จิตตปัญญา…จากครูธรรมดา (ตอนที่ 2)
จิตตปัญญา…จากครูธรรมดา (ตอนที่ 2)
รองศาสตราจารย์ ประภาภัทร นิยม
อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๘
๓.ชีวิตที่สอง "สุขล้นเหลือ"
วิธีเลี้ยงดูลูกซึ่งเป็นที่นิยมกันไม่น้อยในยุคปัจจุบัน ที่คนทั้งครอบครัวคือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ ป้า น้า อา รวมทั้งพี่เลี้ยง มักจะชื่นชูลูกหลานไว้ราวกับเทพบุตร เทพธิดาก็ไม่ปาน ไม่ว่าเทพน้อยเหล่านี้จะทำอะไร ก็ดูดีไปหมด การปรนเปรอเอาอกเอาใจจึงเป็นเรื่องปกติของครอบครัว ดังนั้นเมื่อเขาโตขึ้น เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เขาจึงพกพาเอาความสับสนคับข้องใจมาด้วย เพราะไม่อาจค้นพบศักยภาพของตนเอง หรือไม่เคยลงมือทำอะไรให้สำเร็จด้วยตนเอง กลายเป็นผู้แพ้และท้อถอยตั้งแต่ยังไม่ลงมือ หนักกว่านั้นก็คือดูแคลนและปิดกั้นการเรียนรู้ของตน แถมยังประมาทวาดหวังว่าในท้ายที่สุดทุกอย่างจะดีไปเองโดยเขาไม่ต้องลงมือทำอะไร
ดูเถิด แม้พ่อแม่สนับสนุนเต็มที่ หาโรงเรียนดีๆ ให้ เธอก็ไม่อยากจะมาเรียน ก็โทษว่าเพราะโรงเรียนไม่ดีพอ พากันย้ายโรงเรียนไจนแทบจะหาไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องขอร้องให้เธออยู่ที่ไหนสักแห่ง ขอร้องให้โรงเรียนช่วยรับไว้ ทั้งๆ ที่เมื่อทดสอบเธอแล้ว เธอขาดความรู้ความสามารถพื้นฐานไปเกือบทุกด้าน ที่ร้ายกว่านั้นคือเธอไม่รู้ไม่ชี้กับความปั่นป่วนของผู้ใหญ่ทุกคนรอบตัวเธอ พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจและหงุดหงิดกับเธอไม่น้อยเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ตระหนักถึงสภาพเทวดาตกสวรรค์ของลูก ยังอ้างว่าได้ดูแลลูกเป็นอย่างดีแล้ว
ในที่สุดเธอก็ได้รับการยกเว้นให้อยู่ห้องพิเศษ คือจะเรียนอะไรก็ได้สักอย่างที่คิดว่าเธอเรียนได้ เพราะอะไรๆ ที่เพื่อนๆ เขาเรียนกัน เธอไม่อยากเรียน คิดว่าตนทำไม่ได้ พร้อมงอมืองอเท้า ขี้เกียจฟังครู เรียนอะไรกันก็ไม่รู้ยากจะตาย คราวนี้ก็ต้องถึงมือครูสักคน ผู้ที่พร้อมจะเชื่อมั่นในศักยภาพภายในของเขาและช่วยปรับทัศนคติ ฟื้นฟูพลังชีวิตที่เหือดหายไปแทบไม่มีเหลือให้กลับคืนมา
ภายใต้ท่าทีของครูที่ดูเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่ได้หวือหวาหรูหราถูกใจวัยรุ่น แถมยังก้มหน้าก้มตาทำงานเหมือนแม่บ้าน และยังบ่นไม่รู้จบอีก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ครูกลับพร้อมที่จะนอกกรอบและให้โอกาสอย่างไม่มีประมาณ พอๆ กับการดุว่าตักเตือนอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ดังนั้นจากเด็กที่ไม่เคยมีใครขัดใจ ต้องมาเจอกับครูที่ขัดใจได้ตลอดเวลาแบบเนียนๆ โดยทำทีเป็นมองข้ามความขี้เกียจ เบื่อหน่าย ผลัดผ่อน ต่อรอง เบี้ยวไปมาของเธอ งานวาดภาพก็ยากเกินไป งานปั้นก็เลอะเทอะ งานไม้ก็ต้องออกแรง ในที่สุดจึงชักชวนให้ลงมือทอผ้า ทำไปคุยกันไป ได้หลายผืน นึกว่าเสร็จแล้วๆ กัน ครูกลับชวนถักนิตติ้ง ก็เบื่ออีก จึงขอลองเย็บผ้า ดูท่าจะง่าย จริงดังว่า เย็บได้ตรงจนครูเอ่ยปากชม ซึ่งหาฟังได้ยากนัก เท่านั้นแหละ หัวใจเธอพองโต เรียกว่าได้ใจอยากเย็บแบบโน้นแบบนี้ มีแพทเทิร์นบ้าง มั่วบ้าง ขอเพียงให้ดูต่างจากคนอื่นเข้าไว้ เรียกว่าหางานที่ท้าทายให้ตัวเองได้แล้ว แม้จะเย็บผิด เข็มหัก ผ้าไม่มีทรงบ้าง ครูก็มาร่วมคิดหาทางแก้จนได้ ไม่มีปัญหาใดที่เราสองคนจะผ่านพ้นไปไม่ได้ เธอเริ่มทึ่งในตัวครูเอามากๆ แม้กระทั่งสิ่งที่ครูคอยพร่ำบ่นให้เก็บห้องทำความสะอาดหลังเลิกงานให้อิดหนาระอาใจทุกครั้ง บัดนี้กลับกลายเป็นเธอลงมือเก็บกวาดเสียเองโดยไม่รู้ตัว มารู้อีกทีก็เมื่อเธอเริ่มบ่นเหมือนครูเปี๊ยบ ในคราวที่ต้องช่วยสอนน้องๆ ทำงานในห้อง เรียกว่าครูเป็นไงเธอก็เป็นงั้น สำเนาถูกต้องเป๊ะ
