เปลี่ยนขยะรีไซเคิลเป็นเงินอาชีพรักษ์โลกแถมได้ตังค์ใช้
ในปัจจุบันโอกาสสร้างรายได้จากอาชีพเสริม มีอยู่มากมายรอบตัวเรา ขึ้นอยู่กับว่าใครที่จะขวนขวายและมองเห็นโอกาสในการหาเงินเหล่านั้น คนที่มองเห็นโอกาสในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม ย่อมได้เปรียบ และเผลอๆ อาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำโดยไม่ได้คาดคิดสิ่งที่ไร้มูลค่า ไม่มีคนสนใจอย่างขยะหรือของเหลือใช้ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนที่เห็นโอกาสเหล่านี้ ยิ่งในยุคที่กระแสรักษ์โลกกำลังมาแรง การนำขยะหรือสิ่งของเหลือใช้กลับมารีไซเคิลจึงเป็นช่องทางหารายได้ที่น่าสนใจ วัยรุ่นคนไหนที่กำลังมองหาช่องทางสร้างรายได้เสริม Starfish Labz มีไอเดียสร้างรายได้จากขยะรีไซเคิลมาฝากกัน
ขยะแบบไหน เข้าข่ายขยะรีไซเคิล
ก่อนจะทำความรู้จักกับขยะรีไซเคิล อยากชวนวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าวัสดุ ของใช้ต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนมาจากทรัพยากรธรรมชาติแทบทั้งสิ้น เช่น พลาสติกมาจากปิโตรเลียมใต้ดิน กระดาษมาจากการตัดต้นไม้ แก้วมาจากเม็ดทราย โลหะมาจากการถลุงแร่ เป็นต้น ซึ่งนอกจากทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาผลิตสิ่งของต่างๆ โดยตรงแล้ว ก็ยังมีพลังงานธรรมชาติที่อยู่ในกระบวนการผลิต แปรรูปและขนส่งด้วย เพราะฉะนั้น กล่องพลาสติกหนึ่งชิ้น หรือจานกระดาษหนึ่งใบ อาจใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าที่เราจะคาดถึง
เมื่อเป็นเช่นนี้การรีไซเคิลจึงมีความสำคัญในแง่ที่ว่าเราไม่ต้องผลิตกล่องพาสติกใหม่ทั้งกระบวนการ ไม่ต้องหล่อแก้วจากเม็ดทรายตั้งแต่ต้น การรีไซเคิลวัสดุต่าง ๆ ทุกชนิด ให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่ จึงก่อคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเพราะไม่ต้องนำทรัพยากรธรรมชาติใหม่มาใช้ ทั้งยังใช้การขนส่งที่สั้นกว่า ขั้นตอนการแปรรูปที่น้อยกว่า รวมถึงไม่ก่อให้เกิดขยะ ช่วยลดการก่อคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ดังนั้นขยะที่เราทิ้งในชีวิตประจำวันจึงมีจำนวนไม่น้อยที่เข้าข่ายเป็นขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ขวด PET หรือขวดน้ำดื่มที่เราคุ้นตา รวมไปถึงพลาสติกชนิดต่างๆ, กระป๋องเหล็กและห่วงฝาอลูมิเนียม, กระดาษและผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เช่น กล่องนม, เศษแก้ว วัสดุที่ทำจากแก้ว ตลอดจนขยะอิเลคโทรนิกส์ต่างๆ ก็เข้าข่ายเป็นขยะรีไซเคิลได้เช่นกัน
ขยะรีไซเคิล สร้างเงินได้อย่างไร
การสร้างเงินจากขยะรีไซเคิล จริงๆ แล้วทำได้ง่ายมาก แต่อาจต้องอาศัยระยะเวลาและความเพียร เพราะนอกจากต้องแยกขยะ ทำความสะอาดขยะแล้วก็ยังต้องมีปริมาณขยะรีไซเคิลแต่ละชนิดให้มากพอที่จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำโดยผู้ที่กำหนดว่าขยะรีไซเคิลจะมีราคาเท่าไร คือ โรงงานรีไซเคิล แต่ใช่ว่าทุกคนจะนำขยะรีไซเคิลไปขายให้กับโรงงานรีไซเคิลได้โดยตรง เพราะหากมีปริมาณไม่มากพอ โรงงานก็มักจะไม่รับ ทำให้เกิดมี “พ่อค้าคนกลาง” ซึ่งก็ได้แก่ คนเก็บขยะ ซาเล้ง รถรับซื้อของเก่าและร้านรับซื้อของเก่าที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั่นเอง
