Starfish Talk คุยสบายๆ สไตล์สตาร์ฟิช : EDU TALK ฐานสมรรถนะ ใครว่ายาก ?
คุณครูหลายท่านอาจสงสัยว่า เราจะออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างไร หรือจะมีวิธีการวัด และประเมินผลผู้เรียนแบบไหน
ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ซึ่งสรุปมาจากงาน Starfish Talk Live ในหัวข้อ “ฐานสมรรถนะ ใครว่ายาก ?” โดย อาจารย์ธิติ ธีระเธียร (ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาครู) ซึ่งมีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ค่ะ
สมรรถนะ (Competency) คืออะไร ?
สมรรถนะ (Competency) เป็นความสามารถของเราในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ หรือคุณลักษณะที่ตนเองมีอยู่ ในการทำงานหรือการแก้ปัญหาต่างๆ จนประสบความสำเร็จ
การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเป็นอย่างไร ?
เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ หรือคุณลักษณะต่างๆ อย่างเป็นองค์รวมในการทำงาน หรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิต ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะ จะเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
สมรรถนะที่จำเป็นกับผู้เรียนมีอะไรบ้าง ?
1. สมรรถนะหลัก (Core Competency) ประกอบด้วย
- การจัดการตัวเอง : การที่ผู้เรียนรู้คุณค่าของตัวเอง มีการกำหนดเป้าหมาย สามารถจัดการอารมณ์ และความเครียดได้ รวมไปจนถึงสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ หรือสามารถฟื้นฟูตัวเองในสภาวะวิกฤติได้
- การคิดขั้นสูง : คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างเป็นระบบ และคิดแก้ไขปัญหา
- การสื่อสาร : ความสามารถที่จะรับสาร ตีความหมายของสารที่รับเข้ามา
- การทำงานเป็นทีม : การเป็นผู้นำ-ผู้ตามที่ดี ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง
- การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง : การรู้จักบทบาทของตนเอง การเคารพสิทธิของผู้อื่น สามารถที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่ละเมิดผู้อื่น รู้จักกติกาของสังคม และเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม
2. สมรรถนะเฉพาะด้าน (Specific Competency) ขึ้นอยู่กับวิชาที่กำลังเรียนอยู่หรือเรื่องที่กำลังสนใจอยู่
ข้อดีของการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ
ด้านผู้เรียน :
เนื่องจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะเน้นให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การที่เราจะพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน สิ่งสำคัญคือ คุณครูต้องกำหนดสถานการณ์ หรือเป้าหมายที่ผู้เรียนจะต้องทำให้สำเร็จขึ้นมา เป็นปัญหาที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้ผู้เรียนไปแก้ไขให้สำเร็จ และต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้รู้ว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มานั้นจะไม่สูญเปล่า และรู้ว่าเนื้อหาที่เรียน หรือสิ่งที่เขาฝึกฝนนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับเรื่องอะไรได้บ้าง
ดังนั้น ผู้เรียนจะเห็นความสำคัญของสิ่งที่เขาเรียนรู้ และจะตามมาด้วยความสนใจ เพราะเขารู้แล้วว่าจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
ด้านคุณครู :
คุณครูสอนแบบเนื้อหาลดลง แต่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งคุณครูต้องเตรียมแหล่งเรียนรู้ไว้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้เอง เพราะในปัจจุบันนี้ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างง่ายและรวดเร็ว
ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ จะทำให้คุณครู ไม่ต้องกังวลว่าจะสอนเนื้อหาไม่หมด หรือสอนไม่ทันเวลา เพราะผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น เมื่อคุณครูไม่ต้องกังวลกับเนื้อหา คุณครูจะมีเวลาในการออกแบบกิจกรรมได้มากขึ้น ทำให้ผู้เรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ และมีโอกาสเรียนรู้ผ่านการลงมือทำได้มากขึ้น
การวัดและประเมินผลในการจัดการเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะ
การจัดการเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะ จะใช้วิธีการวัด และประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง เช่น การสังเกต การบันทึก การรวบรวมข้อมูลจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) เป็นต้น ซึ่งในการประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริงนั้น จะไม่เน้นที่การประเมินความรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นประเมินทักษะการคิดที่ซับซ้อนในการทำงาน ความสามารถในการแก้ปัญหา และการแสดงออก ที่เกิดจากการปฏิบัติของผู้เรียนด้วย
ซึ่งเครื่องมือการวัด และประเมินผลที่แนะนำ คือ Starfish Class เพราะสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และสามารถรวบรวมผลการเรียนรู้ ของผู้เรียน และเก็บสะสมผลงานของผู้เรียนในรูปแบบ Digital Portfolio ได้ ซึ่งจะทำให้เห็นพัฒนาการของผู้เรียนรายบุคคล
สิ่งสำคัญในการวัดและประเมินผล คือ รูปแบบการประเมินต้องครอบคลุมทั้ง 3 ส่วนคือ
- การประเมินผลการเรียนรู้ : เป็นการวัดความรู้ของผู้เรียน
- การประเมินเพื่อการเรียนรู้ : เป็นการประเมินขณะที่ผู้เรียนกำลังทำกิจกรรม ซึ่งคุณครูควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้ให้ feedback กับผู้เรียน
- การประเมินเป็นการเรียนรู้ : เป็นการให้ผู้เรียนประเมินตนเอง โดยคุณครูเป็นผู้ออกแบบสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องประเมินในรูปแบบของรูบิก
หลักในการออกแบบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ
- กำหนดงาน (Task) หรือเป้าหมายของสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องทำให้บรรลุให้ได้ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องใช้ทั้ง 3 ส่วน คือ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ความรู้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้บรรลุตามงาน (Task) ที่คุณครูกำหนดไว้ ซึ่งคุณครูมีทำหน้าที่บอกแหล่งการเรียนรู้ และปล่อยให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ลองผิด-ลองถูกเองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามกระบวนการที่คุณครูตั้งไว้ ซึ่งคุณครูสามารถนำกระบวนการ STEAM design Process มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะได้
- วัดและประเมินผลให้ครอบคลุมทั้ง 3 ส่วน คือ การประเมินผลการเรียนรู้ การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้ และการประเมินเป็นการเรียนรู้
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่คุณครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง จากผู้ถ่ายทอด เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงของเขาได้
สำหรับใครที่พลาดดู Starfish Talk Live สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/starfishlabz/videos/608360730557861
Related Courses
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...