5 ขั้นตอนออกแบบ Portfolio ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยปี'65
เมื่อพอร์ตฟอลิโอ (Portfolio) 10 หน้า หรือ แฟ้มสะสมผลงานพร้อมประวัติผู้สมัครเรียน คือจุดชี้ชะตาของน้องๆ วัยรุ่น ม.ปลาย ที่กำลังสอบตรงเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
พี่ๆ Starfish Labz จึงอยากหาตัวช่วยมาแนะแนวหลักการก่อนเขียน Portfolio ใน 5 ขั้นตอนต่อไปนี้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกนิยมใช้คิดนวัตกรรมล้ำๆ เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ
และนั่นก็คือ ‘กระบวนการคิดเชิงออกแบบ’ (Design Thinking Process) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกโจทย์ในชีวิต อย่างการสอบติดมหาวิทยาลัยและคณะในฝัน
Stage 1: Empathize
พิชิตได้ทุกความท้าทาย แค่ต้องขวนขวายค้นคว้า เพื่อนำมาตีโจทย์ให้แตก
พี่ๆ เชื่อว่าน้องๆ รุ่นใหม่คงจะต้องศึกษาเกี่ยวกับสาขาที่ตนเองสนใจสมัครเข้าเรียนกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่บางคนอาจยังสับสน ไม่รู้จะเลือกเส้นทางไหนดี ซึ่งเป็นคำถามที่น้องๆ ควรต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนกำหนดเป้าหมายชีวิต
ที่เว็บไซต์ Starfish Labz เรามีเรื่องราวให้แรงบันดาลใจแก่น้องๆ www.starfishlabz.com/topic/4-future-ready/blogs ที่อาจช่วยให้หลายคนเห็นภาพกว้างและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสาขาอาชีพต่างๆ ประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น
น้องๆ อาจลองเลือกรายวิชาน่าสนุกที่ทำให้เราอยากเรียนในสาขานั้นๆ ออกมา ทำราวกับว่าเราได้เข้าไปเป็นเด็กปีหนึ่งแล้ว เขียนอธิบายสั้นๆ ว่าแต่ละวิชาที่เลือกนั้นจะช่วยให้น้องๆ บรรลุเป้าหมายของตัวเองในอนาคตได้อย่างไร เช่น สามารถนำไปประกอบอาชีพในฝันได้ เป็นต้น
แต่หากยังไม่แน่ใจ หรือยังตัดสินใจเลือกเอกไม่ได้ ก็ให้ลองพิจารณาจากทักษะที่เรามีความถนัด หรือควรต้องมีติดตัวไว้ให้อุ่นใจว่าจะนำไปปรับใช้ในอนาคตได้ เพราะไม่แน่ว่าอาจมีอาชีพใหม่ๆ แตกแขนงออกมา ทั้งที่ตรงสาขาหรือไม่ตรงสายเลยก็ได้ ขอเพียงเรามีฐานความรู้ ศักยภาพ และไม่หยุดขวนขวายเรียนรู้ น้องๆ ก็สามารถสร้างความสำเร็จในแนวทางของตัวเองได้
Stage 2: Define
วิเคราะห์หาเหตุผลสนับสนุนซิว่าทำไมกรรมการถึงต้องเลือกเรา
ลองมองในมุมของคณะกรรมการ แล้วเขียนความเป็นไปได้ทั้งหมดออกมาเป็นข้อๆ เช่นว่า มีคุณสมบัติและความสามารถอะไรบ้างที่ทำให้เราเหมาะสมจะเรียนในสาขานี้ แล้วมีอะไรที่ต้องการเรียนรู้จากที่นี่บ้าง ซึ่งสอดคล้องกับความถนัด ความหลงใหล และทักษะที่มีอยู่ในตัวให้เฉิดฉายขึ้นมาได้
การตั้งประเด็นคำถามกับตัวเองด้วยมุมมองที่หลากหลาย จะช่วยให้เราได้เขย่าความคิดให้หลุดออกจากกรอบเดิมๆ ซึ่งจะช่วยทำให้เราเห็นภาพตัวเองได้ชัดเจนขึ้น
Stage 3: Ideate
แสดงจุดแข็งและความพร้อมของเราว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนแค่ไหน
