ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2567
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2567 วันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1.เห็นชอบ แนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
สืบเนื่องจากสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับมอบนโยบายในการศึกษาสภาพอัตรากำลังและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในบทบาทของผู้เป็นศึกษานิเทศก์ซึ่งในปัจจุบันบริบทที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่จะเข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์มีจำนวนลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อการสนับสนุนการพัฒนาวิชาการในสถานศึกษาในภาพรวมทุกสังกัด รวมถึงมีการตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ที่แท้จริงและความก้าวหน้าในวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดทำแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้น โดยที่ประชุม ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบแนวทางฯ ดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การปรับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือก การกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาก่อนแต่งตั้งและการปรับโครงสร้างอัตรากำลัง ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ศึกษานิเทศก์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ มีประสบการณ์และสมรรถนะในการนิเทศการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
2. เห็นชอบ แนวปฏิบัติการนำผลการทดสอบความสามารถทางภาษาต่างประเทศ เทียบกับเกณฑ์ CEFR สูงกว่าระดับ B2 มาใช้ในการลดระยะเวลาตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะของผู้ขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดการลดระยะเวลาตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะของผู้ขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ สายงานการสอน ตาม ว 4/2564 จาก 4 ปี เหลือ 3 ปี โดยมีการกำหนดว่า เป็นผู้มีความสามารถทางภาษาต่างประเทศ สูงกว่าระดับ B1 หรือ สำหรับครูผู้สอนในกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ต้องมีระดับผลการทดสอบความสามารถทางภาษา สูงกว่าระดับ B2 (คือ C1 และ C2) โดยให้เทียบกับเกณฑ์ผลการทดสอบ CEFR ตามหลักเกณฑ์การเทียบเคียงผลการทดสอบและประเมินสมรรถณะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู ที่คุรุสภากำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว กำหนดผลการทดสอบฯ เทียบกับเกณฑ์ CEFR ในระดับ B2 แต่ไม่ได้กำหนดผลการทดสอบฯ เทียบกับเกณฑ์ CEFR ในระดับ C1 และ C2ไว้ ทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลการทดสอบภาษาต่างประเทศเทียบกับเกณฑ์ CEFR เท่ากับ C1 ยังไม่สามารถนำผลการทดสอบดังกล่าว มายื่นคำขอเพื่อใช้ในการลดระยะเวลาฯ ได้ทันที ต้องขออนุมัติ ก.ค.ศ. พิจารณาเป็นการเฉพาะราย ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลการทดสอบความสามารถทางภาษาต่างประเทศที่สูงกว่าระดับ B2 (คือ C1 และ C2) สามารถนำผลการทดสอบไปใช้ลดระยะเวลาฯ ได้ทันที ก.ค.ศ. จึงมีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติการนำผลการทดสอบความสามารถทางภาษาต่างประเทศ เทียบกับเกณฑ์ CEFR สูงกว่าระดับ B2 มาใช้ในการลดระยะเวลาตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะของผู้ขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ทั้งนี้ จะดำเนินการแจ้งแนวปฏิบัติฯ ให้ส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติต่อไป
3. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ควรมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม อันจะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาเด็กและครูต่อไป และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 เรื่องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง โอน ย้ายของ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนาที่ตรงกับความประสงค์ของตนเอง เน้นพิจารณาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน นั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้ดำเนินการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และได้นำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้น โดย (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ คุณสมบัติของผู้ขอย้ายกรณีปกติ นั้น ผู้ขอย้ายต้องดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี ในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 24 เดือน (2 ปี) โดยให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีที่ยื่นคำร้องขอย้ายประจำปี เป็นการปรับระยะเวลาดำรงตำแหน่งจากหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 12 เดือน (1 ปี) ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารฯ ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาเรื่องการโยกย้ายบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความต่อเนื่องในการบริหารสถานศึกษา และเพื่อให้ผู้บริหารมีระยะเวลาในการพัฒนาสถานศึกษาได้ตามแผนพัฒนาสถานศึกษา ส่วนราชการสามารถบริหารอัตราตำแหน่งว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ชุมชน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ
4. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สืบเนื่องจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังจะหมดอายุบัญชีในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ สพฐ. ในฐานะส่วนราชการต้นสังกัด จึงได้หารือกับสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อร่วมกันวางแนวทางในการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ใหม่ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น โดยที่ประชุม ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบ และ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยสรุป ดังนี้
1) คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครคัดเลือก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ ซึ่งต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง โดยกลุ่มประสบารณ์ มีคณสมบัติเพิ่มเติม คือ ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารการศึกษา มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยให้พิจารณาเฉพาะการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารการศึกษาเท่านั้น มิให้นําการรักษาการในตำแหน่งดังกล่าวมานับรวม และต้องมีผลการประเมินการพัฒนางานตามข้อตกลงในรอบการประเมินที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดสัดส่วนและจำนวนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้งในกลุ่มทั่วไปและกลุ่มประสบการณ์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตาม มาตรา 53 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา พ.ศ. 2547
