สร้างเสริมสุขภาพกาย-จิต สำหรับเด็กวัยเรียน (ประถมศึกษา)
ทำความรู้จัก Well-being
“สุขภาวะ (Well-being)” มักมีการเรียกใช้ในคำที่แตกต่างกัน เช่น ความอยู่ดีมีสุข ความผาสุก Wellness หรือการ มีสุขภาพที่ดี ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ได้นิยาม “สุขภาพ” ว่าหมายถึง ภาวะที่ สมบูรณ์ทั้งกาย จิตใจ สังคม และปัญญา เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล เช่นเดียวกับความหมายของ “สุขภาพ” ในมาตรา 3 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 สำหรับนิยามของคำว่า “สุขภาวะ” สำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ได้นิยามว่าเป็นการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ครอบครัวอบอุ่น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความรู้ มีรายได้ เพียงพอ รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ เป็นต้น
ทำอย่างไรให้มีสุขภาพกายที่ดี
ทำไมสุขภาพกายถึงสำคัญสำหรับเด็กวัยเรียน หรือเด็กชั้นประถมศึกษา 1-6 ซึ่ง WHO หรือองค์กรอนามัยโลก ได้ให้ความหมายของ “ สุขภาพ ”คือ ความสมบูรณ์ ของร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งจากความหมายนี้ มันมีความลึกซึ้งมากกว่าการตีความ ว่า “การมีสุขภาพดี คือการไม่มีโรค” แต่ยังรวมไปถึงการมีพฤติกรรม หรือการใช้ชีวิต (Life style) ต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ตนเองมีสุขภาพกายที่ดี การที่เด็กมีสุขภาพกายที่ดี ไม่ว่าจะห่างไกลจากโรค หรือมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายของเด็ก ประกอบไปด้วย
- คุณภาพกาย/การดูแลสุขภาพ พักผ่อนนอนหลับครบ 8-10 ชั่วโมง จะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโตและยังช่วยให้ระบบเลือด เซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย และการออกกำลังในเด็กวัยเรียน ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เด็กๆ เคลื่อนไหวได้ดีมากขึ้น และช่วยทำให้ระบบหัวใจ และหลอดเลือดแข็งแรง
- สวัสดิภาพ/ความปลอดภัย เด็กควรได้รับความปลอดภัยทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น เด็กควรได้รับความปลอดภัยในสถานที่อยู่อาศัย และเด็กควรได้รับความปลอดภัยในทางด้านจิตใจ โดยเน้นไปในเรื่อง ความรุนแรงในเด็ก ว่าเด็กไม่ควรโดนผู้ใหญ่ทำพฤติกรรมดังต่อไปนี้ คือ ถูกตีและทําร้ายร่างกายดุด่าด้วยถ้วยคําและอารมณ์ที่รุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกทอดทิ้ง
- สวัสดิการ/อาหารและอาหารเสริม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และไม่รับประทานของหวานหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไป และอีกวิธีหนึ่งที่เราจะช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง คือการพาเด็กๆ ไปรับวัคซีน ตามเกณฑ์ค่ะ
- สุขลักษณะ เช่น การแปรงฟัน ควรฝึกให้เด็กได้แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ส่วนการล้างมือ ควรฝึกให้ล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อยๆ และล้างทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับมือ
กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพกายสำหรับเด็ก
1. กิจกรรมปลูกต้นไม้ เป็นการสร้างความรู้ให้รอบด้าน ไม่ว่าจะวิชาวิทยาศาสตร์ การรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้สดใสแข็งแรง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและอากาศที่สดชื่น
2. กิจกรรมปีนป่าย เสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้เด็กได้เล่นออกกำลังกายในเวลาว่างให้เป็นประโยชน์
3. กิจกรรม The creative trainer หากเราจะจัดกิจกรรมนี้ในชั้นเรียน อาจจะชวนเด็กๆ มาเป็นผู้นำการออกกำลังกาย คนละ 3 นาที ซึ่งกิจกรรมนี้ จะมีความสนุกตรงที่ว่า เด็กๆ สามารถคิดท่าออกกำลังกายได้เอง ไม่มีกฎตายตัว หรือเราอาจจะใส่ความสนุก แรงจูงใจให้เด็กๆ เพิ่มขึ้นอีกว่า หลังจากที่นำออกกำลังกายเสร็จ ในแต่ละสัปดาห์ เราจะมาโหวตกันว่า ชอบท่าออกกำลังกายของใครมากที่สุด ใครชนะ ก็จะได้ เหรียญ The creative trainer ไปเลย ซึ่งพอเราทำในทุกๆ สัปดาห์ เชื่อว่า สนุกในการออกกำลังกาย หาท่าออกกำลังกายที่ไม่จำเจ และมันจะเกิดเป็นนิสัย
ทำอย่างไรให้มีสุขภาพจิตที่ดี
การดูแลสุขภาพจิตมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลสุขภาพกาย เพราะหากสุขภาพจิตที่ไม่ดีนั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้ WHO หรือ องค์การอนามัยโลก ให้ความหมายของสุขภาพจิตที่ดี ดังนี้ "สภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถมีสัมพันธภาพ และรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นไว้ได้อย่างราบรื่น สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ได้ภายใต้ภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และลักษณะความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ วางตัวได้อย่างเหมาะสม และปราศจากอาการป่วยของโรคทางจิตใจและร่างกาย
เด็กจะได้รับอิทธิพลจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เริ่มต้นจากพ่อแม่ พี่น้อง ญาติใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนก็ได้รับอิทธิพลจากครูและเพื่อนนักเรียน รุ่นพี่รุ่นน้อง และจากสังคมสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงต้องการความร่วมมือกันของหลายฝ่าย เริ่มต้นจากที่บ้าน สานต่อที่โรงเรียน และสังคมรอบๆตัวเด็กนั่นเอง ทุกคนควรมีส่วนร่วมกันเสมอในการช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดี เพราะในที่สุดทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน ตัวอย่างของการช่วยกันส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กที่ดี ในด้านต่างๆ เช่น
1. ด้านความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น การมีความสุข เรามักจะได้ยินกันมาเสมอๆ ว่า ถ้าหากคนเรามีความสุขแล้ว สุขภาพจะแข็งแรง แล้วความสุขเป็นอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
- ความสุขและสุขภาพ (Happiness and Health) ในบทความของ Horowitz (2010) ที่ผู้เขียนหามาอาจจะไม่ได้บอกระบุชัดว่า การที่คนเรามีความสุข แล้วสุขภาพจะดีมากขึ้นแค่ไหน แต่เขาได้พูดว่าหากคนเรามีความเครียด (ซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความสุขน้อยลง) จะทำให้ร่างกายเราเป็นโรคได้ง่ายขึ้น เช่น โรคปวดเมื่อย ปวดหัว โรคกระเพาะ และอาการนอนไม่หลับ ดังนั้นหากเราที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้สนใจเด็กๆ และปล่อยเขาเขามีความเครียดมากๆ ก็อาจจะเป็นการทำลายสุขภาพของเด็กๆ ได้
- ความสุขกับความจำระยะสั้น (Happiness and Working memory) เราอาจจะได้ยินผ่านหูกันมาว่า ถ้าหากคนเรามีความสุขแล้ว ความจำจะดี รับข้อมูลต่างๆ ได้ดีเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องผ่านหู หรือความจริง มีงานวิจัยของ Storbeck และ Maswood (2016) พบว่า การที่คนมีความสุขหรือมีอารมณ์ทางบวก จะมีส่วนช่วยให้การทำงานของความจำระยะสั้น (working memory) ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งความจำระยะสั้นนั้น มีส่วนสำคัญในการเรียนรู้
2. ด้านสภาวะอารมณ์ เด็กต้องรู้จักและทำความเข้าใจตัวเองให้ดีที่สุด รู้จุดเด่นและยอมรับจุดด้อย และจัดการด้านอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้
3. ด้านทัศนคติ การมีทัศนคติที่ดี มีความคิดที่มีเหตุและผล คิดอย่างมีสติ ทำให้มองเห็นความเป็นจริง มากกว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น
กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิตสำหรับเด็ก
1. สร้างความสำพันธ์ที่ดีกับเด็ก มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันต่อเนื่องสม่ำเสมอ และยาวนานพอ
2. ให้รางวัลในพฤติกรรมที่ดี พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ หรือเงิน อาจให้คำชม การชื่นชมก็เพียงพอสำหรับเด็ก
3. เอาจริงกับสิ่งที่ตกลงกันไว้ ถ้ามีการละเมิดข้อตกลง ต้องมีวิธีการเตือนที่ได้ผล เราควรทบทวนดูเสมอว่า วิธีการเตือนแบบใดที่ไม่ได้ผลก็ควรเลิกใช้ การเตือนที่ได้ผลมักจะเกิดจากการตกลงกันไว้ล่วงหน้า และเมื่อเตือนแล้วกำกับให้เกิดผลอย่างจริงจังทันที เด็กจะเรียนรู้ว่าเราเอาจริงกับสิ่งที่พูด และตกลงกันล่วงหน้าเมื่อมีการตกลงกันในเรื่องใดๆอีก เด็กก็จะตั้งใจทำตาม
4. เปิดโอกาสให้ได้รับการชื่นชม สร้างกิจกรรมที่เด็กจะได้แสดงออกอย่างภาคภูมิใจตนเองตามความชอบความถนัด
5. เป็นแบบอย่างที่ดีมีระเบียบวินัย จัดการกับชีวิตอย่างเหมาะสม มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง
6. ส่งเสริมพฤติกรรมและการเรียนรู้ให้ครบทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม สังเกตจุดอ่อน และสร้างทักษะใหม่ที่จะเอาชนะจุดอ่อนเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งเสริมจุดเด่นให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เอาตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง
7. สนับสนุนกลุ่มเพื่อนที่ดี ช่วยแก้ไขกลุ่มที่มีความเสี่ยง รักลูก ให้รักเพื่อนของลูกด้วย เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากกันเอง ภายใต้การดูแล “เงียบๆ” หัดให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์เพื่อนให้เป็น
8. ฝึกให้เด็กรู้จักการจัดการกับความเสี่ยง (risk management) วิเคราะห์ความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยง โอกาสอันตราย คิดล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในด้านลบหาสาเหตุของความเสี่ยง และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างถี่ถ้วน เป็นต้น
การพัฒนาคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เช่น
1.มีความสุขสบายทั้งทางด้านร่างกาย และวัตถุ
2.มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น
3.การมีกิจกรรมในสังคมและชุมชน การได้มีโอกาสช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่นในสังคม
4.มีพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ และมีความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ตามพัฒนาการ
5.มีสันทนาการ เช่น อ่านหนังสือ ฟังดนตรี ดูกีฬา และสิ่งบันเทิงอื่นๆ และมีส่วนร่วมในสังคม
การปฏิบัติที่เป็นวิถีชีวิต
1. ด้านสุขภาพกาย เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารตามหลักโภชนาการ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และดูแลร่างกายให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อการมีสุขภาพกายที่ดี
2. ด้านสุขภาพจิต เช่น การมีความสุขในการดำรงชีวิต สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง รู้จักการจัดการกับความเสี่ยง โดยปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ให้เป็นวิถีในการดำเนินชีวิตประจำวัน
การมีสุขภาวะ (Well-being) หรือความเป็นอยู่ที่ดีนั้น ต้องพิจารณาจาก สุขภาวะทางกายและสุขภาวะทางจิต หากเด็กๆ มีทั้ง 2 อย่างนี้ถือว่ามีสุขภาพดีมาก ๆ เราจึงควรมีวิธีการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสร้างสุขภาพกายและจิตให้กับเด็กๆ นะคะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก :
Richardson, S. F. (1988). Child health promotion practices. Journal of Pediatric Health Care, 2(2), 73-78.
file:///C:/Users/user/Downloads/241747-Article%20Text-833040-4-10-20210120.pdf
www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123138.pdf
www.worldvision.or.th/evac/index.html
www.csip.org/csip/autopage/file/MonJanuary2007-11-35-24-SAFETY%20%20FOR%20THAI%20CHILDREN.pdf
www.mission-hospital.org/images/pdf/children_teeth.pdf
healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=657
- Horowitz, J. A. (2010). Stress management. In C. L. Edelman, C. L. Mandle. (Eds.), Health Promotion Throughout the life span(7th Ed.) (pp.320-323) . St. Louis, Missouri: Mosby Elsevier.
- Storbeck, J., & Maswood, R. (2016). Happiness increases verbal and spatial working memory capacity where sadness does not: Emotion, working memory and executive control. Cognition and Emotion, 30(5), 925-938.
Related Courses
ถึงเวลา Self- Retreat แล้วหรือยัง?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการมีกำลังใจ กำลังกาย และสภาพจิตใจโดยรวมดีขึ้น และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะคิดบวกได้เสมอ มีความเครี ...
วิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง
ทักษะซึ่งช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี ...
เทคนิคการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน
การดูแลช่วยเหลือผู้เรียนนั้นมีความสำคัญมาก ในคอร์สนี้จึงได้แนะนำเทคนิคการโฮมรูมให้น่าสนใจ การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล การคัด ...
การใช้โปรแกรม Microsoft Excel เบื้องต้น
Microsoft Excel เป็นโปรแกรมสามัญประจำเครื่องที่มีประโยชน์มาก สามารถสร้างตารางทำงานในรูปแบบต่างๆ สร้างเอกสารที่ต้อ ...