การประชุมเสวนา "เสริมพลังการศึกษาไทย ชวนครูรุ่นใหม่ร่วมคิดกับ รมว.ศธ."

5 เดือนที่แล้ว
344 views
โดย Starfish Labz
การประชุมเสวนา "เสริมพลังการศึกษาไทย ชวนครูรุ่นใหม่ร่วมคิดกับ รมว.ศธ."

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ร่วมพบปะพูดคุย พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และเสียงสะท้อนจากมุมมองต่าง ๆ ในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ กับข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมการประชุมเสวนา “เสริมพลังการศึกษาไทย ชวนครูรุ่นใหม่ร่วมคิดกับ รมว.ศธ.” ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร

 สำหรับการประชุมเสวนา “เสริมพลังการศึกษาไทย ชวนครูรุ่นใหม่ร่วมคิดกับ รมว.ศธ.” นี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้เชิญ “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเคยเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ ด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการประเมินวิทยฐานะใหม่ ตามหลักเกณฑ์ฯ ว PA เมื่อปี 2565 ซึ่งการประชุมเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาตามนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างข้าราชการครูฯ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อันจะส่งผลให้เกิดนโยบายการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและครู เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการครูฯ และกระทรวงศึกษาธิการ

โดย รมว.ศธ. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ทำให้พวกเราได้มีโอกาสมาเจอกัน นอกจากที่จะให้พวกเราได้ร่วมกันคิดแล้ว ก็อยากให้เข้ามาร่วมลงมือทำด้วย ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินการในหลากหลายมิติที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ และยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วและเร่งด่วน อยากให้พวกเราในฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มองผู้เรียนให้เปรียบเสมือนเป็นลูกของตนเอง คิดถึงเด็ก คิดถึงประเทศชาติ คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ร่วมกันทำงานในแนวคิด “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” มองที่คุณภาพการศึกษาและคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้นักเรียนมีความสุข เป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด ทำให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ” เป็นบุคลากรของประเทศที่ดีต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ในส่วนของ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของ รมว.ศธ. มีประเด็นสำคัญหลัก ๆ ได้แก่ เรื่องการลดภาระครู และการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนในประเด็นของการลดภาระครู ทั้งการลดภาระงานด้านเอกสาร การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารงานบุคคล เช่น ระบบการย้าย เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เพิ่มความโปร่งใส ลดช่องว่างของการทุจริตระหว่างกระบวนการขอย้าย และเรื่องสำคัญที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ขับเคลื่อนและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในวงกว้าง คือ การนำ DPA เข้ามาใช้ในการประเมินวิทยฐานะ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนด้านอื่น ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ได้ตามนโยบายการศึกษาของ รมว.ศธ. อีกด้วย นับว่าเป็นการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการประเมินวิทยฐานะในรูปแบบเดิมลงไปได้มากกว่า 10 เท่า อีกทั้งการนำ PA เข้ามาใช้ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

“สำนักงาน ก.ค.ศ. เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของ PA ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ค.ศ. เท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของพวกเราทุกคนในวงการการศึกษาที่ได้ช่วยกันสะท้อนข้อคิดเห็น รวมไปถึงมุมมองต่าง ๆ ในทุกมิติ จากจุดเริ่มต้นจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย นำลงไปสู่การปฏิบัติที่จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับการศึกษาของประเทศต่อไป” เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวในตอนท้าย

และในการประชุมครั้งนี้ยังได้ข้อสรุปการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู (ว9/2564)  ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 

  • กรณีห้องเรียนนวัตกรรม ห้องเรียนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ว18/2567 เป็นทางเลือกของห้องเรียนการสร้างและพัฒนานวัตกรรม 
  •  คุณครูสามารถเลือกยื่นคำขอตาม ว9/2564 ห้องเรียนปกติได้ตามเดิม ไม่ได้ยกเลิกไป แต่หากท่านใดมีผลงานนวัตกรรม สามารถเลือกยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ฯ ว18/2567 ได้ค่ะ 
  •  ส่วนการตรวจสอบความซ้ำซ้อนหรือความคล้ายคลึงของผลงานทางวิชาการ ที่เสนอขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญและวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงาน ก.ค.ศ.

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://otepc.go.th/.../item/5037-2024-07-20-08-46-46.html



Share:
|

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด