Hard Skills + Soft Skills และ 7 เทรนด์การเรียนรู้เพื่อการศึกษาในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” น่าจะเป็นข้อความที่เหมาะสมที่สุด ในการแสดงให้พวกเราเห็นว่า “ความรู้” ไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 เนื่องจากความรู้ต่างๆ ในยุคนี้มักอยู่ในรูปแบบ “VUCA” ซึ่งเป็นคำที่ย่อมาจาก V-Volatility (การเปลี่ยนไว), U-Uncertainty (ความไม่แน่นอน), C-Complexity (ความซับซ้อน) และ A-Ambiguity (ความคลุมเครือ) ความรู้ต่างๆ จึงมีลักษณะของความไม่แน่นอนสูง พยากรณ์ได้ยาก และคลุมเครือ ซึ่งเป็นความจริงที่พวกเราและเด็กๆ ทุกคนต้องเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบัน
ทุกวันนี้ ความรู้นอกจากจะถูกค้นหาและเข้าถึงได้ง่ายจากทุกสถานที่และทุกเวลาที่ต้องการเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ความรู้ยังมีอายุที่สั้นลงและล้าสมัยได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น มันจึงสำคัญมากที่เราจะต้องสอนให้เด็กๆ เข้าใจว่า “ความรู้ถูกสร้างมาได้อย่างไร และรู้ว่าแม้วันนี้ความรู้จะถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็อาจถูกล้มและเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน” และยังมีสิ่งอื่นอีกที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้ นั้นคือ “ทักษะ” (Skills) ซึ่งเป็นสามารถในการกระทำหรือการปฏิบัติเพื่อประยุกต์สิ่งที่ได้รู้มาในการทำงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ หรือสามารถนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้เพื่อประกอบอาชีพและประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้
โดยทั่วไป เราอาจสามารถแบ่งทักษะได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- Hard Skills คือ ทักษะหรือความสามารถที่ใช้ในการทำงานในแต่ละสายอาชีพ ซึ่งสามารถวัดประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอ่าน การเขียน การคำนวณ การทำบัญชี การเล่นกีฬา การเขียนโปรแกรม การวาดภาพ การวิจัย การทำอาหาร การใช้เครื่องมือต่างๆ เป็นต้น
- Soft Skills คือ ทักษะหรือความสามารถเฉพาะบุคคลที่ใช้เครื่องมือวัดหรือประเมินเป็นระดับคะแนนได้ยาก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นผู้นำ การบริหารเวลา มนุษยสัมพันธ์ การปรับตัว การควบคุมอารมณ์ เป็นต้น
สำหรับวิธีการแยกแยะว่า ทักษะใดเป็น Hard skills หรือทักษะใดเป็น Soft skills โดยทั่วไปแล้ว อาจใช้หลักการ ดังต่อไปนี้
- Hard skills เป็นเรื่องของวิชาชีพ (Professional) ในขณะที่ Soft skill มีความเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ (Personality)
- Hard skills เป็นทักษะซึ่งสามารถใช้เครื่องมือวัด ประเมิน หรือทดสอบได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนกว่า Soft skills
- การใช้ Hard skills จะเป็นการใช้ทักษะกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่การนำ Soft skills มาใช้จำเป็นต้องเข้าใจบริบทและประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
อ่านบทความเกี่ยวกับ “Soft Skills ที่ต้องมีในยุค AI”
เพิ่มเติมได้ที่ www.marketingoops.com/reports/industry-insight/ibm-research-soft-skills-in-digital-disruption-world/
ในอนาคต “ลูกหลานของเราอาจจะต้องทำงานในอาชีพที่ไม่เคยมี ด้วยเครื่องมือที่เราเองก็ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน” ซึ่ง Professor Kar Yan Tam คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) ได้คาดการณ์ว่า กว่า 85% ของงานที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 นั้น เราอาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า มันจะเป็นอาชีพหรือตำแหน่งงานอะไรบ้าง แต่ทักษะของงานเกิดใหม่ในโลกอนาคตจะเป็นการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ รวมถึงการอาศัยความชำนาญด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของเราต่อการเรียนรู้และการทำงาน แล้วเราจะเตรียมเด็กๆ ของเราให้เข้ากับโลกอนาคตที่ไม่หยุดนิ่งและไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ นี้ได้อย่างไร
แนวโน้มในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกเพื่อการศึกษาแห่งอนาคต [อ้างอิงจาก thematter.co/social/7-trend-in-education/40365 ] อาจสามารถสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้
Coding literacy : การเข้าใจเรื่องระบบและการเขียนโค้ด
ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการบรรจุวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ Coding เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพราะการพัฒนาโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ มีความสำคัญต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจทั้งโลก จะเป็นทักษะสำหรับทุกคนที่ไม่อยู่แค่ในภาควิชาคอมพิวเตอร์
Students as creators : การสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นนักคิดสร้างสรรค์
โลกยุคใหม่ผู้เรียนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (passive) มาเป็นผู้สร้าง (active) ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิดกว้างและให้โอกาสทุกคนสามารถแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และสร้างผลงานของตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ โดยปราศจากข้อจำกัด และการปิดกั้นทางความคิดจากกรอบการเรียนแบบเดิม
