สอนลูก (3-5 ปี) เรื่อง สุขภาพกายและสุขภาพจิต ด้วยนิทาน
อยากให้เด็กๆหันมาสนใจสุขภาพ อยากสอนให้เด็กๆเข้าใจเรื่องความสุข เราที่เป็นพ่อแม่ คุณครู นักการศึกษาสามารถ ทำได้จริงๆ ใช่ไหม?
อยากบอกทุกท่านเลยค่ะว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ซึ่งก่อนที่เราจะไปพูดคุยเรื่องเครื่องมือในการใช้สอนเด็กๆ อยากชวนทุกคนมาเข้าใจถึง “วิธีการเรียนรู้ของเด็ก” ก่อน เพื่อที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจวิธีการเรียนรู้ของเด็กๆ มากขึ้น
การที่เด็กคนหนึ่งจะเรียนรู้ จดจำ และเข้าใจ ในเรื่องๆหนึ่ง เด็กๆจะต้องรับข้อมูลนั้นอย่างตั้งใจ และจดจ่อ ซึ่งหากเด็กๆตั้งใจรับข้อมูล ก็จะช่วยทำให้พวกเขาจำได้ในระดับหนึ่ง และหากเราอยากให้เขาจำได้แม่นๆ เข้าใจมันอย่างแท้จริง เราก็ต้องพยายามให้เขาทบทวนมันบ่อยๆ (เนื้อหาตรงนี้ ผู้เขียนพยายามสรุปมาแบบง่ายๆจากทฤษฎี Information processing) นอกจากนี้ ด้วยความที่ว่า พัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กวัยอนุบาล ยังอยู่ในช่วงของ Preoperational ซึ่งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ เริ่มเข้าใจเหตุผลง่ายๆ มักจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านสัญลักษณ์ โดยการเรียนรู้ที่ดีของเด็กวัยนี้ มักจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น เช่น การเล่นบทบาทสมมติ และการเรียนรู้พร้อมกับได้ลองทำจริงๆ
พอเราอ่านมาถึงตรงนี้เราอาจจะรู้สึกว่าการสอนเด็กยากจังเลย ทุกคนอย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ ยังมีอยู่ 1 เครื่องมือค่ะ ที่จะช่วยให้เราสอนเด็กๆ ได้ และเหมาะสมกับพัฒนาการของพวกเขา นั่นคือ นิทาน โดยเรามีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เลือกเรื่องที่จะสอนเพียง 1 หัวข้อเท่านั้น
- สร้างตัวเอก 1 ตัว แล้วเล่าเรื่องผ่านการที่ตัวเอกทำพฤติกรรมต่างๆ และเชื่อมโยงง่ายๆ
- พยายามแต่งเรื่องในพฤติกรรมทางบวกมากกว่าทางลบ หรือพฤติกรรมที่เราอยากให้เขาเป็น
- ขณะเล่านิทาน ให้มีภาพประกอบการเล่า ให้ชวนเด็กๆ ทำท่าทางต่างๆ หรือทำพฤติกรรมนั้นจริงๆ (กินจริง ออกกำลังกายจริง ฟังเพลงจริง เป็นต้น) เพื่อเพิ่มความสนุก และสร้างการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง
- ตอนท้าย อยากให้ถามเด็กๆว่าแล้วเด็กๆ มีพฤติกรรมเหมือนกันในนิทานไหม? ไหนใครทำอะไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย? เพื่อช่วยให้เด็กๆ เชื่อมโยงกับพฤติกรรมของตนเองได้ดีมากขึ้น
(โดยได้ทำตัวอย่างมาให้ทุกคนดู สัก 2 ตัวอย่างเพื่อให้นำไปใช้กันนะคะ)
ตัวอย่างที่ 1 เรื่องเมนูโปรดของฮานะจัง