สร้างคาแรกเตอร์สมมติที่มีแถบค่าพลังต่างๆ ดูสิ แล้วลองประเมินตนเองว่ามีเรื่องไหนที่มีโอกาสเป็นไปได้จริงสูง เพราะเราอาจจะมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว สามารถเติบโตต่อยอดต่อไปได้ไม่ยากเกินความตั้งใจ
เมื่อเริ่มมองเห็นจุดแข็งของตัวเอง เราก็จะสามารถโน้มน้าวใจกรรมการให้เชื่อว่าเรามีคุณลักษณะครบถ้วนพอจะเรียนสาขานั้นรุ่ง เราก็จะมีโอกาสผ่านเข้าสู่รอบลึกไปแสดงความสามารถและสัมภาษณ์ได้
แต่ก็ต้องระวังอย่าโม้เสียจนเกินจริง หรือรีบตัดใจ มองตัวเองอ่อนด้อยจนหมดกำลังใจ แล้วยอมแพ้ไปเสียก่อน ขอแค่เราขยันสร้างจุดแข็ง และกล้าจะลงสนามจริง ออกไปเผชิญหน้ากับความกลัวตั้งแต่ตอนที่ยังวัยรุ่น ซึ่งยังมีเวลาให้ล้มลุกคลุกคลาน ยิ่งรู้ตัวเร็วก็ยิ่งแก้ไขได้ทันเวลา อย่างน้อยๆ ก็ถือว่าได้ประสบการณ์จากความผิดพลาดเพื่อเก็บมาเป็นบทเรียนไปฮึดสู้ในด่านต่อๆ ไป
Stage 4: Prototype
สร้างสรรค์ต้นแบบที่ปรับแต่งง่ายและไม่ต้องลงทุนสูง
ผสมผสานไอเดียจนได้แนวทางขึ้นโครงแล้ว ก็เริ่มลงมือเขียนร่างแรกของ Portfolio แต่ละส่วนลงในกระดาษ A4 หรือสมุดจดธรรมดาราคาประหยัดกันเลย
ยังไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ จะวาดภาพประกอบยึกยือ จะขีดฆ่าเปลี่ยนใจยังไงก็ได้ ขอให้ตัวเราเข้าใจก็พอ ยังไม่ต้องคำนึงถึงความสวยงามอะไรมากมาย แล้วค่อยๆ ปรับไปจนกว่าจะสื่อสารให้คนอื่นเห็นภาพเดียวกับเราได้
ค่อยๆ คัดสรร ร้อยเรียง และตัดทอน คิดภาพและถ้อยคำ ทุกสิ่งต้องเล่าเรื่องได้กระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น บอกคุณลักษณะเด่นๆ ของเราให้ครบถ้วน จากนั้นลองถ่ายทอดจุดขายของเราลงไปในพื้นที่อันจำกัดทั้ง 10 หน้า ต้องมีสัดส่วนเนื้อหาอะไรบ้าง จะจัดวางภาพและตัวหนังสืออย่างไรให้เป็นกลุ่มก้อนช่วยให้อ่านง่าย
โดยน้องๆ สามารถเข้ามาสร้างแบบจำลองออนไลน์ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ Starfish Labz ของเรา คลิกที่นี่ bit.ly/3Cdu9mC เพื่อเข้าชมวิธีใช้งานฟีเจอร์สร้างแฟ้มผลงาน
คณะกรรมการจะต้องสัมผัสถึงความตั้งใจจริงสะท้อนผ่านหน้ากระดาษออกมาได้ ให้รู้กันไปเลยสิว่าเด็กอย่างเราน่ะมีของ ถ้าสร้างความประทับใจให้คณะกรรมการจดจำเราในแง่บวกได้ทันทีที่อ่าน น้องๆ จะมีโอกาสสูงมากทีเดียวที่จะติดเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ
Stage 5: Test
ลองนำต้นแบบ Portfolio ไปทดสอบและปรึกษาผู้รู้
เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สมมติฐาน หรือการทดสอบประสิทธิภาพว่า Portfolio ของเราเล่าเรื่องได้ดีพอแล้วรึยัง มีคำผิดไหม หน้าตาผ่านรึเปล่า แล้วจะต้องพัฒนาปรับปรุงอะไรเพิ่มอีกบ้าง
ถ้ารู้สึกว่าเรามีผลงานน้อยชิ้นเกินไป อย่าเพิ่งกังวล ขอแค่สื่อถึงความสดใหม่ของไอเดีย การค้นพบรระหว่างทาง คุณค่าและประสบการณ์ที่ได้ เเล่าถึงแรงบันดาลใจ บอกที่มาที่ไปที่คนอ่านต้องทึ่ง เช่น พบปัญหาใกล้ตัวแล้วเปลี่ยนมาเป็นพลังสร้างสรรค์ ความกล้าลงมือทำเท่าที่วัยรุ่นอย่างเราพอจะทำได้นี้ ช่วยขับเคลื่อนประเด็นสังคมในวงเล็กๆ ให้ขยายวงกว้างออกไปได้ เป็นต้น แล้วการเล่าเรื่องนี่แหละจะเพิ่มคะแนนให้น้องๆ ได้