Empathy and Emotion Understanding : การสร้างความรู้สึกนึกคิดและความเข้าใจผู้อื่น
การศึกษาคือการสร้างมนุษย์ ไม่ใช่สร้างหุ่นยนต์ ทักษะแบบมนุษย์ เช่น ความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จึงเป็นสิ่งที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ การส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เพิ่มเติมความเข้าอกเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของคนในยุคแห่ง AI ซึ่งหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้
Collaborative Learning : การเรียนรู้ร่วมกัน
โลกของความสำเร็จ การทำงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ในแต่ละส่วนงานคุณสมบัติสำคัญที่บริษัทแทบทุกแห่งได้กำหนดไว้ในทักษะสำคัญในการรับเข้าทำงาน คือ สามารถทำงานเป็นทีมและร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี
Individualized Learning: การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้เรียนที่แตกต่างกัน
นักการศึกษาสมัยใหม่ต่างให้ความเห็นว่าความแตกต่างของเด็กๆ ต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อพัฒนาจุดแข็งหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคน จะเน้นพัฒนาทักษะทางสังคม (Soft skill) หรือทักษะที่จะทำให้มนุษย์แตกต่างจากเครื่องจักร เช่น การใช้ภาษา การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ความเป็นมิตร การมองโลกในแง่ดี บุคลิกและการแสดงออกทางสังคม ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะสำคัญที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ
Family and Community Involvement: การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
ครอบครัวและสภาพแวดล้อมรอบข้างล้วนมีผลกับการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยตรงการอบรมและให้การศึกษาไม่ได้เป็นภาระของโรงเรียนหรือครูอาจารย์แต่ทั้งครอบครัวและชุมชนรอบข้างของเด็กๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้รอบด้าน
Redesigning learning Spaces: การออกแบบพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
โรงเรียนของไทยมีลักษณะที่เป็นแบบแผน มีครูมายืนหน้าชั้นและพูดให้เด็กฟังฝ่ายเดียว ห้องเรียนในโลกสมัยใหม่จึงควรถูกคิดและออกแบบใหม่ไปสู่ห้องเรียนที่ยืดหยุ่น เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ จับกลุ่ม เปลี่ยนกลุ่ม ล้อมวงเพื่อปรับรูปแบบการเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างอิสระ
และสุดท้าย เราคงต้องสอนเด็กๆ ว่า “จงอย่าเก่งแค่ด้านเดียว แต่จงเป็นผู้มีความรู้แบบตัว T” เพราะ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างแท้จริงจะมีทักษะโดยรวมแบบแขนของอักษร T ซึ่งแสดงถึงความกว้างของการรอบรู้เรื่องราวต่างๆ และขาของตัว T จะเป็นตัวแทนของความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและประสบการณ์ในงานที่รับผิดชอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำงานในอนาคตจะเป็นโลกของคนที่มีทักษะหลากหลายและมีความรู้แบบข้ามสายงานจนสามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นได้ งานประจำแบบเป็นกิจวัตร หรือ Rountine job สำหรับมนุษย์จะค่อยๆ หมดไปและถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ สถาบันการศึกษายุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากเดิมที่สอนเป็นรายวิชาและขาดกสารเชื่อมโยงถึงกันเป็นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่ไม่มุ่งแต่การให้องค์ความรู้ตามเนื้อหาของรายวิชาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เน้นไปที่การพัฒนาทักษะประเภท Hard skills ในรูปแบบของฐานสมรรถนะโดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะประเภท Soft skills เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ความเอาใจใส่และเข้าใจ (Empathy) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง
เรียบเรียงโดย อาจารย์ธิติ ธีระเธียร
ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาครูและนักเทคโนโลยีทางการศึกษา
StarfishLabz และ Starfish Academy
มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม
Related Courses
รวมมิตร เทคนิค เด็ดๆ การทำ Visual Note
คอร์สเรียนนี้ จะเป็นการรวบรวมเทคนิค ในการออกแบบ Visual Note เพื่อการจัดรูปแบบเนื้อหา ให้ได้ประเด็น มีใจความที่อ่านง่ ...
รวมมิตร เทคนิค เด็ดๆ การทำ Visual Note
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การสร้างรายได้จากสติกเกอร์ Line
เมื่อยุคเปลี่ยนไปการสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเปลี่ยนตาม จากการพูดคุยกลายเป็นการพิมพ์คุยกัน การสร้างสติกเกอร์ไลน์จึงเป็นอาชีพ ...
เทคนิคและวิธีการสอนสมัยใหม่
การใช้คำถาม เครื่องมือ การนำเสนอ ที่แปลกใหม่ น่าสนใจ มีส่วนสำคัญในการสร้างห้องเรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม เรียนรู้วิธีการถาม กา ...
ศิลปะแห่งการตั้งคำถามในห้องเรียน
“การตั้งคำถาม” ถือเป็นเครื่องมือการสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่คุณครูสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ...