สร้างเครือข่าย ปรับโฉมโรงเรียน โดยพหุปัญญาเสริมศักยภาพผู้เรียน
การปฏิรูปและพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ให้มีความเชื่อมั่นต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้นต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในห้องเรียนและโรงเรียนก่อน บนพื้นฐานความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ในฉบับของเขาเองและควรได้พัฒนาตามศักยภาพที่ถนัด จะเป็นแรงจูงใจสำคัญในการเรียนรู้หรืออาชีพในอนาคต โดยออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสม บุคลากรครูมีความรักและใส่ใจ มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนสถานการณ์ มีอุปกรณ์เครื่องมือในการสอน มีแหล่งเรียนรู้และบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปัจจัยเหล่านี้ คงไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง การพัฒนาจำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วนในรูปภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนา “ผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชน” ล้วนเป็นปัจจัยตั้งต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน
โรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิ (ป่าตาลหมื่นราษฎร์อุปการ) อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เดิมสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ปีการศึกษา 2558 คณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน มีมติขอถ่ายโอนการจัดการศึกษามาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการลงนามถ่ายโอนเมื่อวันที่ 16 พฤกษภาคม 2558 โดยชุมชนคาดหวังการส่งบุตรหลานไปโรงเรียนใกล้บ้านและการบริหารโรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (SBMLD) ถือเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนต้นแบบ และแรงบันดาลใจในการสร้างเครือข่ายทางการศึกษา ให้เป็นพลังในการสร้างคุณภาพ และมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับในระยะเวลาสั้นๆ สร้างความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสทางการศึกษาตามศักยภาพความถนัดของผู้เรียนที่ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ขยายจำนวนจาก 57 คนเพิ่มขึ้นกว่า 400 คนในปัจจุบัน
ทุกก้าวการเดินทางของโรงเรียนขนาดเล็กในปี 2558 กลายเป็นโรงเรียนเทศบาลที่ได้รับการยอมรับ ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการพัฒนาหลายๆ ด้าน ว่ากันว่า ส่วนสำคัญที่สุดของการเติบโตโรงเรียนนี้ คือ การเปิดใจของผู้บริหารและคณะครู ในการก้าวข้ามขีดจำกัด ที่มีจุดอ่อนและอุปสรรคของโรงเรียนขนาดเล็ก (SWOT) ที่มีมากมาย แต่ไปโฟกัสที่จุดแข็ง โอกาส ความคาดหวังและเป้าหมาย ของชุมชนเป็นสำคัญด้วยกลยุทธ์สร้างเครือข่ายร่วมพัฒนา จากชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ สถาบันอุดมศึกษา สถานศึกษาเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ เปิดโอกาสให้แก่บุคลากร โรงเรียนให้ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร จุดเน้นและเป้าหมายสถานศึกษา
เมื่อผู้บริหารเปิดใจในการเข้าสู่เครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโรงเรียนต้นแบบที่มีการจัดการศึกษาคุณภาพ หน่วยงานรัฐ เอกชนในท้องถิ่นที่มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และพร้อมส่งเสริมหรือนำมาต่อ
ยอดได้โดยการขอความร่วมมือจากคณะครู ให้ตระหนักรู้ในความสำคัญของภาคีเครือข่าย และปฏิบัติสนองต่อเงื่อนไขการอุดหนุนช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆด้วยใจในการช่วยกันสร้างเครือข่าย ทำให้ปัจจุบัน โรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิฯ มีเครือข่ายจำนวนมาก กว่า 30 แห่ง
