แชร์แนวคิดศึกษานิเทศก์ยุคใหม่ คิดอย่างไรถึงก้าวทันโลก?
“ศึกษานิเทศก์” มีบทบาทที่สำคัญสำหรับการศึกษาไทย เปรียบเสมือนที่ปรึกษาด้านวิชาการและการจัดการเรียนการสอนให้แก่คุณครูทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงเรียน
แต่ในปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ได้ถูก Disrupt ด้วยมีเทคโนโลยีการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่คุณครูเองสามารถค้นคว้าได้เองจากอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้
ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือ “เราจะเป็นศึกษานิเทศก์ที่มีคุณค่าและความหมายต่อการศึกษาไทยได้อย่างไรในโลกอนาคต?”
วันนี้ ว่าที่ร้อยตรี ถาวร อารีศิลป อดีตศึกษานิเทศก์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ได้มาแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแนวคิดของการเป็นศึกษานิเทศก์ยุคใหม่ที่ทันโลก ว่าจะต้องคิดหรือเป็นอย่างไร เพราะในท้ายที่สุดนั้น ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นแก่นักเรียน ซึ่งจะเป็นผู้สร้างอนาคตของประเทศชาติต่อไป
- แนวคิดที่ 1 : ศึกษานิเทศก์ต้องเป็นนักคิด นักริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ไม่กลัวความล้มเหลว
“การศึกษาควรสอนให้เด็กรู้จักความล้มเหลว” อาจารย์ถาวรกล่าว เพราะเมื่อเด็กรู้จักความล้มเหลว เขาจะเรียนรู้จากสิ่งนั้นและลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ในช่วงปี 2545-2553 อาจารย์ถาวรได้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย เช่น ทางด้าน ICT ทั้งที่ในช่วงนั้นยังไม่เคยมีใครนึกถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ “ระยะแรกได้ดำเนินการร่วมมือกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ต้องการทำเรื่องอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนและครู จึงได้วางแผนร่วมกันที่จะสร้างองค์ความรู้พื้นฐานให้สถานศึกษาที่สนใจ โดยเริ่มทำเว็บไซต์ bmasmartschool.com ภายใต้โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ และเริ่มจับมือกับมหาวิทยาลัย จำนวน 11 แห่งในกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งฝึกอบรมให้กับนักเรียนและครูเพื่อให้มีพื้นฐานทางด้าน ICT หลังจากนั้นจึงได้ตั้งงบประมาณจากกรุงเทพมหานครเพื่อออกแบบโปรเจกต์ส่งเสริมความสามารถของนักเรียนด้าน ICT สำหรับนักเรียนในระดับชั้น ป.4-6 ได้แก่ กิจกรรมการเขียนโปรแกรมบังคับหุ่นยนต์ การถ่ายภาพและการตัดต่อวิดีโอ การเขียนการ์ตูนแอนิเมชั่น การทำกราฟิก การซ่อมและประกอบคอมพิวเตอร์ การทำเครื่องบินเล็ก เราเป็นคนนำเรื่องพวกนี้เข้าไปในระบบการศึกษา กทม. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ และสิ่งที่สำคัญคือ เด็กได้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง จนกระทั่งตอนนี้เด็กๆ ที่เข้าโครงการหลายคนได้เรียนจบมหาวิทยาลัย บางคนจบปริญญาเอกด้าน IT ไปแล้ว การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะการใช้เหตุผล ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรม การปลูกฝังความขยันหมั่นเพียรและความอุตสาหะให้แก่ผู้เรียน สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกับเขาเมื่อเติบโตขึ้น” อาจารย์กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ตรง หรือเป็น First-hand experience จากการ Play & Learn คือเล่นและได้เรียนรู้จากการทำโปรเจกต์ต่างๆ เป็นการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สำคัญ
- แนวคิดที่ 2 : ศึกษานิเทศก์ต้องเป็นนักประสานเชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อมาสร้างประโยชน์แก่โรงเรียน
