จับสัญญาณ SOS ลูกเรียนตามไม่ทันเพื่อน
ภาคเรียนแรกของการเรียน on-site หลังจากโรงเรียนต้องปิดยาวเพราะโควิด-19 อาจทำให้นักเรียนหลายๆ คน ต้องปรับตัวใหม่ เพื่อให้ชินกับรูปแบบการเรียนในห้องเรียน จากที่เคยเรียนออนไลน์มาเป็นเวลานาน ซึ่งเด็กแต่ละคนมักปรับตัวได้ช้า เร็ว ต่างกัน หากพ่อแม่สงสัยว่าลูกอาจมีปัญหาการเรียน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะลูกไม่ตั้งใจเรียน หรือเพราะลูกพยายามแล้วแต่ยังเรียนไม่ทันอยู่ดี ซึ่งอาจมาจากภาวะการเรียนรู้ถดถอย บทความนี้ StarfishLabz จะพาไปหาคำตอบค่ะ
เรียนไม่ทันเพราะการเรียนรู้ถดถอย
ภาวะการเรียนรู้ถดถอย เป็นภาวะที่เด็กๆ เสียโอกาสการเรียนรู้จากสถานการณ์ฉุกเฉินในสังคม เช่น โรคระบาด ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร เมื่ออยู่บ้านนานเกินไป การกลับไปเรียนในโรงเรียนจึงมักต้องใช้เวลาปรับตัวนานขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้ หากปรับตัวช้ากว่าคนอื่นๆ ก็อาจเรียนไม่ทันเพื่อน
โดยเฉพาะชั้นมัธยมที่วิชาความรู้ต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนเกิดความเครียด ยิ่งหากว่าเรียนไม่ทัน ก็อาจเริ่มมีพฤติกรรมไม่ทำการบ้าน ไม่ส่งงาน ทำให้เกรดตกลงกว่าเดิม
เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงควรหมั่นสังเกตและสำรวจพฤติกรรมของลูก ติดตามการเรียนและการส่งการบ้านว่าลูกทำครบถ้วนหรือมีอุปสรรคอะไรในการเรียนหรือไม่
รู้ได้อย่างไรว่าลูกเรียนไม่ทันเพื่อน
อาจเป็นการยากเกินไปสำหรับพ่อแม่ของลูกวัยรุ่น ที่จะคาดคั้นคำตอบเรื่องการเรียนจากปากลูกตรงๆ โดยเฉพาะเมื่อลูกกำลังเผชิญกับปัญหา คำถามธรรมดาๆ ของพ่อแม่อาจกลายเป็นคำจับผิด ทำให้ลูกร้องไห้ หัวเสีย แต่ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใดๆ
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ สังเกตความเปลี่ยนแปลงของลูก โดยทั่วไปเด็กที่ประสบปัญหาการเรียนจะมีพฤติกรรมคล้ายๆ กัน เช่น ดูหมดเรี่ยวแรงหลังกลับจากโรงเรียน ใช้เวลาทำการบ้านบางวิชานานกว่าปกติ มีพฤติกรรมไม่อยากไปโรงเรียนในบางวัน เช่น วันที่ต้องเข้าแลป หรือวันที่ต้องท่องคำศัพท์ นอกจากนี้เด็กบางคนอาจหงุดหงิดหัวเสียตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับโรงเรียน
หากค่อนข้างมั่นใจว่าลูกประสบปัญหาด้านการเรียน ควรเรียกลูกมานั่งคุยเป็นกิจจะลักษณะ บอกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่มีเจตนาที่จะช่วยให้ลูกก้าวข้ามปัญหา พ่อแม่ไม่ได้เข้ามาเพื่อตัดสินหรือทำให้ลูกรู้สึกแย่ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการเรียนไม่ทันเพื่อน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังจากที่หยุดเรียน on-site เป็นเวลานาน
การปล่อยให้ลูกรับมือปัญหาเพียงลำพังมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี เพราะวัยรุ่นมักเลือกที่จะหลบหนีปัญหามากกว่าเผชิญหน้าเพื่อแก้ไข ยิ่งปล่อยไว้นาน ก็มีแนวโน้มที่ปัญหาจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
เกิดอะไรเมื่อลูกเรียนไม่ทันเพื่อน
เมื่อเด็กเรียนไม่ทันเพื่อน หมายความว่าพวกเขาไม่เข้าใจบทเรียนเหมือนกับที่เพื่อนในชั้นเดียวกันเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจจึงไม่สามารถทำงาน ทำการบ้าน เพื่อส่งครูให้ถูกต้องได้
เด็กบางรายเลือกที่จะเงียบแทนการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ หรือครู พวกเขาอาจเลือกเก็บปัญหาไว้กับตัวเอง เพราะอาย กลัวเพื่อนล้อ กลัวครูดุ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การเก็บปัญหาไว้คนเดียว มักส่งผลเสียมากกว่าผลดี
