กำลังประเมินถูกวิธีอยู่หรือเปล่า? 5 แนวทางการประเมินสมรรถนะของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อพูดกันถึงสมรรถนะของผู้เรียน (competences of learners) ผู้คนภายนอกอาจมองกันว่าเป็นสิ่งง่ายๆ เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาและประเมินให้กับเด็กได้อย่างง่ายดาย ต่างจากทักษะทางวิชาการหรือทางทฤษฎีต่างๆ ที่อาจจะมีความซับซ้อนหรือยากมากกว่า แต่ในความเป็นจริง คุณครูแทบทุกคนต่างรู้ดีว่าการสอน พัฒนา และประเมินสมรรถนะของผู้เรียนให้กับเด็กๆ นั้นยากและซับซ้อนเพียงใด ทักษะเหล่านี้ไม่ได้เป็นทักษะที่สามารถสอน พัฒนา และประเมินให้เด็กได้โดยง่าย ไม่ใช่ทักษะอย่างในรูปแบบการสอนอย่างเดิมที่เราอาจเพียงแค่สั่งให้เด็กไปเรียนรู้ ท่องจำ และนำกลับมาพิสูจน์ให้เรารู้ว่าเขาเข้าใจ
เพราะเป็นภารกิจที่แสนละเอียดอ่อนและในหลาย ๆ สมรรถนะ เช่น สมรรถนะในรูปของคุณลักษณะ ก็เป็นสมรรถนะที่แทบไม่อาจจับต้องได้ การประเมินจึงต้องอาศัยการเลือกสรรแนวทาง วิธีการ หรือเทคนิคที่จะช่วยให้คุณครูสามารถมองเห็นพัฒนาการ และผลลัพธ์การพัฒนาสมรรถนะดังกล่าวของเด็กๆ ได้อย่างชัดเจนและเห็นผลที่สุด แต่ในบรรดาวิธีการที่ว่า มีแนวทางหรือเทคนิคอะไรบ้างที่เหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน
ในบทความนี้ Starfish Labz ได้คัดสรรและรวบรวม 5 แนวทางสำคัญดังกล่าวมาให้แล้ว จะมีวิธีการหรือแนวทางใดบ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
1.การประเมินสมรรถนะของผู้เรียนเชิงวินิจฉัย (Diagnostic Assessment)
ชื่อฟังอาจดูน่ากลัว แต่ในแนวทางแรกนี้ การประเมินเชิงวินิจฉัย (Diagnostic Assessment) ก็คือการประเมินเพื่อวินิจฉัยหรือดูจุดแข็ง, จุดอ่อน, องค์ความรู้ และทักษะสมรรถนะต่างๆ ที่มีอยู่ของเด็กๆ นั่นเองค่ะ
เพราะการเรียนการสอนเชิงสมรรถนะ ไม่ได้เน้นเพียงแค่สมรรถนะหลักรวมโดยทั่วๆ ไป แต่ยังรวมถึงการช่วยเด็กๆ ค้นหาสมรรถนะเด่นหรือสมรรถนะหลักของพวกเขา ภาพรวมสมรรถนะที่เขามีอยู่ จุดอ่อน จุดแข็ง จุดที่คุณครูสามารถช่วยเติมเต็ม หรือที่เรียกการว่าเป็นโมเดลหรือแผนการสอน และการเรียนรู้อย่างเป็นส่วนตัว (Personalized Learning) หนึ่งในรูปแบบประเมินนักเรียนที่จะเข้ามาช่วยให้คุณครูสามารถเข้าใจภาพรวมของสมรรถนะที่เด็กๆ มีอยู่และแนวทางในการพัฒนาต่อจึงคือการประเมินเชิงวินิจฉัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะจัดทำในช่วงก่อนเริ่มสอนและหลังสอนเสร็จ หรือช่วงจบคอร์สแล้วนั่นเอง
โดยการประเมินเชิงวินิจฉัยนั้นก็สามารถเป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบปรนัย, อัตนัย หรืออื่นๆ หัวใจสำคัญอยู่ที่การออกแบบ และการเลือกคำถามของคุณครู เป็นการจัดทำการก่อนการสอนจริงเพื่อนำมาออกแบบการเรียนรู้และการพัฒนา และหลังสอนเพื่อดูผลลัพธ์ความก้าวหน้าและการนำไปต่อยอด ปรับปรุง พัฒนาต่อต่างๆ
จุดเด่นที่เหมาะสมและคุณประโยชน์หลัก
