5 มติเห็นชอบ ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาเรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 9/2567
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ การปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตาม ว 3/2564 นั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการกำกับ ติดตามและนำความคิดเห็นจากการประชุม ก.ค.ศ. มาพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งใหม่ เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีการสั่งสมประสบการณ์ มีวุฒิภาวะ มีสมรรถนะและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน รวมถึงเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ โดยหลักการสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งใหม่ในครั้งนี้ คำนึงถึง 1) ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่ง 2) วุฒิภาวะ และ 3) ความเป็นผู้นำทางการบริหารและผู้นำทางวิชาการ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
- การเข้าสู่ตำแหน่งในสายงานบริหารสถานศึกษา และบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ และมีระยะเวลาในการช่วยบริหารสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาที่เหมาะสม เนื่องจากต้องเป็นผู้ที่มีการสั่งสมประสบการณ์ในด้านการบริหารวิชาการและความเป็นผู้นำทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับ มีวุฒิภาวะ และสมรรถนะ ที่เหมาะสมแก่การเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฯ
- การเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ควรกำหนดช่องทางเพิ่มเติมโดยเปิดโอกาสให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มิใช่ข้าราชการครูฯ ซึ่งมีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ (ยกเว้นสาขาทางด้านการบริหารการศึกษา) และมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญระดับสูง สามารถเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์
- ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษาและนิเทศการศึกษา ต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อให้มีสมรรถนะและความพร้อมในการเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ก่อนเข้ารับการคัดเลือก
- สำหรับมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย และมาตรฐานตำแหน่งครู รวมทั้ง มาตรฐานวิทยฐานะ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่ง เห็นควรให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เดิม ตาม ว 3/2564 และ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/1400 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 (กำหนดสำหรับ สกร.)
ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. อยู่ระหว่างการจัดทำระบบการพัฒนาสมรรถนะก่อนคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ ดังนั้น ในส่วนของมาตรฐานตำแหน่งใหม่ ที่กำหนดให้ต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด จึงให้นำคุณสมบัติดังกล่าวมาใช้ในการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง หลังจาก ที่ ก.ค.ศ. ได้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะในตำแหน่งนั้น ๆ ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด แล้ว
2. เห็นชอบ การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ภายหลังจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาตาม ว 9 - ว 12 /2564 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ขับเคลื่อนการนำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวสู่การปฏิบัติ และได้มีการกำกับ ติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับการขอมีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามาโดยตลอดและพบว่า มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยื่นคำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะแล้ว มีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด บางราย ได้นำหลักฐานคลิปการสอนประกอบการประเมินด้านที่ 1 และด้านที่ 2 ที่ได้เสนอไว้เดิม มาเสนอขอรับการประเมินใหม่อีกครั้ง และพบกรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยื่นคำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งตามหลักเกณฑและวิธีการฯ ว 9 – ว 12/2564 กำหนดให้ต้องส่งผลงานทางวิชาการด้วยนั้นมีหลายรายที่เมื่อทราบผลการพิจารณาว่าไม่อนุมัติ จะยื่นคำขอใหม่ในภาคเรียนต่อไปทันที ทำให้ผลงานทางวิชาการที่นำมาส่งใหม่นั้นไม่มีคุณภาพเพียงพอ เนื่องจากไม่ได้ใช้ระยะเวลาในการศึกษา วิเคราะห์/วิจัย เพื่อจัดทำผลงานทางวิชาการให้มีคุณภาพตามหลักวิชาการ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษาเท่าที่ควร และเป็นภาระงบประมาณจากการประเมินผลงานทางวิชาการดังกล่าวอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อให้การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นกระบวนการพัฒนาวิชาชีพ ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ส่งผลลัพธ์ถึงผู้เรียนอย่างแท้จริง ก.ค.ศ. จึงเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 9 - ว 12/2564 และ ว 18/2567 ดังนี้
- กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา ทุกวิทยฐานะ ที่เคยยื่นคำขอรับการประเมินแล้วมีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด การขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะเดียวกันในครั้งต่อไป ต้องใช้ไฟล์ดิจิทัลและ/หรือหลักฐานประกอบ การประเมินด้านที่ 1 และด้านที่ 2ที่จัดทำภายหลังจากการยื่นคำขอรับการประเมินครั้งล่าสุด ซึ่งไม่ใช่ไฟล์ดิจิทัล และ/หรือหลักฐานที่เคยใช้ประกอบการยื่นคำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว
- กำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ ทุกตำแหน่ง ให้ยื่นคำขอได้ตลอดปี รอบปีละ 1 ครั้ง และผลงานทางวิชาการต้องไม่ใช้ผลงานเรื่องเดิมที่เคยนำมาเสนอขอรับการประเมินเพื่อขอมีวิทยฐานะและเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษมาก่อน
ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีการพัฒนาการปฏิบัติงานจนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ต่อผู้เรียน หรือการพัฒนาการบริหารสถานศึกษา หรือการพัฒนาการนิเทศการศึกษา หรือการพัฒนาการบริหารและจัดการศึกษาตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะที่ขอรับการประเมิน เพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานและส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
3. เห็นชอบ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการ ว่าด้วยการกำหนดจำนวน องค์ประกอบ วิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ....