ฮานะจัง เป็นที่เด็กที่สดใสร่าเริง ชอบไปวิ่งเล่นมาก ซึ่งคุณแม่มักบอกฮานะเสมอๆว่า เราต้องกินอาหารเยอะๆ ห้ามเลือกกิน จะได้ร่างกายแข็งแรง และมีแรงไปวิ่งเล่นได้ (ชวนเด็กทำ: ไหนๆเด็กๆ ลองทำท่าทางแข็งแรงสิคะ เช่น เบ่งกล้าม กระโดดๆ .....โห เด็กๆ ทุกคนทำได้ แบบว่าเราแข็งแรง) วันนี้ฮานะจัง ก็ยังกินเก่งเหมือนเดิม แถมยังเป็นเมนูโปรดด้วย นั่นคือ ข้าวผัดอเมริกัน (โชว์รูปข้าวผัดอเมริกัน)
ฮานะจังไม่รอช้า หยิบช้อน หยิบส้อม จิ้มไส้กรอกกิน ตักข้าวที่มีแครอทกิน กินไข่ (ชวนเด็ก ทำท่าเคี้ยว และใส่เสียงการกิน) แต่ว่า ขณะที่กินใกล้จะหมด ฮานะเริ่มรู้สึกว่า ทำไมแครอทเยอะจัง ฮานะจัง อยากจะไม่กิน (ชวนเด็ก ทำหน้ามุ้ย) แต่ฮานะ ก็นึกได้ว่า ฉันอยากจะแข็งแรง ดังนั้น ฉันต้องกินแครอท เย้ๆ ฮานะกินหมดแล้ว และก็มีพลังไปวิ่งเล่นเต็มทีเลย
ตัวอย่างที่ 2 หนูนิดทำได้
พ่อบอกหนูนิดเสมอว่า ลองทำดู หนูนิดทำได้ (ชวนเด็กๆ พูดว่า ลองทำหนู เราทำได้) พอหนูนิดได้ยินแบบนั้น หนูนิดเลยพยายาม
หนูนิดเก็บของเล่นเอง (เตรียมของเล่นไว้ โดยตอนที่เราบอกว่า “หนูนิดเก็บของเล่น” ให้ผู้ใหญ่เก็บของเล่นจริงๆ สัก ชิ้น สองชิ้น แล้วชวนเด็กๆ เก็บ) โห! ดูสิ หนูนิดเก็บได้จริงๆ หนูนิดทำได้ ต่อมาหนูนิดลองติดกระดุมเอง (ชวนเด็กๆ ทำเหมือนเก็บของเล่น) โห! ดูสิ หนูนิดติดกระดุมได้จริงๆ หนูนิดทำได้ ต่อมา หนูนิดหัดรินน้ำมาให้คุณแม่ หนูนิด ค่อยๆ ริน ค่อยๆ ยก อย่างระมัดระวัง (ชวนเด็กๆ ทำเหมือนเก็บของเล่น) โห! ดูสิ หนูนิดทำได้
พอหนูนิดเก็บของเล่นเองได้ ติดกระดุมเองได้ รินน้ำเองได้ หนูนิดภูมิใจ และมีความสุขจัง หนูนิดจึงยิ้มกว้างมากเลย (ถามเด็กๆ ว่า ใครมีความสุขแบบหนูนิด ลองยิ้มดูสิค่ะ) แล้วเราทำอะไรได้เองอีกนะ เด็กๆ ลองบอกหน่อยสิคะ..........
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เห็นตัวอย่างนิทานแล้ว น่าตื่นเต้นใช่ไหมคะ อยากชวนทุกคนมาแต่งนิทานง่ายๆ สั้นๆ สนุกๆ เพื่อนสอนเด็กอนุบาลเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตกันนะคะ
หมายเหตุ กลัวทุกคนลืมไปว่า สุขภาพกายและสุขภาพจิต มีหัวข้ออะไรบ้าง จึงขอแนบหัวข้อมาให้นะคะ
สุขภาพกาย : อาหารการกิน, การออกกำลังกาย, การนอน, ความสะอาดของร่างกาย, ความสะอาดของช่องปาก, ภูมิคุ้มกันและการป้องกันโรค, ความปลอดภัย
สุขภาพจิต: อารมณ์ทางบวก ไม่เครียด และการพักผ่อน, ความสุขในการได้ทำในสิ่งที่ชอบ, ความสุขในการมีสัมพันธ์ที่ดีและมีคนพร้อมช่วยเหลือ, ความสุขของการมีความหมายในชีวิตหรือการได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่น, ความสำเร็จในชีวิต
อ้างอิง
Miller, P. H. (2011). Theories of developmental psychology. Worth.
บทความใกล้เคียง
Related Courses
Peer Learning วิธีฟื้นฟู Learning Loss
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Peer Learning คืออะไร 5 รูปแบบของกิจกรรม Peer to Peer Learning ตัวอย่างก ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...