EdTech คืออะไร? ทิศทางสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษาไทยในอนาคต
EdTech คืออะไร? ทิศทางสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษาไทยในอนาคต
หากกล่าวถึงหนึ่งในคำที่ได้รับการพูดถึงในยุคนี้ เทคโนโลยีการศึกษา หรือ EdTech ก็คงเป็นหนึ่งในคำที่เชื่อว่าแทบทุกคน โดยเฉพาะคนในวงการการศึกษาต้องเคยผ่านหูผ่านตาและเริ่มหันมาให้ความสนใจกันบ้างแล้ว แม้จะเป็นเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เพิ่งเติบโตมาได้ไม่นาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า EdTech นั้นกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในวงการการศึกษาของเรามากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ EdTech คืออะไร? อะไรคือปัจจัยเบื้องหลังที่ผู้คนมากมายหันมาให้ความสนใจ ศึกษา และถึงขั้นผลิต EdTech กันออกมามากมาย? และในบริบทของประเทศไทยนั้น มีทิศทางหรือประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจเกี่ยวกับ EdTech? ในบทความนี้ Starfish Labz ได้รวบรวมทุกคำตอบมาให้คุณครู คุณพ่อคุณแม่ และผู้อ่านทุกคนกันแล้วค่ะ
EdTech คืออะไร?
Educational Technology หรือ EdTech ที่เรามักเรียกกันอย่างย่อๆ ในที่นี้ก็คือเทคโนโลยีการศึกษา หรือวิถีของการคิดค้น ออกแบบ และสรรค์สร้างเทคโนโลยี มิว่าจะในรูปฮาร์ดแวร์ (hardware) หรือซอฟต์แวร์ (software) เพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้หรือการศึกษานั่นเองค่ะ ตัวอย่างของ EdTech ชื่อดังทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยของเราเองก็เช่น
- Google Classroom เครื่องมือการสร้างห้องเรียนออนไลน์สำหรับคุณครูและนักเรียนในรูปแบบเว็บไซต์
- Microsoft Teams เครื่องมือห้องเรียนออนไลน์เสมือนจริงอย่างเต็มรูปแบบในรูปแบบโปรแกรมและแอปพลิเคชัน
- Kahoot! เครื่องมือการเรียนรู้เชิงเกมในรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
- Starfish Class เครื่องมือสำหรับคุณครูในการช่วยประเมินสมรรถนะของเด็กๆ ในรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
- Turninit เครื่องมือสำหรับคุณครูและอาจารย์ในการใช้ตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ (Plagiarism Checker) เช่น วิทยานิพนธ์, บทความทางวิชาการ ฯลฯ ในรูปของเว็บไซต์
โดยเป้าหมายของ EdTech ก็คือการช่วยพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กๆ ส่งเสริมการศึกษาให้มีความเป็นปักเจก ตรงเฉพาะกับเด็กๆ มากขึ้น และลดภาระการสอนของคุณครูนั่นเองค่ะ
กว่าจะมาเป็น EdTech: เริ่มต้นที่ปัญหา (Problems) จบลงที่การร่วมกันหาทางออก (Solutions) อย่างสร้างสรรค์
แต่ EdTech เกิดจากอะไร? มาจากใคร? ใครเป็นผู้พัฒนา? คำตอบของคำถามนี้ จริงๆ แล้วก็อาจตอบว่าใครก็ได้ แต่ในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติแล้ว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ก็คือบรรดาบริษัทเทคโนโลยีเล็กใหญ่ ตลอดจนภาครัฐ และไปจนถึงองค์กรอิสระ
EdTech นั้นมีลักษณะของการเป็นผลผลิตทางความคิด และนวัตกรรมเพื่อสังคมชนิดหนึ่ง และรากฐาน หัวใจสำคัญของมันจึงคือการเข้ามาช่วยเหลือสิ่งที่สังคมหนึ่งๆ หรือในที่นี้ก็คือวงการการศึกษาในปัจจุบันยังคงขาดหรือประสบปัญหาในด้านใดด้านหนึ่งอยู่ ตัวอย่างที่อาจจะพอยกให้เห็นภาพ เช่น การกำเนิดของ Starfish Class เครื่องมือที่ได้รับการศึกษาและออกแบบมาเพื่อช่วยให้คุณครูสามารถประเมินสมรรถนะของเด็กๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ฟรี และโปร่งใสโดยเฉพาะ ตัวแอปฯ และเว็บได้รับการออกแบบให้คุณครูสามารถประเมินได้อย่างง่ายและหลากหลาย ต่างจากที่เคยต้องทำผ่านกระดาษ มีหน้าแสดงผลการประเมินในรูปแบบกราฟ และการบันทึกผลการประเมินสมรรถนะของเด็กแต่ละคนออกมาเป็น E-Portfolio
(ขอบคุณภาพจาก Laptop Mag)
อีกหนึ่งตัวอย่าง EdTech ล่าสุดที่น่าสนใจ เช่น Tanoshi บริษัท Startup ใหม่โดย Brad Johnston ผู้ตระหนักและประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีการศึกษาโดยตรงมาตลอด เขาได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และตัดสินใจออกแบบและผลิตแท็บเล็ตในรูปแบบใหม่ที่มีราคาย่อมเยากว่าในท้องตลาดออกมา มีฟีเจอร์เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ สำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีจนถึง 17 ปี
ทิศทาง EdTech ของการศึกษาไทยในอนาคต
ในวงการการศึกษาบ้านเรา การเติบโตของ EdTech ก็เริ่มเป็นที่ชัดเจนแล้วเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความนิยมในการใช้งาน EdTech ของต่างประเทศอย่าง Microsoft Teams หรือ EdTech ในประเทศอย่าง Starfish Class เราเริ่มเห็นถึงอุปสงค์และอุปทานในบรรดาเครื่องมือ EdTech ที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และเสริมสร้างการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ อย่างหลากหลาย
