5 การเรียนรู้แบบ ‘อีลอน มัสก์’ สร้างนิสัยสู่ความสำเร็จ เริ่มจากเชื่อว่า “เราก็ทำได้”

จะมีสักกี่คนที่ประสบความสำเร็จได้อย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา (Tesla) และสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เขานำทีมวิศวกรสร้างนวัตกรรมยานยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ไปจนถึงยานอวกาศ
หลายคนเปรียบเขาเป็นไอรอนแมน (Iron Man) ฮีโร่จากจักรวาลมาร์เวล (Marvel) ในชีวิตจริง เพราะพวกเขามีคาแรกเตอร์นักประดิษฐ์ ทั้งเก่ง ตลก ฉลาด และร่ำรวยสุดๆ เหมือนกันนั่นเอง
ถึงพวกเราทุกคนอาจไม่สามารถสร้างบริษัทมูลค่ามหาศาลได้อย่างเขา พี่ๆ Starfish Labz ก็เชื่อว่าถ้าน้องๆ รู้หลักการผสมผสานการเรียนรู้ทั้ง 5 ข้อต่อไปนี้ เราจะสามารถพัฒนาตนเองให้โดดเด่นในทางของตัวเองได้
1. เรียนรู้กว้างและลึกข้ามศาสตร์ (Cross Learning)
คิมบอล (Kimball) น้องชายของมักส์เล่าว่า ตอนมัสก์ยังเด็ก เขามักจะอ่านหนังสือจบอย่างน้อยวันละ 2 เล่ม รวมราวๆ 730 เล่มต่อปี ซึ่งนิสัยการอ่านดะนี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาค้นพบความสนใจคละศาสตร์
โตขึ้นมัสก์จึงเจาะจงเลือกศึกษา 2 ศาสตร์ด้วยกัน คือ เศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์ ซึ่งจะว่าไปก็ต่างกันคนละขั้ว แต่นั่นได้ช่วยขยายวิสัยทัศน์ให้เขานำหลักการทางวิทยาศาสตร์และทางธุรกิจมาสร้างจินตนาการให้เป็นจริงได้
เขาจึงมีเป้าหมายจะสร้างยานขนส่งทางอวกาศ Falcon-9 ให้มีคุณสมบัติพิเศษกว่ายานอวกาศแบบเดิมๆ ที่ใช้ได้แค่ไปกลับโลกเพียงรอบเดียว แต่ทีมของเขาก็หาทางออกแบบให้ยานร่อนลงจอดยังพื้นโลกได้ และนำกลับมาเดินเครื่องใช้ซ้ำใหม่ได้ทันทีที่เติมพลังงานจนเต็มแล้ว เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิต และสามารถเพิ่มเที่ยวบินในเวลาไม่นานเท่าแต่ก่อน ซึ่งตอบโจทย์การเดินทางท่องอวกาศให้กลายเป็นธุรกิจแห่งอนาคตได้
หรืออย่างนักเคมีที่มีความใส่ใจอยากลดมลพิษเพราะอยากเพิ่มความปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์ จึงสนใจค้นคว้าศึกษาหาความรู้ทางด้านชีววิทยาเพิ่มเติม จนค้นพบว่าไม่จำเป็นต้องใส่สารปิโตรเคมีลงไปเป็นส่วนผสมของเนื้อสีก็ได้ ทำให้เรามีทางเลือกหันมาใช้สารสกัดจากพืชที่ปลอดพิษทดแทนได้
2. เรียนรู้จากการหลอมรวมข้อมูลแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ (Learning Transfer)
หนังสือ ‘The power of output’ ได้อธิบายไว้ว่า
INPUT = การเพิ่มข้อมูลใหม่ลงในสมอง ไม่ว่าจะด้วยการอ่าน การฟัง และรับประสบการณ์ เปรียบเสมือนการเสียบแฟลชไดร์เข้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยดึงความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเก็บไว้ในคลังสมอง