เมื่อเรียนไม่ทันเพื่อน นอกจากจะส่งผลกระทบด้านการเรียนโดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเอง เด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อน มักขาดความมั่นใจในห้องเรียน ทำให้เก็บตัวเงียบ ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร ในทางกลับกัน อาจเบี่ยงเบนความสนใจคนอื่นจากปมด้อยด้านการเรียนของตัวเอง ด้วยการสร้างพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น โดดเรียน ทำตัวเป็นหัวโจกประจำห้อง เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจทำให้เกิดโรคเครียดหรือภาวะซึมเศร้าได้
ชวนพ่อแม่ใช้ STEAM Design Process ช่วยลูกแก้ปัญหาเรียนไม่ทัน
หนังสือเรื่อง สร้างทักษะแห่งอนาคต ด้วย Makerspace STEAM Design Process แนะนำกระบวนการที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้พัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับลูก ซึ่งอาจรวมถึงวิธีกอบกู้การเรียนรู้ถดถอย ทำให้ลูกเรียนไม่ทันเพื่อนด้วย
โดยกระบวนการ STEAM ที่หนังสือแนะนำ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ
- ASK ถาม (ระบุปัญหาที่เผชิญ) : พ่อแม่ชวนลูกมาระดมความคิดถึงสาเหตุของปัญหาที่ลูกเผชิญ เช่น เรียนไม่ทันเพื่อนเพราะปรับตัวไม่ทัน หรือ เพราะมีปัญหาอื่นๆ
- IMAGINE จินตนาการ (ระดมความคิดว่าจะทำอย่างไร) : ชวนลูกใช้จินตนาการระดมความคิดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหานั้น โดยคำตอบของลูกไม่มีถูกผิด แต่ละคนอาจช่วยกันวิเคราะห์ว่าทางออกแต่ละข้อที่เสนอมา มีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกันอย่างไร ก่อนเลือกข้อที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ามีประโยชน์มากที่สุด เช่น ทุกคนเห็นตรงกันว่า ลูกควรเล่นเกมส์น้อยลง และเพิ่มเวลาอ่านหนังสือ รวมทั้งเข้ากลุ่มติวกับเพื่อนช่วงสุดสัปดาห์
- PLAN วางแผน (ลำดับการทำ เครื่องมือ ความรู้ เวลา และข้อจำกัด) : เมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาแล้ว ก็วางแผนว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรเพื่อให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จ เช่น พ่อแม่ช่วยลูกจัดตารางกิจวัตรประจำวันใหม่ เพื่อให้มีเวลาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องหักโหมเกินไปนัก แทนที่ลูกจะกลับบ้านเองในตอนเย็น พ่อแม่อาจไปรับเพื่อให้ลูกมีเวลาพักมากขึ้น เป็นต้น
- CREATE (ลงมือปฏิบัติแบบจำลอง) : ทดลองทำตามแผน โดยกำหนดระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1 สัปดาห์ แล้วร่วมกันประเมินว่าผลลัพธ์เป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่
- Reflect & Redesign : สะท้อนผลของสิ่งที่ทดลองทำ ให้มีข้อบกพร่อง ก็ร่วมกันวางแผนและปรับปรุงแผนใหม่ให้ดีขึ้น เช่น หากการติวทุกสุดสัปดาห์ทำให้ลูกเหนื่อยเกินไป อาจเปลี่ยนเป็นสัปดาห์เว้นสัปดาห์เพื่อให้มีเวลาผ่อนคลายบ้าง เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว ปัญหาลูกเรียนไม่ทันเพื่อน ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่หากว่าพ่อแม่ยื่นมือช่วยเหลือได้เร็ว ก็จะทำให้ลูกก้าวข้ามปัญหาการเรียนนี้ไปสู่การเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตได้
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
Peer Learning วิธีฟื้นฟู Learning Loss
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Peer Learning คืออะไร 5 รูปแบบของกิจกรรม Peer to Peer Learning ตัวอย่างก ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...