การเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร
“ผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้บริหารสถานศึกษา” ถือเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดในโรงเรียน เพราะเป็นผู้นำในการบริหารจัดการ เปลี่ยนแปลงโรงเรียน ครูให้มีศักยภาพ นำไปสู่การผลิตนักเรียนที่มีสมรรถนะ และมีคุณภาพ ตอบโจทย์การพัฒนาคนของประเทศ
เป้าหมายของการบริหารโรงเรียน นั่นคือ คุณภาพของนักเรียน ซึ่งปัจจัยสำคัญในการบริหารโรงเรียน 70-80% จะเป็นเรื่องของงานวิชาการในโรงเรียน ส่วน 20-30% เป็นงานสนับสนุนคืองานบริหารการเงินและสินทรัพย์ งานบริหารงานบุคคลและงานบริหารทั่วไป บทบาทของผู้บริหารโรงเรียนจึงต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านวิชาการ มีภาวะผู้นำทางวิชาการทั้งในส่วนของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการโรงเรียน เพื่อเอื้ออำนวยให้ครูได้พัฒนาตนเองและจัดการเรียนรู้เหมาะสมกับบริบท ความถนัดและสมรรถนะของเด็กแต่ละคน
การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิชาการ ต้องรู้วิธีการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน ต้องวิเคราะห์หลักสูตรวิเคราะห์ผู้เรียน รวมถึงมองเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ และต้องมีตัวชี้วัดและสมรรถนะ ให้ครูจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ผู้บริหารต้องมีการนิเทศการจัดการเรียนรู้ของครู
“หากผู้บริหารไม่รู้ว่าครูในโรงเรียนมีแผนการสอนอย่างไร มีสื่อการสอนอย่างไรจะสนับสนุนให้ครูเป็นผู้แนะนำ ผู้ส่งเสริมการสอนให้แก่เด็กในชั้นเรียนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร การจัดการห้องเรียนคุณภาพก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก”
ในแต่ละชั้นเรียน หรือแต่ละห้องเรียนมีความแตกต่างกัน เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีศักยภาพ ความถนัดแตกต่างกัน ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ คอยเป็นต้นแบบให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาแก่ครูในการจัดทำนวัตกรรมต่างๆ ให้เทคนิคการควบคุมชั้นเรียน จิตวิทยาการสอน และผู้บริหารต้องรับรู้การวัดและประเมินผล เมื่อตัวครูมีศักยภาพ มีคุณภาพย่อม ทำให้เกิดสมรรถนะแก่ตัวนักเรียน
ผู้บริหารโรงเรียนที่จะเป็นผู้นำทางวิชาการในการบริหารโรงเรียน ต้องคิดต่าง และทำให้โรงเรียนกลายเป็น 4 องค์กร ได้แก่ องค์กรแห่งการเรียนรู้ องค์กรแห่งการทำงาน องค์กรแห่งการ
ร่วมมือ และองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยที่ทำให้ ผู้บริหารโรงเรียนก้าวสู่การเป็นผู้นำทางวิชาการในการบริหารจัดการโรงเรียนได้ ต้องเก่งงาน เก่งคน เข้าใจคน และทำงานร่วมกับคนอื่นได้
ครูและนักเรียนแต่ละคนแตกต่างกัน โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ถือเป็นเป้าหมายหลักในการบริหารจัดการโรงเรียน ที่ไม่ใช่การคำนึงเฉพาะเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการการเรียนรู้เท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นความสามารถทางพหุปัญญาของเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนแม้จะเรียนเหมือนกัน แต่ชอบและถนัดต่างกัน หน้าที่ของโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน และครู คือ ต้องทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะความสามารถ ตามความชอบ ความถนัด และตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน รวมไปถึงต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ครูมีแรงบันดาลใจในการทำงาน “ครูเก่งต้องได้รับคำชื่นชม ต้องได้รางวัล”
ความเป็นผู้นำทางวิชาการในการบริหารโรงเรียน นอกจากมีองค์ความรู้ทางวิชาการแล้ว สิ่งที่ผู้บริหารต้องมี คือ คุณลักษณะของภาวะผู้นำที่ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ยอมรับความคิดเห็น เรียนรู้สม่ำเสมอ ทุกคนอยากก้าวสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี แต่ถึงอย่างไรก็ต้องไม่ลืมบทบาทหน้าที่ในปัจจุบัน ว่าควรอยู่ตรงไหน ควรทำอย่างไร และทำเพื่อใคร
นายวรทัศน์ บุญโคตร
ผู้อำนวยการโรงเรียนวชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่
บทความใกล้เคียง
กิจกรรม TSQP Kick Off กลุ่มที่ 1 การเก็บหลักฐานและจัดการข้อมูล (ครูวิชาการ)
เปิดเทอมคราวนี้ต้องให้ความสำคัญ เรื่อง “การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอย”
ภาวะความรู้ถดถอย (Learning Loss) ที่ต้องเร่งแก้ไขในมุมมองของ CEO Starfish Education
Related Courses
ทำไมการศึกษาไทยต้องเปลี่ยนแปลง
ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาคงไม่ใช่แค่หน้าที่ของ “ครู” แต่คือผู้ที่มีความเชื่อและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เพื่อก ...
Environmental Education (EE)
The goal of the course is to explain to educators what environmental education is, what its goal ...
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...
ออกแบบห้องเรียนที่มีหัวใจ...ด้วยหัวใจอาชีพ
เราเลือกอาชีพ? หรืออาชีพเลือกเรา? เราวัดคุณค่าของอาชีพจากอะไร การรู้จักอาชีพที่หลากหลาย อาชีพที่มีค่าตอบเเทนสูง อาชีพที่ ...