แต่หากเราไม่เคยนำข้อมูลจากแฟลชไดร์มาใช้ประโยชน์เลย ก็อาจเสื่อมสลายได้ตามกาลเวลาเช่นเดียวกับเซลสมองของมนุษย์เรา
OUTPUT = การนำข้อมูลที่เพิ่งได้รับมาส่งต่อความรู้ ผ่านการพูด เขียน และสอนผู้อื่นให้เข้าใจได้ง่ายๆ นั่นจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเราเองสมบูรณ์ ความรู้นั้นจะถูกบันทึกเป็นความทรงจำระยะยาวลงสมองของเรา
เมื่อเราจำได้ว่าเรามีสิ่งนี้อยู่ในหัว เราก็จะหยิบมาใช้ใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ และเมื่อมีความรู้ใหม่มาปะทะกับชุดความรู้เดิม ก็จะเพิ่มกำลังคูณสองให้เราปิ๊งแว้บไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาได้
มัสก์เองก็มักจะจดจำและนำความรู้ที่ตนได้จากหนังสือไปถ่ายทอดต่อ และลงมือทำงานจริง จนเขาสามารถควบคุมทีมวิศวกรสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าสุดล้ำให้แล่นได้โดยไม่ต้องมีเครื่องยนต์เผาผลาญเชื้อเพลิงแต่อย่างใด นับว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่เลยทีเดียว
3. เรียนรู้แบบเชื่อมโยงองค์ความรู้ (Semantic Tree)
“สิ่งสำคัญคือต้องมองว่าความรู้เปรียบเสมือนต้นไม้ที่สื่อความหมายได้ — เราต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานที่เปรียบเสมือนลำต้นและกิ่งก้านขนาดใหญ่เสียก่อนที่คุณจะลงลึกในรายละเอียดที่เปรียบได้กับใบไม้ หากคุณเริ่มลงรายละเอียดเร็วเกินไป ก็จะเหมือนใบไม้ที่ไม่มีกิ่งก้านให้ยึดเกาะ” — อีลอน มัสก์
มัสก์แนะนำให้เราลองนึกภาพเป้าหมายการเรียนรู้เป็น ‘แผนภูมิต้นไม้’ ลองจินตนาการว่ารากและลำต้น คือความสามารถที่เราใฝ่ฝันอยากทำให้ได้สำเร็จ กิ่งก้านสาขา คือทักษะสำคัญที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงจะทำได้ ส่วนใบคือหัวข้อรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละทักษะที่เราต้องเรียนรู้และฝึกฝน
เช่น หากน้องๆ อยากสื่อสารภาษาอังกฤษได้ น้องๆ ก็จะต้องหัดฟังและรับชมบทสนทนาภาษาอังกฤษจากวิดีโอออนไลน์หรือซีรี่ส์ฝรั่งที่เราชอบ เพื่อให้คุ้นหูกับสำเนียง และจดจำวิธีการออกเสียงที่ถูกต้อง จนกระทั่งเราฟังออกเป็นคำๆ จากนั้นค่อยๆ จดคำศัพท์ที่เรายังไม่รู้เพื่อมาตามหาความหมาย แล้วค่อยๆ หัดประกอบคำเข้าด้วยกัน จนเป็นรูปประโยคที่ได้ใจความ พอจะเรียบเรียงเป็นคำพูดออกมาสื่อสารให้เจ้าของภาษาเข้าใจได้ เป็นต้น
จะเห็นว่าเมื่อเรากำหนดเป้าหมายใหญ่และเป้าหมายย่อยๆ ไว้อย่างชัดเจนแล้ว จะช่วยให้น้องๆ วางแผนต่อยอดการเรียนรู้ได้แบบเก็บสะสมแต้มไปทีละเล็กทีละน้อย จะเร็วจะช้าก็ขึ้นอยู่กับความขยันที่จะสร้างความคืบหน้าตามที่ตั้งใจ
ทว่าการที่เด็กๆ มีหน้าที่ไปโรงเรียนจนกลายเป็นกิจวัตรที่ต้องทำ อาจเป็นกับดักที่ทำให้หลงลืมไปว่า เราเรียนไปทำไมและเพื่ออะไร เหมือนมองเห็นแต่พุ่มไม้โดยไม่เคยเห็นภาพในวันที่ต้นไม้จะได้ออกดอกออกผลมาก่อนเลย เด็กๆ จึงไม่ตื่นเต้นรอคอยจะได้เห็นวันคืนอันน่าตื่นเต้น ก็เลยอาจขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ไปได้
พ่อแม่และคุณครูอาจช่วยเด็กๆ วาดภาพฝันให้ไกล ช่วยกันวางแผน และร่วมกันสร้างโอกาสที่จะเป็นไปได้จริงให้ตัวเองในอนาคต สลับกับคอยกลับมามองความชอบ และความถนัดของตัวเด็กๆ เองบ่อยๆ
สำหรับวัยรุ่นที่กำลังค้นหาว่าตัวเองเป็นต้นอะไรกันแน่ ถ้ายังไม่เจอคำตอบตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ขอแค่เรารับผิดชอบหน้าที่ในการเรียนให้ดี ไปทำกิจกรรมให้หลากหลาย ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ คอยสร้างจุดแข็งของตัวเอง และฝึกฝนทักษะที่ไม่ถนัดให้พอเอาตัวรอดได้ เพื่อรอให้ถึงเวลาที่จะคว้าโอกาสได้ทำงานที่เป็นชีวิตจิตใจของเราได้จริงๆ
4. เรียนรู้ขอบเขตความสามารถของตนเอง (The Absolute Limits)
มัสก์ยอมรับว่าสมองของเขาไม่เคยหยุดคิดเลย เขามักจะทำงานแบบสุดเหวี่ยง เพราะเขาชอบความท้าทาย จึงมักทำอะไรเกินขีดจำกัดกว่าปกติสักเล็กน้อย ทั้งด้านร่างกาย สมอง และอารมณ์ เพื่อจะช่วยเร่งกระบวนการเรียนรู้ หรือเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นได้ เช่น สามารถทำงานได้มากในเวลาที่น้อยลง เป็นต้น
“ผมคิดว่ามนุษย์ส่วนใหญ่สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าที่พวกเขาคิด” มัสก์กล่าว
ดังนั้นหากเราใส่ความทะเยอทะยานลงไปในงานอีกสักนิด อย่าตั้งข้อจำกัดมากเกินไป มองให้เห็นแต่ความเป็นไปได้ แล้วเราจะไม่รู้สึกทรมานกับอุปสรรคต่างๆ ในระหว่างทางของกระบวนการเรียนรู้เลย
แต่ก็อย่าเพิ่งใจร้อน รีบโดดไปศึกษาเนื้อหาขั้นสูง ถึงแม้ว่าเราจะสนใจเรื่องนั้นมากๆ ก็ตาม แต่เราอาจจะไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ จนท้อไปเสียก่อน จึงควรจะสะสมความรู้ขั้นพื้นฐาน จนเมื่อเข้าใจหลักการดีพอแล้ว เราจะเริ่มเรียนรู้เรื่องยากๆ ได้สนุกขึ้น เพราะมีทักษะความรู้พร้อมจะไต่ระดับเพิ่มความท้าทายต่อไป และจะเริ่มมีอิสระที่จะออกแบบการเรียนรู้ได้ตรงตามสไตล์การเรียนรู้ของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
5. คัดสรรผู้คนเข้ามาในชีวิตให้ดีๆ (Entourage)
น้องๆ อาจเคยได้ยินเรื่องค่าเฉลี่ยความเจ๋งในตัวเราสะท้อนให้เห็นได้จากเพื่อนสนิทใกล้ตัว 5 คน เพราะทุกการตัดสินใจเลือกของเราส่งผลต่อชีวิตเราอย่างมาก แม้แต่การเลือกคบหาเพื่อน
เพราะผู้คนในชีวิตที่เราคัดสรรมาไว้แวดล้อมตัวเรา มักจะส่งผลต่อตัวเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งจากประสบการณ์ทางอารมณ์และความคิดที่เชื่อมถึงกัน ทำให้เรามีทัศนคติแบบไหน มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นในระดับใด รู้จักรับมือและจัดการกับปัญหาได้ดีขนาดไหน