สืบเนื่องจากที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการสรรหาคณะอนุกรรมการฯ ชุดใหม่ โดยสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ และได้เชิญผู้แทน สพฐ. คณะอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สพท. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการ ว่าด้วยการกำหนดจำนวน องค์ประกอบ วิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. .... ทั้งนี้ เพื่อให้การสรรหาคณะอนุกรรมการฯ ได้ครบตามองค์ประกอบ สามารถสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่งได้อย่างครบถ้วน รวดเร็ว ถูกต้องมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเพื่อให้การบริหารงานบุคคลในภูมิภาค ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อประโยชน์ของทางราชการต่อไป
4. เห็นชอบ การปรับปรุงแนวทางการดำเนินการพัฒนาและการประเมินผลการพัฒนาข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ มาใช้สำหรับข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
เนื่องจากสำนักงาน ก.พ. ได้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินการพัฒนาและการประเมินผลการพัฒนาข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ เพื่อให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการพัฒนาข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัวและเกิดประสิทธิผล และให้ส่วนราชการ ใช้แนวทางการดำเนินการพัฒนาและการประเมินผลการพัฒนาข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ได้ปรับปรุงใหม่สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญที่บรรจุ เข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป
ดังนั้น เพื่อให้แนวทางการดำเนินการพัฒนาและการประเมินผลการพัฒนา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าวจึงเห็นควรยกเลิกการดำเนินการพัฒนาและการประเมินผลการพัฒนาข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1013/ว 25 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 และให้นำการปรับปรุงแนวทางการดำเนินการพัฒนาและการประเมินผลการพัฒนาข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1013.3/ว 1 ลงวันที่ 15 มกราคม 2567 มาใช้บังคับกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ก.ค.ศ. มีมติอนุมัติ
5. เห็นชอบ กรอบแนวคิดการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา
ตามที่ ก.ค.ศ. ในการประชุมครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบหลักการเกี่ยวกับการจัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งยังได้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ โดยกำหนดให้การมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา และการผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นหนึ่งในคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ตาม ว3/2564 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
โดยการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษานี้ เป็นการพลิกโฉมการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีแนวคิดในการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ และมีสมรรถนะตรงตามมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ที่ ก.ค.ศ. กำหนด เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาแล้วสามารถปฏิบัติงานได้ทันที โดย ก.ค.ศ. ได้ปรับมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูฯ และปรับปรุงกรอบการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โดยมีการดำเนินการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร 4 ขั้นตอน ดังนี้
(1) Screening การให้ผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินสมรรถนะและพัฒนา ก่อนเป็นผู้มีคุณสมบัติในการเข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาด้วยการประเมินความเหมาะสมในการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในรูปแบบ 360 องศา หากผ่านเกณฑ์ จึงจะเข้าสู่การประเมินสมรรถนะ 6 กลุ่มหลัก 19 สมรรถนะย่อยโดย AI เพื่อค้นหาสมรรถนะหรือทักษะที่มี ที่ขาด ที่ควรพัฒนาหรือต่อยอด
(2) Developing เข้ารับการพัฒนาสมรรถนะหรือทักษะ ตามผลการวิเคราะห์ของ AI ผ่านระบบออนไลน์และ e - Learning ตามหน่วยการเรียนรู้และระยะเวลาที่ ก.ค.ศ. กำหนด
(3) Selection กรณีผ่านการพัฒนาจะได้รับใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะเพื่อนำไปใช้เป็นคุณสมบัติหนึ่งในการเข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งโดยส่วนราชการ ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา
(4) Proposed Successor เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งให้มีการทำบันทึกข้อตกลงพัฒนางาน (PA) ควบคู่ไปกับการพัฒนาในรูปแบบ Coaching และ Mentoring โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหรือวิทยากรพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ให้คำปรึกษา แนะนำเทคนิควิธีการในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ก.ค.ศ. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเข้ารับการประเมินสมรรถนะและการพัฒนาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ลดความยุ่งยากและซับซ้อนในการดำเนินการ โดยสำนักงาน ก.ค.ศ. เตรียมจัดทำระบบในการพัฒนาด้วยระบบ e- Learning เพื่อไม่กระทบเวลาในการจัดการเรียนรู้หรือบริหารสถานศึกษาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และนำเทคโนโลยี AI มาใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการวางแผนพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับแต่ละบุคคลโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาต่อไป
6. อนุมัติ ย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิมในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ จำนวน 71 ราย ทั้งนี้ ให้มีผลการย้ายและแต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567
7. อนุมัติ ขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัจจุบันต่อไปอีก เป็นระยะเวลา 1 ปี กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี จำนวน 2 ราย
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ. https://otepc.go.th/th/content_page/item/5115-2024-09-26-10-05-43.html?preview=1
ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด
สพฐ. ร่วมกับ Starfish Education เปิดตัว การเรียนรู้แห่งอนาคต สร้างทักษะอนาคตเยาวชน Future Youth Thailand Building future skills Anywhere, Anytime
12.12.24
โรงเรียนปลาดาวต้อนรับคณะสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการศึกษา
20.12.24
มูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น เข้าพบท่านองคมนตรี รายงานผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ และรางวัล World best school ของโรงเรียนปลาดาว
07.12.24
Starfish Education เข้าร่วมแลกเปลี่ยนการประชุมเพื่อเก็บข้อมูลตามมิติพลังอำนาจของชาติ ด้านสังคมจิตวิทยา การขับเคลื่อนนโยบายด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
16.12.24