การสร้างนวัตกรสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม แก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss)

ปัจจุบัน คำว่านวัตกรรมการศึกษา (Educational Innovation) เป็นสิ่งที่คุ้นหู และเป็นคำยอดฮิตที่ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาทุกระดับต่างมองหา หรือ เรียกร้องให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา และพัฒนาการศึกษาในมิติต่างๆ ซึ่งในทางบริหารจัดการศึกษานวัตกรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือ หรือกลไกสำคัญในการที่จะช่วยให้ทั้งการบริหาร และการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ และเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง อย่างสอดคล้องกับศักยภาพและความแตกต่างระหว่างบุคคล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาที่อยู่ท่ามกลางบริบทของความผันผวน เปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันและมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคตนั้น สถานศึกษา โดยผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกหน่วยปฏิบัติล้วนเป็นตัวแปรหรือปัจจัยสำคัญในระบบการศึกษาที่จำเป็นจะต้องปรับความคิด ปรับกระบวนทัศน์ในการทำงาน ให้รองรับกับบริบทการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งรูปแบบ วิธีการ หรือแนวปฏิบัติในลักษณะเดิมๆที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจุบันและอนาคตอีกต่อไป
ดังนั้น ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษายุคใหม่ จึงต้องเป็นนักคิดนักแก้ปัญหาด้วยแนวทางหรือวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งหมายความว่าจะต้องเป็นนักคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) และใช้ความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) เพื่อสรรหารูปแบบ วิธีการ แนวทาง เครื่องไม้เครื่องมือ หรือวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ตกผลึกทางความคิดภายใต้การศึกษา วิเคราะห์สภาพแวดล้อม และบริบทปัญหาแล้วว่ามีความเหมาะสม สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหา หรือพัฒนางานให้บรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ได้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มสำคัญมากกว่าการตั้งคำถามว่า “นวัตกรรมคืออะไร?” ซึ่งโดยทรรศนะส่วนตนมองว่า ปัญหาของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพภายใต้บริบทการศึกษาไทย คือ เราเน้นที่การค้นหาความสมบูรณ์แบบของคำว่า นวัตกรรม ภายใต้รูปแบบที่อ้างอิงกับการวิจัย และพัฒนา (Research & Development) กันอย่างบ้าคลั่ง มากกว่าการมองหาวิธีการง่ายๆแต่ได้ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ในการแก้ปัญหา
ผู้เขียนจึงมักสื่อสารกับผู้ร่วมงานเพื่อกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “นวัตกรรมคืออะไรก็ได้ที่ทำแล้วสามารถแก้ปัญหา ยกระดับ หรือพัฒนางานในประเด็นที่เราต้องการได้” เพื่อจุดประกายให้คนทำงานกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทุกหน่วยปฏิบัติ ทั้งในระดับแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการจัดการศึกษาในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ของผู้เรียนในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันอย่างชัดเจนผ่านผลสรุปทางวิชาการ หรือกระทั่งข้อมูลเชิงประจักษ์ จากการลงพื้นที่นิเทศติดตามตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา จึงกลายเป็นประเด็นท้าทาย สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกระดับ
จะเห็นได้จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่กำหนดให้การแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) เป็นนโยบายเร่งด่วน (Quick Policy) ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ก็ได้แปลงนโยบายไปสู่การขับเคลื่อนกับภาคปฏิบัติ ในระดับสถานศึกษาด้วยรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากมองในมิติของนักพัฒนาการศึกษาแล้ว จะเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายดังกล่าว ก็คือโอกาสครั้งสำคัญของนักคิด นักพัฒนา ที่จะใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ สู่การค้นพบ รูปแบบ แนวทาง หรือวิธีปฏิบัติที่ดีในการแก้ปัญหาได้อย่างยืดหยุ่น และหลากหลาย ซึ่งก็เข้ากับนิยามง่ายๆของคำว่านวัตกรรมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น แต่นั่นอาจเป็นเพียงภาพฝันในอุดมคติ หากหน่วยปฏิบัติในระดับที่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด คือ ครูและผู้บริหารสถานศึกษา ยังยึดติดกับกรอบความคิดการจัดการศึกษาแบบเดิมๆ หรืออาจจะเรียกว่ายุคก่อนโควิดก็ได้ ที่นักเรียนมาโรงเรียน เข้าแถวเคารพธงชาติ เข้าห้องเรียนหนังสือ เลิกเรียน กลับบ้าน แต่การจัดการศึกษายุคหลังโควิดนั้น กลับมีปัจจัยบีบคั้นที่สำคัญและมีความจำเป็นต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การบริหารและจัดการศึกษาที่ต้องเป็นไปในลักษณะทั้งการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในปัจจุบัน การจัดการแก้ไขปัญหาที่สะสมมาในอดีต และสร้างพัฒนาการการศึกษาให้พร้อมตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่มาพร้อมกับความผันผวน ไม่แน่นอนในอนาคต โรงเรียนต่างๆจึงจำเป็นต้องมีหลักปฏิบัติที่เป็นแนวทางร่วมกันให้ชัดเจนและต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) นอกจากการปรับความคิด ความเข้าใจ และทรรศนะที่มีต่อคำว่า นวัตกรรมให้เป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย ไม่ยุ่งยาก และไม่น่ากลัว ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอกรอบความคิดเชิงกระบวนการเพื่อประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของครูและผู้บริหารสถานศึกษา ที่สามารถนำไปสู่การจุดประกายในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ด้วยขั้นตอนความเชื่อมโยงอย่างง่ายๆ ภายใต้หลักการ SPARK MODEL (ประยุกต์จาก ศศิมา สุขสว่าง) มาเป็นโมเดลพื้นฐานในการริเริ่มขับเคลื่อนการพัฒนางานด้วยนวัตกรรม ดังนี้
S-Share: เป็นกระบวนการเริ่มต้นที่การระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ของบุคลากร แล้วร่วมสกัดออกมาเป็นแนวคิดในการพัฒนา
P-Plan: การวางแผนพัฒนานวัตกรรมตามแนวคิดที่ได้
A-Action: การดำเนินงาน หรือปฏิบัติตามแผน เพื่อเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ในการทำงาน
R-Reinforcement: การเสริมแรง และสร้างขวัญกำลังใจ ให้การพัฒนางานบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
K-Keep walking : ความต่อเนื่อง คือกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการกำกับ ติดตามอย่าง สม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่าหากโรงเรียนสามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการ SPARK MODEL โดยสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กร และนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมเชื่อได้ในระดับหนึ่งว่าโรงเรียน โดยผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรทางการศึกษา มีเข็มทิศนำทางไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังได้ รูปแบบ แนวทาง วิธีการบริหารและการจัดการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยของผู้เรียน ก็จะเกิดขึ้นอย่างหลากหลายตามความแตกต่างกันของบริบทพื้นที่และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มของ “การสร้างนวัตกร สู่องค์กรแห่งนวัตกรรม” อย่างยั่งยืนในที่สุด
นายพิเศรษฐ์ ไชยสุภา รองผู้อำนวยการ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ (สพป.เชียงใหม่) เขต 2
Related Courses
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...



คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...



Scenario Based Learning วิธีการเรียนแบบไม่ให้ Loss
การจัดการเรียนรู้โดยใช้ฉากทัศน์เป็นฐาน ทำให้นักเรียน เรียนรู้ผ่านสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความจริง และช่วยพัฒนาทักษะในการทำ ...



เปิดเทอมใหม่อย่างไร ให้การเรียนรู้ภาษาไทยไม่สะดุด
ทำความเข้าใจการเรียนรู้ที่ถดถอยของผู้เรียน และบทบาท หน้าที่ของครูภาษาไทยในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยมีแนวทา ...



Related Videos


โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนวัดสันป่าสัก | โรงเรียนบ้านหนองเงือก
![Starfish Country Home School Foundation [ENG]](https://img.youtube.com/vi/eeT-qLyd87U/mqdefault.jpg)

Starfish Country Home School Foundation [ENG]


TQSP Kicf Off แนวทางการพัฒนานวัตกรรม