หลังจากนั้นเธอก็สรรค์สร้างงานที่บ้าพลังมากขึ้นเพื่อเอาชนะชิ้นเก่า แต่ก็ยังต้องเผชิญความดื้อดึงของตนเอง ไม่ยอมเชื่อฟังครูง่ายๆ ครูกลับเป็นฝ่ายยอม พากันทุ่มกายทุ่มใจทำหามรุ่งหามค่ำตามทิฎฐิมานะของเธอ ทันทีที่งานเสร็จกลับพบว่า ไม่เป็นอย่างที่คิด นึกถึงคำครูที่เตือนและชี้แนะไว้แต่ต้น รู้อย่างนี้เชื่อครูเสียก็ดี จะไม่ต้องมาพังตอนจบ ซึ้งแล้วว่าครูให้บทเรียนสำคัญแก่ชีวิต งานทุกอย่างไม่มีอะไรง่ายราบรื่น เมื่อเรียนผูกแล้วให้เรียนแก้ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ครูอีกนั่นแหละเข้ามาอยู่เคียงข้าง ช่วยกันคิดช่วยกันรื้อ จนในที่สุดประติมากรรมช้างตัวใหญ่เท่าช้างแต่ประดิษฐ์จากผ้า แถมเปิดใต้พุงพบหัวใจผ้าน่ารักอีก ๑๖๘ ดวง เธอกลายเป็นขวัญใจน้องๆ และผู้คนทั้งงานไปในพริบตา
พิธีปลุกเสกช้าง กลายเป็นพิธีชุบชีวิตเด็กคนหนึ่ง ให้ตื่นขึ้นจากความหลงระเริง ประมาทวาดหวัง กลับคืนมาเป็นคนที่พร้อมรับรู้และลงมือเผชิญเรื่องจริงตรงหน้าด้วยสติปัญญา มิใช่ด้วยทิฏฐิมานะ ณ วันนี้เหมือนได้เกิดใหม่ เธอจึงเรียกครูว่าคุณแม่อย่างสนิทใจ เพราะเป็นผู้ให้ชีวิตจิตใจที่แท้จริงแก่เธอ หาไม่เธออาจค้นหาอนาคตหรือความงอกงามในชีวิตไม่พบอีกเลย แม้จะอยู่ท่ามกลางความมั่งคั่ง สุขล้นเหลือ แต่ไร้ความหมายของคุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิตที่ดีงาม
๔. จิตตปัญญาฉบับชีวิตจริง
จากบทเรียนชีวิตเด็กไร้เดียงสากับผู้ใหญ่ผู้มาก่อนทั้งสองกรณี ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครู พึงตระหนักเถิดว่า ๒ มือของท่านกุมชะตาชีวิตผู้มาทีหลัง จะเสกให้เขาเป็นผู้จมอยู่ในกองทุกข์หรือสุขอย่างไร เขาย่อมเป็นเช่นนั้นไม่มีทางเลือก แต่เขาอาจไม่พบชีวิตที่ดีงามอย่างแท้จริงเลยก็เป็นได้ แต่หากเพียงผู้มาก่อนล่วงรู้และนำพาเขาเหล่านั้นด้วยจิตที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันเป็นพรหมวิหารธรรมที่แท้จริง ทุกชีวิตน้อยๆ ย่อมเรียนรู้และเจริญรอยตาม สามารถก้าวข้ามความทุกข์-สุขด้วยสติปัญญาอย่างกล้าหาญ
ไม่ต้องแม่นทฤษฎี หรือรู้จบหมดในตำราทุกเล่ม ผู้มาก่อนทั้งหลายก็อาจเรียนรู้ปฏิบัติจิตตปัญญา เพื่อหาพรหมวิหารธรรมให้เจอได้ จากจิตใจและการกระทำทุกเมื่อเชื่อวันของเราเอง ผ่านระบบความสัมพันธ์ฉันกัลยาณมิตร ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกเป็นได้ เลือกฝึกฝนตนเองด้วยสติสัมปชัญญะได้ บนหนทางเช่นนี้ จะเป็นที่ฝึกผู้นำทางจิตวิญญาณของตน จนพร้อมที่จะทำหน้าที่ต่อคนรอบข้าง เพื่อใช้ทักษะจิตตปัญญาและชีวิตของตนเองเป็นเดิมพัน “กัลยาณมิตร” จึงจะได้ชื่อว่าเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์เช่นนี้เอง
Related Courses
อัจฉริยะ 8 ด้าน
พหุปัญญา (Multiple Intelligences) หรือ ปัญญาหลากหลายด้านของมนุษย์ ซึ่งเป็นการอธิบายความสามารถทางสมองของมนุษย์ ...
ทำไมต้อง...Learning By Doing
แนวความคิดและที่มาของการเรียนรู้ Learning by doing ผลที่ได้รับเมื่อเรียนรู้แบบ Learning by doing การสร้างองค์ประก ...
บทบาทสมมติกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างไร
การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติเป็นการสอนที่สร้างสถานการณ์ให้คล้ายกับความเป็นจริง โดยให้ผู้เรียนแสดงตามความรู้ ...
การเคลื่อนไหวประกอบเพลงกระตุ้นการเรียนรู้
กิจกรรมเคลื่อนไหวประกอบเพลงส่งเสริมให้เด็กเกิดจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมพัฒนาทางด้านร่างกาย กิจกรรมเคลื่ ...