Active Teacher ตอน การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ เมื่อครูเปิดโอกาสให้เด็กเป็น Active Learner
ครูพรทิพย์ ทองผาโศภา หรือครูทิพย์ สอนวิชาประวัติศาสตร์ และสังคมศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 และปีที่ 4 แห่งโรงเรียนร่มเกล้า กาญจนบุรี (ในโครงการพระราชดำริ) อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาญจนบุรี
ครูทิพย์เล่าถึงบริบทโรงเรียนให้ฟังว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 980 คน และจำนวนคุณครู 60 คน จากที่ได้ยินจำนวนนักเรียน แถมเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงกำลังวัยว้าวุ่น และมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์สูง ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าคุณครูจะต้องเจอกับความท้าทายอะไรบ้าง
แต่เหมือนคุณครูทิพย์รู้ใจว่าผู้เขียนกำลังจะถามอะไร ครูเลยเล่าให้ฟังถึงความท้าทายที่เจอ และวิธีการที่ใช้เพื่อที่จะสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนวัยว้าวุ่นนี้ได้
“ก่อนที่จะมาอยู่โรงเรียนร่มเกล้านี้ ครูสอนอยู่อีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษา เด็กๆ ก็จะน่ารัก พูดง่าย บอกอะไรก็ทำ ใช้พลังน้อยกว่าการสอนเด็กมัธยมมาก แต่พอย้ายมาโรงเรียนมัธยมได้ประมาณ 2 ปี ก็เห็นความแตกต่างระหว่างช่วงวัยของเด็กได้ชัด แต่ข้อดีของการสอนนักเรียนชั้นมัธยมก็คือ เด็กสามารถควบคุมดูแลตัวเองได้ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ของครอบครัวเด็กค่อนข้างดี เนื่องจากอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว พ่อแม่น่าจะมีเวลาดูแลเด็กๆ พอสมควร” ครูทิพย์เล่าบริบทของโรงเรียนให้เราฟัง
แต่ด้วยความที่เป็นนักเรียนมัธยมทั้งหมด ความสนใจและวิธีการเรียนรู้จะแตกต่างกับเด็กวัยประถมอย่างแน่นอน ครูทิพย์จึงต้องปรับตัว และปรับวิธีการสอนต่างๆ เพื่อให้เข้ากับช่วงวัยของเด็ก ครูทิพย์จึงเริ่มเล่าถึงความท้าทายที่จะต้องรับมือ ซึ่งครูทิพย์มีตัวช่วยที่เรียกว่า “เทคโนโลยีทางการศึกษา” ช่วยให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ได้
“ความท้าทายแรกที่เจอ คือ พฤติกรรมของนักเรียน เมื่อก่อนเคยสอนชั้นประถมศึกษา เราสามารถควบคุมเด็กได้ง่ายกว่านักเรียนชั้นมัธยม ถ้าครูอ่อนเกินไปเด็กก็ไม่ฟัง แต่ถ้าแข็งเกินไปเด็กก็ไม่ฟังอีก ซึ่งครูต้องหาความพอดีตรงนี้ให้เจอ ครูเลยต้องหากิจกรรมดึงดูดความสนใจของเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกอยากเรียนมากขึ้น เช่น ครูทิพย์ได้มารู้จักกับ Starfish Labz ซึ่ง Starfish Labz ช่วยกระตุ้นเด็กได้มาก โดยครูให้เด็กเข้าไปหาเรื่องที่ตนเองสนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นรายวิชาที่ครูสอน แล้วแข่งขันกัน ซึ่งทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเข้าไปค้นหาเรียนด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญสามารถนำมาเชื่อมโยงกับวิชาที่เรียนได้”
