10 ทักษะสำคัญ ของผู้บริหารโรงเรียนที่ดี
ผู้บริหารโรงเรียน คือบุคคลสำคัญสำหรับการพาโรงเรียนเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะในระบบการประเมินวิทยฐานะว.PA ที่มีเป้าหมายให้คุณครูกลับมาสู่ห้องเรียน และผู้บริหารต้องปรับวิธีการประเมินให้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาที่แท้จริง ลดเอกสาร ลดภาระงานต่าง ๆ ของครู สามารถรับฟังปัญหาต่าง ๆ และช่วยครูแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้
วันนี้ Starfish Labz รวบรวม 10 ทักษะที่สำคัญของผู้บริหารโรงเรียนที่ดีมาให้อ่าน เพื่อเป็น checklist ให้ผู้บริหารลองสำรวจ ทบทวนตัวเอง และนำไปเป็นทิศทางในการฝึกฝนพัฒนาตัวเองดู
1. มีความเป็นผู้นำ
ผู้บริหารโรงเรียนต้องดูแลคนจำนวนมาก และยังเป็น ‘สื่อกลาง’ (Mediator) ระหว่างนักเรียน คุณครู และผู้ปกครองด้วย ดังนั้น ในฐานะของผู้บริหารจึงต้องมีลักษณะของผู้นำที่เข้มแข็ง น่าเชื่อถือ และน่าเคารพ (Strong Leader) ที่จะทำให้นักเรียน คุณครู หรือผู้ปกครองมีความเคารพ และรับฟังในสิ่งที่ผู้บริหารพูด
ยิ่งถ้าผู้บริหารเคยมีประสบการณ์ในการเป็นหัวหน้าในฝ่ายอื่น ๆ มาก่อน อย่างเช่น เป็นหัวหน้าแผนกการออกแบบหลักสูตร (หรือถ้าในเมืองไทยอาจจะหมายถึง หัวหน้าวิชาการ) ก็จะมีประโยชน์ต่อการบริหารเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสได้ฝึกทักษะการเป็นผู้นำในทีมเล็ก ๆ ก่อนที่จะมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน ที่ต้องดูแลทุกคนในโรงเรียน
ลองตีความเพิ่มเติมจากคำว่า ‘สื่อกลาง (Meditor)’ ที่บทความนี้ใช้ถ้าในบริบทของไทย น่าจะหมายถึง ผู้บริหารจะต้องเป็น ‘คนที่เป็นกลาง’ ที่จะคอยรับฟังความทุกข์ ความสุข ของทุกฝ่าย และช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม
ที่นี้ลองกลับมาสำรวจตัวเองดูค่ะ หากเราเป็นผู้บริหารโรงเรียน เราได้ทำหน้าที่ผู้นำ และเป็น ‘สื่อกลาง’ ที่ดีหรือยัง ?
2. พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลง
หนึ่งในหลาย ๆ ทักษะที่นักการศึกษา หรือคนในแวดวงการศึกษาต้องมี ไม่เฉพาะแค่ผู้บริหารเท่านั้น ก็คือ ‘ความสามารถที่ปรับเปลี่ยนและเปลี่ยงแปลง’ เพื่อไปสู่สิ่งใหม่ได้เสมอ เพราะเราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
ดังนั้นผู้บริหารต้องนำโดยการเป็นแบบอย่างที่ดี (Lead by Example) และไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ในทางตรงกันข้าม ต้องเป็นผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการนำเทรนด์ใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเนื้อหา และวิธีการสอน
3. มีทักษะด้าน IT
ทักษะนี้เริ่มมีบทบาทที่เด่นชัดขึ้นหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 หลาย ๆ โรงเรียนจะต้องเรียนออนไลน์กันหมด เพราะฉะนั้นผู้บริหารควรมีทักษะด้าน IT เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับคุณครู
หรือถ้าหากผู้บริหารไม่ได้มีทักษะนี้ตั้งแต่แรก แต่อย่างน้อยผู้บริหารจะต้องมีการเปิดใจ พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แสดงออกมาให้คุณครูเห็นว่า ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เรามาพร้อมเรียนรู้ด้วยกันนะ
สนใจอยากเรียนรู้คอร์สเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ สามารถเรียนฟรีได้ที่ bit.ly/3IzN1z8
4. มีทักษะการสื่อสาร
ด้วยความที่ผู้บริหารจะต้องติดต่อ สื่อสารกับผู้คนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน หรือบุคลากรคนอื่น ๆ ในโรงเรียน ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องแน่ใจว่า ตัวเองได้สื่อสารข้อมูลที่จำเป็น และเลือกช่องทางสื่อสารกับบุคคลนั้นได้อย่างเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะต้องสื่อสารกับนักเรียน ก็จะต้องใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่างกับครู หรือผู้ปกครอง หรือถ้าจะต้องสื่อสารกับผู้ปกครอง ผู้บริหารอาจจะต้องส่งจดหมายข่าวรายสัปดาห์ เนื้อหาที่ส่งอาจจะเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ส่วนถ้าจะต้องสื่อสารกับทีมงาน ผู้บริหารอาจจะต้องส่งแผนงาน หรือข้อมูลที่ทีมงานทุกคนควรรู้เกี่ยวกับนักเรียนเป็นรายสัปดาห์ เป็นต้น
นอกเหนือจากการสื่อสารข้อมูลที่จำเป็น และเลือกช่องทางที่เหมาะสมในการสื่อสารแล้ว สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการสื่อสารคือ ‘วิธีการที่สื่อสาร’ เช่น น้ำเสียง ท่าที หรือเป้าหมายในการสื่อสาร ลองให้ผู้บริหารสังเกตตัวเองว่า ทุกวันนี้เราสื่อสารกับผู้อื่นแบบไหน เช่น เราสื่อสารในรูปแบบของคำสั่งมากเกินไปหรือเปล่า หรือ สื่อสารเชิงลบมากกว่าเชิงบวก เป็นต้น
หากอยากฝึกเรื่องของการสื่อสาร สามารถเข้าไปอ่านบทความ I Statement การสื่อสารที่ช่วยลดความบาดหมางในครอบครัว bit.ly/3MuSSZ9 ที่ผู้บริหารสามารถนำไปปรับใช้กับทุกคนได้ค่ะ
5. พร้อมที่จะมอบหมายงานให้ผู้อื่นทำแทน
คงเป็นความเข้าใจผิดบางอย่าง หากจะบอกว่าผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่สามารถทำได้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ในทางตรงกันข้าม ผู้นำที่ดี หรือผู้บริหารที่ดีควรรู้ว่าจะมอบหมายงานบางงานให้กับใครเป็นผู้ทำแทน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มอบหมายงานที่ใช่ ให้กับคนที่ใช่ (Put the right man to the right job)
นอกเหนือจากการมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทน สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารจะต้องมีก็คือ ความไว้ใจ (TRUST) ในตัวบุคลากร คุณครู และนักเรียน ในการให้พวกเขาทำงานบางอย่างให้สำเร็จ โดยที่มีผู้บริหารคอยทำหน้าที่เป็นโค้ช (Coach) คอยแนะนำและคอยช่วยเหลือ
6. กล้าตัดสินใจ มีความเด็ดขาด
การที่ผู้บริหารมีความกล้าตัดสินใจ จะทำให้ทั้งบุคลากร และนักเรียนรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังมุ่งหน้าไปทางไหนยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้บริหารกล้าตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด และรวดเร็ว มันหมายถึงว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น จะถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็วด้วย
แต่ก็อย่าลืมว่า การตัดสินใจที่เร็ว ไม่ได้หมายถึงว่านั่นคือการตัดสินใจที่ดี ผู้บริหารจะต้องมีข้อมูลที่มากพอ ก่อนที่จะตัดสินใจด้วยนะคะ
7. มีทักษะการแก้ปัญหา
ทักษะการแก้ปัญหา เป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับผู้บริหาร ซึ่งผู้บริหารทุกคนจะต้องพบเจอปัญหาที่หลากหลายอยู่แล้วในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของนักเรียน ปัญหาของบุคลากรในโรงเรียน หรือปัญหาของคุณครู เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของผู้บริหาร ก็คือการช่วยพวกเขาแก้ปัญหา
8. จัดลำดับความสำคัญให้เป็น
ต่อเนื่องจากข้อที่ 7 ในขณะที่ผู้บริหารได้ยิน หรือได้พบเจอปัญหาต่าง ๆ มากมายในแต่ละวัน แต่อย่าลืมว่า ทุกเรื่องไม่ได้มีความสำคัญที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา หรือประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพื่อที่จะให้ปัญหาแต่ละเรื่องถูกจัดการได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปได้มากที่สุด
9. มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
การปฏิบัติงานที่โรงเรียนที่มีทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน ในฐานะของผู้บริหาร จะต้องมีความเข้าอกเข้าใจในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าผู้บริหารอาจจะไม่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันมาก่อนผู้บริหารควรมีทักษะในการรับฟังปัญหา และให้คำปรึกษาได้
ผู้บริหารที่มีบุคลิกที่พร้อมรับฟัง เปิดกว้าง ดูเข้าถึงง่าย จะทำให้ทุกคนสามารถไว้วางใจพร้อมที่จะพูดคุย ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้บริหารหลายคนก็คงอยากที่จะให้นักเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือคุณครูรู้สึกปลอดภัย เวลาที่จะเดินเข้ามาปรึกษาอยู่แล้วใช่ไหมคะ ?
10. เข้าถึงได้ ปรากฏตัวให้เห็นบ่อย ๆ
การที่ผู้บริหารปรากฎตัวให้ครู นักเรียน หรือผู้ปกครองเห็นบ่อย ๆ นั้น นอกจากจะช่วยให้ดูเป็นคนที่เข้าถึงได้แล้ว ยังทำให้ทั้งครู นักเรียน หรือผู้ปกครองสามารถเข้ามาพูดคุย ปรึกษาหารือ และรู้จักชุมชนโรงเรียนที่อยู่ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับผู้บริหารด้วยเช่นกัน ที่จะได้รับฟังความต้องการของครู นักเรียนและผู้ปกครอง
Related Courses
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
Micro Learning เทคนิคการดูแลสุขภาพกายระดับชั้น ม.ต้น
วัยรุ่น หากมีร่างกายที่สมส่วนย่อมทำให้มีสุขภาพดี การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะส่งผลร่างกายแข็งแร ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...
Social and cultural awareness classroom
ห้องเรียนความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ให้ผู้เ ...