เวลาที่เราอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ คนคูลๆ มีเหตุมีผล มีใจที่เปิดกว้าง และมีความสุข จะทำให้เรามีพลังกระตือรือร้นอยากเก่ง กล้า สามารถแบบเขาบ้าง ยิ่งเป็นคนที่มีระดับความสามารถพอๆ กัน และศีลเสมอกัน ก็จะส่งเสริมกันให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ เราจะคุยต่อกันติดง่าย รู้สึกสนุกกับบทสนทนาที่อาจจะตลกก็ได้และมีคุณภาพด้วย ยิ่งถ้าทำให้เรารู้สึกว่ามิตรภาพของเรามีคุณค่า และทำให้ชีวิตเรามีความหมาย ยิ่งควรมีคนเหล่านั้นไว้ข้างๆ ตัว
ถ้ามัสก์ไม่ได้พบกับเพื่อนเก่งๆ และเพื่อนร่วมงานเจ๋งๆ เขาก็คงก่อตั้งบริษัทต่างๆ ได้ไม่สำเร็จ และคงไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 อย่างทุกวันนี้
ทบทวนความจำ (Key Takeaway)
- ขยันเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านการฟัง อ่าน ชม และลงมือทำ เช่น อ่านบทความหรือหนังสือ ฟังพอดแคสต์ เรียนคอร์สออนไลน์ และเข้าร่วมเวิร์กช้อปที่จะช่วยเพิ่มทักษะที่เราต้องการ
- นำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน โดยถ่ายทอดออกมาผ่านการจดบทเรียน เขียนบล็อก เล่าผ่านคลิป สอนผู้อื่น หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้รู้จริง
- วาดแผนผังต้นไม้ เพื่อกำหนดเป้าหมายก่อนจะพัฒนาทักษะใหม่ๆ
- ตั้งมายเซตใหม่ เชื่อว่าตัวเองก็ทำได้ ค่อยๆ เพิ่มความท้าทายเพื่อผลักดันตัวเองไปอีกขั้น
- พาตัวเองไปอยู่กับคนเก่งๆ เพื่อซึมซับแนวคิดและวิธีการดำเนินชีวิตที่น่านับถือของพวกเขา และถ้าได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่จะช่วยกันเรียนรู้ ฝ่าฟัน เป็นกำลังใจ และผลักดันเป้าหมายให้สำเร็จไปด้วยกัน
แหล่งอ้างอิง (Sources):
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้ว่าการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องทำงานกับผู้อื่น และเมื่อต้องทำงานร่วมกันแล้วจะส่งเสริมให้เกิ ...



การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล (Media Literacy)
ถึงเวลาที่น้องๆ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและสะดวกต่อการเข้าถึ ...



วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล (Media Literacy)
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...



นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
ทักษะการนำเสนอไอเดีย
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการเสนอไอเดีย หรือที่เราเข้าใจกันก็คือการขายแนวคิด โดยเราสามารถเรียนรู้ได้จากกา ...



Related Videos


เอาตัวรอดยุคโควิด ต้องล้มได้ลุกได้ด้วย Resilience skill


พื้นที่แห่งการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21


(ENG) ขั้นตอนที่ 4 : การจัดการเรียนรู้ - รร.วัดกู่คำ จ.เชียงใหม่