ทั้งนี้ คนกลางแต่ละแบบก็มีข้อจำกัดและการให้ราคาที่ต่างกัน ยิ่งหากเรามีขยะรีไซเคิลไปขายในจำนวนน้อย ต้นทุนต่อหน่วยจะยิ่งสูง ทำให้เราได้ราคาไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นอาจต้องวางแผนดีๆ และอาจเชคราคาหลายๆ ที่ก่อนที่จะนำขยะรีไซเคิลมาขายรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลอาจไม่ใช่เงินก้อนใหญ่เป็นกอบเป็นกำ แต่หากเก็บขยะรีไซเคิลจำนวนหนึ่งอย่างถูกวิธี ก็อาจได้ราคาดี พอมีเงินเป็นค่าขนมสัก 2-3 วัน ดังนั้น ลองมาดูกันคร่าวๆ ว่าขยะรีไซเคิลแต่ละประเภทขายได้ราคาเท่าไรกันบ้าง
พลาสติก จะแบ่งราคาตามประเภทของพลาสติก โดยเป็นราคาต่อกิโลกรัม
- ขวด PET เบอร์ 1 ใส หรือขวดน้ำแบบใส ราคา 7-8 บาท
- ขวด PET เบอร์ 1 สกรีน ราคา 0.3 บาท
- ขวด HDPE เบอร์ 2 คือขวดแข็งแบบขุ่น เช่น ขวดนม ขวดน้ำยาทำความสะอาด ราคา 8 บาท
- ถุงพลาสติกเล็กใหญ่ (ขึ้นกับเกรดของพลาสติก) ราคา 1.30 บาท
- ถุงพลาสติกใหญ่ขุ่น HDPE ราคา 1 บาท
- พลาสติกรวมสี ราคา 2 บาท
- พลาสติกสีดำทุกชนิด ราคา 1 บาท
กระดาษ แยกตามประเภท โดยคิดราคาต่อกิโลกรัม
- กระดาษลังน้ำตาล ราคา 1.10 - 1.40 บาท
- กระดาษสี, กล่องรองเท้า, กล่องผลไม้ ราคา 0.30 บาท
- กระดาษหนังสือเล่มรวม ราคา 0.50 บาท
- กระดาษเอ4 ขาวดำล้วน ราคา 0.30 - 2.80 บาท
- กระดาษเอ4 สี ราคา 0.30 บาท
- กระดาษหนังสือพิมพ์ 1.20 บาท
แก้ว ราคาแยกตามประเภทต่างๆ ดังนี้
- ขวดน้ำปลา ใบละ 0.70 บาท
- ขวดเบียร์ ใบละ 0.30 - 0.40 บาท
- ขวดซอส โหลละ 3 บาท
- เศษแก้วคละสี กิโลกรัมละ 0.55 บาท
- เศษแก้วสีขาวล้วน กิโลกรัมละ 2.10 บาท
- เศษแก้วสีล้วน กิโลกรัมละ 1.55 - 1.90 บาท
กระป๋องเหล็กและฝาห่วงอลูมิเนียม ราคารับซื้อต่อกิโลกรัม
- กระป๋องเหล็ก ราคา 1.50 บาท
- ฝาห่วงอลูมิเนียม ราคา 23.50 บาท
ขยะอิเลกโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ใช้แล้ว เก่า ชำรุด ก็จัดเป็นขยะรีไซเคิล โดยมีราคารับซื้อต่อกิโลกรัม
- หน้าจอคอมพิวเตอร์, ทีวีเก่า ราคา 0.50 บาท
- ปริ้นเตอร์, เม้าส์, คีย์บอร์ด ราคา 1 บาท
- โทรศัพท์มือถือ 1.50 บาท
- แอร์ + คอมเพรสเซอร์ ราคา 8 บาท
- แบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ ลูกละ 10 บาท
- แบตเตอรี่ รถยนต์ กก. ละ 10 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคาเหล่านี้เป็นราคาโดยประมาณ หากต้องการขายขยะรีไซเคิลอาจเช็คกับโรงงานรีไซเคิลโดยตรงอีกครั้งเพราะราคาแต่ละวันอาจแตกต่างกันไป โรงงานรีไซเคิลบางแห่ง มีการแจ้งราคาแต่ละวันผ่านหน้าเพจ Facebook ให้สามารถเข้าไปเช็คกันดูก่อนได้ด้วย
เริ่มต้นขายขยะรีไซเคิลยังไงดี
