เราไปยัดเยียดให้เขาไม่ได้ เรามอบสภาพแวดล้อมให้ได้ เรามอบตัวเลือกให้ได้ เราไกด์เขาได้ แต่เขาต้องเป็นคนขับเคลื่อนเอง แต่ถ้าเขาจะขับเคลื่อนได้เขาต้องมีทักษะหลายอย่าง ซึ่งงานของ Starfish อีกอันคือขับเคลื่อนและพัฒนาทักษะ ไม่ว่าทักษะศตวรรษที่ 21 ทักษะสังคมและอารมณ์ต่าง ๆ มันจะทำให้เด็กมีทักษะการกำกับตัวได้ กำกับตั้งแต่การวางแผน การตัดสินใจ การรับผลกระทบ การสะท้อนดู และการทำใหม่
ส่วนสุดท้าย E - experiential คือต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ จากประสบการณ์จริง เรามีแนวคิดจาก constructivism เราต้องเป็นคนทำเพื่อที่เราจะสร้างองค์ความรู้นั้นขึ้นมาเอง สร้างประสบการณ์ขึ้นมาเอง ทักษะสอนไม่ได้ เราต้องทำ ถ้าการศึกษาบอกให้เด็กมีทักษะก็ต้องเปิดโอกาสให้เด็กทำ หรือเราบอกลูกว่า อย่าทำแบบนี้เลยเพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่ดี แต่เขาก็ยังจะทำ เพราะเขาอยากเรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาเองแต่พอมันเป็นเรื่องส่วนตัวในโหมดของแม่ meaningful education เราต้องปล่อยให้ลูกทำอะไรที่รู้ว่าเขาจะเจ็บตัว แล้วเราทำใจไม่ค่อยได้ เราต้องเข้าไปขวาง เราไม่อยากให้เขาเจ็บ แล้วเวลาเขาเจ็บแล้ว เราเจ็บกว่า แต่จริง ๆ เรื่องของการให้เด็กได้ประสบการณ์เอง ได้หาให้เจอว่าอะไรที่ meaningful กับเขา อาจเป็น meaningful education meaningful living หรือ learning มันต้องให้พื้นที่เขาในการได้เลือก ได้ทำ ได้เจ็บ ได้ยิ้ม ได้ลองคิดใหม่ แล้วลองกลับมาทำอีกรอบ
ซึ่งอาจเกิดกับคนอื่นโดยไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ก็ได้
ใช่ คนเราเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประความสำเร็จ ไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือในครอบครัว แพรคิดว่าพอมาถึงจุดที่มันไม่สำเร็จ เราพยายามผ่านมันไปเร็วเกินไป พอเจ็บปวดเราก็อยากจะวิ่งหนีไปเลย เราไม่นั่งคิดวิเคราะห์ว่าฉันได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ อันนี้เป็นคำถามที่แพรใช้กับลูกบ่อยมาก ทุกครั้งที่ทำผิด หรือทุกครั้งที่ทำไม่สำเร็จ เราได้เรียนรู้อะไร คำว่าเราคือ ลูกเรียนรู้อะไร เราได้เรียนรู้อะไรในฐานะแม่ เราไม่เคยมีลูกมาก่อน เราไม่เคยเจ็บปวดในฐานะแม่ของเด็กอายุ 15 ที่มีปัญหากับเพื่อน เราก็เรียนรู้ครั้งนี้ครั้งแรกเหมือนกัน ประสบการณ์ตรงนี้ ถ้าเราผ่านไปเร็วเกินไปหรือพยายามจะบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ลืม มันเหมือนเราเลือกที่จะเรียนรู้แต่สิ่งที่เราสำเร็จ
จริง ๆ meaningful education ก็อยู่ในการทำงานของ Starfish อยู่แล้ว
ใช่ค่ะ จริง ๆ เรื่องของ meaningful education มันอยู่มาตั้งแต่แรกแต่เราอาจจะยังไม่เคยหยิบมาพูดให้มันเป็นคอนเซ็ปต์ เรามานั่งดูว่าจริง ๆ ที่เราทำมาทุกอย่างเราทำเพื่ออะไร แต่ก่อนเราก็พูดว่าเพื่อให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่พอเรามาประเมินดูจริง ๆ ตอนนี้เรื่องการเข้าถึงมันไม่มีปัญหา ถึงมีก็มีน้อยมาก เด็กสามารถเข้าเรียนได้ แต่ที่มีปัญหาคือคุณภาพ ทีนี้คำว่าคุณภาพเป็นคุณภาพของใคร