“ย้อนไป 20 กว่าปี ตั้งแต่เข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์ ในปี 2538 อาจารย์คิดว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้ เมื่อได้มาเป็นศึกษานิเทศก์ต้องจับมือกับผู้ที่สนใจเรื่องการพัฒนาคนผ่านการศึกษาให้ได้มากที่สุด หมายถึง สร้างความร่วมมือกันกับทุกคนได้ win-win ด้วยกันทั้งคู่ อาจารย์ขอความร่วมมือ ตั้งแต่ภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน มูลนิธิต่างๆ เพราะคิดว่าฉันทำงานคนเดียวไม่ได้ เราต้องการคนช่วย เราทำมาตลอดระยะเวลา 26 ปี จนถึงเกษียณอายุราชการ เป็นการส่งผลที่ประเมินค่าไม่ได้สำหรับมูลค่าที่นักเรียนและครูของเราได้รับ เพราะเป็นการสร้างพื้นฐานให้เด็กๆ ที่สนใจ มีแรงบันดาลใจเพื่ออนาคตของเด็กหลายคนในวันข้างหน้า อาจารย์จึงมีเป้าหมายว่า ฉันจะลุยทำ ซึ่งมันก็ไม่ได้ง่าย เพราะเมื่อก่อนหน่วยงานภาครัฐมักจะมีแนวคิดว่า “ฉันจะทำของฉัน ไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่ง” แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงความคิดมากขึ้น เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็น ‘win-win situation’ คือ ทุกคนได้เหมือนกัน จึงเกิดเป็นลักษณะงานของ CSR ขึ้นมาในองค์กรต่างๆ”
ผลลัพธ์ของการร่วมมือกับหลายภาคส่วนทำให้เกิดโครงการต่างๆ ที่ไม่เคยคิดว่าทำได้ เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (โครงการตายายสอนหลานโดยวุฒิอาสาธนาคารสมอง) บริษัทเอกชนด้าน internet (โครงการห้องเรียน ICT ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนธรรมชาติ ห้องเรียนวัฒนธรรม) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (โครงการเปิดโลกวิทยาศาสตร์) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (โครงการห้องเรียนสีเขียว) และอีกหลายหน่วยงาน ส่งผลให้นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษาหรือแม้แต่ทีมศึกษานิเทศก์เองสามารถเข้าถึงโอกาสซึ่งเป็นทางเลือกในการพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น
- แนวคิดที่ 3 : ศึกษานิเทศก์ต้องเป็นนักปฏิบัติ และเป็นตัวอย่างที่แท้จริง
“โรงเรียนจะต้องสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ใช้แนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Base Management : SBM) เพื่อนำไปสู่ห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ (Learning Classroom)” อาจารย์กล่าวว่า การเป็นเทรนเนอร์ครูที่ดี คือการนิเทศผ่านการทำให้ดู ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและลงไปถึงห้องเรียน ทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณ ค่าสถานที่ ค่าอาหารและค่าเดินทาง แทนที่จะนำครูออกนอกโรงเรียนเดินทางไปฝึกอบรมตามสถานที่ต่าง ๆ สิ่งที่อาจารย์ทำเมื่อออกไปนิเทศ มีหลักสำคัญอยู่ 3 ข้อ
1. พูดคุยปรึกษาเพื่อร่วมวางแผนกับทีมผู้บริหารสถานศึกษาถึงแนวทางการนิเทศในโรงเรียนผ่าน “การสอนให้ดู” ในห้องเรียน
“การสอนให้ดู” เป็นแนวทางของอาจารย์ถาวร ที่จะนิเทศครูเป็นรายบุคคลโดยเน้นไปที่การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ครูเป็น Facilitator ผสมผสานกับระบบนิเวศการเรียนรู้ในห้องเรียน (Learning Ecosystem in Classroom) ในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ต่อมาในช่วงปี 2561-2564 ได้ต่อยอดโดยการนำแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) มาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้เกิด “การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน”
2. นิเทศการสอนด้วย “การสอนให้ดู”