ทุกๆ ความร่วมมือจากเครือข่าย ต้องนำมาบูรณาการให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน กับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน สอดคล้องกับเป้าหมายในการจัดการศึกษาโรงเรียนทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวมที่ กำหนดทิศทาง กิจกรรม หลักการ วิธีการและเป้าหมายการพัฒนาด้วย ยุทธศาสตร์ของโรงเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนต้องคงคุณภาพมาตรฐานทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ บนหลักการพื้นฐานการเรียนรู้อย่างมีความสุข และศักยภาพ ความถนัดของผู้เรียนตามหลักทฤษฎีพหุปัญญา กรอบแนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธและโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น
โรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชนและ ผู้เกี่ยวข้องกำหนดเป้าหมายทางการศึกษา ความเสมอภาคด้วยวิสัยทัศน์ “เป็นโรงเรียนสร้างผู้นำทางพหุปัญญา” อัตลักษณ์ “คนดี วิถีพุทธ” เอกลักษณ์” จัดการศึกษาแนววิถีพุทธและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยกำหนด School concept “พหุปัญญานำมาซึ่งความสำเร็จและอาชีพ” โดยมีหลายๆ เครือข่ายที่โรงเรียนได้ทำงานร่วม ล้วนมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่นการเข้าร่วมโครงการ TSQP หรือโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็ได้ทีมโค้ชจากมูลนิธิสตาร์ฟิชที่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันคือ พัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ที่มุ่งการพัฒนาระดับชั้นเรียนให้มีกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการหาคำตอบ มากกว่าเนื้อหาความรู้หรือคำตอบ
“การสร้างเครือข่ายทางการศึกษา มีความสำคัญมาก และผู้ริเริ่มต้องมาจากผู้บริหาร โดยอาศัยความร่วมมือจากครู และมีเป้าหมายของโรงเรียนอย่างชัดเจน ว่าจะไปนำเสนออะไร อยากให้เครือข่ายสนับสนุนเรื่องไหน เมื่อไปศึกษาดูงานจะนำมาปรับใช้กับบริบทโรงเรียนอย่างเหมาะสม เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เช่น โรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิฯ ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติตามแนวพุทธ”หลักปัญญา๓” มาหนุนเสริมในการเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 และนักพัฒนานวัตกรรมตาม 5 ขั้นของ STEAM design process ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ จากการคิด ฟัง ถาม เขียน การคิดเพื่อหาเหตุผลของสภาวะที่เป็นอยู่ สาเหตุ เป้าหมายที่ต้องการและวิธีการหรือทางเลือก ผ่านการคิดไคร่ครวญแบบโยนิโสมนสิการ ออกแบบและลงมือปฏิบัติจนได้ทางเลือกที่เหมาะสม เชิงพุทธ โดยกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบพื้นที่นักคิด Maker space ที่เชื่อมโยงหลักพหุปัญญาได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นการผสมผสานการเรียนรู้ของศาสตร์โลกตะวันตกและตะวันออกในรูป Blended Learning ผ่านกิจกรรม หลักสูตรเพิ่มเติม จัดการศึกษาในรูปแบบที่เป็นเหตุเป็นผล กระบวนการคิด และต้องนำไปใช้ได้จริงในวิถีชีวิต สิ่งเหล่านี้ที่ทำได้ ด้วยการหนุนเสริมจากเครือข่ายมากกว่า 30 แห่ง”
ปัจจุบัน โรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิฯ มีนักเรียนกว่า 400 คน มีครูทั้งหมด 32 ท่าน มีหลักสูตรเพิ่มเติมตามหลักพหุปัญญากว่า 10 รายวิชา บางอย่างครูไม่ถนัด แต่จะมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ทีมโค้ชมืออาชีพเข้ามาช่วยสอน หรืออุดหนุนจากเทศบาล เช่นเดียวกัน กิจกรรมว่ายน้ำ ทางโรงเรียนได้เครือข่ายจาก The sun newcenter สวนน้ำสวนสนุก เข้ามาช่วยสอนเด็กๆ และให้ใช้สวนน้ำเป็นสระว่ายน้ำ เพื่อให้เด็กมีทักษะว่ายน้ำ หรือ กิจกรรมฝึกสมาธิ 14 ท่าเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมโลกของกีฬา ศิลปะ นาฏศิลป์ ดนตรี ฯลฯ เป็นต้น
“โรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิฯ” จะมองหาเครือข่ายที่มีแนวทางคล้ายๆ กับเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนด เช่น การร่วมเป็นหนึ่งในโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบของกสศ. และได้มีมูลนิธิ