- เหมาะกับการประเมินในช่วงเวลาก่อนเริ่มภาคการศึกษา ก่อนการเริ่มฝึกสมรรถนะและหลังในช่วงปลายภาคการศึกษา หรือในช่วงการฝึกสมรรถนะใกล้เสร็จสมบูรณ์
- เหมาะกับการประเมินเพื่อออกแบบ และวางแผนการพัฒนาสมรรถนะอย่างเป็นส่วนตัวให้กับผู้เรียน ตามโมเดลการเรียนแบบเป็นส่วนตัว (Personalized Learning) ที่มีเด็ก และภาพรวมสมรรถนะของเขาเป็นศูนย์กลาง
2.การประเมินสมรรถนะของผู้เรียนเชิงความก้าวหน้า (Formative Assessments)
Formative Assessments หรือการประเมินความก้าวหน้า หรือในอีกหลากหลายชื่อ เช่น การประเมินย่อย หรือการประเมินระหว่างเรียนคือการประเมินที่คุณครูประเมินให้กับเด็กๆ ระหว่างกระบวนการเรียนรู้เพื่อดูความก้าวหน้า จึงมักเรียกว่าการประเมินย่อยเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะจัดทำเป็นระยะๆ เช่น ในรูปของข้อสอบ หรือ Quiz ย่อยนั่นเองค่ะ
คุณครูแทบทุกคนคงจะคุ้นเคย และคุ้นชินกับการประเมินเชิงความก้าวหน้ากันอยู่แล้วโดยเฉพาะในบริบทของเนื้อหาเชิงวิชาการ แต่ในบริบทของการพัฒนาสมรรถนะของเด็กๆ รูปแบบการประเมินเชิงความก้าวหน้า ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นและอาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญและเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนอีกด้วย เพราะนอกจากจะช่วยให้มองเห็นพัฒนาการของเด็กๆ ในระหว่างกระบวนการแล้ว คุณครูยังสามารถมอบ Feedback ให้กับพวกเขาได้อย่างทันท่วงที และนำผลการประเมินที่ได้มาปรับปรุง พัฒนากระบวนการสอนของตนเองได้อย่าง Real Time
จุดเด่นที่เหมาะสม และคุณประโยชน์หลัก
- เหมาะกับการประเมินในช่วงระหว่างการสอน หรือการฝึกฝนสมรรถนะ การประเมินอย่างเป็นระยะตลอดการสอน
- สามารถช่วยให้คุณครูมองเห็นการเติบโตของเด็กๆ ในระหว่างการพัฒนาได้อย่างชัดเจน สามารถให้คำแนะนำ และคำชี้แนะได้อย่างทันท่วงที และสามารถนำผลการประเมินมาปรับปรุง พัฒนาวิธีการสอนได้อย่าง Real Time
3.การประเมินสมรรถนะของผู้เรียนเชิงสถานการณ์จริง (Authentic Assessments)
นอกเหนือจากการพัฒนาในรูปของการบรรยาย การทำความเข้าใจผ่านเนื้อหา ตลอดจนการสอนในรูปแบบต่างๆ อีกหนึ่งรูปแบบการสอนและการประเมินที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาสมรรถนะให้กับผู้เรียนก็คือการสอนเชิงสถานการณ์จริงไม่ว่าจะในลักษณะของการสวมบทบาท (Role Playing) เช่น การสวมบทบาทเป็นนักธุรกิจ ต่อรอง เจรจา จนถึงการลงสนาม ทำกิจกรรม พัฒนาทักษะในสถานการณ์จริง การลงชุมชน การสำรวจ การนำเสนอทางออกในสถานการณ์จริงต่างๆ ที่ถือเป็นช่องทางที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ ในการมีโอกาสทำความเข้าใจและฝึกฝนทักษะสมรรถนะของพวกเขาอย่างจริงจัง ในสถานการณ์ที่จะผลักดันให้พวกเขาต้องใช้ความคิด ทักษะ หรือคุณลักษณะต่างๆ ของพวกเขาออกมาจริงๆ
โดยในแนวทางนี้ การประเมินผลลัพธ์สมรรถนะของผู้เรียน ยังสามารถทำได้อย่างหลากหลาย ประเมินจากทั้งความรู้สึกหลังกิจกรรมของผู้เรียน ตลอดจนบุคคลที่สาม เช่น ชุมชนหรือผู้คน ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว มองเห็นทักษะใดของเด็ก มองเห็นสมรรถนะใด เป็นต้น
จุดเด่นที่เหมาะสมและคุณประโยชน์หลัก
- เหมาะสำหรับกิจกรรมการพัฒนาเชิงสถานการณ์จริง ทุกช่วงเวลาในตลอดระยะเวลาการเรียนรู้ ทั้งในรูปของกิจกรรมย่อยระหว่างการเรียนจนถึงกิจกรรมใหญ่ เป็นโปรเจกต์กลางภาคหรือปลายภาค เป็นต้น
- การฝึกฝนในสถานการณ์จริง สามารถช่วยผลักดันให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเปิดโอกาสให้คุณครูสามารถออกแบบการประเมินได้อย่างหลากหลาย เก็บผลจากหลากหลายแง่มุมและภาคส่วน
4.การประเมินสมรรถนะของผู้เรียนอย่างไม่เป็นทางการและมีความสนุกสนาน (Informal and Fun Assessments)
ใครว่าการประเมินต้องเป็นทางการและจริงจังเสมอไป โดยเฉพาะกับการสอนและพัฒนาสมรรถนะให้กับเด็กๆ ที่คุณลักษณะส่วนใหญ่แล้วล้วนอยู่ในบริบทของทักษะในชีวิตจริงหรือคุณลักษณะทางพฤติกรรม รูปแบบการประเมินอีกหนึ่งรูปแบบที่อาจกล่าวได้ว่าได้ผลดีอย่างยอดเยี่ยมจึงคือการประเมินในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการเข้ามาใช้ โดยเฉพาะการประเมินในรูปแบบ Gamification และเทคโนโลยีทางการศึกษา เช่น Kahoot!, Quizalize, FlipQuize, Flippity, หรือ Duolingo for Schools แต่ละเครื่องมือก็มีลูกเล่นการใช้งานและการช่วยประเมินที่แตกต่างกัน ช่วยให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ พัฒนาทักษะได้อย่างสนุกสนานและคุณครูยังสามารถดูการประเมินสมรรถนะในรูปของคะแนน, ระดับทักษะ ฯลฯ ได้อย่างชัดเจน
จุดเด่นที่เหมาะสมและคุณประโยชน์หลัก
- เหมาะสำหรับสำหรับการเป็นกิจกรรมการประเมินเล็กๆ ย่อยๆ ในทุกช่วงเวลาตลอดระยะเวลาการเรียนรู้
- สามารถช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เรียนและเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับคุณครูในการวัดและดูผลในรูปของคะแนนและระดับทักษะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการแสดงผลออกมาให้ทั้งในเชิงรายบุคคลและในเชิงเปรียบเทียบทั้งคลาส
5.การประเมินสมรรถนะของผู้เรียนโดยมีการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย (Technology-Enhanced Assessments)
นอกเหนือจากทุกแนวทางที่กล่าวมา อีกหนึ่งแนวทางที่อาจกล่าวได้ว่าสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของคุณครูได้อย่างมาก และยังช่วงเสริมสร้างกระบวนการประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง เที่ยงธรรม และโปร่งใสก็คือการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยนั่นเองค่ะ
ปัจจุบันเครื่องมือช่วยคุณครูประเมินนั้นมีมากมาย เช่น Edulastic ที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศหรือ Starfish Class ที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย จุดเด่นของเครื่องมือประเมินเหล่านี้ อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวแนวทางหรือกระบวนการเสียทีเดียวแต่อยู่ที่การช่วยให้คุณครูสามารถจัดการทุกรูปแบบการประเมินที่ได้เลือกใช้ได้อย่างเป็นส่วนตัว