Starfish Future Labz แนะแนวทักษะชีวิต เมื่อ IQ หรือพรสวรรค์ก็ไม่อาจเทียบเท่า Grit
ในการส่งเสริม นำทาง และบ่มเพาะหลากหลายองค์ประกอบและปัจจัยให้ลูกเพื่อช่วยให้เขามีความกล้าหาญและความสามารถที่จะทำสิ่งใดๆ ก็ตามที่เขารัก ปรารถนา หรือจำเป็นที่จะต้องทำให้สำเร็จ หลายๆ ครอบครัวอาจคิดว่าความฉลาดทางสติปัญญาหรือพรสวรรค์อาจเป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยที่สำคัญที่สุด เราปรารถนาให้ลูกค้นพบพรสวรรค์ของพวกเขา เราหวังที่จะเสริมการพัฒนาการทางด้านสติปัญญาในทุกด้านให้กับลูก แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญจริงๆ ในการช่วยให้เด็ก ผู้ใหญ่ หรือใครก็ตามสามารถทำสิ่งที่เขาใฝ่ฝันหรือปรารถนาสำเร็จ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า และอาจใช้คำว่าเปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำที่หลายๆ ครั้งเรามองแทบไม่เห็น แต่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ช่วยขับเคลื่อนความฝัน ความปรารถนา และการลงมือทำของเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่ทุกคนก็คือ “Grit” หรือเราอาจเรียกเป็นภาษาไทยอย่างคร่าวๆ ก่อนว่าคือ “ทักษะแห่งความวิริยะ”นั่นเองค่ะ
“Grit” ในความหมายดั้งเดิมทั่วๆ ไปในภาษาอังกฤษนั้นหมายถึง “ความมุ่งมั่นกล้าหาญ” แต่ในบริบทของยุคสมัยปัจจุบันที่ได้รับการกล่าวถึง ศึกษา วิจัย และถูกนำมาผนวกใช้ในระบบการศึกษาและการทำงานมากมาย “Grit” มีความหมายที่ลุ่มลึก และแน่นอนว่าสำคัญกว่านั้น
ในบทความนี้ Starfish Labz จะขอพาคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และผู้อ่านทุกคนมาทำความเข้าใจทักษะ “grit” และวิธีการง่ายๆ ในการนำไปปรับใช้ ฝึกฝน และบ่มเพาะให้กับลูกๆ ของเรากัน Grit คืออะไร? ใครเป็นคนนำเสนอ Grit? และเราจะค่อยๆ เริ่มสอนทักษะชีวิต Grit ให้ลูกอย่างไรได้บ้าง ตาม Starfish Labz มาเรียนรู้กันในบทความนี้เลยค่ะ
Grit คืออะไร?
อย่างที่เกริ่นข้างต้น ในความหมายทั่วๆ ไปในภาษาอังกฤษ Grit (ออกเสียงว่า “กริท”) ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ใน ณ ที่นี้ก็คือ “ความมุ่งมั่นกล้าหาญ” หรือที่ Cambridge ให้คำนิยามว่าคือ “Courage and determination despite difficulty” หรือ “การมีความกล้าหาญและความมุ่งมั่นแม้จะอยู่ท่ามกลางภาวะความยากลำบาก” นั่นเองค่ะ ความหมายดั้งเดิมนี้ของ “Grit” เป็นความหมายโดยทั่วๆ ไป มักถูกใช้ในการอธิบายถึงลักษณะหรือภาวะในสถานการณ์หนึ่งๆ ที่บุคคลสามารถหรือจำจะต้องเป็นดึงเอา “Grit” หรือ “ความมุ่งมั่นกล้าหาญจากภายใน” ของเขาออกมาใช้ Grit ในความหมายนี้ยังคงแพร่หลายและถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แต่อีกหนึ่งความหมายของ Grit ที่อยู่ในเฉดเดียวกันแต่แสนลุ่มลึกกว่านั้นก็คือแนวคิดและคำว่า “Grit” ที่ได้ผุดขึ้นมาในงานวิจัยและศึกษาของ Angela Duckworth นักจิตวิทยาชาวอเมริกันในช่วงปี 2007 นั่นเองค่ะ
