กระบวน PLC เครื่องมือช่วยคุณครู สอนอย่างไร? ให้เกิดผลลัพธ์ต่อผู้เรียน
“ผู้เรียน” มีความสามารถหลากหลาย และแตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้อง
บูรณาการการเรียนรู้ ในแต่ละกลุ่มรายวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อออกแบบการเรียนรู้ และกิจกรรมให้แก่ผู้เรียน ได้เรียนผ่านการลงมือปฎิบัติ มีความเข้าใจ และมีความสุข สนุกในการเรียน
ปัจจุบัน “ครูผู้สอน” ที่ไม่ได้ทำเพียงสอนหนังสือ ต้องทำงานร่วมกันผ่าน PLC (Professional Learning Community) หรือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นการร่วมมือ ร่วมใจของครู ผู้บริหารโรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการเรียนรู้โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ ทักษะและสมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ
PLC เป็นเครื่องมือในการพัฒนาครูและบุคลากรทุกฝ่าย โดยการนำ PLC ใช้ร่วมกับคณะครูในโรงเรียนต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ เกิดการพัฒนาแลกเปลี่ยนกับคุณครูจริงๆ บรรยากาศการ PLC ต้องเป็นกันเอง สบายๆ และจะต้องเป็นไปตามคำขอของคุณครู ไม่ใช่เป็นการยัดเยียดให้เกิด PLC ซึ่งทาง ศึกษานิเทศก์จะนัดวันเวลากับคุณครูผู้สอน ไม่ต้องเป็นพิธีการ แต่เป็นเสมือนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน
“เมื่อเริ่ม PLC จะเริ่มต้นให้ครูผู้สอนได้พูดคุยถึงการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ปัญหาที่ผ่านมาและแลกเปลี่ยนปัญหาซึ่งกันและกัน รวมถึงหารือถึงวิธีการแก้ปัญหา เป็นการเติมเต็มและเพิ่มเติมความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยไม่มีการชี้ว่าสิ่งที่ครูทำถูกหรือผิด และไม่มีการสะท้อนถึงพฤติกรรมการสอนในชั้นเรียนของครู แต่จะมองถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ”
หลายครั้งที่เกิดการแลกเปลี่ยนของคุณครูผ่านกระบวนการ PLC จะเห็นถึงความร่วมมือของคุณครู ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เห็นอีกหลายโรงเรียนเช่นเดียวกัน ที่คุณครูมักไม่ได้มีเวลามา PLC เนื่องด้วยภาระงานที่มากเกินไป
ครูต้องจัดแผนการสอน และนำแผนการสอนดังกล่าวไปสู่ชั้นเรียน อีกทั้งต้องบูรณาการแผนการสอนเชื่อมโยงกับรายวิชาต่างๆ ไม่ใช่เพียงวิชาของตัวเอง เพราะเมื่อนำแผนการสอนที่แต่ละคนคิด ต้องมานำเล่าสู่เพื่อนครูในกลุ่มร่วมกัน โดยจะมีศึกษานิเทศก์เติมเต็ม หรือให้ความคิดเห็นร่วมด้วย ก่อนจะไปสู่การติดตามสิ่งที่คุณครูสอน ซึ่งแต่ละโรงเรียน คุณครูอาจจะ PLC ทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ เพื่อสรุปได้ว่าแผนการสอนของคุณครูต้องมีการเสริม เพิ่มเติม หรือเป็นแบบอย่างให้คุณครูท่านอื่นๆ อย่างไรได้บ้าง
กระบวนการของ PLC มีความจำเป็นอย่างมากที่คุณครูต้องนำมาใช้ ถือเป็นหน้าที่หลักของครู แต่ด้วยภาระงานของครูมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถ PLC ได้ เนื่องจากครูส่วนใหญ่ในโรงเรียน ครูจะพอดีชั้นเรียน หรือครูขาดไม่ครบชั้นเรียน ถ้าโรงเรียนไหนมีครูพอดีชั้น โอกาสที่ครูที่จะทำ PLC ร่วมกันมีมาก เนื่องจากเวลามากเหลือมาทำ PLC ร่วมกันในรอบ 1 วันที่สอน เจอเหตุการณ์อะไร และมีการจัดทำแผนการสอนในรอบ 1 สัปดาห์ รวมทั้งการสะท้อนผลร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นครู หรือผอ. รวมถึงศึกษานิเทศก์