ครูทิพย์เล่าต่อถึงวิธีการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน “ยกตัวอย่าง เช่น เด็กมักจะชอบเข้าไปเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และวิชาภาษาจีน ซึ่งครูไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นวิชาที่ครูสอนเท่านั้น และครูจะนำผลลัพธ์การเรียนรู้นี้ให้เป็นคะแนนเสริม เป็นคะแนนจากการฝึกความรับผิดชอบ หาความรู้ด้วยตนเอง”
หลังจากที่ฟังครูทิพย์เล่า ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วคุณครูทิพย์รู้ได้อย่างไรว่าเด็กได้รับความรู้จริงๆ จากการปล่อยให้ไปเรียนในสิ่งที่สนใจ เพราะดูเป็นการให้อิสระนักเรียนมากๆ
ครูทิพย์จึงให้คำตอบกับเราว่า “ครูไม่ได้ให้นักเรียนส่งแค่หลักฐานเกียรติบัตรที่ได้รับ แล้วได้คะแนนไปเฉยๆ ซึ่งเกียรติบัตร และการเก็บ Portfolio สำหรับวิชาแนะแนว ก็เป็นแค่หลักฐานส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ครูใช้วิธีการ “เช็กความรู้” นักเรียนหลังจากที่เรียนไปแล้วด้วย เช่น เด็กไปเรียนรู้เรื่องการป้องกันโควิด ครูก็จะมานั่งพูดคุยกับว่าเด็กได้อะไร แล้วเด็กก็จะบอกว่า ‘อย่างน้อยผมรู้ว่าผมควรป้องกันตัวอย่างไร จากที่เคยรู้ฉาบฉวย พอเข้าไปเรียนก็ได้ความรู้มากขึ้น’
จากที่ครูทิพย์เล่า ผู้เขียนเกิดความคิดเห็นว่า บทบาทหน้าที่ที่ครูทิพย์ทำ ก็คือ ผู้ใช้เทคโนโลยีการศึกษาเป็นเครื่องมือให้นักเรียนเป็น Active Learner ส่วนคุณครูกลายเป็น ‘โค้ช’ ที่คอยตั้งคำถามและเช็กความรู้ของเด็กๆ มากกว่าที่จะเป็นครูคอยสอนให้เด็กท่องจำ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้นักเรียนกลายเป็น Active Learner เท่านั้น ครูทิพย์เองก็บอกว่า “ครูก็ต้องกลายเป็น Active Teacher ด้วย เพราะเมื่อเด็กเข้าไปศึกษาอะไรใหม่ๆ แล้วเอามาถามครู ครูก็ต้องกลับเข้าไปเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ด้วย ถึงจะคุยกับเด็กรู้เรื่อง ห้องเรียนจะได้ไม่เงียบเหงา”
ซึ่งผู้เริ่มจุดประกายให้คุณครูทิพย์ และคุณครูในโรงเรียนนำเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็คือผู้อำนวยการโรงเรียน ร.ต. สุริยัน จันทรา บุคคลที่ช่วยสนับสนุน และคอยกระตุ้นคุณครูเปิดใจรับสิ่งใหม่ และสนับสนุนให้คุณครูพัฒนาตนเองเพื่อนักเรียนอยู่เสมอ
นอกจากนี้คุณครูทิพย์ยังฝากทิ้งท้ายกับเพื่อนครูอีกหลายๆ ท่านว่า “ให้ลองเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ในตอนแรกก็อาจจะเกิดความรู้สึกกลัวเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอได้ทดลองใช้ไปแล้ว เราก็จะรู้สึกชิน และจะสนุก ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ เอง”
บทความใกล้เคียง
Related Courses
Micro Learning - แหล่งเครื่องมือช่วยครูจัดการชั้นเรียน
Starfish แหล่งเครื่องมือช่วยครูในจัดการชั้นเรียนที่หลากหลาย เช่น Starfish Labz, Starfish Class แบบเว็บไซต์ และแ ...
Micro Learning - เครื่องมือประเมินผู้เรียน
เครื่องมือครูในการประเมินผู้เรียนประกอบไปด้วย แอปพลิเคชัน 4 แอปพลิเคชัน คือ Kahoot Plicker , Quizzes , และ Cla ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...