ในงานศึกษาของ Duckworth ซึ่งเธอได้นำมาเขียนเป็นหนังสือในชื่อ Grit: The Power of Passion and Perseverance และทำให้แนวคิดทักษะเรื่อง “Grit” กลายเป็นที่รู้จักนั้น Duckworth มีคำถามในใจอย่างเพียงง่ายๆ สั้นๆ ว่า “ปัจจัยใดกันคือปัจจัยที่สำคัญและมีอิทธิพลที่สุดที่ช่วยให้เด็กๆ ผู้ใหญ่ หรือใครคนหนึ่งสามารถทำบางสิ่งที่เขาปรารถนา ใฝ่ฝัน หรืออยากที่จะทำสำเร็จ?” ในสังคมที่มีค่านิยมและความเชื่อว่าความฉลาดทางปัญญา, พรสวรรค์, หรือการมีระดับการศึกษาที่สูงที่สุดคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด Duckworth อยากรู้ว่าผลการศึกษาของเธอจะตรงตามค่านิยมและความเชื่อดังกล่าวหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าผลการศึกษาดังกล่าวที่ออกมาผิดไปจากที่เธอคิดอยู่หลายประการ
แน่นอนว่าการมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ดี การมีทักษะ และการมีองค์ความรู้ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่มันกลับไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญหรือกระทั่งส่งผลให้ใครสักคนทำบางสิ่งที่เขาปรารถนาสำเร็จที่สุด กลับกัน องค์ประกอบที่ส่งผลที่สุดที่ผุดขึ้นมาในงานวิจัยของ Duckworth คือสิ่งที่เธอเรียกและให้ชื่อว่า “Grit” และ Grit ในความหมายนี้ของ Duckworth ก็คือ
“Grit คือการมีความหลงใหล (passion) และความวิริยะ อุตสาหะ (perserverance) ในการทำบางสิ่งที่ยากหรือเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้เวลานานหรือในระยะยาวของเราให้สำเร็จ วิธีง่ายๆ หนึ่งในทำความเข้าใจว่า Grit คืออะไรก็คือการดูว่า Grit ไม่ใช่อะไร Grit ไม่ใช่พรสวรรค์ Grit ไม่ใช่โชคช่วย และ Grit ไม่ใช่ ณ ช่วงวินาทีอันแรงกล้าที่ในทันใดหรือในที่สุด คุณก็ตระหนักว่าคุณต้องการอะไร กลับกัน Grit คือความวิริยะอุตสาหะในการเดินไปสู่จุดหมายที่คุณปรารถนา Grit คือภาวะของการยึดมั่นอยู่กับการเส้นทางดังกล่าว”
Grit ในความหมายของ Duckworth ในที่นี้จึงอาจเปรียบได้กับ “ภาวะวิริยะ” ในภาษาไทยนั่นเองค่ะ แต่อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูต้องทำความเข้าใจว่า Grit นั้นไม่ใช่แค่ ‘การมานะพยายาม’ แต่ควรเป็น ‘การมานะพยายาม’ ในสิ่งที่ ‘มีความหมาย มีคุณค่า’ หรือเป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ ปรารถนา หรือสำคัญต่อเขาจริงๆ
Grit คือ ภาวะของการยึดมั่นอยู่กับเส้นทางและจุดหมาย อันหมายถึงหากจุดหมายไม่ได้มีความสำคัญหรือมีคุณค่าหัวใจหรือความปรารถนาของพวกเขาจริงๆ ในท้ายที่สุดแล้ว Grit ก็อาจจะไม่สามารถหยั่งรากลึกลงในจิตใจของเด็กๆ ได้นานเพียงพอ Grit เป็นภาวะที่อาจเหน็ดเหนื่อย ท้าทายและยังต้องอาศัยองค์ประกอบของทักษะชีวิตอื่นๆ ร่วมด้วยมากมาย เช่น Growth Mindset
ทักษะชีวิตสำหรับเด็ก: วิธีในการค่อยๆ เริ่มสอนและบ่มเพาะ Grit ให้กับลูก
แม้จะเป็นแนวคิดที่ดูใหม่และแสนท้าทาย แต่วิธีการในการบ่มเพาะ Grit ให้กับลูกนั้นสามารถเริ่มต้นได้อย่างง่ายๆ จากกิจกรรม การสนทนา และความใส่ใจจากพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว โดย 5 เคล็ดลับสำคัญเริ่มต้นที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูสามารถทำได้และค่อยๆ นำทางให้กับลูกคือ
1. ช่วยลูกค่อยๆ ค้นหาและพัฒนาจุดมุ่งหมาย (purpose) ที่มีคุณค่าจริงๆ ต่อพวกเขา พวกเขาชอบอะไร อยากเรียนรู้สิ่งใด มีแนวโน้มที่จะสนใจในเรื่องใด ใช้เวลาทำความรู้จักพวกเขา และค่อยๆ ส่งเสริม และนำทางเขาไปในทิศทางดังกล่าว