คุณภาพของเธอกับของเรามันไม่เหมือนกัน แล้วมันไม่ได้จำเป็นต้องเหมือนกัน สิ่งที่มันควรจะเป็นคือสิ่งที่เหมาะกับคนคนนั้น แต่เด็กบางคนหาไม่เจอว่าอะไรเหมาะเพราะเขาไม่เคยได้เลือก เขาไม่เคยรู้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วเราก็มาเรียนรู้ว่า จริง ๆ เรามีโรงเรียนบ้านปลาดาวที่เป็นระบบ แต่มันมีการเรียนรู้นอกระบบอีก อย่าง Starfish Labz คนที่เรียนรู้กับเราก็มีทั้งคุณครู พ่อแม่ นักเรียน และคนที่อยากพัฒนาตัวเอง การศึกษามันเลยกว้างกว่าแค่การศึกษาที่มีคุณภาพในระบบ แต่มันคือทำยังไงที่เราจะเรียนรู้อย่างมีความหมายในทุกทุกวันมากกว่า
Meaningful Education จะเกิดกับเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เลือกการศึกษาที่ดีสำหรับตัวเองได้อย่างไร
อันนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องทำงานเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เพราะจริง ๆ หลังโควิดเราก็เห็นอะไรหลายอย่าง บ้านที่เลือกได้เขาก็รู้สึกว่าการศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์แล้ว เขาก็เลือกให้ลูกไปโฮมสคูลหรือไปเรียนอะไรที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบ ส่วนเด็กที่เลือกไม่ได้ Starfish เองก็เข้าไปทำงานกับรัฐบาล ทำงานกับโครงการต่าง ๆแพรว่าการศึกษาที่มีความหมายจริง ๆ คือการศึกษาที่มีความเฉพาะบุคคล เราไม่ได้ทำจากนโยบาย เราทำจากการกระทำจริง เราทำงานมาประมาณสี่ปี ทำกับหลายโรงเรียน หลายโครงการ มันก็เหมือนกับมีหลักฐานออกมา แล้วตลอดทางเราก็พยายามทำวิจัยไปด้วยเผยแพร่ไปด้วย ซึ่งมันก็เริ่มขยับได้ มันอาจจะไม่ได้ขยับในโครงใหญ่ ณ วันนี้ แต่ว่ามันก็ค่อย ๆ ขยับ งานพัฒนาเราก็ไม่ได้ปักธงว่าวันนี้เราทำสำเร็จแล้ว ทุกอย่างมันเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ เราก็เก็บไป ถึงตอนสุดท้ายเราจะรู้เองว่าสิ่งที่เราทำไปมันสร้างผลกระทบมากน้อยแค่ไหนเพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องการเลือกได้ว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง ในครอบครัวมันอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความสนใจและมีความพร้อม คำว่าพร้อมในที่นี้ แพรคิดว่าใจพร้อม เพราะบางทีไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นวิธีคิด ว่าแทนที่จะบอกให้ลูกทำตามทุกอย่างและทำให้ลูกทุกอย่าง ก็เปลี่ยนให้ลูกสามารถจะเลือกได้ ให้เขาเข้าใจและตั้งเป้าหมายของตัวเองได้ ให้เขาเลือกและรับ impact หรือผลที่ตามมา ที่มันเกิดขึ้นจากการเลือกของเขาได้ มีการสะท้อนกับลูก ทำงานกับลูก
จากวันนั้น Starfish ได้ทำสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายด้วยทุนของคนคนหนึ่ง ในตอนนี้เรามีพื้นที่ให้รัฐบาลหรือสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน
จริง ๆ โรงเรียนบ้านปลาดาวก็ได้รับเงินสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งแต่ก่อนเราไม่รับเพราะการที่รับมันมีข้อผูกมัดเยอะ แต่เราก็มาคิดดูแล้วว่าการที่เรารับมันเป็นการสร้างความสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ส่วนอย่างอื่น เช่น โครงการ แต่ก่อนสตาร์ฟิชไม่รับทุนจากที่ไหนเลย แล้วเราก็เพิ่งรับทุนจาก กศส. แล้วเราก็มองว่าโครงการที่เราจะรับทำต้องเป็นโครงการที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับเรา มีแนวคิดสอดคล้องกับเรา มันก็เหมือนเราจับมือได้ impact เพิ่มขึ้นและเข้าถึงโรงเรียนได้มากขึ้น และรัฐก็ได้มาสนับสนุนงานที่เราทำมากขึ้น แต่เราก็ไม่สามารถรับได้ทุกอย่าง มันต้องตรงกับวิสัยทัศน์ของเราด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะมี impact goal อยู่ อย่างตอนนี้เราทำ meaningful education เราจะมี impact goal ว่าคนที่เขาเข้ามารับบริการจากเรา ไม่ว่าจะจากโรงเรียน จาก Starfish Labz จาก Starfish Academy ต่าง ๆ เขาจะต้องได้ meaningful education ไป สำหรับผู้ปกครองจาก Starfish Labz ก็แบบนึง นักเรียนในบ้านปลาดาวก็แบบนึง คุณครูจาก Academy ก็แบบนึง ความหมายที่เราให้เขาในแต่ละโครงการมันจะต่างกัน แต่ภาพรวมทั้งหมดที่เราทำมันไปที่ impact goal อันเดียวกัน คือสิ่งที่เราให้มันมีความหมายสำหรับเขาในเชิงของการศึกษาคนที่จะเข้ามาทำงานองค์กรเดียวกันต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และมันก็ต้องเป็นวิสัยทัศน์ที่มีความหมายมากพอที่จะบอกตัวเองได้ว่า วันนี้ฉันตื่นมาทำงานอะไร เพราะว่าเราไม่ได้มียอดที่เราจะต้องไปหามา เราไม่ได้แสวงหากำไรหรือเงิน แต่เราแสวงหา impact เพื่อที่เราจะได้ตอบตัวเองได้ว่า งานที่ฉันทำมันมีประโยชน์ยังไง
บทความใกล้เคียง
ยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ด้วย 3 นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา จาก Starfish Education
แชร์ไอเดียการสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ง่ายๆ สไตล์โรงเรียนบ้านปลาดาว
What will happen? จะเกิดอะไรขึ้นในโลก Metaverse?
Related Courses
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
โรงเรียนปลาดาว เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสำคัญทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต ผ่าน ...
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
Micro Learning เทคนิคการดูแลสุขภาพกาย ป.1-3
การฝึกการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานในวัยเด็กเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการวางพื้นฐานที่ถูกต้อง นำไปสู่พัฒนาการด้านร่างก ...
โรงเรียนปลาดาว ต้นแบบนวัตกรรมการเรียนรู้สู่อนาคต
โรงเรียนปลาดาว เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสำคัญทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต ผ่าน ...
เปิดโลกการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วย Google Lens
Google Lens เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องง่ายและสนุกสนาน ผ่านการใช้กล้องสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ผู้ ...
เปิดโลกการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วย Google Lens
ต้องใช้ 100 เหรียญ