“ปี 2543 หลังจากมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้มีการเน้นแนวทางการสอนไปที่การเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Center Learning) ช่วงนั้นคิดว่า เราจะทำอย่างไรดี เพราะการผลิตครูตอนนั้นยังคงเป็น Teacher Center แล้วเราเองก็เป็นผลผลิตของ Teacher Center ช่วงเวลาเริ่มแรกนั้น ขณะที่เข้าไปนิเทศก็ได้พูดคุยกับผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครู โดยขอไปทำกิจกรรมกับเด็ก โดยให้ครูที่กำลังสอนให้สอนไปสัก 5-10 นาที แล้วเราก็เข้าไปสอนต่อจากครู เราสาธิตการสอนให้ครูดูโดยใช้วิธีการ Active Learning เน้นการกระตุ้นโดยใช้คำถาม หรือบางครั้งใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง และให้ผู้เรียนพูดคุยกันโดยการสร้างผู้เรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 4 คน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เด็กกล้าตอบ กล้าพูด กล้าถาม ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบผ่อนคลาย สนุกเป็นกันเอง หลังจากนั้นก็พาครูสะท้อนคิด ครูส่วนใหญ่พูดว่า ‘หนูตื่นเต้นมากตอนที่ อาจารย์และทีมบริหารเข้าไปดูในช่วงที่สอนถึงจะเป็นระยะสั้น ๆ ก็ตื่นเต้นมาก’ เราเลยพาครูคิดต่อว่า ถ้าเปลี่ยนจากไปดูครูสอนปรับเปลี่ยนเป็นว่า ศึกษานิเทศก์ทำการสอนให้ดู รูปแบบนี้จะพอเป็นไปได้ไหม ครูที่มาสะท้อนคิดต่างมองหน้ากันแล้วบอกว่า ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ หลังจากนั้นเราจึงเสนอแนวทางการนิเทศการสอน เมื่อเข้าไปนิเทศ เราจะถามคุณครูว่า 1. วันนี้สอนเนื้อหาอะไร 2. วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เด็กเกิดอะไร แล้วจะเริ่มสอนให้ดู แต่มีข้อแม้ว่า ศึกษานิเทศก์จะสอนให้ดูก่อน 2 ครั้ง หลังจากนั้น ครูจะต้องสอนเอง โดยมีเราคอยช่วยเหลือและครูสามารถขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา บางครั้งครูติดขัดเราก็เข้าไปช่วยแบบหน้างานโดยทันทีเป็นการนิเทศแบบร่วมมือ รวมพลัง ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมากในยุคสมัยปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญที่จะให้การนิเทศประสบความสำเร็จ ศึกษานิเทศก์ ครู และผู้บริหารจะต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”
ในระยะแรก ปี 2543-2559 จะนิเทศผ่าน “การสอนให้ดู” ในห้องเรียน เวลาผ่านมา 17 ปี เป็นระยะที่ 2 เริ่มจากปี 2560-2564 ปรับรูปแบบการนิเทศผ่านการสอนให้ดูจากการสอนให้ดูทีละห้อง มีครูได้รับการนิเทศ 1-3 คน มาเป็นการสอนให้ดูที่ห้องประชุมเพื่อปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนทั้งโรงเรียน และเปลี่ยนจากเด็กนักเรียนจริงๆ เป็นครูมานั่งเป็นนักเรียน นอกจากนี้เรายังสอดแทรกองค์ความรู้ต่างๆ ในการ “สอนให้ดู” คือ
- ครูจะต้องเข้าใจว่า “หลักสูตร” คือชีวิต สิ่งที่จะเรียนรู้จะต้องสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตและสอดคล้องตามวัยของผู้เรียนและไม่ใช่การสอนเพื่อนำไปใช้แค่สอบ แต่ต้องสอนให้ผู้เรียนมีทักษะและสมรรถนะที่จะสามารถนำไปใช้ในอนาคต จึงจะเกิดความคุ้มค่ากับความตั้งใจของนักเรียน
- “ครูต้องฟังมากกว่าพูด” ส่วนใหญ่ถ้าเด็กยิ่งพูด ครูก็จะยิ่งเสียงดัง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ครูเหนื่อยกว่าเดิม ดังนั้นครูต้องให้เด็กมีบทบาทในการแลกเปลี่ยน พูดคุย เล่าประสบการณ์ให้มากขึ้น และที่สำคัญคือ เมื่อครูฟังเสียงเด็กมากขึ้น และฟังเสียงที่นักเรียนไม่ได้พูดด้วย (ฟังเสียงที่ไม่มีเสียง) เช่น ครูต้องสังเกตอาการของเด็กทุกคนว่าวันนี้เขาพร้อมที่จะเรียนหรือไม่ ดูแววตา ดูสีหน้า พฤติกรรมที่แสดงออกว่าเขามีความสุขดีไหม ต้องสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ในห้องเรียนให้เหมาะสม เป็นต้น
- กลยุทธ์กลั่น (กรอง) แล้วจึง “แกล้ง”เด็ก คือการแกล้งยั่วให้เขาเกิดการคิด โดยการโยนคำถามไป ไม่บอกคำตอบ ให้เด็กใช้เหตุใช้ผล ค้นคว้า และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการหาคำตอบ มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกมานำเสนอของแต่ละกลุ่ม การโยนคำถามหรือปัญหาต้องไม่กระทบต่อร่างกาย จิตใจของเด็ก เพราะเมื่อเราได้ “กลั่น” (กลั่นว่าจะให้นักเรียนคิดอะไรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์) “กรอง” (กรองคำถามออกมาเป็นข้อๆ เพื่อให้เกิดการร้อยเรียงของคำถาม) แล้ว “แกล้ง” (ยั่วให้คิดโดยโยนคำถามถามเด็ก) เราจะพบว่าคำตอบของเด็กจะมีความหลากหลาย และมีความคิดสร้างสรรค์