อย่างไรก็ดี การเติบโตของ EdTech ในบ้านเรานั้นอาจยังต้องอาศัยการสำรวจ ศึกษา ปรับตัว และพัฒนาต่อยอดกันอยู่อีกมาก โดยมีทิศทางสำคัญที่ทุกๆ ภาคส่วนสามารถขับเคลื่อนไปร่วมกันคือ
การร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนา EdTech ในฐานะเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้หรือห้องเรียนแบบผสมผสาน (Hybrid Learning/Classroom)
ยุคการเรียน Online แบบ 100% อาจหมดไปแล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปตลอดกาลก็คือ การเข้ามาของ EdTech ที่ได้พิสูจน์ให้สถาบันการศึกษาเล็กใหญ่ได้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีการศึกษาที่ใช่สามารถช่วยคุณครูผู้สอนและเด็กๆ ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในด้านการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้, การช่วยประเมิน, การช่วยสอน, และไปจนถึงสิ่งๆ เล็กๆ น้อยๆ อย่างการส่งงาน-การบ้านหรือการทำกิจกรรมร่วมกันต่างๆ EdTech เช่น Kahoot!, Google Classroom, Starfish Class สามารถเข้ามาเป็นผู้ช่วยสำคัญ เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และลดภาระการสอนที่หนักของคุณครู
การเสริมสร้าง การเคารพข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้งานยังคงเป็นสิ่งที่วงการ EdTech ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยยังคงต้องศึกษา เรียนรู้ และให้ความสำคัญ เพราะถือว่า 80-90% ของข้อมูลส่วนใหญ่นั้นเป็นข้อมูลเด็ก และตลอดมา เราก็ยังคงได้พบเห็นกับข่าวบริษัท EdTech ละเมิดเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้งานซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลส่วนตัวของเด็กๆ อยู่เรื่อยๆ ในอนาคต เป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐหรือองค์กรที่มีความเกี่ยวข้อง ต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับสถาบันการศึกษาในการเลือก EdTech อย่างระมัดระวัง ตลอดจนอาจมีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือนำเสนอนโยบายในการพัฒนาและเปิด EdTech ให้ใช้งานอย่างโปร่งใส
การกระจายการเข้าถึง EdTech ให้ทั่วถึง ส่งเสริมองค์กรผู้พัฒนาให้ช่วยกันลด Digital Poverty
แม้การมาถึงของ EdTech จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่ทุกโรงเรียน ทุกบุคลากร และเด็กๆ ทุกคนจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการศึกษาหนึ่งๆ ได้เหมือนกันหมดทุกคน หากเรามองว่า EdTech คือหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการศึกษาในอนาคต สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการผลิต EdTech ก็จึงคือการกระจายการเข้าถึง EdTech ดังกล่าวให้ทั่วถึง ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา หรือมิใช่แค่สำหรับสถาบันการศึกษา หรือสำหรับกลุ่มผู้ที่มีการศึกษาใดหนึ่งเท่านั้น
สรุป (Key Takeaway)
ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ หรือใดๆ เทคโนโลยีการศึกษา หรือ EdTech ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ก็คือการนำเอาเทคโนโลยี และความต้องการทางการศึกษามาเชื่อมโยงและบูรณาการจนออกมาเป็นทางออก หรือ Solution ทางการศึกษาหนึ่งๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์สถาบันการศึกษา หรือผู้สอนและผู้เรียนได้อย่างที่ Solution ในรูปแบบเดิมๆ หรือทางอื่นๆ อาจไม่เคยสามารถทำได้มาก่อน
การเติบโตของเทคโนโลยีการศึกษาในอนาคตยังคงต้องอาศัยการพัฒนาและเรียนรู้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน Onsite หรือกลายเป็น Hybrid Classroom ได้อย่างราบรื่น การพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ตลอดจนการลดช่องว่าง Digital Poverty ในวงการการศึกษา พัฒนาวงการการศึกษาให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกคนจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงแค่เด็กที่มีต้นทุนเพียงพอที่จะใช้ EdTech ดีๆ สักอันหนึ่ง
อ้างอิง:
Related Courses
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.1 วิธีการสอน
หลักสำคัญ ในการสอนที่มีประสิทธิภาพ 8 ข้อ ซึ่งจะใช้ในการประเมินคลิปการสอนของครู เป็นแนวทางใหม่ของการประเมินวิทยฐานะของครู
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.1 วิธีการสอน
3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ตัวช่วยทำสื่อการสอน
เรียนรู้ 3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับการสร้างสื่อการสอน สะดวกต่อการใช้งาน มีประโยชน์สำหรับห้องเรียน ช่วยให้นัก ...
โค้ชชิ่งสู่เส้นทางที่ใช่ด้วย MBTI : Myers-Briggs Type Indicator
Coaching Through MBTI : Myers-Briggs Type Indicator เป็นคอร์สที่จะทำให้คุณครูได้เปลี่ยนจากครูที่ทำหน้าที่สอนให้เป็นโ ...
โค้ชชิ่งสู่เส้นทางที่ใช่ด้วย MBTI : Myers-Briggs Type Indicator
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...