พูดคุยกับลูกยังไงให้ไว้ใจพ่อแม่อย่างเราๆ
มีพ่อแม่คนไหนที่ลูกไม่ค่อยยอมเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังบ้าง ? ใช่ค่ะเด็กๆ หลายครั้งมักจะชอบไปปรึกษาเรื่องราวที่ไม่สบายใจกับเพื่อนๆ เพื่อให้ช่วยตัดสินใจปัญหาแทนที่จะปรึกษาพ่อแม่ บางเรื่องก็พอจะปรึกษาได้ แต่บางเรื่องมันก็หนักหนาเกินไปที่เด็กๆ จะรับไหว มารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นเรื่องราวที่ใหญ่โต หรือบางครั้งเด็กๆ ก็มักจะตัดสินใจด้วยตัวเองซึ่งมักจะไม่ถูกวิธี
แล้วคุณพ่อคุณแม่จะทำยังไงให้เด็กๆ ไว้ใจเรามากขึ้น และยอมพูดคุยและปรึกษาพ่อแม่อย่างเราๆ มากขึ้นบ้างล่ะ วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กๆ ยอมเชื่อใจเราและเข้ามาพูดคุยและปรึกษาเราให้มากขึ้น ตามไปดูกันเลยค่ะ
1. พ่อแม่ต้องพูดคุยแบบเปิดใจกว้าง
ยิ่งเปิดใจพูดคุยกับลูกมากเท่าไหร่ เด็กๆ ก็จะเชื่อใจมากเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ลองเปิดใจและทำความเข้าใจในความคิดของเขา ใส่ใจทุกอย่างที่ลูกเป็น พยายามสังเกตทั้งข้อดี จุดเด่น ในเรื่องต่างๆ ของลูก หากลูกมาปรึกษาเราก็แค่ไม่เอาความคิดเห็นของผู้ใหญ่มาตัดสินเรื่องต่างๆ ของลูก เขาก็จะยอมพูดคุยกับเรามากขึ้นเพียงแค่เราเปิดใจเท่านั้นค่ะ
2. พ่อแม่ต้องพูดคุยแบบให้เกียรติตัวตนของลูก
สิ่งสำคัญในการพูดคุยของคุณพ่อคุณแม่ นั้นก็คือ การให้โอกาสลูกในการตัดสินใจด้วยตัวเองบ้างหากลูกมีเรื่องหรือปัญหามาปรึกษาเรา ไม่พูดหรือด่า หรือต่อว่าผลักไส แต่เปลี่ยนเป็นการชี้แนวทางและคอยอยู่ข้างๆ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
3. พูดอะไรไว้ก็ควรรักษาสัญญา
เพราะหากพ่อแม่อย่างเราผิดสัญญา ความไว้ใจจากลูกก็จะลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน พ่อแม่ควรทำในสิ่งที่พูด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูก พูดด้วยความจริงใจ พูดอะไรไว้ก็ควรรักษาสัญญา หากทำได้รับรองได้เลยว่าลูกไว้ใจพ่อแม่อย่างเราๆ ได้แน่นอน
4. ไม่พูดซ้ำซาก เอาเรื่องเก่าๆ มาพูดในเรื่องที่ลูกผิดพลาด
เพราะการพูดคำซ้ำซากหรือเรื่องเล่าเก่าๆ มันจะทำให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่ผิดพลาดนั้นมันบั่นทอนจิตใจเหลือเกิน ซึ่งคำพูดเหล่านั้น คุณพ่อคุณแม่เองก็มักจะมีหลุดๆ มาจากปากบ้างเวลาโกรธ โมโหหรือไม่พอใจกับบางสิ่ง ซึ่งบางครั้งในความไม่ตั้งใจของเรานั้น หากลูกได้ยินเข้าก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อจิตใจของลูกได้ ทำให้เด็กๆ กลายเป็นเด็กดื้อ ไม่เชื่อฟังและในที่สุดเขาก็ไม่อยากจะคุยกับเราอีกเลย
5. รับฟังลูกเสมอและอธิบายด้วยเหตุผล
ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือไม่ดี สิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ทำได้นั้นก็คือ การรับฟัง ซึ่งการรับฟังไม่ใช่แค่ฟังไปเฉยๆ ไปผ่านพ้นไป แต่เป็นการฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ และความใจเย็น ฟังลูกให้เขาได้อธิบายในสิ่งที่เขาอยากจะถาม อยากจะพูดให้จบเสียก่อน ไม่ควรดุด่า หรือตำหนิเลย เพราะการทำแบบนั้นจะทำให้ลูกรู้สึกว่า ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ตาม พ่อแม่ก็จะบ่นทุกที และสุดท้ายเขาก็จะเก็บสิ่งที่อยู่ในใจไว้ไม่ยอมบอกพ่อแม่อย่างเราๆ เพราะฉะนั้นจงรับฟังอย่างเข้าใจ และอธิบายด้วยเหตุผล และไม่ใช้ความรุนแรงนั้นเองค่ะ
6. หากเรื่องที่ลูกมาปรึกษาเป็นความลับ ก็ต้องเก็บเป็นความลับให้ได้ด้วย
เพราะลูกก็มีพื้นที่ส่วนตัว ยิ่งโตก็ยิ่งมีพื้นที่เหล่านั้นมากขึ้น บางครั้งหากเขาพยายามเล่าสิ่งที่มีอยู่ในใจ หรือสิ่งที่ทำผิดพลาดไปแล้วให้เราฟัง และเรื่องนั้นลูกไม่อยากจะบอกให้ใครได้รับรู้นอกจากพ่อหรือแม่ เราก็ต้องเก็บเรื่องนั้นเป็นความลับให้ได้ด้วย ซึ่งพ่อแม่บางคนชอบเอาเรื่องที่ลูกเล่าไปเล่าหรือไปปรึกษาต่อ จนความลับของลูกนั้นแตกออกมา คราวนี้ล่ะอย่าว่าแต่ปรึกษาเลย มีอะไรต่อไปเขาก็จะไม่กล้าบอกเราอีกเลย เพราะขนาดพ่อแม่ที่เป็นคนที่ไว้ใจของเขามากที่สุด ยังเก็บความลับที่ไม่อยากบอกใครไม่ได้นั้นเอง
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...