- ใช้วิธีการแบ่งกลุ่มผู้เรียนให้ไม่เกิน 4 คน ต่อกลุ่ม คละความหลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน เป็นการทำงานแบบร่วมมือ รวมพลัง (เพื่อนช่วยเพื่อน) เป็นการสร้างการยอมรับความคิดเห็นต่างของเพื่อนๆ ในกลุ่มและต่างกลุ่ม ตามแนวทางวิถีแห่งประชาธิปไตย
3. สร้างบัดดี้เพื่อนครู
“การสร้างบัดดี้ครู” เป็นการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) และใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Profession Learning Community : PLC) อาจารย์ถาวรกล่าวว่า “เราจะพยายามสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูทำงานร่วมกันอย่างน้อย 2 คน ร่วมกันออกแบบแผนจัดการเรียนรู้ เดือนละ 1 แผนการจัดการเรียนรู้ เป็นการผลัดเปลี่ยนบทบาทของครูที่เป็น Model Teacher และครูที่เป็น Buddy Teacher โดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นที่ 1 วิเคราะห์หลักสูตรเพื่อออกแบบแผนจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 2 นำแผนฯ มาช่วยกันวิเคราะห์ ขั้นที่ 3 นำแผนฯ ไปใช้จริงในห้องเรียน ขั้นที่ 4 สังเกตและเก็บข้อมูลนักเรียนที่ได้เรียนรู้และไม่ได้เรียนรู้ ขั้นที่ 5 นำผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูและผลจากการสังเกตนักเรียนมาสะท้อนคิด และขั้นที่ 6 มีการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้อีกครั้ง เป็นการร่วมมือ รวมพลังของครูอย่างน้อย 2 คน เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ มีการเปิดใจมากขึ้น แบ่งปันและช่วยเหลือกันและกัน โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ครูร่วมกันปรับปรุงพัฒนาการออกแบบแผนจัดการเรียนรู้และหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายบุคคล สอดคล้องกับคำว่า ‘ไม่ทิ้งนักเรียนคนใดไว้ข้างหลัง’ (No Child Left Behind) ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่จะนำไปสู่การเป็นห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ (Learning Classroom)”
กล่าวได้ว่าทั้ง 3 แนวคิด น่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ศึกษานิเทศก์ ครู และผู้ที่สนใจสามารถนำไปปรับใช้กับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption เพราะแนวคิดทั้ง 3 เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ตรงของว่าที่ร้อยตรี ถาวร อารีศิลป ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงตั้งปณิธานกับตัวเองว่า อยากที่จะเผยแพร่ประสบการณ์ และองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่มี ให้แก่บุคลากรทางการศึกษาไทย เพราะอาจารย์เชื่อว่าหน้าที่ของเรา ณ ตอนที่เกษียณอายุราชการแล้ว คือ การแบ่งปันให้กับผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในอนาคตต่อไป
ขอขอบคุณ ว่าที่ร้อยตรี ถาวร อารีศิลป ข้าราชการบำนาญ กรุงเทพมหานคร
อดีตศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566
Related Courses
สพป. สมุทรสาคร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร 2/3 หมู่ 8 ถ.เศรษฐกิจ1 ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 74000
สพป. เชียงใหม่ เขต 5
สำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต 5 404 หมู่ 10 ฮอด-วังลุง ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 50240
Micro Learning - เทคนิคการช่วยเหลือผู้เรียน
การช่วยเหลือผู้เรียนสำคัญต่อการลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างครูกับผู้ปกครอง
สพป. เชียงใหม่ เขต 6
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 6 190 หมู่ 15 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 50160