“ทุกขั้นตอนของ PLC ต้องเป็นการกระทำที่ออกมาจากใจ ครูมีเป้าหมายชัดเจนว่า PLC จะช่วยพัฒนาการสอน ออกแบบชั้นเรียน พัฒนาผู้เรียนอย่างไรบ้าง ไม่ใช่การ PLC ตามนโยบายของผู้บริหาร หรือผู้ใหญ่ เพราะหากทำแบบนั้น PLC อาจไม่เกิดผล จะเป็นPLC เพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น” อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของ PLC คือ จะทำอย่างไรให้ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์เกิดความสนิทสนม ศรัทธาและไว้วางใจร่วมกัน หากไม่เกิดความไว้วางใจ การจะเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน แผนการสอนของตัวเองคงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ
ศึกษานิเทศก์ ต้องสร้างความเชื่อใจกับคุณครู หรือผู้บริหาร เนื่องจากการเข้าไปนิเทศก์ที่โรงเรียน ครู และผู้บริหาร เป็นเสมือนลูกค้าที่ต้องได้รับการบริการ ได้รับการสนับสนุน การแนะนำดีที่สุด
โรงเรียนขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก แต่ละขนาดจะมีการใช้ PLC แตกต่างกัน ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง มีคุณครูแกนนำ มีครูวิชาการ มีระบบและมีอุปกรณ์ในการสนับสนุน PLC อย่างเต็มที่ และคุณครูมีเวลาในการทำ PLC ร่วมกัน แต่โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็กอาจจะมีอุปสรรค ในเรื่องของการจะทำPLC เพราะแต่ละวันสอนทุกคาบเรียน ดังนั้น โรงเรียนจะต้องมีการวางแผน PLC หรือต้องหาวิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู
นอกจาก “ครู” แล้ว ในกระบวนการ PLC “ผู้บริหาร” ก็สำคัญไม่แพ้กัน เป็นเสมือนพระเอก เป็นแกนนำในโรงเรียนที่จะช่วยสนับสนุน ให้คุณครูได้ทำPLC โดยเมื่อผู้บริหารเปิดใจ จริงจังในการปฎิบัติ และทำให้ครูมีความรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย กล้าพูดถึงสภาพปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหา จะช่วยให้ครูทำ PLC ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
“ถ้าผู้บริหาร ไม่เปิดใจยอมรับปัญหาในชั้นเรียน ปัญหาที่ครูพบเจอ ครูไม่กล้าเปิดใจ และจะเก็บความไม่เข้าใจ ปัญหาดังกล่าวเอาไว้ ผู้บริหารต้องให้ความเป็นกันเองและพูดคุยกับครู อย่าทำให้กระบวนการ PLC เป็นเหมือนการประชุม ที่ผู้บริหารนั่งหัวโต๊ะ และให้แต่ละคนรายงาน ถ้าทำแบบนั้นการรายงานสภาพปัญหาความเป็นจริง ไม่มีทางเกิดขึ้น”
PLC เป็นสิ่งที่ดีงาม ส่งผลให้เกิดวิชาชีพ การพัฒนาครูอันนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง และทำให้เกิดความร่วมมือกันทุกฝ่าย สามารถทำได้ทุกที่ ทำได้ทุกเวลา ถ้าโรงเรียน ผู้บริหาร ครูไม่ยึดติดวิธีการ และทุกคนต้องเปิดใจยอมรับ “ครู ผู้บริหาร” ต้องลดตัวตนของตนเอง โดยเฉพาะครูอย่ากลัวความผิดพลาด มีปัญหาต้องนำมาพูดคุย แลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาชั้นเรียน แก้ปัญหาการศึกษาไทย
ดร.กรรณิการ์ นารี
ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
บทความใกล้เคียง
Related Courses
สร้าง Self-Esteem เสริมคุณค่าให้กับนักเรียนอย่างไร
Self-Esteem หรือ การเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการ ...
How to สอบอย่างไรให้เด็กสนุก ไม่มีลืม
การทดสอบเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ว่าเรามีความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนมากน้อยแค่ไหน และการสอบนั้นอาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่ ...
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...