ถ้ามีผลตอบรับที่สื่อความหมายแทนความรู้สึกจริงของผู้มีส่วนร่วมก็อาจใส่ลงไปด้วย หรือไม่ก็อาจสรุปบทเรียนที่ทำให้เรามีไฟอยากเก่งขึ้นกว่านี้ เหตุผลเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนว่าเราคู่ควรจะเรียนต่อที่นี่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องไม่เยิ่นเย้อ ผลงานหรือกิจกรรมละ 1 หน้า รวมภาพและเรื่องแล้ว
เมื่อใส่ข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนทุกหน้าแล้ว น้องๆ สามารถกดแชร์จากเว็บไซต์ Starfish Labz ของเราไปให้ครอบครัว คุณครู และเพื่อนๆ ช่วยฟีดแบ็กกลับมาได้โดยไม่ต้องเปลืองหมึกพิมพ์สี่สี
อย่าลืมจดคำติชมเก็บไว้กลับมาปรับปรุงให้ดีขึ้น และยิ่งถ้าหาทางเข้าไปสอบถาม ขอคำแนะนำ และคลุกคลีกับรุ่นพี่ในคณะนั้นๆ ได้ หรือผู้ใหญ่ที่ประกอบอาชีพด้านนี้โดยตรง ไม่ว่าจะติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสมัครไปร่วมงาน Open House ก็จะช่วยให้น้องๆ ได้ข้อมูลเฉพาะเจาะจง เพื่อนำมาสร้างสรรค์ Portfolio ของเราให้โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ
ทั้ง 5 ขั้นตอนคิดเชิงออกแบบเพื่อนำเสนอตัวเองผ่าน Portfolio นี้ ยังสามารถย้อนกระบวนการกลับไปรื้อ เขียน เปลี่ยนเลย์เอาต์ใหม่จนกว่าน้องๆ จะรู้สึกพอใจ และรู้สึกว่ากระดาษ 10 แผ่นนั้นดูมีมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้นมาตั้งเยอะ เพราะมีความภาคภูมิใจของเราอัดแน่นอยู่ในนั้นนั่นเอง
Sources:
How to use Design Thinking to build the Perfect Portfolio
The Portfolio: A Case Study in Design Thinking
www.linkedin.com/pulse/design-project-online-portfolio-jared-karp
The Five Stages of Design Thinking
canvas.unl.edu/courses/73802/pages/5-stages-of-design-thinking?module_item_id=1968000
Related Courses
Applications เพื่อสร้างงานกราฟิกอย่างง่าย
ตัวช่วยดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังสนใจในการทำอาชีพบนโลกออนไลน์ และต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับผลงานของตัวเอง เพื่อเพิ่ม ...
การสร้างรายได้จากสติกเกอร์ Line
เมื่อยุคเปลี่ยนไปการสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเปลี่ยนตาม จากการพูดคุยกลายเป็นการพิมพ์คุยกัน การสร้างสติกเกอร์ไลน์จึงเป็นอาชีพ ...
ก้าวสู่อาชีพ ขายของออนไลน์
การขายของออนไลน์ เป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ แม่ค้าออนไลน์จึงควรเรียนรู้เทคนิควิธีการและทำความเข้าใจถึงสินค้ ...
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล (Media Literacy)
ถึงเวลาที่น้องๆ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและสะดวกต่อการเข้าถึ ...