2) หลักสูตรการคัดเลือก แบ่งเป็น 3 ภาค คือ
ภาค ก ความรอบรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ และความสามารถในการวิเคราะห์กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้
ภาค ข การประเมินสมรรถนะทางการบริหาร โดยให้สถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพทางการบริหารการศึกษา และมีประสบการณ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินสมรรถนะทางการบริหารเป็นผู้ดำเนินการประเมิน ภาค ข และเสนอรูปแบบและวิธีการประเมินให้คณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณา
ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง
3) เกณฑ์การตัดสิน
- ผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และ ภาค ค ให้เรียงลำดับคะแนน ภาค ก จากผู้ที่ได้คะแนน ภาค ก จากมากไปหาน้อยจำนวนไม่เกินสองเท่าของจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร โดยต้องได้คะแนน ไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ
- ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนนเฉพาะ ภาค ข และ ภาค ค แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยเรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย
4) การขึ้นบัญชี
- ให้ขึ้นบัญชี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ โดยกำหนดระยะเวลาขึ้นบัญชีไม่เกินหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เว้นแต่มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับ การคัดเลือกครั้งใหม่ บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งก่อนเป็นอันยกเลิก
5) การบรรจุและแต่งตั้ง
- ให้เลขาธิการ กพฐ. สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ และประกาศไว้ในประกาศรับสมัคร ตามสัดส่วนที่กำหนด
- ให้มีการพัฒนาผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามที่ส่วนราชการกำหนด
- ยกเลิกการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดความซ้ำซ้อนเนื่องจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งต้องประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA)
5. เห็นชอบ (ร่าง) วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (School Capacity System : SCS) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้พัฒนาระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (School Capacity System : SCS) ขึ้น โดยระบบนี้ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากระบบบริหารทรัพยากรบุคคล (HRMS OBEC) ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) ของ สพฐ. และระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (DPA) ของสำนักงาน ก.ค.ศ. และนำข้อมูลมาประมวลผลอัตรากำลังให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเกณฑ์อัตรากำลังฯ และเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถคำนวณอัตรากำลังได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา สามารถนำข้อมูลจากระบบ SCS ไปใช้ในการวางแผนบริหารอัตรากำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับภาระงานและบริบทของสถานศึกษา และถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนเข้าสู่วิชาชีพครูในอีก 10 ปีข้างหน้า นั้น
ก.ค.ศ. จึงได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (School Capacity System : SCS) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำระบบ SCS ไปใช้ได้อย่างถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดย (ร่าง) วิธีการบริหารอัตรากำลังฯ มีสาระสำคัญ คือ
1. ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล หรือข้าราชการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามอบหมายในฐานะผู้ใช้งานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ตรวจสอบและแก้ไข ปรับปรุงข้อมูลอัตรากำลังในสถานศึกษาให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบันผ่านระบบ SCS โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับรองความถูกต้องของข้อมูลอัตรากำลัง ทั้งนี้ การรับรองความถูกต้องให้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้รับรอง
2. การกำหนดอัตรากำลังสายงานการสอนตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอก ว 29/2565 ให้คำนึงถึงความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาและประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับเป็นสำคัญ โดยสามารถพิจารณาวิชาเอกได้ 2 วิธี ดังนี้
2.1 กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
2.2 รายวิชา หรือวิชา หรือสาขา หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่ผ่านการประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด
3. การบริหารอัตรากำลัง ผ่านระบบ SCS
3.1 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตรวจสอบข้อมูลอัตรากำลังของสถานศึกษาจากระบบ SCS โดยให้ใช้ข้อมูลนักเรียนรายบุคคล จำนวน 2 รอบ ประกอบด้วย รอบที่ 1 ข้อมูล ณวันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี โดยให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในดือนกรกฎาคม และรอบที่ 2 ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน ของทุกปี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม แล้วส่งให้สถานศึกษาตรวจสอบและเสนอความต้องการในการกำหนดสาขาวิชาเอกให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกก่อนเสนอผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับรองเพื่อเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเห็นชอบ
ทั้งนี้ หากกายหลังจากที่ พิจารณาอัตรากำลังแต่ละรอบแล้ว ข้อมูลอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีการเปลี่ยนแปลง ผู้ใช้งานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องแก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
ผ่านระบบ SCS
3.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำข้อมูลรอบที่ 1 ที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับรองแล้ว จัดทำแผนอัตรากำลังเพื่อเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และส่งไปยัง สพฐ, เพื่อตรวจสอบและรวบรวมส่งสำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ก.ค.ศ. ในการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการฯภายในเดือนสิงหาคม
3.3 นำแผนอัตรากำลังและข้อมูลอัตรากำลังจากระบบ SCS ที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เห็นชอบแล้ว
มาใช้ในการพิจารณาบริหารอัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา
ในแต่ละรอบตามปฏิทินบริหารงานบุคคล ที่ สพฐ. กำหนด ประกอบด้วย การกำหนดสัดส่วนของจำนวนตำแหน่งว่างเพื่อใช้ในการย้ายและการบรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีผู้ได้ รับการคัดเลือก ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา การกำหนดจำนวนตำแหน่งว่างเพื่อใช้ในการสรรหาครูผู้ช่วย การย้ายครู และกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
6. เห็นชอบ รายละเอียดตัวชี้วัดการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดตัวชี้วัดและคะแนนการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ในการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สอศ. ตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหา ฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 2/2567) ข้อ 1.2 วรรคสอง ที่กำหนดให้ส่วนราชการนำเสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดตัวชี้วัดและคะแนนการประเมิน ภาค ค ก่อนแจ้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการต่อไป นั้น
ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ตัวชี้วัดองค์ประกอบที่ 3 ภูมิลำเนาในส่วนการประเมินประวัติและผลงานซึ่งได้รับการรับรองจากผู้อำนวยการสถานศึกษา ไม่สอดคล้องกับบริบทในการบริหารจัดการศึกษาของ สอศ. เนื่องจากการดำเนินการคัดเลือกดำเนินการโดยส่วนกลางเพียงแห่งเดียว จึงเห็นควรให้ปรับเป็น การประเมินจากภาระงานอื่นที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมจากการปฏิบัติหน้าที่สอน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและภาระงานในความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการคัดเลือกเป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ สามารถคัดเลือกครูที่เป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพ และประสบการณ์ในการสอนตรงตามความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา
7. เห็นชอบ รายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งพื้นที่ปกติและพื้นที่พิเศษ ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) โดยรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1) การกำหนดองค์ประกอบในการคัดเลือกและวิธีการคัดเลือก
- ภาค ก ความรู้ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ สำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. เพิ่มเนื้อหาทดสอบความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบริบท ประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่
- ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ จชต. เรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติงานในเขตพิเศษเฉพาะกิจ จชต.
- ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง
2) เกณฑ์การตัดสิน
- ผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ก ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ จึงจะมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และ ภาค ค
- ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนน ภาค ก ภาค ข และภาค ค รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยให้ ประกาศรายชื่อเรียงตามลำดับที่ผู้ได้คะแนนรวม ทั้ง 3 ภาค จากมากไปหาน้อย
3) ระยะเวลาการขึ้นบัญชี
- กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ไม่เกิน ๒ ปี นับแต่วันที่ ประกาศขึ้นบัญชี
4) การเรียกตัวและเงื่อนไขการบรรจุและแต่งตั้ง
- การบรรจุและแต่งตั้ง ให้เรียกตัวผู้ได้รับการคัดเลือก ที่มีคุณสมบัติตรงตามตามมาตรฐานตำแหน่ง ตามลำดับที่ที่ขึ้นบัญชี
- กรณีผู้ได้รับการคัดเลือกรายใดเมื่อถึงลำดับที่ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว ตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ติดเงื่อนไขอื่นใดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด จะถือว่าผู้นั้นหมดสิทธิในการบรรจุและแต่งตั้ง และให้ยกเลิกการขึ้นบัญชีเฉพาะรายนั้น
- เงื่อนไขการบรรจุและแต่งตั้งสำหรับผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งฯ จึงจะขอย้ายออกนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. ได้
5) การกำหนดข้อตกลงในการปฏิบัติงาน
- ผู้อำนวยการสถานศึกษา จะต้องปฏิบัติงานตามกรอบภารกิจของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และ สอศ. และยอมรับที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุตามองค์ประกอบ ตัวชี้วัด คะแนนประเมิน และวิธีการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนงานนโยบายในการบริหารสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
8. อนุมัติ แต่งตั้งอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา แทนตำแหน่งที่ว่าง รวมทั้งสิ้นจำนวน 62 เขต
9. อนุมัติ ย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ จำนวน 4 ราย
10. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งขึ้นบัญชีรอการบรรจุ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 ราย
11. อนุมัติ ย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ จำนวน 2 ราย
12. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกซึ่งขึ้นบัญชีรอการบรรจุ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3 ราย
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด
โรงเรียนปลาดาวได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลโรงเรียนยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมระดับโลก World’s Best School Prizes for Innovation โดยเป็นผู้นำในการบุกเบิกการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมสำหรับทุกคน
28.10.24
จัดอย่างยิ่งใหญ่! FutureEd Fest 2024 งานเทศกาลการศึกษา มุ่งสร้างอนาคตการเรียนรู้
07.10.24
Starfish Education ร่วมงาน didacta asia 2024 และ didacta asia congress เสนอนวัตกรรมการศึกษาสำหรับอนาคต
21.10.24
CEO Starfish Education ร่วมเวทีการประชุมนานาชาติ didacta asia 2024: Ministerial Panel on "Southeast Asia Education Policies"
17.10.24
Starfish Education เสนอแนวคิดนวัตกรรมการศึกษาต่อกระทรวงศึกษาธิการ
16.10.24
คุรุสภา ไฟเขียว ร่างประกาศยกเว้นใบอนุญาตครูชั่วคราว ขับเคลื่อนมาตรฐานการผลิตครู
02.11.24