สตาร์ฟิชเป็นโค้ชพี่เลี้ยงหรือได้ไปศึกษาดูงานโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่มีการใช้กระบวนการเรียนรู้ มีพื้นที่ให้นักเรียนเป็นนักคิด ได้นำมาผสมผสาน เชื่อมโยงกับหลักสูตรพหุปัญญาของโรงเรียน กระบวนการ 5 Step มาใช้ ทำให้ขณะนี้โรงเรียนเกิดการคิดนวัตกรรม ผู้เรียนคิดวัตกรรม คิดเป็นระบบ และเป็นการสร้างนักนวัตกรรม
การมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการบริหารจัดการโรงเรียนมีความจำเป็นอย่างมากกับการเรียนรู้แบบ Active Learning เรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติ เพราะข้อจำกัดของโรงเรียนบางอย่างจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้เองอาศัย เครือข่ายเข้ามาให้คำแนะนำ ชี้แนะ หนุนเสริมช่วยให้การขับเคลื่อนสถานศึกษาได้ดีขึ้น
แม้ผู้บริหารโรงเรียนต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง หรือการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่าย แต่ผู้บริหารจะทำเพียงผู้เดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนร่วมด้วย บทบาทของผู้บริหาร คือ ต้องแสดงให้เห็นความจริงใจว่าการที่ดึงแต่ละเครือข่ายเข้ามาพัฒนาโรงเรียน ไม่ใช่ต้องการเพียงงบประมาณ แต่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ตามเปาหมายของทิศทางพัฒนาคืออัตลักษณ์ของผู้เรียน เอกลักษณ์ของสถานศึกษา ตามเป้าหมายสำคัญสูงสุดดังคำกล่าว”คุณภาพศิษย์ สะท้อนคุณภาพครูและสถานศึกษา”
ความร่วมมือ เครือข่าย การทำงานร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องเปิดใจ เปิดการรับฟัง และต้องปรับ mindset ของตนเอง ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น เพราะในโลกนี้คงไม่มีใครสมบูรณ์ หรือเก่งที่สุด แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้และนำสิ่งที่เรียนรู้มาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้
เกือบจะทุกกิจกรรมของ “โรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิฯ” ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้งบของโรงเรียน เนื่องจากงบมีจำกัด ต้องขอความร่วมมือจากเครือข่ายในการพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์กิจกรรม โครงการต่างๆ เพื่อเด็ก และต้องมีตัวชี้วัด การประเมินที่จะทำให้เครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้เห็นถึงการพัฒนาของผู้เรียน และเห็นถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นต่อโรงเรียน เป็นคำตอบของท้องถิ่นชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการศึกษาด้วยตนเองที่ อยากเห็นเด็กทุกคนได้มีโอกาสเติบโตในสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนคุณภาพ ให้เป็นตามศักยภาพ และสร้างความเท่าเทียม เสมอภาคให้เกิดขึ้น การมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการบริหารจัดการโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งกำลังเสริมให้แก่ผู้บริหาร ครู ได้ขับเคลื่อนระบบการศึกษาเพื่อทุกคนให้ได้เรียนรู้ตามความถนัด ความชอบของตนเอง และสามารถนำไปสู่อาชีพ ดูแลตนเองและครอบครัวในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้ได้
นายเฉลิพล อินทชัยศรี
ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิ (ป่าตาลหมื่นราษฎร์อุปการ)
Related Courses
Micro Learning เทคนิคการดูแลสุขภาพกายระดับชั้น ม.ต้น
วัยรุ่น หากมีร่างกายที่สมส่วนย่อมทำให้มีสุขภาพดี การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะส่งผลร่างกายแข็งแร ...
การพัฒนาทักษะการอ่าน
หนังสือเปรียบเสมือนคลัง ที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ต่างๆ มากมาย การพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจึงมีความสำคัญเป็น ...
สร้าง Self-Esteem เสริมคุณค่าให้กับนักเรียนอย่างไร
Self-Esteem หรือ การเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการ ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...