“ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์” เป็น สมบัติสาธารณะ หรือ ทรัพย์สินส่วนบุคคล ?
“ครู” เป็นอาชีพหนึ่งที่การทำงานมักจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับความรู้และทรัพย์สินทางปัญญาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการสอน การพัฒนาสื่อ ตำรา นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ รวมถึงการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาความรู้และการทำงานด้านการจัดการศึกษา แต่ยังมีครูหลายคนซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฏเกณฑ์และกฏหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการนำความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่นไปใช้งานอย่างถูกต้อง รวมทั้งยังมีบางคนอาจจะยังมีความเข้าใจและความเชื่อว่า หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแล้ว ก็จะสามารถนำไปใช้ได้ฟรี! ทั้งหมดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ลิขสิทธิ์ นั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มอบสิทธิทางกฎหมายให้ผู้สร้างสรรค์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานที่สร้างสรรค์นั้น โดยทั่วไปแล้วลิขสิทธิ์มีระยะเวลาจำกัดในการคุ้มครอง คือ เริ่มตั้งแต่การสร้างสรรค์งานและมีอายุความคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต (ยกเว้น งานด้านศิลปประยุกต์ ซึ่งมีอายุความคุ้มครอง 25 ปี) โดยในบางประเทศมีข้อกำหนดในการเริ่มต้นการเกิดลิขสิทธิ์ด้วยกระบวนการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานอย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ในประเทศส่วนใหญ่นั้น จะถือว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์จะเริ่มต้นขึ้นเมื่องานนั้นถูกสร้างโดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน
ในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ระบุความคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายกับงานที่มีผู้สร้างสรรค์ไว้ รวมทั้งได้กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์บางอย่างไว้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาของคนอื่นมาเพื่อทำซ้ำ ดัดแปลง หรือแจกจ่ายได้ตามต้องการอย่างอิสระโดยไม่ต้องคิดอะไรเลยนะครับ ซึ่งรายละเอียดของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม มาตรา 32-43 รวมถึงแนวทางการสร้างชิ้นงานอย่างไม่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น มีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก การใช้งานลิขสิทธิ์นั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ ประการที่สอง การใช้งานลิขสิทธิ์นั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฏหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร โดยข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่นักการศึกษาควรจะทราบสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความต่างๆ ดังนี้
(1) สาระสำคัญและความแตกต่างในข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรา 32-43 โดย Phachern Thammasarangkoon สามารถเข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/470188
(2) กฎหมายลิขสิทธิ์ : ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ โดย Wasawat Deemarn สามารถเข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/230733
(3) ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ พรบ.ลิขสิทธิ์ 2558 โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ สามารถเข้าถึงได้จาก https://www.yumpu.com/xx/document/read/56245537/licent12
อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มักมีการระบุสิทธิ์และข้อจำกัดในการนำผลงานนั้นๆ ไปใช้โดยการกำหนดสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ หรือ Creative Commons: CC ซึ่งเป็นข้อตกลงในการแบ่งปันและอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา โดยผู้เป็นเจ้าของสามารถกำหนดการให้สิทธิบางส่วนหรือทั้งหมดแก่สาธารณะ ในขณะที่ยังคงสงวนสิทธิที่ต้องการบางส่วนไว้ได้ผ่านการแสดงข้อความหรือสัญลักษณ์ที่ช่วยให้สาธารณชนทราบถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ สัญลักษณ์เงื่อนไขของสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ซึ่งเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย ได้ถอดความและอธิบายไว้ดังนี้
(1) การกำหนดให้อ้างอิงหรือแสดงแหล่งที่มา (Attribution – BY)
(2) การห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (NonCommercial – NC)
(3) การห้ามดัดแปลง (No Derivative Works –ND)
(4) การอนุญาตให้แจกจ่ายในรูปแบบเดียวกัน (Share Alike – SA)
ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และสร้างสัญลักษณ์เพื่อแสดงสิทธิ์ในการใช้บนชิ้นงานของตนเองได้ที่ https://creativecommons.org/share-your-work/
เรียบเรียงโดย อาจารย์ธิติ ธีระเธียร
ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาครูและนักเทคโนโลยีทางการศึกษา
StarfishLabz และ Starfish Academy
มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม
Related Courses
การออกแบบบทเรียนสำหรับ Starfish Labz
วิธีการออกแบบบทเรียนสำหรับคอร์สของ StarfishLabz.com ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์แห่งแรกของประเทศสำหรับนักกา ...
ชุมชนการเรียนรู้ ชุมชนแห่งการพัฒนา
ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้แ ...
แชร์ประสบการณ์ การสอบครูผู้ช่วย
การสอบแข่งขันสอบครูผู้ช่วย ถือเป็นอาชีพที่หลายๆ คนไฝ่ฝัน เมื่อเรามีความตั้งใจแล้วก็ต้องทำให้เต็มความสามารถ ความพยายามอยู่ที่ ...
Micro Learning - เทคนิคการสื่อสาร และดูแลลูก
เทคนิคการสื่อสาร และดูแลลูก เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้ปกครองในปัจจุบันที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปใช้กับลูกหลานของตนเอง และเ ...