FOMO โรคกลัวตกเทรนด์ของเด็กเจน Z
“เธอพลาดโอกาสไปแล้วล่ะ”
“ยังสะพายกระเป๋าแบบนี้อีกเหรอ มันตกเทรนด์ไปแล้วนะ”
สิ่งที่น่ากลัวสำหรับวัยรุ่น นอกจากการไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ แล้ว ยังรวมถึงการตกเทรนด์ พลาดกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือเป็นคนไม่ทันกระแส ความหวาดกลัวนี้ มีมากจนถึงขั้นมีคำศัพท์เฉพาะไว้เรียกอาการดังกล่าว นั่นคือ FOMO ซึ่งมาจากคำว่า Fear of missing out หรือ กลัวตกกระแส ไม่ทันเทรนด์ใหม่ๆ หรือรู้ช้า ไม่ทันเพื่อนนั่นเอง
FOMO ความกลัวที่มาพร้อมโลกโซเชียล
Fear of missing out หรือตัวย่อว่า FOMO นี้ถูกบัญญัติเป็นคำศัพท์ใน Oxford English Dictionary เมื่อปี 2013 โดยดิคชันนารี อ๊อกฟอร์ด ให้ความหมายคำนี้ไว้ว่า เป็นอาการวิตกกังวลของผู้คนเมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากไม่ได้รับเชิญ ติดธุระไปร่วมงานไม่ได้ หรือแค่รู้สึกไม่อยากไป
โดยทั่วไปแล้วคนที่มีอาการ FOMO มักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีบทบาททางสังคม คนอื่นๆ ไม่ให้ความสำคัญ ความรู้สึกเหล่านี้นำไปสู่ความกังวลและรู้สึกว่าตนเองด้อยค่ากว่าคนอื่นๆ การศึกษาในต่างประเทศพบว่าวัยที่มักมีอาการ FOMO มากที่สุดคืออายุระหว่าง 18-30 ปี
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าวัย Pre-teen และวัยรุ่นจะได้รับผลกระทบจากอาการ FOMO มากที่สุด โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ใช้โซเชียล มีเดีย การเห็นภาพเพื่อนๆ ไปเที่ยวคาเฟ่สวยๆ ทำกิจกรรมหลากหลาย ล้วนส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบ ยิ่งหากว่าวัยรุ่นไม่ได้ออกไปไหน ก็จะรู้สึกว่าชีวิตตนเองน่าเบื่อ รู้สึกว่ามีหลายอย่างที่พวกเขา “พลาด” จนกลายเป็นความรู้สึกว่าตัวเองตกกระแส กลัวคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องหรือเพื่อนๆ ไม่ยอมรับ
ธรรมชาติของวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับ จึงอยากทำทุกอย่างเพื่อสร้างความประทับใจ การได้ไปในสถานที่กำลังฮิต มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่อยู่ในกระแส เพื่อจะได้โพสต์ในโซเชียล มีเดีย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ ยิ่งมีคนมากดไลก์ แสดงความคิดเห็นมากเท่าไร ยิ่งทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนฝูง
FOMO อาการกลัวตกเทรนด์ เกิดได้อย่างไร
ตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว คนเรามักสงสัยตำแหน่งทางสังคมของตัวเองอยู่เสมอ ไม่มากก็น้อย หลายคนน่าจะเคยสงสัยว่าตนเองอยู่ตรงไหนในสังคมนี้ คนอื่นให้ความสำคัญหรือมองเราอย่างไรบ้าง
แต่เมื่อโซเชียล มีเดีย ถือกำเนิดขึ้น ความสงสัยนี้ก็เพิ่มทวีคูณขึ้น จนเข้าขั้น FOMO โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่หมั่นเช็คสเตตัส อัพเดทสเตตัส แชร์สตอรี่ ส่องสตอรี่ของเพื่อนและคนที่ตนเองสนใจ ดังนั้น หากวัยรุ่น ไม่ได้ไปคอนเสิร์ตที่เพื่อนๆ ไปกัน หรือไม่ได้ไปเที่ยวทะเลช่วงปิดเทอมเหมือนคนอื่นๆ พวกเขาก็มักรู้สึกว่าตนเองไม่เท่ ไม่น่าสนใจเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่มีเรื่องราวมาโพสต์ในโลกออนไลน์
มีการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่าอาการ FOMO เชื่อมโยงกับการใช้โซเชียล มีเดีย กล่าวคือ ยิ่งคนเราใช้โซเชียล มีเดียมากเท่าไร อาการ FOMO ก็มีโอกาสรุนแรงขึ้นเท่านั้น นักวิจัยบางคนยังเชื่อว่าความรู้สึก “กลัวตกเทรนด์” นี่เอง ที่ทำให้โซเชียล มีเดีย ประสบความสำเร็จ เพราะอาการ FOMO นี้เป็นแรงขับให้คนเราใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่าเรากำลังทำอะไร ที่ไหน
แต่ยังรวมถึงเราสนุก และมีความสุขมากแค่ไหนด้วย
เป็นเรื่องธรรมดามาก หากวัยรุ่นจะใช้ชีวิตโดยขึ้นอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นในโลกออนไลน์ และหากพ่อแม่ถามลูกวัยรุ่นว่ามีความกังวลอะไรเมื่อใช้โซเชียล มีเดียบ้างหรือไม่ เด็กๆ ก็มักบอกว่า ไม่ ซึ่งลูกอาจไม่ได้โกหก เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ตัวว่าความหงุดหงิด รำคาญใจ ไม่มีความสุขนั้น คือความกังวลอย่างหนึ่ง ที่อาจมีสาเหตุมาจาก ความกลัวตกเทรนด์หรือ FOMO นั่นเอง
เกิดอะไรขึ้น เมื่อวัยรุ่น FOMO
ความกังวลว่าคนอื่นๆ เขาทำอะไรกัน มีแฮชแท็กอะไรขึ้นเทรนด์ เรื่องใดอยู่ในกระแส ทำให้วัยรุ่นพลาดที่จะได้ใช้ชีวิตตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น FOMO ทำให้คนเราให้ความสำคัญกับสิ่งนอกกาย มากกว่าความรู้สึกแท้จริงในใจ นำไปสู่ภาวะสูญเสียตัวตน ไม่เป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งต้องเผชิญกับการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง
มีการศึกษาพบว่า ยิ่งใช้เฟซบุ๊กนานเท่าไร ความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมของผู้ใช้ก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าตนเองต้องตามให้ทันเทรนด์ที่คนอื่นโพสต์อยู่ตลอดเวลา การศึกษาอีกชิ้นพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก รู้สึกแย่ เมื่อพวกเขาเห็นรูปภาพคนอื่นๆ ไปเที่ยวพักผ่อน
การสำรวจจาก National Stress and Wellbeing ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า 60% ของวัยรุ่น รู้สึกกังวลเมื่อเห็นภาพเพื่อนๆ สนุกสนานมีช่วงเวลาที่ดี โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนร่วม 51% บอกว่าตนเองรู้สึกวิตกหากไม่รู้ว่าเพื่อนๆ กำลังทำอะไรกันอยู่
ผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อวัยรุ่นหมกมุ่นอยู่กับการตามเทรนด์ในโลกออนไลน์ พวกเขามักขาดสมาธิในการเรียน และในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น วัยรุ่นที่ก้มหน้าดูมือถือขณะเดินข้ามถนน เพิ่มความเสี่ยงที่อาจถูกรถชน เป็นต้น
ช่วยวัยรุ่น รับมือ FOMO
วิธีที่จะช่วยวัยรุ่นรับมือกับอาการ FOMO ได้ก็คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อเรื่องต่างๆ โดยทำได้ดังนี้
- รู้ทันความคิดลบ : วิธีง่ายๆ ที่จะฝึกวัยรุ่นให้เท่าทันความคิดของตัวเอง คือ การเขียนไดอารี่ ในแต่ละวันให้ลูกฝึกสังเกตว่ามีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้นเมื่อใด อะไรเป็นสาเหตุ เช่น รู้สึกหงุดหงิดทุกครั้ง ที่เห็นเพื่อนโพสต์รูปที่ถ่ายในคาเฟ่เก๋ หรือ รู้สึกเบื่อเมื่อนึกว่าต้องทำการบ้าน แทนที่จะไปเที่ยว การจดบันทึกช่วยให้วัยรุ่น ได้หยุดคิดและทบทวนหาสาเหตุว่าความคิดเชิงลบในแต่ละวันเกิดจากอะไรบ้าง
- แทนที่ความคิดบวก : เมื่อวัยรุ่นรู้ทันความคิดเชิงลบของตัวเอง อีกสิ่งหนึ่งที่จะค้นพบด้วยก็คือ คำพูดลบๆ ที่พวกเขามักบอกกับตัวเอง ซึ่งหากมีความคิดลบเกิดขึ้น ลองแทนที่ด้วยความคิดเชิงบวก เช่น หากคิดว่าชีวิตเราน่าเบื่อจัง ลองเปลี่ยนเป็น ชีวิตเราอาจจะไม่ค่อยมีสีสันแต่เราก็ได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่เยอะเลยนะ
- หยุดพักจากหน้าจอ : การปิดเครื่อง หรือ ตั้งค่าห้ามรบกวน อาจไม่เพียงพอหยุดความรู้สึก FOMO ได้ วัยรุ่นอาจยังกังวลว่าเพื่อนๆ ทำอะไรกัน มีเทรนด์ทวิตเตอร์อะไรใหม่ๆ แม้จะปิดเครื่องไปแล้วก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือ ในเวลาที่ปิดเครื่องนี้ ควรหากิจกรรมอื่นๆ ทำด้วย เช่น อบขนม ไป shopping กับแม่ อ่านหนังสือ ล้างรถ ต่อโมเดล ฯลฯ เพื่อให้ใจได้จดจ่อกับสิ่งอื่นและค้นพบสิ่งที่ตนเองชื่นชอบอย่างแท้จริง
- ยอมรับความจริง : พ่อแม่ควรอธิบายให้วัยรุ่นเข้าใจว่า ข้อจำกัดและความสามารถของแต่ละครอบครัวมีไม่เท่ากัน เพื่อนคนหนึ่งอาจไปเที่ยวได้ทุกวันหยุด เพราะบ้านอยู่ในกลางเมืองเดินทางสะดวก ขณะที่บางคนอาจไม่ได้ไปเที่ยวเลยเพราะต้องช่วยดูแลน้อง เพราะฉะนั้น อาจมีงานปาร์ตี้ที่ลูกได้ไป และบางงานไม่ได้ไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าลูก “พลาด” สิ่งสำคัญในชีวิต ภาพถ่ายในโซเชียล มีเดีย อาจหลอกลวงได้ วัยรุ่นไม่ควรรู้สึกว่าการไม่ได้ไปที่ไหนสักแห่ง หรือไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้มีภาพในโซเชียล คือตัวบ่งชี้ว่าชีวิตตนเองล้มเหลว หรือไม่มีความสำคัญ ช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามความรู้สึกว่าชีวิตตนเองน่าเบื่อ และชี้ให้วัยรุ่นเห็นว่ามีหลายสิ่งที่ลูกทำและมีความสุขได้ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับโลกออนไลน์
สุดท้ายแล้ว ชี้ชวนให้วัยรุ่นตระหนักว่า การโพสต์ภาพไปเที่ยว แต่งตัวสวย มีความสุข เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเพียง “ด้านหนึ่ง” ในหลายๆ ด้านของชีวิตแต่ละคนเท่านั้น คนเรามักเลือกโพสต์ภาพที่สวยงามและมีความสุขที่สุดเสมอ สิ่งที่เราไม่เห็นคือเรื่องราวข้างหลังภาพนั้นต่างหาก เพราะฉะนั้นอย่าให้ภาพถ่ายไม่กี่ภาพทำให้เราต้องรู้สึกทุกข์ใจ ในทางกลับกัน นำเวลาเหล่านั้นไปทำในสิ่งที่ตนเองมีความสุขดีกว่า
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ (Emotional Intelligence)
การควบคุมอารมณ์เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวของวัยรุ่น เป็นทักษะความฉลาดทางอารมณ์ที่ควรได้รับการส่งเสริม เพื่อสามารถใช้ ...
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ (Emotional Intelligence)
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 100 เหรียญ
สร้าง Portfolio ให้โดนใจใช่เลย
เครื่องมือช่วยในการออกแบบทำ Portfolio จะต้องจัดวางอย่างไรให้สวย ต้องมีหัวข้ออะไรบ้าง จะแนบรูปภาพ ผลงาน กิจกรรมแล ...
Applications เพื่อสร้างงานกราฟิกอย่างง่าย
ตัวช่วยดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังสนใจในการทำอาชีพบนโลกออนไลน์ และต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับผลงานของตัวเอง เพื่อเพิ่ม ...