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วใครสนใจหารายได้จากการขายขยะรีไซเคิล อาจเริ่มจากการสำรวจภายในบ้านว่ามีสิ่งของเครื่องใช้อะไรที่ชำรุด ไม่ใช้แล้ว และเข้าข่ายเป็นขยะรีไซเคิลที่นำไปขายได้ อาจลองรวบรวมแล้วทำลิสต์รายการออกมา เผลอๆ อาจพบว่าบ้านเราเก็บขยะรีไซเคิลไว้มากกว่าที่คิด ทั้ง ทีวีเก่า, มือถือเก่าหลายเครื่อง ไหนจะขวดแก้วสารพัดชนิดที่คุณยายชอบล้างเก็บไว้ แล้วยังมีถุงพลาสติกกับกล่องพลาสติกที่เป็นตั้งๆ
หลังจากสำรวจของที่มีอยู่แล้ว อาจเริ่มเก็บของใหม่ควบคู่ไปด้วย เช่น เมื่อสั่งอาหารมากินที่บ้าน มีกล่องพาสติก ถุง ขวดพลาสติกต่างๆ เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็ทำการล้างและแยกขยะไว้ให้เป็นหมวดหมู่ สะสมให้ได้ปริมาณพอสมควร ก็สามารถติดต่อคนกลาง หรือหากมีจำนวนมากพออาจลองติดต่อขายกับโรงงานรีไซเคิลโดยตรงก็ได้
เก็บขยะรีไซเคิลอย่างไร ไม่ให้รกบ้าน
แน่นอนว่าการเก็บขยะรีไซเคิลเพื่อนำไปขายต่อนั้น ต้องใช้เวลา และขยะรีไซเคิลที่เราเก็บไว้ก็มักจะเพิ่มพูนขึ้นทุกวันๆ ลองนำเคล็ดลับต่อไปนี้ไปใช้ เพื่อให้การเก็บขยะของเราไม่เป็นภาระครอบครัวและไม่รกบ้านจนถูกแม่ดุ
- ทำความสะอาดขยะประเภทต่างๆ ก่อนเก็บ
- แยกประเภทเก็บในถุงขยะหรือกล่องเก็บขยะอย่างเหมาะสม อาจติดป้ายบอกประเภทไว้ที่หน้าถุงด้วย
- เก็บในบริเวณที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเท สว่าง ไม่กีดขวางทางเดิน ไม่อยู่ใกล้แหล่งอาหาร
- อย่าเก็บขยะที่เสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุเชื้อโรคไว้เป็นเวลานาน
- อธิบายให้คนในครอบครัวเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร บอกเป้าหมายและอาจขอความร่วมมือให้ทุกๆ คนช่วยเก็บขยะรีไซเคิลที่แต่ละคนใช้ด้วย เพื่อจะได้ย่นเวลารวบรวมขยะรีไซเคิลก่อนนำไปขาย
สุดท้ายแล้ว การขายขยะรีไซเคิล อาจไม่ได้ทำให้เราร่ำรวย หรือมีรายได้เหลือเฟือ แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เรารู้จักวางแผน จัดระเบียบสิ่งต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งเรียนรู้ว่าแต่ละวันมนุษย์เราสร้างขยะที่เป็นภาระต่อโลกนี้มากมายเพียงใด เป้าหมายของการขายขยะรีไซเคิล จึงอาจไม่ใช่เพราะเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่าและเป็นประสบการณ์ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิตด้วย
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
สารพัดวิธีรับมือ และเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติ
ความแปรปรวน ของสภาพอากาศโลกและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่มีความรุนแรงขึ้น จึงมีความจำเ ...
อาหารกล่องทำขายง่ายๆ สไตล์มนุษย์หอพัก คอนโด
มีพื้นที่จำกัด แต่ไม่ใช่ข้อจำกัดในการสร้างรายได้ แถมใช้เวลาไม่นาน ขั้นตอนไม่ยุ่งยากก็สามารถทำหารกล่องอร่อยๆได้แล้วตามสไตล์มนุษ ...
อาหารกล่องทำขายง่ายๆ สไตล์มนุษย์หอพัก คอนโด
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...