2. เปิดโอกาสให้ลูกก้าวออกจาก Comfort Zone ให้อิสระเขาในการค้นหา พ่อแม่ไม่ใช่ผู้ควบคุม ยัดเยียด หรือมอบจุดมุ่งหมายให้ลูก แต่เป็นเพียงแค่ผู้นำทาง หรือควรอาจใช้คำว่าผู้เดินตามอย่างห่างๆ ด้วยความรักและห่วงใยเท่านั้น
3. สอนทักษะชีวิตอื่นๆ ให้ลูกด้วย แม้ Grit จะผุดขึ้นมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลที่สุดในงานศึกษาของ Duckworth แต่สิ่งที่ Duckworth ยังคงเน้นย้ำก็คือ ในรายละเอียดโดยลึกจริงๆ แน่นอนว่า Grit ยังคงไม่ใช่ทั้งหมด การจะมีภาวะ Grit ที่สมดุลและสุขภาวะที่ดีอาศัยอีกหลากหลายทักษะชีวิต เช่น Growth Mindset, การมีความเมตตาต่อตนเอง (self-compassion) และไปจนถึงการมีความรักต่อตนเอง (self-love) ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถทำได้ เช่น สอนทักษะอื่นให้ลูกในรูปของกลุ่มทักษะ เช่น ทักษะชีวิต 4 ด้านที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าจะสำคัญต่อลูกที่สุดและไม่ใช่เพียงแค่เพียงเพื่อให้มี Grit เพื่อให้ต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำเร็จ แต่ยังรวมถึงแง่มุมอื่นๆ ที่มีความหมายในชีวิตของพวกเขา
4. สอนให้ลูกเข้าใจและรู้จักความล้มเหลว เปิดโอกาสให้ลูกลองผิดลองถูก หรือแม้กระทั่งรู้สึกโมโห บ่มเพาะความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ให้กับเขา
5. เป็นตัวอย่างพ่อแม่ที่มีทักษะ Grit ให้กับลูก
ความสำเร็จไม่ควรและไม่เคยเป็นสิ่งที่มีสูตรสำเร็จตายตัว ความสำเร็จยังไม่ใช่แค่การได้เกรดดี เรียนดี หรือได้ทำงานในองค์กร หรือมีรายได้ที่สูงที่สุด Grit คือการเดินทางที่สามารถแตกแขนงไปได้ในแทบทุกแง่มุมในชีวิตของเด็กๆ และการเดินทางสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าวจะคืออะไร สิ่งเดียวและสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ คุณครูทำได้ก็คือการคอยเป็นกองสนับสนุน ช่วยชี้แนะ และนำทางให้เด็กๆ เท่านั้น การสอน Grit ให้ลูกไม่ควรเป็นการควบคุมและการคาดหวังว่าลูกจะต้องทำสำเร็จ การมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริงคือชีวิตที่ลูกได้มีโอกาสค้นหา นิยาม และกำหนดความสุข ความปรารถนา และเส้นทางของเขาเอง
แหล่งอ้างอิง (Sources):
- Angela Duckworth
- What Is Grit and Do You Have It? | Psychology Today
- 9 Activities To Build Grit and Resilience in Children | Big Life Journal
- 7 Steps Parents Can Take to Teach Kids Grit
- สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่ IQ หรือ พรสวรรค์ แต่มันคือ Grit
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้ว่า การทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องทำงานกับผู้อื่น แล้วเมื่อต้องทำงานร่วมกันแล้วจะส่งเสริมใ ...
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล (Media Literacy)
ถึงเวลาที่น้องๆ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและสะดวกต่อการเข้าถึ ...
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล (Media Literacy)
Micro Learning เทคนิคการดูแลสุขภาพกาย ป.4-6
การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายที่ดีจากภายในสู่ภายนอก ควรทำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