เป็นระบบและรวดเร็วมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นรายการสมรรถนะแบบ Diagnostic, Formative, Authentic หรือไปจนถึงแบบ Fun และ Informal คุณครูก็สามารถสร้างรายการของตัวเองได้ รวมศูนย์ทุกผลการประเมินนักเรียนในจุดเดียว และในเครื่องมืออย่าง Starfish Class คุณครูยังสามารถบันทึกผลการประเมินออกเป็น Digital Portfolio ในรูปของไฟล์ PDF หรือ Excel ได้อย่างง่าย
จุดเด่นที่เหมาะสมและคุณประโยชน์หลัก
- สามารถช่วยรวมศูนย์ทุกรูปแบบและผลการประเมิน สะดวกต่อการประเมินในทุกช่วงเวลา
- ในเครื่องมือ เช่น Starfish Class คุณครูสามารถใช้ฟีเจอร์ช่วยประเมินได้อย่างหลากหลาย อาทิ ดูผลการประเมินในรูปของกราฟ, บันทึกผลการประเมินออกมาในรูปของ Digital Portfolio, ดูผลรายบุคคล, ดูผลเชิงเปรียบเทียบทั้งห้องเรียน ฯลฯ
สรุป (Key Takeaway)
แม้อาจดูเหมือนเป็นการพัฒนาที่ง่าย แต่การพัฒนาสมรรถนะแท้จริงแล้วเป็นกระบวนการที่แสนละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความใส่ใจ ความมุมานะของคุณครู และตัวช่วยในการประเมิน
ที่หลากหลาย ตรงตามจุดประสงค์ของคุณครูอย่างแท้จริง ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยให้คุณครูสามารถประเมินได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็วนั่นเองค่ะ
อ้างอิง:
- Assessing Competency-Based Education | Victory Productions, Inc.
- Authentic Assessment in the Online Classroom - Center for Teaching and Learning | Wiley Education Services
- 6 Types of Assessment (and How to Use Them) | Prodigy Education
บทความใกล้เคียง
แบ่งปันไอเดีย สร้างห้องเรียนสมรรถนะตามเกณฑ์ วPA คลิปแรงบันดาลใจช่วยให้เห็นระดับมาตรฐานวิทยฐานะของครูได้อย่างไร
เคล็ดลับ วPA จากครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง
แบ่งปันไอเดีย สร้างห้องเรียนสมรรถนะตามเกณฑ์ วPA ผลลัพธ์ของผู้เรียน ด้านที่ 2 ของ วPA
Related Courses
เตรียมพร้อมกับวิทยฐานะใหม่
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งวิทยฐานะครู (วPA) เพื่อการพัฒนาการศึกษาและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู
เตรียมพร้อมกับวิทยฐานะใหม่
การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning เพื่อวิทยฐานะ (PA)
การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนคณิตศาสตร์ และเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินวิทยฐานะ (PA)
การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning เพื่อวิทยฐานะ (PA)
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.1 วิธีการสอน
หลักสำคัญ ในการสอนที่มีประสิทธิภาพ 8 ข้อ ซึ่งจะใช้ในการประเมินคลิปการสอนของครู เป็นแนวทางใหม่ของการประเมินวิทยฐานะของครู
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.1 วิธีการสอน
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)